วิกรม กรมดิษฐ์ ฉายา “มหาเศรษฐีผู้ใจบุญ” บอกเล่าเรื่องราวการบริจาคสินทรัพย์กองมหึมา แปลงสินทรัพย์เป็นบุญ และ AMATA Model กับปรัชญา All Win ยั่งยืน ไร้รอยต่อ ชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม ส่งต่อคนรุ่นหลัง
วิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) และประธานมูลนิธิอมตะ ผู้ก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ประกาศบริจาคสินทรัพย์ครั้งใหญ่ 2 หมื่นล้านบาทเพื่อสาธารณะ ภายใต้การบริหารของมูลนิธิอมตะในวาระอายุ 70 ปีเมื่อปีที่ผ่านมา สร้างความสนใจต่อสังคมและสาธารณชนอย่างมากกับแนวคิดการบริจาคครั้งนี้จะนำไปสู่การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนได้อย่างไร วิกรมเปิดบ้านต้อนรับพร้อมถ่ายทอดเรื่องราวแนวคิดและที่มาของการทำบุญครั้งใหญ่ให้ Forbes Thailand ฟัง
เส้นทางธุรกิจเริ่มขึ้นเมื่อปี 2538 จัดตั้ง บริษัท กรมดิษฐ์ คอร์ป จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 16 มีนาคม ปี 2538 ทุนจดทะเบียน 250 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์พร้อมให้การบริการที่เกี่ยวข้อง ขายหนังสือในหมวดธุรกิจ การเช่าและดำเนินการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองหรือเช่าจากผู้อื่นที่ไม่ใช่เพื่อเป็นที่พักอาศัย ในปี 2539 ได้จัดตั้งมูลนิธิอมตะสนับสนุนแนวคิดสร้างสรรค์การศึกษาให้กับเยาวชนของชาติ การจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ในปี 2540 บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยและต่างประเทศ
ในปี 2549-2552 วิกรม กรมดิษฐ์ ได้รับการจัดอันดับจากนิตยสาร Forbes ติดอันดับ 40 มหาเศรษฐีในเมืองไทย รับรางวัล fDi Personality of the Year 2008-Asia จากนิตยสาร Foreign Direct Investment (fDi) ในเครือ Financial Times Group London และรางวัลมหาเศรษฐีใจบุญแห่งเอเชีย (48 Asian Philanthropist)
มหาเศรษฐีใจบุญ
การบริจาคสินทรัพย์มูลค่า 2 หมื่นล้านบาทสู่สาธารณะชนก็อยู่ภายใต้ปรัชญา All Win เมื่อการดำเนินธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมประสบความสำเร็จ มีมูลค่ามากขึ้น มูลค่าทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้น เงินทองก็ไม่ได้ใช้เงินเยอะ ใส่เสื้อผ้าแต่เฉพาะที่จำเป็น เดิมๆ ซ้ำๆ ไม่ได้ซื้ออะไรมาก "พอผมคิดแบบนี้ก็มานั่งคำนวณเงินที่เราจะใช้ก่อนตาย พอคำนวณออกมาก็มาดูทรัพย์สินที่เรามี เป็นที่มาว่าเงินที่มีผมใช้ส่วนเดียว ส่วนที่เหลือ 95% ก็ยกให้มูลนิธิที่เราทำมา 30 ปีแล้ว เราคิดตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่าวันหนึ่งเราจะรวยจึงตั้งใจทำมูลนิธิที่สนับสนุนด้านการศึกษา สิ่งแวดล้อม ศิลปะวัฒนธรรม" วิกรมกล่าวและอธิบายภาพให้ชัดขึ้น
การตั้งมูลนิธิในปี 2538 ก็เช่นกัน เขาคิดมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม ต้องได้ประโยชน์ สร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชน พัฒนาในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม รวมถึงส่งเสริมงานด้านสร้างสรรค์ ศิลปวัฒนธรรม แก่นักเขียนและเพื่อให้กำลังใจแก่เหล่าศิลปิน มีหลายโครงการที่มูลนิธิให้การสนับสนุนต่อเนื่อง อาทิ โครงการรางวัลนักเขียนอมตะ, โครงการทุนเรียนดี, โครงการประกวดศิลปกรรม "อมตะ อาร์ต อวอร์ด", โครงการด้านนวัตกรรม และโครงการหนังสือดีมีประโยชน์สร้างการเปลี่ยนแปลง
