ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ตรงใจ ทั้งสินค้าอุปโภค-บริโภค รวมถึงวัสดุตกแต่งบ้าน ด้วยรูปแบบของโมเดิร์นเทรดยิ่งทำให้เข้าถึงอินไซต์ผู้บริโภค สะท้อนผ่านกลยุทธ์และวิถีแห่งความยั่งยืนชัดเจน
การจัดอันดับ The Sustainability Yearbook 2023 โดย S&P Global พบว่า บริษัทไทยได้ S&P Global มากเป็นอันดับ 1 ของโลกด้วยจำนวน 12 บริษัท ได้แก่ AWC, BJC, BTS, HMPRO, PTTGC, SCC, SCGP, TOP, TRUEE, TU, VGI และ ThaiBev ส่วนประเทศที่ได้อันดับรองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา 11 บริษัท, ไต้หวัน 7 บริษัท และอิตาลี 7 บริษัท
ข้อมูลนี้สะท้อนว่า บริษัทไทยให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืน (sustainability) ด้วยการลงมือทำอย่างจริงจังและลงทุนเพื่อทำธุรกิจให้เป็นมิตรและเติบโตไปกับสังคมและสิ่งแวดล้อมโลก โดยนอกจาก S&P Global แล้วบริษัทไทยยังมี ESG Investment หรือข้อมูลหุ้นยั่งยืน ซึ่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ทำการประเมินเรื่อง ESG ซึ่งประกอบด้วย Environmental, Social, Governance ในการพัฒนาความยั่งยืน โดยมีบริษัทจดทะเบียนเข้าร่วม 290 ราย พบว่าหลายบริษัทได้คะแนนความยั่งยืน ESG ในอันดับสูง ดังเช่น HMPRO (โฮมโปร)
“เราทำเรื่องความยั่งยืนมาหลายปี เพิ่งประกาศแผนเติบโตอย่างยั่งยืนใน 5 ปีเมื่อต้นปี 2567 ถือเป็น next chapter เพื่อพัฒนาไปสู่ circular economy” วีรพันธ์ อังสุมาลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) HMPRO บอกเล่าก้าวย่างล่าสุดเรื่องความยั่งยืนให้ทีมงาน Forbes Thailand เป็นการตอกย้ำว่า อันดับความยั่งยืนที่ได้รับจากทั้งสององค์กรหลักนั้นมาจากการลงมือทำโดยมีแผนงานและเป้าหมายชัดเจน
ยั่งยืนในขั้นตอนธุรกิจ
จากแผนงานสู่การปฏิบัติ โฮมโปรส่งแคมเปญการตลาดโครงการ “แลกเก่าเพื่อโลกใหม่” (Trade In) ซึ่งวีรพันธ์บอกว่า มาจากความพยายามในการแก้ pain point ของลูกค้าที่ต้องการซื้อของใหม่แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรกับของเก่า เพราะบางครั้งยังใช้งานได้ แต่ลูกค้าต้องการซื้อรุ่นใหม่
วีรพันธ์เผยว่า พบเหตุการณ์แบบนี้แทบจะทุกกลุ่มสินค้าจึงเป็นไอเดียนำมาสู่โครงการ “แลกเก่าเพื่อโลกใหม่” ที่ไม่ได้จบเพียงรับของเก่าจากลูกค้าแลกเป็นส่วนลด แต่ยังพัฒนาต่อเนื่องไปถึงการนำของเก่าเหล่านั้นไปรีไซเคิลอย่างจริงจัง โดยจับมือกับพันธมิตรหลากหลายที่มีความรู้และเชี่ยวชาญในการรีไซเคิลวัสดุ และผลิตออกมาเป็นสินค้านำกลับมาขายใหม่ เป็นการลดขยะและต่อวงจรธุรกิจแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งพันธมิตรที่ร่วมแนวคิดนี้กับโฮมโปรและเป็นที่กล่าวถึงมากคือ บริษัทในกลุ่ม SCGC
โดยเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ปี 2567 โฮมโปรได้ประกาศความร่วมมือกับ SCGC หรือเอสซีจี เคมิคอลส์ ด้วยการลงนามบันทึกความร่วมมือรักษ์โลกผ่าน Circular Product พร้อมเปิดตัว “เครื่องใช้ไฟฟ้ารักษ์โลก” ที่ผลิตจากเครื่องใช้ไฟฟ้าใช้แล้วเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เป็นการขับเคลื่อนการรีไซเคิลในระบบปิด Closed-Loop เป็น “First Retailer Making Waste Electrical and Electronic Equipment (WEEE) for Closed-Loop Circular Appliances Collaboration with SCGC” โดยจัดการเครื่องใช้ไฟฟ้ามือสองให้กลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลระบบปิดอย่างครบวงจรด้วยการรีไซเคิลพลาสติกในสินค้าเก่าให้เป็น green polymer เม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง (high quality PCR) ซึ่งสามารถนำมาผลิตเป็นสินค้าใหม่ที่มีมูลค่าเพื่อส่งเสริมการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) อย่างเป็นรูปธรรม
