กวิน นิทัศนจารุกุล จาก Otteri สู่ ‘ชูมณี’ ให้การ ‘ซักผ้า’ ได้ขับเคลื่อนสังคม - Forbes Thailand

กวิน นิทัศนจารุกุล จาก Otteri สู่ ‘ชูมณี’ ให้การ ‘ซักผ้า’ ได้ขับเคลื่อนสังคม

เพราะเชื่อว่าผู้คนจะมีสุขภาพดีได้ ต้องเริ่มต้นจากการมีเสื้อผ้าสะอาดใส่ นั่นทำให้ ‘กวิน นิทัศนจารุกุล’ นักธุรกิจหนุ่มเจ้าของแฟรนไชส์ร้านสะดวกซักเจ้าดังในไทย Otteri wash & dry เริ่มกิจการเพื่อสังคมอย่าง ‘ชูมณี’ นำความถนัดของบริษัทอย่าง ‘การซักผ้า’ เข้าไปขับเคลื่อนให้ผู้คนในสังคมได้มีชีวิตที่ดีขึ้น


    บรรยากาศช่วงสายๆ ในวันธรรมดาของใต้สะพานพระปิ่นเกล้า ใกล้ประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) นอกจากจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินขวักไขว่เพื่อติดต่อล่องเรือเที่ยวชมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว หรือบางส่วนก็ใช้ที่นี่เป็นจุดรมพลขึ้นรถ ใต้สะพานซึ่งมีป้ายติดว่าที่นี่เป็น ‘สดชื่นสถาน’ ก็มีกลุ่ม ‘คนไร้บ้าน’ มาใช้บริการต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณนี้ ไม่ว่าจะเป็น ห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ น้ำดื่มเย็นฟรี บริการตัดผมฟรี

    รวมถึงบริการที่โดดเด่นตั้งตระหง่านก็คือ “รถซักผ้าและอบผ้าฟรี” คนไร้บ้านหลายคนนำเสื้อผ้าของตัวเองมาเข้าแถวลงทะเบียน เพื่อรับคิวในการใช้บริการซักและอบผ้า โดยจะมีเจ้าหน้าที่ที่คอยดูแลการลงทะเบียน จัดคิว รวมถึงนำผ้าเข้าซักและอบให้


    รถซักและอบผ้าเคลื่อนที่ที่ให้บริการฟรีแก่คนไร้บ้านดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของ ‘ชูมณี’ หรือ บริษัท ชูมณี จำกัด กิจการเพื่อสังคมของ Otteri wash & dry แฟรนไชส์ร้านสะดวกซักเจ้าดังของไทย ซึ่งมีเจ้าของคือ “กวิน นิทัศนจารุกุล” โดยเขาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของชูมณี

    “เราอยากจะสร้างสรรค์สังคมที่มีสุขภาพดี โดยเริ่มต้นจากการสวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด” กวิน กล่าวกับ Forbes Thailand ถึงที่มาที่ไปของกิจการเพื่อสังคมแห่งนี้ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากวิสัยทัศน์ของบริษัทที่เชื่อว่าผู้คนจะสุขภาพดีได้ ส่วนหนึ่งต้องเริ่มต้นจากการมีเสื้อผ้าสะอาดใส่

    ย้อนกลับไปในเส้นทางชีวิตการทำธุรกิจของกวิน จากบัณฑิตสาขาวัสดุศาสตร์ที่ทำงานในกิจการของญาติ คุมโรงงานรับจ้างซักผ้า กระทั่งมองเห็นโอกาสและเริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเองด้วยการจำหน่ายเครื่องซักผ้าอุตสาหกรรมให้กับลูกค้าแบบ B2B เช่น โรงแรม โรงพยาบาล โดยมีภรรยาซึ่งเรียนจบด้านวิศวกรรมเคมี มาผลิตน้ำยาซักผ้าขายควบคู่ไปด้วย

