Yeap Swee Chuan นำทัพอาปิโก ชิ้นส่วนยานยนต์ทะยานสู่ยุค “EV” - Forbes Thailand

Yeap Swee Chuan นำทัพอาปิโก ชิ้นส่วนยานยนต์ทะยานสู่ยุค “EV”

การเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมรถยนต์จากรถเครื่องยนต์สันดาปภายในไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจต่อเนื่องอย่างชิ้นส่วนยานยนต์ย่อมได้รับผลกระทบ แต่ทว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ของไทยยืนยันว่า ผลกระทบไม่มาก ทั้งที่จำนวนอะไหล่ในระบบส่งกำลังเครื่องยนต์ลดลงถึง 86%


    Yeap Swee Chuan เป็นนักธุรกิจข้ามชาติอีกคนที่เข้ามาทำธุรกิจในไทยกว่า 30 ปี เขาผูกพันและรักประเทศไทยซึ่งเป็นทั้งที่พำนัก ประกอบอาชีพ และสร้างครอบครัว เมืองไทยจึงเป็นบ้านและตัวเขาก็ซึมซับความเป็นไทยไปไม่น้อย สามารถใช้ภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว รู้จักสังคมและผู้คนหลากหลายไม่เฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ ทำให้โอกาสธุรกิจของเขาเปิดกว้าง และเป็นบริษัทสัญชาติไทยที่สร้างการเติบโต ส่งออกธุรกิจไปต่างประเทศในหลายภูมิภาค

    “ปี 2565 เป็นปีที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของอาปิโก ส่วน 2566 แม้มีความท้าทายหลายอย่างแต่เราก็สามารถสร้างผลการดำเนินงานได้ดีกว่าที่คาดไว้มาก” Yeap Swee Chuan ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) หรือ AH เริ่มต้นบอกเล่าประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของอาปิโกให้ทีมงาน Forbes Thailand ได้รับทราบว่า ในปี 2565 ผลประกอบการอาปิโกทำได้ดีเกินคาด และดีที่สุดในรอบ 28 ปีของการดำเนินธุรกิจหลังก่อตั้งบริษัทมาตั้งแต่ปี 2539 และนำกิจการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2545

    ผลประกอบการดีที่สุดในประวัติศาสตร์ 28 ปีของอาปิโกคือ สามารถทำรายได้รวมในปี 2565 กว่า 28,348 ล้านบาท เติบโตขึ้นถึง 35% เมื่อเทียบกับรายได้รวมปี 2564 ซึ่งทำได้กว่า 20,967 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 1,824 ล้านบาท เติบโตขึ้น 78% เมื่อเทียบกำไรสุทธิในปี 2564 ที่มียอด 1,024 ล้านบาท

    ส่วนในปี 2566 แม้เขาบอกว่า มีความท้าทายหลายอย่าง แต่อาปิโกก็สามารถทำยอดรายได้รวมกว่า 30,389 ล้านบาท และกำไรสุทธิกว่า 1,610 ล้านบาท แต่หากเทียบกับปี 2565 แล้วส่วนต่างยังน้อยกว่าปี 2565 เทียบปี 2564 อย่างไรก็ตาม 2566 เป็นอีกปีที่อาปิโกประสบความสำเร็จได้ดีท่ามกลางปัจจัยลบที่หลากหลาย




ยืนหยัดข้ามยุคยนตกรรม

    ประธานและผู้ก่อตั้งอาปิโกย้อนเล่าสถานการณ์ธุรกิจปี 2565 ว่า สงครามยูเครนส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แต่อาปิโกสามารถผ่านมาได้อย่างสวยงาม “เราสามารถบรรเทาผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ด้วยคำสั่งซื้อใหม่จำนวนมาก และความมุ่งมั่นในการลดต้นทุนของบริษัทก็ช่วยให้บรรลุผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมในปี 2565”

    “เราผ่านเหตุการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจหลายครั้งมาได้ยิ่งทำให้แข็งแรงขึ้น” แม่ทัพอาปิโกชาวมาเลเซียย้ำและว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้อาปิโกก้าวข้ามมาได้ทุกวิกฤตก็คือ มาตรฐานและคุณภาพสินค้าที่รับประกันคุณภาพความถูกต้องแม่นยำ 100% เพราะธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ทุกอย่างต้อง 100% พลาดไม่ได้แม้แต่น้อย