พี่น้องและสมาชิกในตระกูลกว่า 50 ชีวิตได้เข้าใจและเห็นว่ามูลนิธินี้ดี ได้สร้างประโยชน์ กำไรที่ได้จากธุรกิจได้นำไปใช้ประโยชน์คืนสู่สังคม เป็นเกียรติและมีความภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการทำบุญช่วยบริหารมูลนิธิ แยกกันชัดเจนระหว่างมูลนิธิกับ บริษัท กรมดิษฐ์ คอร์ป จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจกงสีสำหรับพี่น้องและคนในตระกูล ซึ่งถ้ามาทำงานก็จะได้รับเงินเดือน เมื่อสมาชิกคนใดในครอบครัวเสียชีวิตจะนำเงินส่วนนั้นมาไว้กองกลาง ไม่มีการแบ่งกำไร และไม่มีการกู้ ปัจจุบันมีประมาณกว่า 1 พันล้านบาท และมีกฎข้อเดียวคือ ห้ามขาย
All Win ชนะไปด้วยกัน
หัวใจสำคัญที่สร้างความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจคือ แนวทางดำเนินธุรกิจที่ยึดหลักปรัชญา "All Win" มุ่งมั่นสร้างวัฒนธรรมองค์กร All Win ชนะไปด้วยกันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ขยายโครงการสู่ต่างประเทศ สร้างนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิต เขาทำสองสิ่งนี้ควบคู่กันคือ ธุรกิจกับความดี ตั้งแต่วันแรกของการก่อตั้งธุรกิจในปี 2518 โดยเชื่อว่าการแบ่งปันและการให้จะช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ทำธุรกิจต้อง All Win ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ เมื่อมีกำไรต้องแบ่งปันสู่สังคม
“การทำธุรกิจที่ดีนั้นไม่ใช่ win-win แต่คือ All Win มันคือสัจจธรรม เป็นปรัชญชาในการทำงานที่ทุกคนควรนำไปปฏิบัติ ถ้าเราประสบความสำเร็จ “คู้ค้า” ก็จะประสบความสำเร็จ คนรอบข้างก็ประสบความสำเร็จ และก็ไม่ทำให้สังคมได้รับความเสียหาย ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม และเราก็จะไม่เห็นแก่ตัว ไม่เบียดเบียน และเกิดการแบ่งปัน”
การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในแบบ All Win ยึดหลักง่ายๆ คือถ้าธุรกิจมีกำไรต้องนึกถึงลูกค้า คิดถึงผู้คนและสังคมรอบข้าง ที่ล้อมรอบด้วยพ่อค้า แม่ขาย แหล่งที่พักอาศัย อะพาร์ต์เมนต์ ธุรกิจขนส่งและกระจายสินค้า ในด้านเศรษฐกิจนิคมอมตะสร้างรายได้และสร้างมูลค่าการส่งออกต่อเนื่องมากกว่า 10% ของ GDP รายได้ที่เข้ามาในประเทศไทย 100 บาทจะมาจากอมตะ 10% เฉพาะรายได้จากภาษีโรงเรือนเข้าสู่รัฐคิดเป็นรายได้เข้าประเทศกว่า 2 หมื่นล้านบาท
ร่วมมือ แบ่งปัน
ที่นิคมอมตะไม่มีน้ำเสีย ไม่มีขยะ ให้ความสำคัญเรื่องการบริหารจัดการน้ำ จากโครงการความร่วมมือระหว่าง บริษัท อมตะ ยู จำกัด และ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ เพื่อศึกษาและพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการน้ำในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC เพื่อยกระดับการบริหารจัดการน้ำ เสริมความมั่นคง สร้างความยั่งยืนในการบริหารทรัพยากรน้ำให้เพียงพอต่อการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม
โดยโมเดลของการพัฒนาความร่วมมือนี้ อมตะ ยู ในเครือของกลุ่มอมตะที่ดำเนินธุรกิจจัดหาและให้บริการสาธารณูปโภคและพลังงานครบวงจรและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมของกลุ่มอมตะทั้งในและต่างประเทศ จะร่วมศึกษาศักยภาพของแหล่งน้ำดิบของอมตะ ยู และการเชื่อมโยงโครงข่ายท่อน้ำของอีสท์วอเตอร์เพื่อสร้างระบบส่งน้ำที่มีเสถียรภาพ เพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้น้ำในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ และรองรับการลงทุนที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตน้ำแล้งและในสถานการณ์ปกติ ภายในนิคมซึ่งมีแหล่งน้ำดิบเหลือใช้ในพื้นที่ของนิคมอมตะซิตี้ ชลบุรี และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้ผ่านโครงข่ายท่อของอีสท์วอเตอร์ เพื่อสนับสนุนการผลิตในโรงงานตลอดทั้งปี และในช่วงการเติบโตของพื้นที่ EEC จะมีการจัดส่งน้ำดิบเพิ่มเติมในปริมาณที่กำหนด ซึ่งจะช่วยลดภาระของภาครัฐในการส่งน้ำจากในพื้นที่อุตสาหกรรมภาคตะวันออก