    จากนั้นเขาก็เปลี่ยนจากธุรกิจขายเครื่องซักผ้ามาเป็นกิจการร้านสะดวกซักเมื่อ 12 ปีก่อน โดยระหว่างนั้นเขาไปเข้าคอร์สศึกษาที่ The Landmark Forum ซึ่งที่นี่จะให้ทุกคนค้นหา Fundamental Concern หรือความสนใจขั้นพื้นฐานที่สุดของแต่ละคนว่าคืออะไร กวินนั้นพบอยู่ 4 เรื่อง คือ การเป็นที่ยอมรับ, Happy, Safety และ Healthy เขานำสิ่งที่สนใจเหล่านี้มาใช้กับทุกๆ ส่วนในชีวิต รวมถึงเรื่องการทำธุรกิจ

    “เวลาคนตั้งบริษัท สิ่งหนึ่งที่เจ้าของบริษัทชอบเขียนคือวิสัยทัศน์ เหมือนเป็นสิ่งที่ต้องมี เราเองตอนแรกก็ตั้งวิสัยทัศน์ว่าอยากเป็นร้านสะดวกซักอันดับหนึ่งใน SE Asia เพราะว่าไปดูของชาวบ้านมา แต่หลับไปสักพักตื่นขึ้นมาก็คิดได้ว่า เป็นที่หนึ่งแล้วยังไง มันแปลว่าอะไร เรากลับมาถามตัวเองว่าจะทําร้านสะดวกซักไปทําไม นอกเหนือจากการได้มาซึ่งรายได้และผลกําไรแล้ว เรายังต้องการอะไรอีกไหม”

    คำถามที่เกิดขึ้นในหัวทำให้เขาย้อนกลับมาดู Fundamental Concern ของตัวเองใน 3 ข้อ คือ Happy, Safety และ Healthy และกลายเป็นวิสัยทัศน์ของบริษัทว่า “Creating Healthy Lifestyle Community” หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า "เราจะสร้างสรรค์สังคมที่มีสุขภาพดี โดยเริ่มต้นจากการสวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด"

    อย่างไรก็ตาม เมื่อศึกษาในคอร์สดังกล่าวไปมากขึ้น เขาก็ค้นพบว่านั่นไม่ใช่วิสัยทัศน์ แต่เป็น Goal มากกว่า เขาเลยมาลองนึกวิสัยทัศน์ใหม่ซึ่งก็คือการสร้างร้านสะดวกซักที่มีมาตรฐานระดับสากลให้สามารถเข้าถึงได้ในราคาประหยัด และเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของทุกๆ ชุมชน



    เขาอธิบายถึงที่มาของวิสัยทัศน์ว่าสมัยก่อนในไทยมักเป็นเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญที่ตั้งอยู่หน้าหอพัก ซึ่งบางครั้งก็ไม่สะอาด นำผ้าไปซักแล้วผ้าอาจจะออกมาสกปรกกว่าเดิม จึงอยากทำร้านสะดวกซักที่สะอาด รูปลักษณ์สวยงามเหมือนในต่างประเทศ มีเครื่องซักผ้าและอบผ้าอุตสาหกรรมที่ได้มาตรฐานให้บริการ ในราคาที่ทุกๆ ชุมชนเข้าถึงไม่ต่างอะไรกับการเข้าถึงน้ำสะอาดหรือสัญญาณอินเทอร์เน็ต

    “เราเชื่อว่าการมีสุขภาพดี เริ่มต้นจากการใส่เสื้อผ้าสะอาด แต่การใส่เสื้อผ้าสะอาดกลายเป็นต้นทุน เป็น cost of living ของคนทั่วไป บางคนมองไม่ออก บอกว่าประหยัด ซักใส่กะละมังก็ได้ แต่สิ่งที่มัน consume ไปคือเวลา และเวลามีค่ามากกว่าเงินอีก ดังนั้นสำหรับ Otteri เราก็คิดว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้บริการของเรากระจายไปให้เร็วที่สุด ให้ครอบคลุมทุกๆ ชุมชนให้ได้มากที่สุด”


จากวิสัยทัศน์ธุรกิจสู่โปรเจ็กต์แรก ‘ป้าชู’ พับผ้า

    Otteri wash & dry ขยายกิจการ สร้างการเติบโตจนถึงวันที่บริษัทมีกำไร กวินเริ่มคุยกับน้องๆ ทีมงานว่าจะสามารถหาเงินไปพร้อมๆ กับการช่วยเหลือสังคมได้หรือเปล่า และปัญหาแรกที่เขาเห็นก็คือ Aging Society หรือสังคมสูงวัย ที่หลายคนเกษียณแล้วแต่ยังคงมีความทุกข์เพราะขาดการวางแผนการเงินที่ดี อยากทำงานแต่งานก็ไม่รับ