    “มาตรฐาน 100% คือสิ่งที่ทำให้บริษัทเติบโตและมีออร์เดอร์ใหม่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง” Yeap ยืนยันและว่า ในช่วงที่ผ่านมามีคำสั่งซื้อใหม่ที่สำคัญช่วยเพิ่มยอดขายในไตรมาส 4/2566 คือ การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ให้แก่ยานยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ VinFast จากเวียดนาม 2 รุ่น ที่ผลิตเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ซึ่งโครงการนี้จะดำเนินต่อเนื่องไปอีก 2 ปีข้างหน้า

    ไม่เพียง VinFast ที่เป็นลูกค้าใหม่เท่านั้น แต่อาปิโกยังได้รับผลดีจากการเปิดตัวรถกระบะโฉมใหม่ของ Ford ซึ่งเป็นอีกโครงการที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้อาปิโก เนื่องจากความต้องการที่แข็งแกร่งของรถกระบะ Ford Ranger ในตลาดทั่วโลกทำให้มีการผลิตต่อเนื่องไปอีก 8-10 ปีข้างหน้า

    แม้กระทั่งการเปลี่ยนผ่านของตลาดยานยนต์จากยุคเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE: Internal Combustion Engine) ไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV: Electric Vehicle) ที่กำลังเติบโตอย่างคึกคักในบ้านเราหลังจากเติบโตอย่างมากมาแล้วในหลายประเทศ ทั้งยุโรป อเมริกา และจีน สำหรับประเทศไทยตลาด EV เติบโตคึกคักมาตลอด 2 ปี


    อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า ยอดจดทะเบียนใหม่ของรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2566 อยู่ที่ 76,538 คัน เพิ่มขึ้น 695.9% เมื่อเทียบกับ 9,617 คัน ในปี 2565 และพบว่ารถยนต์ไฟฟ้าจีนครองตลาดในปี 2566 โดย BYD จำหน่ายได้มากที่สุด 30,467 คัน รองลงมาคือ Neta จำนวน 12,777 คัน และ MG จำนวน 12,462 คัน ด้าน Tesla แบรนด์รถไฟฟ้าชื่อดังจากสหรัฐอเมริกาติดอันดับ 4 ยอดจำหน่ายในไทยจำนวน 8,206 คัน

    การตื่นตัวของยนตกรรมไฟฟ้าซึ่งแม้ส่วนใหญ่ยังนำเข้าทั้งคันแต่ในอนาคตมีหลายแบรนด์เข้ามาตั้งโรงงานในไทยยังคงเป็นโอกาสสำหรับอาปิโก “ชิ้นส่วนที่เราทำไม่กระทบมาก เพราะรถ EV ก็ต้องใช้เหมือนกัน เปลี่ยนแค่เครื่องยนต์แต่ทุกอย่างเหมือนกันไม่ว่าจะเป็นยาง บอดี้ เบาะ เก้าอี้” แม่ทัพอาปิโกย้ำและว่า ถึงแม้เป็นรถ EV ก็ยังต้องมีงานชิ้นส่วนแต่แค่น้อยลง เช่น เมื่อก่อน 10 ชิ้น อาจเหลือราว 7 ชิ้น


ชิ้นส่วนไฮเทครับเทรนด์

    สำนักงานใหญ่ AAPICO (Able Auto Part Industry Company) อยู่ที่อุตสาหกรรมไฮเทคอยุธยา เพราะเริ่มทำออโต้พาร์ตด้านไอทีมาก่อนจะขยายสู่ชิ้นส่วนอื่นๆ ของรถยนต์ และโครงสร้างธุรกิจของอาปิโกในปัจจุบันยังมีธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ทั้งในประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย ซึ่งเติบโตด้วยดีเช่นเดียวกัน

    “เราเติบโตมาได้เพราะมีการปรับตัวตามแนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ ทำให้สร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง”


    อาปิโกปรับตัวตลอดเวลาและยืนหยัดมาตรฐานการผลิตที่ตรงตามสเปกและคุณภาพ 100% ตลอดจนขยายธุรกิจเชื่อมโยงเข้ากับเทรนด์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ได้อย่างเท่าทัน ในโลกของยนตกรรมไฟฟ้าก็เช่นเดียวกัน อาปิโกขยายกิจการรองรับเทรนด์นี้มาได้สักระยะ ก่อนที่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจะบูมมากในประเทศไทย โดยมากกว่า 80% ที่เข้ามาเป็นรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีน

    ไม่เพียงนำเข้ามาจำหน่ายในไทย แต่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์สัญชาติจีนกำลังดำเนินการจัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นโอกาสของกลุ่มอาปิโกในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อตอบสนองความต้องการของแบรนด์รถยนต์สัญชาติจีนเหล่านี้

    Yeap เล่าว่า จุดรุ่งเรืองของอาปิโกมาจากยุทธศาสตร์สร้างไทยเป็น “Detroit of Asia” ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2546 หรือ 1 ปีให้หลังจากที่อาปิโก ไฮเทค นำกิจการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย “เราโตมากในช่วงนั้น โรงงานใหญ่ทั้ง Mitsubishi, Ford, MG จ้างเราผลิตชิ้นส่วนให้ ซึ่งการส่งอะไหล่ไม่ใช่ง่ายนะ คุณภาพต้องดี 100% ขาดไปแค่ 1% ก็ไม่ได้”

    เขาย้ำสิ่งสำคัญในธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์หัวใจคือ คุณภาพต้องดี ราคาต้องถูกที่สุด และทุกปีต้องลดราคา เป็น 3 ปัจจัยหลักที่ทำให้อาปิโกได้ออร์เดอร์ยาว 5-10 ปีไม่เปลี่ยน เมื่อออกรถรุ่นใหม่ลูกค้าก็ยังให้อาปิโกทำเช่นเดิมจึงอยู่ได้นาน


    Yeap บอกว่า เส้นทางการเติบโตของอาปิโกให้ทั้งบทเรียนและโอกาสมากมาย “28 ปีเราได้เรียนรู้ทำอะไรที่พลิกโฉมตามอุตสาหกรรมและไม่คิดว่าจะโตเร็วขนาดนี้มันดีกว่าที่ผมคิดไว้มาก ประเทศไทยนโยบายรัฐบาลดี รถพิกอัปไทยส่งไปขายทั่วโลก” เขาเผยเส้นทางการเติบโตของอาปิโกว่า เกิดขึ้นตามช่วงการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

    ช่วงแรกการเติบโตของตลาดรถพิกอัปที่ผลิตในไทยและส่งไปขายทั่วโลก การเป็น Detroit of Asia หรือเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์แห่งเอเชียของไทยทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเติบโต ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ก็เติบโตไปด้วย

    ช่วงที่ 2 การส่งเสริมตลาดรถยนต์อีโค่คาร์ หรือรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งคำเรียกอีโค่คาร์มาจากคำว่า Ecology Car: Eco Car เป็นนิยามรถยนต์ที่ลดการปล่อยมลพิษได้ในระดับยูโร 4 คือ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยเพียงแค่ 120 กรัมต่อระยะทาง 1 กิโลเมตร จะเห็นว่าในรอบ 10 ปีก่อนหน้านี้รถยนต์อีโค่คาร์ขายดี ส่วนใหญ่เป็นรถเล็กขนาดเครื่องยนต์อยู่ที่ 1,200-1,400 ซีซี อาปิโกได้โอกาสผลิตชิ้นส่วนของรถยนต์อีโค่คาร์ที่เติบโตสูงมากตามการส่งเสริมของรัฐบาล

    ช่วงที่ 3 ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) กำลังเติบโตสูงมาก ยิ่งรัฐบาลให้การส่งเสริมชดเชยราคาเพื่อให้จำหน่ายถูกลง จึงเป็นคลื่นระลอก 3 ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่จะเติบโตต่อเนื่องไปอีกหลายปี

    “ต้องบอกว่าภาครัฐโดยเฉพาะอธิบดี ผู้นำในองค์กรที่กำกับดูแลด้านอุตสาหกรรมของไทยเก่ง วางยุทธศาสตร์การเติบโตของยนตกรรมได้ดี แม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลก็ไม่กระทบต่อธุรกิจรถยนต์” แม่ทัพอาปิโกชื่นชมหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการผลิตรถยนต์ในไทย แม้เขาจะยอมรับว่า รัฐมนตรีเป็นตำแหน่งทางการเมืองที่เปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนรัฐบาล แต่ทว่ายุทธศาสตร์ที่วางไว้ค่อนข้างดีทำให้ภาคธุรกิจเดินหน้าได้ไม่ว่าสถานการณ์การเมืองจะเปลี่ยนไปอย่างไร

