พรทิพย์ เทพตระการพร STTC ถอดรหัสมิเตอร์ไฟดิจิทัล - Forbes Thailand

พรทิพย์ เทพตระการพร STTC ถอดรหัสมิเตอร์ไฟดิจิทัล

ความเชื่อมั่นในโอกาสที่เล็งเห็นเสริมความมั่นใจให้เลขานุการบริษัทสายการบินประจำชาติอิตาลีตัดสินใจลาออกเริ่มต้นนับหนึ่งความรู้นอกตำรา ก่อตั้งธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมในไทยสู่การปรับทิศเติมเต็มช่องว่างการพัฒนาเทคโนโลยีมิเตอร์ไฟฟ้าสอดคล้องกับเทรนด์อนาคต


    เบื้องหลังการร่วมขับเคลื่อนความมั่นคงทางพลังงานของประเทศให้สามารถบริหารจัดการไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยความมุ่งมั่นเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนามิเตอร์ไฟฟ้าของประเทศสู่มิเตอร์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ (electronic meter) และมิเตอร์อัจฉริยะ (smart meter) พร้อมก้าวเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายมิเตอร์ไฟฟ้าเพียงรายเดียวที่ได้รับขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยด้านไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม ซึ่งสอดคล้องกับโอกาสการขยายตัวของธุรกิจพลังงานและไฟฟ้าตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) และแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทย (พ.ศ. 2558-2579)

“เราเป็นนักเรียนทุนสายการท่องเที่ยวและทำงานบริการในสายการบินแต่สนใจธุรกิจมิเตอร์ไฟฟ้า เพราะมองเห็นโอกาสความเป็นไปได้จากการพัฒนาของประเทศ และยังถือเป็นฟันเฟืองที่มีความสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แม้จะไม่มีความรู้ทางด้านนี้เราต้องพยายามศึกษาและถามทีมงานให้ช่วยอธิบายให้ฟังเพื่อให้เข้าใจภาพธุรกิจ”

    พรทิพย์ เทพตระการพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สมาร์ททีทีซี จำกัด (มหาชน) หรือ STTC กล่าวถึงการเบนเข็มเส้นทางความรู้ที่สั่งสมในระดับปริญญาตรี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร และปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมถึงการปรับใช้ประสบการณ์ทำงานเป็นเลขานุการของผู้จัดการระดับเอเชียและแปซิฟิกใต้ของสายการบินประจำชาติของประเทศอิตาลี Alitalia ซึ่งได้ฝึกวิชาการบริหารจัดการและการติดต่อสื่อสารกับหน่วยงานต่างๆ สู่ความพร้อมเริ่มต้นก่อตั้งธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตตู้คอนเทนเนอร์สำหรับใส่อุปกรณ์โทรคมนาคมเพื่อใช้เป็นสถานีฐานสัญญาณสำหรับโทรศัพท์แบบเคลื่อนที่ หรือ mobile-base station สำหรับการรับ-ส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือภายใต้ บริษัท ไทยเทเลคอนเทนเนอร์ จำกัด และโรงงานผลิตที่จังหวัดฉะเชิงเทราในปี 2537

    “หลังจบปริญญาตรีเราได้รับทุนเอกชนจากรัฐบาลอิตาลีเรียนเรื่องการบริหารจัดการการท่องเที่ยวและเรียนภาษาที่อิตาลีด้วย 5 ปี เมื่อกลับเมืองไทยได้อาทิตย์เดียวก็ได้ทำงานที่ Alitalia ประมาณ 5 ปี จนกระทั่งแต่งงานมีน้องจึงรู้สึกไม่สะดวก เพราะเวลาไทยและอิตาลีต่างกันหลายชั่วโมง นายทำงานหลังบ่าย แต่เราเข้างาน 8 โมงต้องดูแลนายถึง 2-3 ทุ่ม และยังมีสาขาที่ญี่ปุ่นด้วย เราจึงเริ่มพูดคุยกับพี่น้องมองหาธุรกิจส่วนตัวทำ ซึ่งการเปลี่ยนจากลูกจ้างเป็นเจ้าของธุรกิจมีปัญหาพอสมควร เพราะเราต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตัวเอง เราต้องมีโรงงานและใช้เงินทุน โดยเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วเริ่มมีมือถือในประเทศแต่ยังไม่มีชุมสาย เราจึงเล็งเห็นโอกาสเริ่มธุรกิจตู้คอนเทนเนอร์ใส่อุปกรณ์โทรคมนาคมเป็นสถานีฐานสัญญาณ”