“ความร่วมมือด้านสาธารณูปโภคครั้งนี้เราเรียกว่า “แบ่งปัน” ซึ่งจะเกิดผลดีต่อการพัฒนาระบบน้ำ ปัจจุบันภายในที่นิคมอมตะ ชลบุรี เรามีน้ำใช้ต่อเนื่องมากกว่า 18 เดือน และกำลังจะขยายเพิ่มอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งสามารถสำรองน้ำได้นานถึง 1 ปี” วิกรมกล่าว
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดยุทธศาสตร์แผนพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอมตะยกระดับเมืองอุตสาหกรรมต้นแบบสู่ “เมืองอัจฉริยะอมตะ: AMATA Smart City” ทั้งด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ให้เป็นศูนย์กลางการค้นคว้าวิจัยสู่เมืองวิทยาศาสตร์ในขนาดพื้นที่ 6,000 ไร่ สร้างโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียนที่ได้รับทุนจากมูลนิธิฯ ได้เรียนและทำงาน โดยนิคมอมตะยังได้เตรียมพัฒนาเมืองคนชราตามหลักภูมิสถาปัตย์ที่อยู่อาศัยของคนชรา ทั้งบ้านพัก อะพาร์ตเมนต์ รองรับการทำงานหลังเกษียณ เปิดโอกาสให้ทำงานแบบพาร์ตไทม์
อมตะสู่ลุ่มน้ำโขง
ปี 2568 เศรษฐกิจทั่วโลกและในทุกภูมิภาคจะเผชิญความท้าทายยิ่งขึ้น จะเป็น game changer ที่ดุเดือดจากประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั้งสหรัฐอเมริกาและจีน แต่การเปลี่ยนแปลงที่กลุ่มอมตะให้ความสนใจและเป็นโอกาสด้านการลงทุน พร้อมเมกะโปรเจกต์เพื่อขยายบทบาทการค้า การลงทุน ร่วมพัฒนาพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอมตะที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว บนพื้นที่นับแสนไร่ สู่การพัฒนานิคมอุตสาหกรรม รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขงจากโครงการพัฒนาเส้นทางการขนส่งทางรางที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียน เส้นทางรถไฟ จีน -ลาว คุนหมิง กรุงเทพฯ สู่ยุโรป สู่ Land Link ด้านโลจิสติกส์ที่สำคัญ
“อาเซียนเติบโตปีละ 4-5% ที่มาจากปัจจัยด้านการลงทุนของต่างชาติ เห็นได้จากในช่วงไตรมาส 2 ปี 2567 เวียดนามมีการขยายตัวถึง 7.4% จากการลงทุนของกลุ่มทุนต่างชาติ วันนี้อาเซียนเหมือนครอบครัว มีสมาชิก 10 ประเทศ เป็นภูมิภาคที่จะมีความสำคัญด้านการค้าการลงทุนอีกมาก อาเซียนเหมือน department store มีสินค้าให้เลือกหลากหลาย จะมองแค่ประเทศไทยอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ถ้าพูดถึงสินค้ามีทั้งสินค้าจากไทย พม่า เวียดนาม ผมให้ความสำคัญกับการลงทุนในประเทศลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ลาว”
วิกรมกล่าวว่า เป็นก้าวสำคัญของบริษัทอมตะในการพัฒนาอุตสาหกรรมของลาว โดยจะเริ่มลงทุนเฟสแรกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2568 เป็นต้นไป จำนวน 6,000 ไร่ (เวนคืนครั้งเดียว) และเริ่มพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ หลังจากได้ซื้อที่ดินขนาด 200 ตารางกิโลเมตรในแขวงหลวงน้ำทา ทางตอนเหนือของลาว ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ตามแนวเส้นทางรถไฟระหว่างลาว-จีน ที่เชื่อมต่อลาวเข้ากับเมืองคุนหมิงในมณฑลยูนนานของจีน โดยตั้งเป้าการลงทุน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในระยะแรก และ 5 พันล้านเหรียญสำหรับพื้นที่ทั้งหมด 200 ตารางกิโลเมตร