    ซึ่งปัญหาสังคมสูงวัยดูเหมือนจะเหมาะเจาะกับ Pain Point ข้อหนึ่งของร้าน Otteri ในช่วงนั้น คือลูกค้าบางส่วนต้องการคนพับผ้าในร้าน และยินดีจ่ายเพิ่มเพื่อใช้บริการ จึงเกิดเป็นโปรเจ็กต์แรกของโครงการ ‘ชูมณี’ นั่นก็คือการจ้างผู้สูงอายุมาทำงานพับผ้าในร้านสะดวกซัก เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนวัยเกษียณ

    “มีน้องๆ ถามว่าทำไมเราไม่จ้างวัยรุ่นที่ Productive กว่ามาทำงาน เราก็บอกว่าเรารู้สึกว่าเราต้องการที่จะแก้ไขปัญหาสังคมไปด้วย แล้วก็ได้กําไรไปด้วย นี่คือ Objective ตั้งต้น แล้วเราก็เชื่อว่างานประเภทนี้ วัยรุ่นหรือว่าคนที่อายุน้อยๆ ไม่ควรทํา เขาควรจะไปทําอะไรที่มันมีประโยชน์มากกว่านี้มากกว่า กําลังคุณยังเหลือเยอะ งานประเภทนี้ปล่อยให้ป้าๆ ทํา มันเหมาะสมกับวัยของเขา เหมาะสมกับสภาพร่างกายเขามากกว่า นี่เลยเป็นโปรเจ็กต์แรกที่เราเริ่มต้นว่าชูมณี”

    โมเดลการจ้างงานผู้สูงวัยในโครงการชูมณี จะเลือกรับผู้สูงวัยเพศหญิงที่อยู่ใกล้สาขานั้นๆ เข้ามาทำงานบริการพับผ้าในร้าน โดยเรียกผู้สูงวัยเหล่านี้ว่า ‘ป้าชู’ ให้รายได้เป็นเงินเดือนในเรทที่ยุติธรรม และมีประกันสังคมให้สำหรับผู้ที่อายุยังอยู่ในเกณฑ์ของประกันสังคม


ข้าวฟรีหาง่ายกว่าห้องน้ำ เกิดโปรเจ็กต์ซักผ้าให้คนไร้บ้าน

    แม้กฎหมายเปลี่ยนแต่โครงการชูมณีที่ให้ก็มาสะดุดอีกครั้งในช่วงโควิดระบาด ที่ต้องห้ามไม่ให้มีคนอยู่ในร้าน ในช่วงนั้นเอง กวินได้รับการติดต่อจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อขอรับบริจาคเครื่องซักผ้าไปให้กับคนไร้บ้านในย่านดินแดง ซึ่งกวินตอบรับและขอไปลงพื้นที่ดูด้วย

    ภาพที่เขาเห็นคือในพื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่ที่รวบรวมคนไร้บ้านที่เป็นผู้ป่วยทางจิตเวช และมารับการรักษาโดยอยู่ภายใต้การดูแลของ พม. เขาเข้าใจว่าความสะอาดเป็นเรื่องสำคัญมากในช่วงโควิดจึงบริจาคไปตามที่ได้รับคำขอ แต่ในใจเขารู้สึกว่าแค่การบริจาคอาจยังไม่เพียงพอ เพราะรู้สึกว่าสามารถทำอะไรได้มากกว่าแค่บริจาคเครื่องซักผ้า จึงเข้าไปปรึกษากับมูลนิธิกระจกเงาเพื่อขอความรู้เกี่ยวกับคนไร้บ้านให้มากขึ้น

    สิ่งที่มูลนิธิกระจกเงาพาเขาไปดูคือลานกว้างที่ในย่านสถานีรถไฟหัวลำโพง ที่นั่นมีคนไร้บ้านอาศัยอยู่กันหนาแน่น สิ่งที่กวินสะเทือนใจคือการอาบน้ำและซักผ้าของไร้บ้าน ที่ใช้น้ำจากคลองผดุงกรุงเกษม คลองที่คนทั่วไปอาจจะไม่ได้อยากเดินผ่านด้วยซ้ำ