    ในมุมมองของ Yeap ที่คลุกคลีอยูในอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยมายาวนานผ่านช่วงการเติบโตของอุตสาหกรรมมาตั้งแต่ก่อนเป็น Detroit of Asia เขามองว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้าอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยจะเติบโตขึ้นอีก โดยมีรถยนต์ค่ายจีนเข้ามามากขึ้น ขณะนี้มาแล้ว 5-6 โรงงาน

    “ถ้าดูจากงานมอเตอร์โชว์ปีนี้บูธค่ายรถจีนมากกว่าญี่ปุ่นแล้ว จีนมากที่สุด รองมาเป็นไทย ญี่ปุ่นและฝรั่ง จีนมาแรงมาก” แม่ทัพอาปิโกย้ำว่า จีนใหญ่กว่าญี่ปุ่น ยอดขายรถยนต์จีน 30 ล้านคันในปี 2566 โดย 4 ล้านคันเป็นการส่งออก อีก 26 ล้านคันขายในจีน ลดลงจากเมื่อก่อนเคยขายในจีนถึง 29 ล้านคัน


ขยายตลาดต่างประเทศ

    อย่างไรก็ดี ธุรกิจหลักของอาปิโกอยู่ที่ประเทศไทย และ Yeap เป็นทั้งผู้ก่อตั้งและผู้บริหารที่ดูแลธุรกิจด้วยตัวเองมาตลอด 28 ปี โดยอยู่อาศัยและทำธุรกิจในไทยมากว่า 30 ปี “ตอนนี้ผมรู้สึกเหมือนเป็นคนไทย 50/50 เพราะยังถือสัญชาติมาเลเซีย แต่ไม่ได้อยู่มาเลเซียนานมากแล้ว อยู่ไทยนานกว่า แต่ก็ยังมีธุรกิจที่มาเลเซียอยู่”

    ธุรกิจที่ว่าคือ ดีลเลอร์ขายรถยนต์ Honda และ PROTON ซึ่งมีอยู่หลายแห่งถือหุ้นโดยอาปิโก นอกจากนี้ ยังมีบริษัทในจีนที่เขาถือหุ้น 100% และในโปรตุเกสถือหุ้น 100% เช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามสัดส่วนรายได้สำหรับธุรกิจยังคงมาจากประเทศไทยเป็นหลัก 70% และต่างประเทศ 30% อนาคตจะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพราะมีแผนจะขยายตลาดในอีกหลายประเทศ

    “ตอนนี้กำลังมองอินเดีย คิดว่าจะเข้าไป ที่จริงอาปิโกเคยเข้าไปในอินเดียมาแล้ว ตอนนั้นจังหวะไม่ดีจึงถอยออกมา แต่อินเดียเป็นตลาดใหญ่คิดว่าต้องเข้าไปและลงทุนเอง 100%” เหตุผลสำคัญคือ อินเดียเป็นประเทศใหญ่ ล่าสุดประชากรมากเป็นอันดับ 1 ของโลก เป็นตลาดใหญ่ที่ต้องให้ความสนใจ เช่นเดียวกับจีน


    “ผมเชื่อว่าในอนาคตไม่นานนักเราจะสร้างการเติบโตได้เป็น 2 เท่าจากปัจจุบัน” นั่นหมายความว่าเป้าหมายของเขาคือ การสร้างรายได้ 6 หมื่นล้านบาทภายใน 3-5 ปี ซึ่ง Yeap มองว่ามีความเป็นไปได้

    “สมัยเรายังเล็กรายได้ 100 ล้านบาท ตอนนี้เติบโตมาถึง 3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 300 เท่าใน 28 ปี ถ้าดูอย่างนี้เราน่าจะโตกว่า 2 เท่าได้อย่างน้อยก็ภายใน 5 ปี หรือหากไม่ได้ก็อาจเป็น 10 ปี” Yeap บอกว่า ค่อนข้างมั่นใจเพราะมาถึงวันนี้เขารู้แล้วว่าจะต่อยอดธุรกิจไปอย่างไร และแม้รถยนต์มีการเปลี่ยนแปลงจากรถเครื่องยนต์สันดาปมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้าก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบริษัทมากนัก เพราะอาปิโกผลิตชิ้นส่วนหลักที่รถทุกระบบยังต้องใช้อยู่



ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์ และ AH



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : กวิน นิทัศนจารุกุล จาก Otteri สู่ ‘ชูมณี’ ให้การ ‘ซักผ้า’ ได้ขับเคลื่อนสังคม

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2567 ในรูปแบบ e-magazine​