จะเป็นเมกะโปรเจกต์ในลุ่มน้ำโขงของกลุ่มอมตะที่ได้สัมปทานจากรัฐบาลลาว รวมพื้นที่กว่า 100,000 ไร่ ที่ตั้งอยู่ในเขตนาหม้อ ซึ่งเป็นทำเลยุทธศาสตร์ด้านขนส่ง พื้นที่ของการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมจะอยู่ในช่วงสถานีที่ 3 จำนวน 60,000 กว่าไร่ เซ็นสัญญาแล้วประมาณ 130,000 ไร่ ส่วนอีกแห่งหนึ่งพื้นที่จำนวน 130,000 ไร่จะติดกับคุนหมิง
เติบโตจากภายใน
การขยายตัวของเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขงเป็นที่น่าจับตา โครงการเมกะโปรเจกต์ของกลุ่มอมตะ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเขตส่งเสริมการลงทุน นิคมอุตสาหกรรมอมตะในลาวตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป ทำให้วิกรมต้องให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้นเพราะการวางมือเป็นไปได้ยาก “คนเป็นเถ้าแก่การวางมือเป็นไปไม่ได้ แต่ต้องปรับรูปแบบการบริหารธุรกิจอย่างสมดุล การเติบโตก็ต้องอาศัยคนเป็นพลังขับเคลื่อน” วิกรมมองว่าการวางโมเดลการพัฒนาคนภายใต้แนวคิด “เติบโตจากภายใน” เป็นการพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างแข็งแรงและยั่งยืน “ใครทำอะไรได้ดีก็ทำสิ่งนั้น”
ส่วนตนก็จะปรับตัวเน้นบทบาทการบริหารภาพรวมและด้านนโยบายมากขึ้น ทั้งด้านการกำกับดูแล การกำหนดยุทธศาสตร์ เป้าหมายองค์กร แผนและนโยบาย และการแก้ปัญญา โดยผู้บริหารบริษัทในเครือทั้ง 45 แห่งจะต้องพัฒนาสู่การเป็นนักบริหารมืออาชีพตามแผนพัฒนาบุคลากร สนับสนุนคนภายในสร้างการเติบโตให้พนักงานในองค์กร โดยจะไม่มีคนในตระกูลกรมดิษฐ์เข้ามาบริหาร
คาถาชีวิตในวัย 71
วิกรมในวัย 71 ปี ยังคล่องแคล่ว เต็มเปี่ยมด้วยพลังบวก และยังคงบันทึกเรื่องราว คำคม และข้อคิดที่ได้จากการพูดคุยกับผู้คนลงในสมุดน้อยเล่มโปรดเสมอ เรียกว่าเป็น “คาถาชีวิต” ของมหาเศรษฐีใจบุญที่นำไปใช้ได้ทั้งในการดำเนินชีวิตและในการดำเนินธุรกิจสำหรับตนเองและคนรุ่นหลัง
วิกรมกล่าวว่า ทุกครั้งที่ได้อยู่กับตัวเองหรือได้พูดคุยกับผู้คนมักจะได้ “คาถาชีวิต” มาด้วย พอความคิดที่ผุดขึ้นมาก็จะจดบันทึกไว้ หรือบางครั้งเกิดจากความรู้สึกว่าเมื่อเกิดมาเป็นคนแล้ว เราจะทำอะไรได้บ้าง พอเวลานึกขึ้นได้ก็จะลุกขึ้นมาจดและก็รวบรวมเป็นหนังสือ ถ่ายทอดให้คนที่สนใจนำไปใช้และเป็นข้อคิด
บางบทบางตอนของคำคม อาทิ เรียนก่อนรู้, รู้ก่อนทำ, ฝันให้ไกลไปให้ถึง, ไม่มีอะไรดีไปกว่าการทำความดี, อย่าปฏิเสธโดยไม่ได้ลอง, คิดครั้งเดียวสู้ 2 ครั้งไม่ได้, ความจำเปลี่ยนเมื่ออายุและเวลาเปลี่ยน, อย่าคุยใช้โทรศัพท์ต่อหน้าแขก, ทุกสิ่งที่มีเกิดจากเป้าหมายและความพยายาม, อย่าเชื่อคนที่ไม่เคยพูดความจริง และคาถาล่าสุดที่ผุดคิด วันนี้ย่อมฉลาดกว่าเมื่อวาน ส่วนคาถาชีวิตสำหรับนักธุรกิจ ไม่มีอะไรดีไปกว่าการทำความดี และคาถาที่อยากถ่ายทอดให้คนรุ่นใหม่ คือ “สิ่งที่ดี สิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่เป็นประโยชน์”
All Win ชนะไปด้วยกันจะเป็นปรัชญาธุรกิจที่เชื่อว่าคือการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน สร้างสมดุลในสังคม และจะผลิดอกออกผลสู่สังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอน
ภาพ : บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) และ วรัชญ์ แพทยานันท์
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : 'ดารณี ฉัตรพิริยะพันธ์' ซีอีโอพลังหญิง ขอ 5 ปีปั้น LPN ขึ้น Top 10 อสังหาฯ