    กวินยังบอกอีกว่า คนไร้บ้านบางส่วนอาบน้ำและซักผ้าจากห้องน้ำในปั๊มน้ำมัน คือใช้สายชำระ หรือไม่ก็ใช้ขันตักน้ำราดลงมาบนตัวที่สวมเสื้อผ้าอยู่ บางทีก็ต้องรีบอาบเพราะเด็กปั๊มจะมาไล่ อาบเสร็จพร้อมเสื้อผ้าเปียกๆ พวกเขาทำได้แค่ปล่อยให้แห้ง จนมีคำเรียกว่านี่คือ “ราวแขวนเสื้อมนุษย์” และปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่ตามมาจากการอาบน้ำที่ไม่ถูกสุขอนามัยคือกลิ่นและโรคผิวหนัง


    “ประเทศไทย อาหารข้าวฟรีหาง่ายกว่าห้องน้ำ ถ้าคุณอยากเข้าห้องน้ำคุณต้องจ่ายตังค์ แต่ถ้าอาหาร มีแต่คนใจบุญไปทําไปแจกตลอดเวลา แต่โครงสร้างพื้นฐานที่เขาควรจะได้แบบง่ายๆ อย่างเช่นห้องน้ำสาธารณะ บางทีมันก็ไม่ได้สะดวกสบาย และไม่ได้มีครอบคลุมทุกพื้นที่มากพอ”

    “ถ้าให้ย้อนกลับไปเรื่องของวิสัยทัศน์ เราอยากให้คนมีสุขภาพดี ต้องเริ่มต้นจากการมีเสื้อผ้าสะอาดใส่ แต่มีคนบางกลุ่มในประเทศที่แม้แต่เสื้อผ้าสะอาดจะใส่ ก็ยังเข้าถึงไม่ได้ เพราะไม่มี ก็เลยเป็นที่มาว่าทําไมถึงต้องทํารถซักผ้าและอาบน้ำได้ เราเริ่มโครงการครั้งแรกเป็นรูปแบบร้าน แถวๆ สถานีรถไฟหัวลําโพง แล้วก็เชิญคนไร้บ้านเข้ามาซักผ้ากับเราเป็นครั้งแรก โดยลงพื้นที่ร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา”

    โครงการชูมณีต่อยอดมาด้วยการทำร้านซักและอบผ้าให้กับคนไร้บ้านฟรี ซึ่งกวินและทีมงานก็ลงพื้นที่ไปให้บริการด้วยตัวเอง แต่หลังจากนั้นก็พบว่าการเป็นร้านอาจไม่สะดวกเท่าไหร่นักหากคนไร้บ้านต้องเดินทางมาด้วยตัวเอง จึงเกิดไอเดียทำรถซักผ้าและอาบน้ำได้เคลื่อนที่ขึ้น และเรียกโปรเจ็กต์นี้ว่า ‘Laundry Move’ หรือรถซักผ้าที่ขับเคลื่อนสังคม


    รถซักผ้า อบผ้า และอาบน้ำได้ดังกล่าวเปิดตัวครั้งแรกในปี 2565 โดยมีนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มาเป็นประธานในพิธีเปิด ในงานวันนั้นยังมีการเชิญคนไร้บ้าน 200-300 คนเข้าร่วมงานด้วย

    “คือมันไม่มีอะไรเลย แค่บอกว่าเรามีห้องอาบน้ำให้ มีเครื่องซักเสื้อผ้าให้คุณฟรี มีอาหารให้ มีการแจกเสื้อผ้าใหม่ที่ซักเสร็จแล้ว จริงๆ มันเป็นแค่เรื่องปกติธรรมดาของที่เราได้อยู่แล้วทุกวัน แต่กับบางคน เขาไม่เคยได้” กวินบรรยายถึงวันนั้น

    กวินบอกว่ารถดังกล่าวใช้เวลาพัฒนาอยู่ราว 6 เดือน ตัวรถประกอบไปด้วยเครื่องซักผ้า 4 เครื่อง เครื่องอบผ้า 4 เครื่อง มีตู้อาบน้ำ 1 ตู้อยู่ข้างใน มีเครื่องกรองน้ำเสียที่บำบัดน้ำในระดับหนึ่ง และอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถปล่อยสู่ลำรางสาธารณะได้โดยไม่ผิดกฎหมาย


