สุรสิทธิ์ คิวประสพศักดิ์ นำ TERA สู่ยุคใหม่ - Forbes Thailand

สุรสิทธิ์ คิวประสพศักดิ์ นำ TERA สู่ยุคใหม่

หลังสะสมความรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์มาช่วงเวลาหนึ่ง นักคอมพิวเตอร์หนุ่มจึงลาออกจากงานประจำเพื่อตั้งบริษัทตามความฝันของตนด้วยเงินเริ่มต้นเพียง 300,000 บาท ผ่านไป 19 ปีมีบริษัทในกลุ่ม 3 แห่ง ปีที่ผ่านมาทำรายได้กว่า 600 ล้านบาท


เริ่มจากโปรแกรมเมอร์

    สุรสิทธิ์ คิวประสพศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เทอร์ราไบท์ พลัส จํากัด (มหาชน) หรือ TERA ให้สัมภาษณ์ทีมงาน Forbes Thailand ที่สำนักงานซึ่งตั้งอยู่บนชั้น 10 ของอาคารแห่งหนึ่งย่านถนนรัชดาภิเษก ซึ่งเขาออกแบบตกแต่งและเลือกเฟอร์นิเจอร์เองทั้งหมด

    ชายหนุ่มลูกชาวสวนที่เดิมคิดว่าจะเป็นนักบัญชีจึงเลือกเรียนบัญชีในระดับ ปวช. ทว่าหลังฝึกงานและพบว่าชอบงานคอมพิวเตอร์จึงเบนเข็มมาด้านนี้ในระดับ ปวส. และเรียนต่อปริญญาตรีและปริญญาโท สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหิดล (ชื่อเดิมคือ ภาควิชาคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์) ทว่าวันนี้เขาคือเจ้าของธุรกิจและนำบริษัทเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai ในหมวดธุรกิจเทคโนโลยี (TECH) เมื่อวันที่ 24 เมษายน ปี 2567

    “ผมเป็นเด็กบ้านนอกที่บ้านทำสวนอยู่บ้านแพ้ว สมุทรสาคร ตอนเรียนที่โน่นเรียนเทคนิคสมุทรสาคร เรียนบัญชี ปวช. เพราะไม่รู้จะทำงานอะไร จุดเปลี่ยนคือตอนจะจบมาฝึกงานในกรุงเทพฯ...และตัดสินใจเปลี่ยนมาเรียน ปวส. ด้านคอมพิวเตอร์ธุรกิจที่พณิชยการพระนคร ทางบ้านฐานะไม่ดีจึงเรียนและทำงานไปด้วย กลางวันทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ ภาคบ่ายเรียนคอมฯ”

    หลังเรียนจบ จึงเริ่มงานแรกด้วยการเป็นโปรแกรมเมอร์ และ system engineer ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 2 ปีครึ่ง ก่อนย้ายไปยังบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ system integrator

    “วันหนึ่งเขาบอกผมว่าทีมเซลส์ขาดคนดูภาพรวม ได้โปรโมตดูทีมเซลส์และภาพรวมทั้งหมด กลายเป็นว่าเรียนรู้ทั้งกระบวนการ ตำแหน่งสุดท้ายที่ออกมาเป็น Senior Manager น่าจะอายุน้อยที่สุดในเวลานั้น อยู่ที่นั่น 7 ปีครึ่ง...เราก็ดูว่ามีฝันบางอย่างที่เราอยากทำบริษัทในรูปแบบที่เราคิด บริษัทนั้นอาจไม่ตอบโจทย์ความฝันเราและออกมาสร้างฝันของตนเองตั้งแต่ปี 2548”


จากความฝันสู่การปลุกปั้น TERA

    นับตั้งแต่เปิดบริษัทช่วงเวลายากลำบากที่สุดคือช่วงแรกๆ ที่เสนอขายสินค้าแก่ลูกค้า แต่ด้วยการสนับสนุนของ HP ทำให้ปิดการขายได้

    "ช่วงแรกโตเพราะ HP และ support เราแม้กระทั่งตอนตั้งบริษัทใหม่ พอไปขายของใครก็โดนถามว่ามี reference ไหม ถ้าไม่มีผมไม่กล้าเป็นรายแรกของคุณหรอก challenge อีกอย่างคือถ้าซื้อวันนี้พรุ่งนี้บริษัทคุณเจ๊งผมทำไง HP ไปกับผมบอกว่าไม่เป็นไรเดี๋ยวออก paper ให้ลูกค้าว่า ซื้อของจาก TERA การันตีว่าเป็นมืออาชีพ ถ้า TERA เจ๊ง HP มา support ต่อโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย...พอมี reference ก็โตมาเรื่อยๆ"

    บริษัท เทอร์ราไบท์ พลัส จํากัด (มหาชน) จัดจำหน่ายอุปกรณ์ด้านไอทีและให้บริการระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแบบครบวงจร โดยมีบริษัทในกลุ่มอีก 2 แห่งคือ บจ. คลัสเตอร์ ซิสเท็มส์ และ บจ. สกายฟร็อก ลูกค้าเป็นบริษัทเอกชนขนาดกลางและขนาดใหญ่ ให้บริการแบบ B2B ธุรกิจแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มประกอบด้วย cloud & recurring services, on-premise hardware & cyber security, logistic application (SaaS) เป็นแอปพลิเคชันในการวางแผนระบบขนส่ง โลจิสติกส์ และ data analytic solutions and services