    แม้การเริ่มต้นเส้นทางธุรกิจจะเต็มไปด้วยความท้าทาย แต่พรทิพย์สามารถทำงานร่วมกับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยและการสื่อสารแห่งประเทศไทยในการคิดค้นตู้ต้นแบบจนได้รับการนำไปใช้อย่างแพร่หลายในเวลานั้น ส่งผลให้บริษัทมีกลุ่มลูกค้าเป็นกลุ่มผู้ให้บริการเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือเอกชนรายใหญ่ของประเทศหลายราย และสามารถเพิ่มทุนจดทะเบียนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงลงทุนสร้างอาคารโรงงานเพื่อรองรับการขยายตัวทางธุรกิจที่เติบโตตามโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมในประเทศไทย

    ขณะเดียวกันยังเล็งเห็นโอกาสการขยายตัวของธุรกิจพลังงานและไฟฟ้าตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งต้องมีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ อุปกรณ์ และบริการที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นเป็นประจำ ดังนั้น จึงเริ่มต้นลงทุนธุรกิจการผลิตและจำหน่ายมิเตอร์ไฟฟ้าแบบจานหมุน ด้วยการสร้างสายพานการผลิตมิเตอร์ไฟฟ้าเพิ่มเติมในพื้นที่โรงงานเดิม โดยเข้าร่วมประมูลงานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งชนะการประมูลครั้งแรกและได้รับงานจำหน่ายมิเตอร์ไฟฟ้าในปี 2542 โดยยุติการผลิตตู้คอนเทนเนอร์สำหรับใส่อุปกรณ์โทรคมนาคมเนื่องจากมีความต้องการใช้ลดลงในปี 2550 และทุ่มเทพัฒนาผลิตภัณฑ์มิเตอร์ไฟฟ้าเป็นธุรกิจหลักอย่างเต็มที่


    “ธุรกิจนี้เป็น infrastructure อยู่ได้นานและสุดท้ายจะเต็ม เราจึงมองการลงทุนต่อเพราะมีโรงงานแล้ว ซึ่งเราดูหลายอย่าง สายไฟ หม้อแปลง แต่เรามองว่ามิเตอร์คนทำน้อย เราดูงานที่ญี่ปุ่น เกาหลี จีน โดยนำความต้องการของเทคนิคไฟฟ้าเป็นที่ตั้ง ซึ่งเราสามารถชนะการประมูลได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่เข้าร่วม โดยขณะนั้นเราเป็นบริษัทใหม่และผลิตภัณฑ์ใหม่จึงเริ่มจากการผลิตส่งให้จำนวนไม่มาก เพื่อทดลองจนมั่นใจในมาตรฐานและเพิ่มสัดส่วนอย่างต่อเนื่อง”


เดินหน้ายกระดับมิเตอร์ไฟฟ้า

    พัฒนาการสำคัญของบริษัทเกิดจากความสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทมิเตอร์ไฟฟ้าให้เป็นรูปแบบระบบดิจิทัลนับตั้งแต่ปี 2557 เนื่องจากมิเตอร์ไฟฟ้าจานหมุนเป็นเทคโนโลยีดั้งเดิมที่มีข้อจำกัดด้านการใช้งานและการวัดค่าการใช้กระแสไฟฟ้าที่อาจเกิดความผิดพลาดรวมถึงใช้เวลาในกระบวนการทำงาน โดยสามารถพัฒนาให้มีประสิทธิภาพได้มากขึ้นด้วยการใช้มิเตอร์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ (Electronics meter หรือ E-meter) ซึ่งมีการเพิ่มฟังก์ชันการแสดงผลตัวเลขบนหน้าจอดิจิทัล ระบบป้องกันการละเมิดค่าไฟ ระบบการเก็บหน่วยค่าไฟฟ้าผ่านบลูทูธ รวมถึงการพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการอ่านมิเตอร์เพื่อใช้งานควบคู่กันกับมิเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ของบริษัท