จากชูมณี สู่สดชื่นสถาน

    หลังทำงานอย่างจริงจังและมีความตั้งใจจริง ทำให้ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ คือ กรุงเทพมหานคร และกรมทางหลวงชนบท ในการมอบพื้นที่ถาวรบริเวณใต้สะพานพระปิ่นเกล้า ให้เป็นจุดตั้งรถประจำและให้บริการอื่นๆ เพิ่ม ซึ่งกวินก็มีพาร์ทเนอร์ใจดีที่ร่วมไปปรับปรุงพื้นที่ตรงนั้นให้กลายเป็น ‘สดชื่นสถาน’

    “ตรงนั้นเดิมจะมีห้องน้ำเก่าอยู่ใต้สะพาน ซึ่งสภาพตอนไปดูเรียกได้ว่าแทบดูไม่ได้ มันเลยไม่ได้ถูกใช้งาน ปล่อยให้รกร้าง เราก็เลยเชิญพาร์ทเนอร์ของเราเป็นผู้ใหญ่ใจดี ‘บุญถาวร’ เขาไปปรับปรุงพื้นที่ให้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย แล้วก็ไม่ยอมขึ้นป้ายให้ด้วย เขาบอกไม่เป็นไร เขาทําเต็มที่”

    ปัจจุบันแม้ยังมีรถซักผ้าให้บริการ 1 คัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะยิ่งใหญ่มากกว่าจำนวนที่มี เพราะนอกเหนือจากให้บริการรถซักผ้าและอบผ้าฟรีแก่คนไร้บ้าน คือเกิดการจ้างงานขึ้นด้วย


    กวินอธิบายว่าการจ้างงานเริ่มต้นจากการให้คนไร้บ้านมาดูแลรถ ซึ่งมีหน้าที่ตั้งแต่การรับลงทะเบียนคนไร้บ้านที่มาใช้บริการซักและอบผ้า จัดคิว นำผ้าเข้าเครื่องซักและอบตามคิว หลังจากนั้นก็จะดูพฤติกรรม ถ้าพัฒนาต่อได้ก็จะพาไปทำงานที่มูลนิธิกระจกเงา เช่น แยกเสื้อผ้า โดยจ่ายค่าจ้างที่เป็น Fair Price คือตั้งแต่ 300-500 บาท เพื่อให้เขาเหล่านั้นสามารถตั้งตัวได้

    ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ ปัจจุบันเกิดการจ้างงานคนไร้บ้านแล้วราวๆ 200 คน และมีประมาณ 60 คนแล้วที่กลับไปอยู่ในที่พักอาศัย คือมีบ้านหรือห้องเช่าอยู่

    ส่วนสิ่งที่เขากำลังวางแผนขยายโครงการเพิ่มเติม คือการเข้าไปพัฒนาพื้นที่ของ กทม. ให้เป็นบ้านที่เป็นที่พักของคนไร้บ้าน ด้านล่างมีพื้นที่ให้บริการเชิงพาณิชย์ โดยมีคนไร้บ้านทำงาน ทำอาชีพ เพื่อหารายได้มาให้เพียงพอสำหรับการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ และดูแลผู้สูงอายุได้ โดยคาดว่าจะได้เห็น 1 ที่ภายในปีนี้


มากกว่า Wash & Dry คือ Wash & Share

    กวินบอกอีกว่า การเริ่มโปรเจ็กต์ชูมณียังนำพาโอกาสใหม่ๆ เข้ามาอีกเยอะมาก หนึ่งในนั้นคือโครงการ Wash & Share “ซักเพื่อให้” เป็นอีกหนึ่งโครงการซีเอสอาร์ที่รับบริจาคเสื้อผ้า โดยบริษัทจะนำไปซักทำความสะอาดให้เรียบร้อยก่อน แล้วค่อยนำไปบริจาคต่อไปยังมูลนิธิต่างๆ

