ความเย้ายวนของหุ้น LPN ซึ่งมีปัจจัยพื้นฐานดีดึงดูดให้ “ฉัตรพิริยะพันธ์” เข้าลงทุนเรื่อยมาจนประสบผลสำเร็จ “ถือหุ้นใหญ่” ติดตามภารกิจซีอีโอหญิงทวงคืนบัลลังก์อสังหาฯ ปั้นรายได้ขึ้น Top 10
เมื่อ ดารณี ฉัตรพิริยะพันธ์ ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูล “ฉัตรพิริยะพันธ์” เจ้าของกลุ่มบริษัท เมทัล คอปเปอร์ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจด้านการนำเศษวัสดุใช้แล้วมารีไซเคิล ส่งออกวัสดุทองแดงและรีไซเคิลรายใหญ่ เข้ารับตำแหน่งผู้บริหารสูงสุด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN เมื่อ 16 สิงหาคม ปี 2567 แน่นอนว่าย่อมถูกจับตาในกลุ่มนักลงทุน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พันธมิตร คู่แข่ง
เป้าหมายการขับเคลื่อนองค์กร LPN ภายใต้ยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ธุรกิจของซีอีโอหญิงคนใหม่จะเป็นอย่างไรท่ามกลางปัจจัยทั้งภายนอกและภายใน สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ผันผวน สถานการณ์สงครามที่กำลังร้อนระอุอันจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโลกและไทย กำลังซื้อที่อ่อนแรง ค่าเงินบาท แนวโน้มดอกเบี้ย หนี้ครัวเรือน การปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่เข้มงวด และซัพพลายล้นตลาด
ดารณีกล่าวว่า “การเข้าลงทุนในหุ้น LPN ของครอบครัวฉัตรพิริยะพันธ์มีจุดเริ่มจากความสนใจในโมเดลธุรกิจของ LPN ซึ่งมองว่าสวย ครบเครื่อง” โดยเฉพาะ วรัญญา ฉัตรพิริยะพันธ์ พี่สาวคนโตผู้มีวิสัยทัศน์และมุมมองด้านการลงทุนที่เห็นโอกาสในการต่อยอดการลงทุนและขยายธุรกิจ LPN ซึ่งมีโมเดลการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร ตั้งแต่ธุรกิจการพัฒนาตลาดที่อยู่อาศัย ธุรกิจการบริหารจัดการอาคาร ธุรกิจด้านการวิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจการก่อสร้าง งานวิศวกรรม และธุรกิจการบริหารงานขาย จึงมั่นใจและตัดสินใจเข้าลงทุนในหุ้น LPN และเริ่มทยอยซื้อเก็บสะสมตั้งแต่ปี 2565 เรื่อยมา
“เราค่อยๆ ทยอยเก็บหุ้นในตลาดสะสมไปเรื่อยๆ พอในปี 2566 สัดส่วนการถือหุ้นก็ขึ้นไปที่ 17.91% กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่” (จากข้อมูลทะเบียนผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 22 สิงหาคม ปี 2567 วรัญญา ฉัตรพิริยะพันธ์ ถือหุ้นจำนวน 203.3 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 13.98% ดารณี ฉัตรพิริยะพันธ์ ถือหุ้นจำนวน 37.1345 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 2.55% และ อนันต์ ฉัตรพิริยะพันธ์ จำนวน 20 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 1.38%)
ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ปี 2566 ดารณีได้รับมอบหมายภารกิจเป็นผู้รับผิดชอบทำหน้าที่ด้านการบริหารใน LPN ในตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน และขึ้นเป็นผู้บริหารสูงสุด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ปี 2567
เป้า 5 ปีขึ้น Top 10 อสังหาฯ
การก้าวสู่ตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LPN เป็นความท้าทาย แต่ดารณีก็มั่นใจและพร้อมนำประสบการณ์และความสำเร็จที่ได้จากการบริหารธุรกิจครอบครัว 14 ปีเป็นแนวทางในการบริหาร จากผลงานการขยายตลาดธุรกิจซื้อ-ขายของเก่าและเศษวัสดุรีไซเคิลสู่ตลาดส่งออกไปยังจีน ญี่ปุ่น อินเดีย เบลเยียม เกาหลี และมาเลเซีย สร้างรายได้จาก 200 ล้านบาทในปี 2553 เป็น 4.5 พันล้านบาทในปี 2566
ขณะที่ LPN เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีกฎระเบียบ หลักเกณฑ์ และกระบวนการหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกระดับองค์กรเพื่อธุรกิจยั่งยืน และด้วยชื่อเสียงที่สั่งสมในวงการอสังหาริมทรัพย์ยาวนานกว่า 35 ปี ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายวิกฤต แต่ LPN ก็ยังสามารถสร้างรายได้และกำไรอย่างต่อเนื่อง นี่จึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่มากับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