    พรทิพย์กล่าวถึงการพัฒนามิเตอร์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความแม่นยำในการวัดการใช้ไฟฟ้าที่มากกว่ามิเตอร์ไฟฟ้าจานหมุน โดยสามารถนำข้อมูลพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของผู้บริโภคไปวิเคราะห์เพื่อกำหนดการปล่อยไฟฟ้าที่เหมาะสม และป้องกันปัญหาการละเมิดค่าไฟฟ้าได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียไฟฟ้าในกระบวนการจำหน่ายไฟฟ้าของประเทศ และสอดคล้องกับวิถีชีวิตสมัยใหม่และรูปแบบการใช้ไฟฟ้าที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

    ขณะเดียวกันยังได้เริ่มต้นพัฒนาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประเภทมิเตอร์อัจฉริยะ (smart meter) ในปี 2558 ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) และแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทย (พ.ศ. 2558 - 2579) โดยออกแบบให้มีการเก็บข้อมูลต่างๆ ได้มากขึ้น ควบคู่กับการนำระบบสัญญาณสื่อสารมาพัฒนาให้สามารถรับ-ส่งข้อมูลระยะไกลแบบเรียลไทม์ เช่น ข้อมูลการใช้ไฟฟ้า ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดต่อวัน ข้อมูลช่วงเวลาการใช้ไฟฟ้าสูงสุด แจ้งเตือนไฟฟ้าตก แจ้งการถูกละเมิดไฟฟ้า เป็นต้น 

    ดังนั้น ผู้จำหน่ายไฟฟ้าจึงไม่จำเป็นต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปจดหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่มิเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของหน่วยงานกำกับดูแล วางแผน และให้บริการ เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวง รวมถึงหน่วยงานภาคเอกชน เช่น ระบบไมโครกริดในนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น ให้สามารถวางแผนการผลิตและจัดส่งพลังงานไฟฟ้าได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น พร้อมทั้งช่วยให้หน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่สามารถวิเคราะห์และวางแผนการใช้พลังงานไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

    นอกจากนี้ บริษัทยังลงทุนพัฒนาสายพานการผลิตให้เป็นระบบการผลิตด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติในปี 2564 เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตและทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดของเสียในกระบวนการผลิตและลดสินค้าที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน พร้อมเดินเครื่องผลิตมิเตอร์ไฟฟ้าหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย และเริ่มโครงการงานจัดซื้อมิเตอร์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อสับเปลี่ยนทดแทนมิเตอร์จานหมุนเป็นครั้งแรกด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โดยทำข้อตกลงการค้าร่วม (consortium agreement) กับ บริษัท สกาย ลิงค์ โซลาร์ จำกัด (SLS) เพื่อร่วมการประกวดราคาโครงการ และได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะการประกวดราคาทั้งสิ้น 8 เขต จาก 12 เขตทั่วประเทศ ซึ่งมูลค่าโครงการรวม 1.23 พันล้านบาท

    “สมมติมิเตอร์ 20 ล้านเครื่อง เจ้าหน้าที่ต้องเดินทางจดตัวเลขหน้าเครื่องทุกเดือน แต่ถ้าเป็น smart meter ใช้ซิมการ์ดมีระบบเข้าไปจัดการดึงข้อมูลได้ทันที โดยเรายังมีมิเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ใช้บลูทูธเป็นสัญญาณไม่ใช่สื่อสาร ซึ่งต้นทุนน้อยกว่า smart meter และลดปัญหาเรื่องการจดหน่วยได้ดีกว่าแบบจานหมุน โดยใช้แอปพลิเคชันดึงข้อมูลจากที่ต้องจดทีละเครื่องเป็นหลายเครื่องพร้อมกันซึ่งเจ้าหน้าที่ยังต้องไปหน้าเครื่องแต่สามารถอ่านหน่วยระยะไกลได้ โดยขณะนี้การไฟฟ้าเริ่มสับเปลี่ยนจากจานหมุนเป็นอิเล็กทรอนิกส์บางส่วนและ smart meter บางส่วน”