    ซึ่งโครงการนี้มีพาร์ทเนอร์เข้ามาร่วมขับเคลื่อนมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ไฮยีน ในการสนับสนุนน้ำยาซักผ้า, SHIPPOP, แฟล็ช เอ็กซ์เพรส และไปรษณีย์ไทย เข้ามาช่วยการขนส่งเสื้อผ้า นอกจากนี้ เสื้อผ้าที่ได้รับบริจาคมาแต่ไม่สามารถใช้งานต่อได้ ก็มีเอสซีแกรนด์นำไปรีไซเคิลที่ต้องผ่านการปั่นเป็นผง ทอเป็นผืน แล้วนำมาตัดเย็บใหม่โดยบริษัทแมคยีนส์ และ GQ เป็นต้น

    “กลายเป็นว่าสิ่งที่วงการที่เราทํา จากเป็นโครงการเล็กๆ กลายเป็นโครงการระดับสเกลใหญ่มากที่รวมพลบริษัทใหญ่ๆ หลายๆ คนมาทําพวกนี้ร่วมกัน แล้วก็เป็นอิมแพคที่ใหญ่โดยที่เราไม่มี waste เลย กลายเป็น Circular Economy ร้อยเปอร์เซ็นต์”


‘ผู้พ้นโทษ’ กลุ่มที่ควรได้รับโอกาส

    หลังจากพาชูมณีและการซักผ้าไปเกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุและคนไร้บ้าน ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่กวินสนใจ นั่นคือกลุ่ม ‘ผู้พ้นโทษ’ ที่เขาพบว่าคนกลุ่มนี้หลังออกจากเรือนจำแล้ว มักไม่ค่อยได้รับโอกาสให้กลับเข้าไปทำงานอีกครั้ง นำมาสู่การวนลูปที่เขาเหล่านี้อาจกลับไปทำความผิดซ้ำอีก

    ทำให้กวินทำอีกโปรเจ็กต์หนึ่งของชูมณี นั่นคือการเข้าไปฝึกสอนการซัก-อบ-รีดให้ผู้พ้นโทษ โดยเริ่มต้นที่ทัณฑสถานหญิงกลางเชียงใหม่ โดยทำมาประมาณ 1 ปีแล้ว และปีนี้เตรียมขยายผลต่อไปยังทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพฯ เรือนจําบางขวาง และเรือนจํานนทบุรี

    “มีคนถามผมนะว่าคุณคิม (ชื่อเล่นคุณกวิน) มาใช้งานนักโทษ อยากได้แรงงานราคาถูกเหรอ หรือคุณอยากได้อะไร เราก็บอกว่าเราจ่าย Fair Price แล้วสิ่งที่เราอยากได้ คือเราอยากเห็นแค่คําว่ามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เราอยากให้โอกาส เราอยากให้รู้สึกว่าทุกคนควรได้รับโอกาสที่สอง คนกลุ่มนี้เป็นคนที่สมควรได้รับโอกาสมากที่สุด”



    กวินอธิบายเพิ่มว่า ใช่ว่าทุกอาชีพจะรองรับผู้พ้นโทษ ซึ่งเขามองว่าธุรกิจซัก-อบ-รีด คือหนึ่งในอาชีพที่ผู้พ้นโทษจะสามารถทำได้ ซึ่งหลังจากจบการฝึกอบรมแล้ว ใครที่อยากฝึกฝนทักษะเพิ่มเติม และอยากทำอาชีพนี้ซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพที่ประเทศไทยยังขาดแคลนแรงงานอยู่ บริษัทก็ยินดีรับเข้ามาทำงาน

    “เราอยากให้สังคมเข้าใจว่าคนกลุ่มนี้เป็นแบบไหน ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นฆาตกร หรือไม่ใช่ทุกคนที่เป็นคนขายยาหรือบางทีการทำผิดก็ไม่ได้เป็นการตั้งใจ มีอีกหลายหลายอย่างที่เป็นบริบทของการกระทําผิดที่มีความละเอียดอ่อนมากกว่านั้น อย่าตราทุกคนว่าแบบเป็นคนขี้คุกเหมือนกันหมด”


ใช้ความเชี่ยวชาญของตัวเอง ทำเพื่อสังคม

    ช่วงท้ายของการสัมภาษณ์ Forbes Thailand ถามเขาถึงมุมมองในการเริ่มต้นทำกิจการเพื่อสังคม หรือแม้แต่กิจกรรมซีเอสอาร์ของบริษัทว่าควรจะเริ่มจากตรงไหน ซึ่งเขาตอบว่าอาจจะให้ลองเริ่มต้นจาก ‘ความเชี่ยวชาญ’ ของธุรกิจของตน