    ในปี 2548 ซึ่งเป็นปีแรกของการก่อตั้งได้รับการแต่งตั้งเป็น HP Premier Enterprise Business Partner จาก บจ. ฮิวเลตต์-แพคการ์ด (ประเทศไทย) (ชื่อเดิมคือ HP) เมื่อ HP แยกธุรกิจของกลุ่มและเปลี่ยนชื่อเป็น บจ. ฮิวเลตต์-แพคการ์ด เอ็นเตอร์ไพรส์ (ประเทศไทย) บริษัทก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นพันธมิตรระดับสูงสุดของ HPE ได้แก่ HPE HIT Platinum Partner รวมทั้งได้รับการแต่งตั้งเป็นพันธมิตรกับบริษัทรายอื่นๆ


วิเคราะห์ลูกค้า

    สุรสิทธิ์เป็นคนที่มีความสนใจหลากหลาย เมื่อสนใจเรื่องใดๆ แล้วจะทุ่มเทอย่างเต็มที่ คราวที่ตั้งบริษัทใหม่ๆ ยังไม่มีฝ่ายกฎหมาย แต่เขาเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญจึงลงทะเบียนเรียนวิชากฎหมาย เน้นกฎหมายแพ่งและอาญา กระทั่งได้วุฒิปริญญาปรีด้านนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

    นับตั้งแต่ตั้งบริษัทในปี 2548 มีปัญหาเพียง 1 เคส เนื่องจากบริษัทลูกค้าปิดกิจการ “ตั้งแต่วันตั้งบริษัทก็วางระบบว่าเซลส์ต้องส่งชื่อลูกค้าใหม่และเราเช็กทำตัวเหมือนกับเป็นบริษัทไฟแนนซ์ให้สินเชื่อลูกค้า”

    “บุคลากร” เป็นอีกเรื่องที่เขาให้ความสำคัญ โดยพนักงานต้องมีคุณสมบัติคือ ตรงต่อเวลา มีความเป็นมืออาชีพ และเก่งกว่าลูกค้า รวมถึงช่วยออกแบบ implement หากลูกค้าเจอปัญหาได้ด้วย

    สำหรับการบริหารคนเขามีหลักคิดที่ว่าต้องคุ้มค่าที่สุด ทีมงานคนหนึ่งๆ สามารถทำได้หลายหน้าที่ ขณะเดียวกันต้องมีความสุขด้วย เช่น หัวหน้าฝ่ายบุคคลทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเลขานุการบริษัท ขณะที่ก่อนหน้านี้ตัวเขาเองก็ดูแลฝ่ายกฎหมาย ทำหน้าที่ร่างสัญญา ดูสัญญา

T.Cloud ต้นไม้ต้นใหม่

    นับจากปี 2559 บริษัทมีนโยบายสร้างความเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน จึงเน้นการเติบโตของรายได้จากบริการแบบสมาชิกแบบต่อเนื่อง (recurring services) โดยเขาเปรียบเทียบกับการทำสวนซึ่งเป็นอาชีพเดิมของครอบครัว
“การเปิดสวนใหม่ต้องเริ่มต้นจากหาต้นไม้พันธุ์ดีมาปลูก จะตายหรือไม่ ไม่รู้ ต้องทุ่มสรรพกำลังดูแล จุดเริ่มต้นเริ่มจากต้นไม้”

    เส้นทางการเติบโตของ TERA แบ่งเป็น 3 ช่วง ขณะนี้อยู่ในช่วงที่ 3 “เราทำ T.Cloud ปี 2559 ตอนนั้นเป็น Gen 2 เรามีลูกค้า 100 กว่าสัญญา และลูกค้า 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ต่ออายุสัญญา ลูกค้ารักเราอยู่แล้ว เราเอาเงิน 60 ล้านที่ได้จากการระดมทุนลงทุนในระบบคลาวด์เพื่อให้ระบบมีเสถียรภาพสูงขึ้น และมี capacity เพิ่ม รองรับลูกค้าได้มากขึ้นในอนาคต ตัว Gen 2 เราซื้อเซอร์วิสจากคนอื่น แต่ Gen 3 เราทำเอง จะทำให้เพิ่ม margin ได้อีก…ลูกค้าเก่า Gen 1, Gen 2 จะหมดอายุสัญญาก็ชวนลูกค้าไป Gen 3 offer ราคาเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นอีกนิดเดียว แต่ (ประสิทธิภาพ) ดีขึ้นอีกเยอะ เหมือนพี่ได้รถโมเดลใหม่แต่คิดราคาเดิม ลูกค้าจะไม่ย้ายตามเราไป Gen 3 หรือ”

    “เราโตจากฐานเงินทุนน้อย ตอนตั้งบริษัทมีเงินทั้งเนื้อทั้งตัว 300,000 บาท มาได้ขนาดนี้ก็เกินฝันของผมแล้ว ความที่ตังค์ไม่พอต้องหาคนนี้คนโน้นมาร่วมทุน และยังพาบริษัทเติบโตได้ขนาดนี้อย่างมั่นคง” สำหรับภาพอนาคตของบริษัทต่อจากนี้ เขาตอบว่า “เอาแค่ 3 คำสั้นๆ เติบโต ยิ่งใหญ่ ยั่งยืน”



ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์ และ TERA



​เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ :วิน สันติพงศ์ไชย ปรับพิกัดชาร์จพลังสปีด GT Auto

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤษภาคม 2567 ในรูปแบบ e-magazine