“การบริหารองค์กรที่มีประวัติยาวนานและมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง มีกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรร ณ วันที่ 30 มิถุนายน ปี 2567 สูงถึง 10,006.80 ล้านบาท เป็นความท้าทายความสามารถ แต่ก็พร้อมนำประสบการณ์ที่มีอยู่มาใช้เต็มที่ เป้าหมายสำคัญคือ การนำ LPN กลับสู่ top 10 ในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้านรายได้ภายใน 5 ปี จากผลการดำเนินงานครึ่งแรกปี 2567 LPN มีรายได้รวม 3,784.63 ล้านบาท เป็นอันดับที่ 15 เมื่อเทียบกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจำนวน 40 บริษัท”
การเงินต้องแข็งแกร่ง
ภายใต้โจทย์ใหญ่ขอเวลา 5 ปีเพื่อพา LPN ก้าวทะยานขึ้นเป็น top 10 ในวงการอสังหาริมทรัพย์ ดารณีให้ความสำคัญกับการบริหารการเงิน เพราะเป็นหัวใจที่จะนำพาธุรกิจให้ขับเคลื่อนไปได้อย่างแข็งแกร่งท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนและผันผวนสูงทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก
“ความแข็งแกร่งทางการเงินขององค์กรคือหัวใจสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจสามารถฝ่ามรสุมต่างๆ ไปได้ ซึ่ง LPN เป็นองค์กรที่เคยผ่านวิกฤตการเงินมาหลายรอบ แต่ LPN ยังมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดยมีสัดส่วนหนี้ที่มีดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ 0.97:1 และเป้าหมายต่อไปคือ ต้องลดลงมาให้อยู่ที่ 0.6:1 เพื่อให้บริษัทมีเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเงินมากยิ่งขึ้น”
การบริหารจัดการสภาพคล่องทางการเงินที่เป็นรูปธรรมในเวลานี้คือ การลดสินค้าคงเหลือ (inventory) เปลี่ยนสินค้าคงเหลือให้เป็นเงินสดเพื่อชำระคืนเงินกู้และเพิ่มกระแสเงินสดของบริษัทให้มากพอที่จะรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นและเพียงพอกับการบริหารจัดการและการลงทุนใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ ยังต้องเร่งพัฒนาโครงการในทำเลใหม่ๆ “เราให้ความสำคัญด้านการวิจัยการตลาด การวิจัยความต้องการของผู้ซื้อในแต่ละทำเล จนถึงรูปแบบที่เหมาะสมกับลูกค้า โดยจะปรับไปสู่การพัฒนาโครงการที่มีขนาดเล็กลงและกำหนด timeline ตั้งแต่การเปิดตัวโครงการก่อสร้างจนถึงโอนไม่เกิน 1,000 วัน หรือราวๆ 2 ปีครึ่ง เพื่อลดภาระต้นทุน ดอกเบี้ยจ่าย และบริหารสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท”
เป็นการก้าวไปสู่เป้าหมายที่วางไว้คือมีภาระหนี้ที่มีดอกเบี้ยต่อทุนไม่เกิน 0.6:1 ทำให้องค์กรมีความแข็งแรงทางการเงินมากยิ่งขึ้น รวมทั้งแผนการสร้างรายได้ระยะยาวจากงานบริการทั้งการบริการหลังการขาย การบริหารชุมชน การสร้างรายได้จากการปล่อยเช่าพื้นที่ภายในโครงการ เพื่อสร้างความยั่งยืนและความสมดุลด้านรายได้ให้กับบริษัทในระยะยาว ภายใต้เป้าหมายสำคัญคือ ยกระดับ LPN ให้เป็นองค์กรที่มีความแข็งแกร่งและเติบโตอย่างยั่งยืนในอัตรา 5-10% ต่อปี
เสริมแกร่งชุมชน “น่าอยู่”
ตลอดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ดารณีพบว่า LPN มีจุดแข็งในด้านการบริหารชุมชน “น่าอยู่” ที่ให้ความสำคัญกับการดีไซน์ เน้นฟังก์ชัน ตอบโจทย์การใช้งาน และจากนี้ไปจะเพิ่มความแข็งแกร่งมุ่งสู่การยกระดับพัฒนาการออกแบบทางสถาปัตยกรรมสู่ Universal Design (UD) หรืออารยสถาปัตย์ ออกแบบสภาพแวดล้อมการบริการต่างๆ ที่ตอบโจทย์คนทุกกลุ่ม
ในขณะเดียวกันโครงการภายใต้การบริหารของ LPN ยุคใหม่จะมุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงการโดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ทั้งระบบการก่อสร้างที่เรียกว่า BIM (Building Information Modeling) การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI มาใช้ในการทำงานเพื่อลดภาระต้นทุนค่าการก่อสร้าง และการบริหารงานของบริษัทเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยในราคาที่ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของได้ เป็นการลดค่าใช้จ่ายในการอยู่อาศัยของผู้อยู่อาศัยในระยะยาว
ดารณีตอกย้ำว่า ต้องการพัฒนาที่อยู่อาศัยและบริการที่ว้าวสำหรับทุกคน ซึ่งเป็นสิ่งที่จะเห็นใน LPN ยุคใหม่ที่เข้ามาเสริมกับความเป็น LPN ในอดีตในการพัฒนาโครงการนับจากนี้ไป โดยให้ความสำคัญกับเรื่องของฟังก์ชันการใช้งานที่พอดีในราคาสมเหตุสมผล (reasonable price) ในราคาที่ทุกคนจับต้องได้
ภาพ: LPN
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : พรทิพย์ เทพตระการพร STTC ถอดรหัสมิเตอร์ไฟดิจิทัล