    สำหรับในปัจจุบันบริษัทดำเนินธุรกิจเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายมิเตอร์ไฟฟ้ารวมถึงบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การให้บริการจำหน่ายพร้อมติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งรับประกันความชำรุดบกพร่องหรือขัดข้องเป็นเวลา 5 ปี และบริการข้อมูลพฤติกรรมการใช้ไฟ เช่น งานศึกษาลักษณะการใช้ไฟฟ้า (load profile) โดยให้บริการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะทั่วประเทศเพื่อศึกษาลักษณะการใช้ไฟฟ้าจากซอฟต์แวร์ผ่านระบบสื่อสาร พร้อมจัดส่งข้อมูลและแสดงผลลักษณะการใช้ไฟฟ้าแก่ผู้ว่าจ้างสำหรับนำไปใช้ในการออกแบบโครงข่ายสายส่งไฟฟ้า และโรงไฟฟ้าย่อยทั่วประเทศ รวมทั้งเตรียมดำเนินการขยายธุรกิจด้านพลังงาน เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (solar cell) การผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เกี่ยวข้อง


    “เดิมรายได้หลักของเรามาจาการขายมิเตอร์ 90% แต่ภายหลังที่ขยายขอบเขตการให้บริการติดตั้งและบำรุงรักษาในระยะเวลาประกันทำให้รายได้การให้บริการเพิ่มขึ้น เนื่องจากลูกค้าต้องการเปลี่ยนมิเตอร์ เรานำมิเตอร์จากสายการผลิตสับเปลี่ยนให้จึงถือว่าทำงานสำเร็จ โดยเรียกทั้งกระบวนการเป็นการให้บริการ รวมถึงธุรกิจใหม่ที่เราต่อยอดจากมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ เช่น บริการข้อมูลการใช้ไฟฟ้า การประมวลผลผ่านโปรแกรมซื้อซอฟต์แวร์ที่ทีมของบริษัทพัฒนาขึ้น ซึ่งช่วยลดต้นทุนการใช้พลังงานจากการรับรู้ข้อมูลและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟให้คุ้มค่าที่สุด รวมถึงประโยชน์สำหรับบริษัทอุตสาหกรรมใช้ในการตัดสินใจลงทุนโซลาร์เซลล์ รวมถึงธุรกิจด้านพลังงานทดแทนอื่นๆ ที่เรากำลังเริ่มขยาย”


    สร้างแต้มต่อนวัตกรรมไทย

    โอกาสจากแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2018) ได้คาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเพิ่มจาก 29,969 เมกะวัตต์ในปี 2561 เป็น 53,997 เมกะวัตต์ในปี 2580 และแผนยุทธศาสตร์การไฟฟ้านครหลวงปี 2566-2570 (ปรับปรุงครั้งที่ 1) เดินหน้าตามวิสัยทัศน์พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าให้มีความมั่นคงและอัจฉริยะ 

    ขณะที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้กำหนดวิสัยทัศน์ “ไฟฟ้าอัจฉริยะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่าง ยั่งยืน” หรือ “Smart Energy for Better Life and Sustainability” ในแผนยุทธศาสตร์ กฟภ. พ.ศ. 2567-2571 พร้อมบริหารและพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อพลิกองค์กรสู่ Digital Utility ด้วยทิศทางการปรับเปลี่ยนภายใต้แผนปฏิบัติการดิจิทัลปี พ.ศ. 2566-2570 เช่น การยกระดับระบบไฟฟ้าให้เป็นเลิศด้วยดิจิทัล (digital energy operations) เชื่อมโยงลูกค้าด้วยเทคโนโลยี (connected customer) ปรับเปลี่ยนสู่องค์กรสมัยใหม่ (next generation enterprise)

    “การไฟฟ้ามีแผนแม่บทที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่วางไว้ในแต่ละปี โดยเราต้องสามารถปรับตัวให้ทันกับแผนของการไฟฟ้า ซึ่งข้อได้เปรียบของเราอยู่ที่มิเตอร์ไฟฟ้าบริษัทได้รับการขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยที่จะได้รับการสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้าง ด้วยทีม R&D ของเราที่มีการวิจัยพัฒนาถึงปลายทางและยังทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ และเราโฟกัสธุรกิจเฉพาะมิเตอร์ โดยมีโรงงานที่ฉะเชิงเทรา 40 กว่าไร่เป็นสายพานอัตโนมัติผลิตมิเตอร์ที่ทดสอบทุกฟังก์ชันเพื่อให้กลไกการทำงานของเครื่องถูกต้องแม่นยำ รวมถึงเรายังขยายขอบเขตการให้บริการกับคู่ค้าหรือการไฟฟ้ามากขึ้น”

    “การเปลี่ยนจากมิเตอร์จานหมุนเป็นมิเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความซับซ้อนและขอบเขตการให้บริการมากขึ้นทำให้เราต้องการเงินทุนรับมูลค่างานใหญ่ขึ้น โดยการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯสามารถช่วยให้เรามีเงินทุนหมุนเวียนและขยายโรงงานเพิ่มสายพานการผลิตอัตโนมัติเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และใช้สำหรับปรับปรุงห้องผลิต เช่น เปลี่ยนพื้นใหม่ไม่ให้เกิดไฟฟ้าสถิต anti static เปลี่ยนแอร์ใหม่ การควบคุมอุณหภูมิ ปราศจากฝุ่น ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานการผลิตและการให้บริการลูกค้า รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือ innovation product โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการวิจัยพัฒนาและคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ ด้วยเป้าหมายการผลิตมิเตอร์ที่ดีที่สุดเพื่อดูแลสาธารณชนในฐานะหนึ่งในผู้นำการผลิตมิเตอร์อัจฉริยะที่ได้รับบัญชีนวัตกรรม”

    ซีอีโอและผู้ก่อตั้งธุรกิจวัย 62 ปี ปิดท้ายถึงหลักการบริหารที่ให้ความสำคัญกับดูแลทรัพยากรบุคคลให้เกิดความรักและความผูกพันต่อองค์กร โดยให้อิสระในการเสนอความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย พร้อมสนับสนุนให้เกิดการลงมือทำและส่งเสริมการพัฒนาผู้ที่มีความสามารถในแต่ละแผนกเป็นหลักในการร่วมขับเคลื่อนสร้างการเติบโตทางธุรกิจตามเป้าหมายที่วางไว้

“เราต้องบริหารคนก่อนบริหารงาน และรับฟังความเห็นที่แตกต่างกัน เพราะพนักงานต่างคนต่างครอบครัวแต่ทำงานเหมือนครอบครัวเดียวกัน ซึ่งบางคนอาจจะใช้เวลาอยู่กับเพื่อนร่วมงานมากกว่าที่บ้าน ดังนั้น การให้อิสระแสดงความคิดเห็นทำให้เกิดความหลากหลายในองค์กร โดยเรายังสนับสนุนให้คนทำมากกว่าพูด ซึ่งเราเชื่อในประโยคที่ว่า Actions speak louder than words เราจึงให้ความสำคัญกับงานที่ออกมา และนโยบายส่วนตัวยังพยายามสร้างคนเก่งแต่ละแผนกและจูงใจด้วยการดูแลพิเศษทุกด้านให้เขาอยู่กับเราและรักองค์กร พร้อมทุ่มเททำงานเต็มที่”


ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : กานต์ ปุญญเจริญสิน สร้าง New S-Curve ให้ SEI

อ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2567 ในรูปแบบ e-magazine