ความร่วมมือนี้อาศัยความเชี่ยวชาญร่วมกันของพันธมิตรในการนำพลาสติกรีไซเคิลจากโครงการ “แลกเก่าเพื่อโลกใหม่” มาพัฒนาเป็นสินค้ารักษ์โลกหรือ Circular Product ถือเป็นความร่วมมือและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทานด้วยแนวคิด Make Every Change for Better Life ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนทั้งผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม
สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน
นอกจากสินค้าอิเล็กทรอนิกส์แล้ว โฮมโปรยังรับแลกสุขภัณฑ์ส่งต่อพันธมิตรในการนำไปบดเป็นส่วนผสมการผลิตกระเบื้อง “วัสดุเหลือใช้จากทั้งสาขา ดีซี บ้านลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นพลาสติก กระดาษ ที่รับกลับมาจากลูกค้า ทุกอย่างจะนำไปรีไซเคิลทั้งหมด” แม่ทัพโฮมโปรยืนยันซึ่งแนวทางนี้เป็นอีกวิถีความยั่งยืนในกระบวนการธุรกิจจากปลายทางกลับมาสู่ต้นทาง
พลาสติก PP ที่หุ้มห่อสินค้าส่งให้ลูกค้าเมื่อนำกลับมาจะผลิตเป็นถุงช็อปปิ้ง หรือพลาสติกแร็ปที่ห่อสินค้าเวลาส่งให้ลูกค้าก็นำกลับมารีไซเคิลเป็นถุงขยะไม่มีกลิ่นวางขายในโฮมโปร เป็นสิ่งที่ศูนย์ค้าปลีกวัสดุตกแต่งบ้านแห่งนี้ทำต่อเนื่องในเรื่องความยั่งยืน ช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาการเพิ่มขึ้นของขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้
“จุดเริ่มต้นไอเดียเก่าแลกใหม่มาจาก pain point ลูกค้า เช่น เวลาลูกค้าจะเปลี่ยนที่นอนมักจะบอกว่าช่วยเอาไปหน่อยได้ไหม สุขภัณฑ์ก็เช่นกัน แต่ของเหล่านี้ทิ้งไม่ง่ายมีข้อจำกัดเยอะ” วีรพันธ์เผยที่มาของการตลาดที่มุ่งตอบโจทย์ผู้บริโภคในการกำจัดของเก่า ซึ่งแม้กระทั่งเครื่องปรับอากาศและทีวีลูกค้าก็มักบ่นว่าของยังไม่เสียแต่อยากเปลี่ยน ครั้นจะเก็บไว้ที่บ้านก็ไม่ได้ใช้จะทำอย่างไรให้มีมูลค่า เมื่อโฮมโปรรับรู้ pain point นี้ประกอบกับไอเดียเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนเข้ามาจึงทำแคมเปญนี้ขึ้นมาซึ่งตอบโจทย์ทุกฝ่าย และยังเป็นการลดขยะรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน
วีรพันธ์เผยว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนมาจากข้อมูลที่ได้รับโดยตรงมาจากลูกค้า “การทำค้าปลีกเราใกล้ชิดลูกค้ามาก เราจัดส่งสินค้าด้วยทีมงานเราเองจึงพบข้อมูลว่า ลูกค้าฝากทิ้งของเก่าเป็น feedback ที่ได้รับจากทุกช่องทาง ทุกสาขา” จึงนำมาปรับใช้เพื่อให้การจำหน่ายสินค้าสามารถตอบโจทย์ทั้งความต้องการของตลาดและยังช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมไปด้วย และนอกจากสามารถแก้ปัญหาได้โดยตรง แนวทางนี้ยังสอดคล้องไปกับเทรนด์ของโลก
ดูแลพนักงานรอบด้าน
“เราทำ best practice ให้ดูได้ทุกสาขา นอกจากจัดคอร์สอบรมและดูเรื่องการใช้จ่ายด้วย เราช่วยแก้ปัญหาพนักงานติดหนี้ ให้คำปรึกษาและจัดไฟแนนซ์ช่วยแก้ปัญหา” เป็นอีกหนึ่งบทบาทของการบริหารอย่างมีธรรมาภิบาล ด้วยการคำนึงความเป็นอยู่ที่ดีให้กับพนักงาน
วีรพันธ์เผยว่า เรื่องนี้เป็นผลดีทั้งต่อพนักงานและบริษัท ดังตัวอย่างที่พบว่า พนักงานระดับผู้จัดการสาขา หรือผู้จัดการฝ่ายมีปัญหาหนี้สินด้วยข้อจำกัดและเหตุผลส่วนตัวบางอย่าง พวกเขาต้องลาออกเพื่อนำเงินสะสมที่ทำงานมาหลายปีกับโฮมโปรไปใช้หนี้ ซึ่งเขาอาจแก้ปัญหาได้แต่ก็ต้องหางานใหม่ และบ่อยครั้งที่ไปทำงานกับคู่แข่ง
ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาทั้งของพนักงานและบริษัท การเข้าไปดูปัญหาและช่วยพนักงานแก้ปัญหาการเงินจึงเป็นแนวทางที่ดี แต่ทั้งนี้ไม่ได้เพียงแค่รั้งพนักงานไว้ แต่ยังอบรมและช่วยปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายของพวกเขาให้มีวินัยดีขึ้น แนวทางคือ ให้พวกเขาลาออกได้เงิน 1 ก้อนและรับมาทำงานเริ่มต้นใหม่ โฮมโปรได้พนักงานกลับมาและพนักงานก็ได้แก้ปัญหาตัวเอง นอกจากนี้ โฮมโปรยังได้ร่วมกับสถาบันการเงินช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้กับพนักงานด้วย
นอกจากช่วยดูแลด้านการเงินแล้ว โฮมโปรยังมีโครงการที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพที่ดี ช่วยให้คนออกกำลังกาย มีการจัดเดินวิ่งให้คนได้มาร่วมกิจกรรมออกกำลังกายเพื่อสร้างสังคมสุขภาพดีให้ทั้งกับพนักงาน คู่ค้า และลูกค้า
ห่วงโซ่ธุรกิจสีเขียว
การรีไซเคิลและเชื่อมต่อวงจรเศรษฐกิจหมุนเวียน สิ่งเหล่านี้ล้วนเดินหน้าสู่โมเดลเป้าหมายคือ ความยั่งยืน (sustainability) “เรื่องความยั่งยืนและ ESG อยู่ในกรอบแผนงานร่วมกัน เป็นแผนกลยุทธ์ 5 ปีที่โฮมโปรวางไว้ว่า การเติบโตต้องควบคู่ความยั่งยืน บริษัทต้องมีธรรมาภิบาล ดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม”
วีรพันธ์ย้ำว่า โฮมโปรมีเป้าหมาย Net Zero ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ในปี 2593 ซึ่ง circular economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียนถือเป็นปัจจัยสำคัญ โฮมโปรพยายามสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในธุรกิจค้าปลีกซึ่งส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีใครทำ “ถ้าเราเอา waste ต่างๆ มาผลิตสินค้าขายย่อมช่วยลดมลภาวะทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม”
แผนงานหลักใน circular economy ของโฮมโปรซึ่งมีอีโคซิสเต็มที่ช่วยดูแลลูกค้า ช่วยให้ลูกค้าใช้สินค้าที่ซื้อจากโฮมโปรอย่างถูกวิธี จะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โฮมโปรมีทีมติดตั้งมาตรฐาน มีศูนย์ซ่อมสินค้าชำรุดโดยตรงที่ซ่อมได้อย่างรวดเร็ว ต่างกับยุคก่อนการส่งซ่อมสินค้ากลับไปยังคู่ค้าบางครั้งต้องใช้เวลานานถึง 2 เดือน แต่ทุกวันนี้โฮมโปรซ่อมเองใช้เวลา 3-5 วันเท่านั้น
ส่วนโครงการแลกเก่าเพื่อโลกใหม่ซึ่งเป็นการนำเอาของที่ลูกค้าไม่ใช้แล้วมารีไซเคิล โครงการนี้ทำมาปีที่ 2 และเป็นแผนงานใหม่เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน “เราอยากให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่นว่าซื้อสินค้าโฮมโปรจะสามารถใช้ได้เต็มคุณค่า เมื่อเลิกใช้ก็ยังคุ้มค่ามีการจัดการให้เบ็ดเสร็จ” ช่วยแก้ปัญหาที่เป็น pain point ให้กับลูกค้าได้มากขึ้นเรื่อยๆ และโครงการนี้ตอบโจทย์เรื่องการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้ด้วย
นอกจากทำ circular economy และ waste management โฮมโปรยังทำเรื่อง green energy พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด โดยเกือบทุกสาขาของโฮมโปรจะติดตั้งโซลาร์รูฟ ผลิตไฟได้รวมกันได้มากกว่า 50 เมกะวัตต์ จากกว่า 80 สาขา พลังงานที่ได้เท่ากับโรงไฟฟ้าขนาดย่อมเป็นสิ่งที่ทำมาแล้วหลายปี และกำลังรอดูว่าราคาแบตเตอรี่ปรับตัวลดลงในราคาที่เหมาะสม จะนำแบตเตอรี่มาใช้ในการเก็บไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ใช้แบบออฟกริดต่อไป
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : สุรสิทธิ์ คิวประสพศักดิ์ นำ TERA สู่ยุคใหม่