    “เวลาที่เราทําซีเอสอาร์ เรามองว่าอะไรคือสิ่งที่เรามีความเชี่ยวชาญมากที่สุด เราทําซีเอสอาร์จากความเชี่ยวชาญของเราได้ไหม ดังนั้นทุกอย่างของเราจึงเกี่ยวกับเรื่องซักผ้าหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นการจ้างผู้สูงอายุมาซักผ้าพับผ้าที่ร้าน การซักผ้าให้กับคนไร้บ้าน การสร้างงานสร้างอาชีพให้กับผู้พ้นโทษ ก็จะเป็นเรื่องของการซักผ้าทั้งหมด แล้วก็พยายามที่จะไม่เอาอะไรที่ไม่เกี่ยวกับข้องกับความเชี่ยวชาญของบริษัทไปทํา

    “คือถ้าไปถามทุกคนว่ามาชวนเราปลูกป่าไปไหม ไปได้ ไม่ใช่ว่าไปไม่ได้ แต่เรามองว่าแบบนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับความเชี่ยวชาญของเรามากกว่า”

    “ถ้าสําหรับคนที่ทําธุรกิจมาสักพักหนึ่ง แล้วอยากเริ่มมองหากิจกรรมเพื่อสังคม ผมว่าง่ายที่สุดคือมองกลับไปที่ลูกค้าก่อน ว่ากลุ่มลูกค้าหรือ Stake Holder ทั้งหมดได้รับการดูแลแบบนี้แล้วหรือยัง เราจ่าย Fair Price ให้กับซัพพลายเออร์จริงๆ ไหม เรานําเสนอบริการและสินค้าได้ตรงตามความสามารถของเราแล้วหรือเปล่า


    “ส่วนที่เหลืออาจจะเป็นเรื่องที่ค่อยๆ คิดก็ได้ เริ่มต้นอาจลองดูว่าความสามารถหลักของบริษัทเราคืออะไร ความเชี่ยวชาญเราคืออะไร แล้วความสามารถของเรา นอกเหนือจากเรื่องของการหาเงินแล้ว มันเข้าไปช่วยคนได้อย่างไรบ้าง ถ้าเพิ่งเริ่ม ก็ยังไม่ต้องทําใหญ่ ค่อยๆ ทํา ค่อยๆ ชวนเพื่อนมาทํา

    "สุดท้ายแล้วสิ่งที่ได้นอกเหนือจาก Brand Loyalty แล้ว มันคือ Brand Trust ที่เข้ามาเพิ่มขึ้น เขาก็จะกลายเป็นสาวกของเรา เพราะเขารู้แล้วว่าการที่เขามาใช้สินค้าและบริการของที่นี่ สังคมได้ประโยชน์” กวินกล่าวทิ้งท้าย


Forbes Side Story

    - ชื่อของ ชูมณี มาจากนามสกุลเดิมของภรรยาคุณกวิน เขาบอกว่าอยากให้เกียรติภรรยาและครอบครัว เนื่องจากภรรยาเป็นคนต่างจังหวัด การที่มาทำงานและใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ ทำให้ไม่ค่อยได้กลับไปหาครอบครัวที่ต่างจังหวัดมากนัก และนั่นทำให้เขาอยากขอบคุณครอบครัวของภรรยา

    - เขาบอกอีกว่า ลึกๆ แล้วสำหรับ ชูมณี มีความหมายเปรียบถึงผู้สูงอายุที่เป็นดั่งอัญมณีที่ถูกเจียระไนผ่านกาลเวลา แต่วันที่พร้อมเปล่งประกายอาจจะไม่มีใครหยิบมาเชิดชู และชูมณีก็จะเป็นองค์กรหนึ่งที่ให้โอกาสสําหรับคนที่ต้องการโอกาส



ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์, กนกวรรณ มากเมฆ



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : “ขยล ตันติชาติวัฒน์” กับฝันพาไทยก้าวสู่ Smart City ปั้น “เมทเธียร์” ใส่เทคฯ ให้แม่บ้าน-รปภ.

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine