ศุภลักษณ์ อัมพุช จากย่านช็อปปิ้งหรูสู่ “มอลล์เพื่อคนรุ่นใหม่” - Forbes Thailand

ศุภลักษณ์ อัมพุช จากย่านช็อปปิ้งหรูสู่ “มอลล์เพื่อคนรุ่นใหม่”

ปีที่ผ่านมาปีที่ผ่านมากรุงเทพฯ แซง Paris ขึ้นแท่นเป็นเมืองที่มีนักเดินทางมาเยือนมากที่สุดอันดับ 1 ของโลก สถิตินี้สอดคล้องกับภารกิจของ “เดอะมอลล์ กรุ๊ป” ที่ต้องการให้ไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนและช็อปปิ้งระดับโลก ภายใต้การบริหารโดยแม่ทัพหญิงแกร่งในสมรภูมิค้าปลีกไทย “ศุภลัษณ์ อัมพุช” พร้อมปั้นภารกิจใหม่ที่ไม่ใช่ย่านช็อปปิ้งหรู แต่คือ Bangkok Mall ศูนย์การค้าเพื่อคนรุ่นใหม่และคนตัวเล็กในสังคม


คิดต่าง-สร้างสรรค์

    จากจุดเริ่มต้น “The Mall” ซึ่งปัจจุบันมีหลายสาขา รองรับลูกค้าในพื้นที่รอยต่อกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด ต่อมาได้สร้างไฮไลต์สำคัญ “EM District” ย่านค้าปลีกสุดหรูของกรุงเทพฯ ที่ประกอบด้วยศูนย์การค้าขนาดใหญ่ 3 แห่งคือ Emporium, EmQuartier และน้องใหม่ Emsphere ที่เพิ่งเปิดบริการเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ปี 2566 ได้การตอบรับที่ดีมากด้วยไอเดียสร้างสรรค์แม้เป็นศูนย์การค้าใหม่ที่เปิดในทำเลเดียวกับ 2 ศูนย์ใหญ่ แต่สามารถสร้างจุดขายและความต่างได้อย่างน่าสนใจ

    “การทำ EM District เรียกว่าเป็น destiny ก็ได้ หากย้อนกลับไปดู The Mall สาขาแรกเมื่อ 45 ปีก่อนเราเป็น shopping mall เล็กๆ เปิดได้ 2 ปีก็ fail เพราะเริ่มต้นด้วยการไม่รู้อะไรเลย” ศุภลักษณ์ อัมพุช ประธากรรมการบริหาร เดอะมอลล์ กรุ๊ป เริ่มต้นบอกเล่าประสบการณ์แรกในสมรภูมิค้าปลีกให้ทีมงาน Forbes Thailand ได้เห็นภาพว่าแม้จะเป็น 45 ปีก่อนแต่ธุรกิจนี้ก็มีพี่ใหญ่ยืนหยัดอยู่แล้ว


    “เป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่สวยงามนัก ยอมรับว่าเครียดมาก ตอนนั้นอายุ 23 เรียนจบมาด้านเภสัช แต่คุณพ่อให้มาทำ mall ซึ่งเราไม่มีประสบการณ์เลย” เธอเล่าประสบการณ์แรกในธุรกิจค้าปลีกกับบทเรียนที่แลกมาด้วยความเหน็ดเหนื่อย ต้องต่อสู้และฝ่าฟันอุปสรรคมากมายกว่าจะเติบโตมาเป็นศูนย์การค้าที่ทุกคนรู้จักและยอมรับในปัจจุบัน

    ทั้งนี้ เดอะมอลล์สาขาแรกคือ “The Mall ราชดำริ” เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ปี 2524 ดำเนินการได้เพียง 2 ปีก็หยุดไป และพื้นที่ส่วนนี้ได้เปลี่ยนเป็น บริษัท นารายณ์ภัณฑ์พาวิลเลี่ยน จำกัด เช่าเป็นศูนย์ศิลปหัตถกรรม ก่อนจะเปลี่ยนเป็นอื่นในเวลาต่อมา

    “สาขาแรกเรา fail แต่ไม่เป็นไรถือเป็นบทเรียน” ศุภลักษณ์ย้ำว่า ความผิดพลาดครั้งนั้นมาจากหลายปัจจัย ทั้งความใหม่ในการทำธุรกิจของเธอซึ่งไม่มีพื้นฐานธุรกิจมาก่อน และที่สำคัญ The Mall ราชดำริ ตั้งอยู่ในทำเลที่การแข่งขันสูง เป็นเรื่องยากที่จะสู้กับรายใหญ่ที่ยืนหยัดอยู่ในตลาดก่อนแล้ว


ย่านแรก-รามคำแหง

    ห้างใจกลางเมืองย่านราชประสงค์สาขาแรกไม่เป็นดั่งหวัง ศุภลักษณ์ยังคงเดินหน้าโดยมองหาทำเลใหม่และได้ข้อสรุปว่า สาขาแรกที่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะมีคู่แข่ง จึงหันมามองทำเลใหม่ที่ไกลออกมาจากย่านใจกลางเมืองสู่ย่านที่อยู่อาศัยและมหาวิทยาลัย

    ซึ่งในช่วงนั้นไม่มีใครทำห้างในพื้นที่นี้คือ ย่านรามคำแหง ซึ่งเป็นที่ตั้งของ The Mall ยุคถัดมา รอบนี้เธอได้การตอบรับดีขึ้น ลูกค้าในย่านที่อยู่อาศัยแถบนี้มีจำนวนไม่น้อยทำให้ The Mall ขยายได้ถึง 3 สาขา

    “จะบอกว่ารามคำแหงเป็นย่านค้าปลีกของ The Mall ยุคแรกก็ไม่ผิด เพียงแต่ตอนนั้นเราไม่ได้เรียกว่า district แต่ก็มีถึง 3 สาขาเช่นกันคือ The Mall สาขา 2, 3 และ 4” เธอยกตัวอย่างการพัฒนาธุรกิจที่ทำเมื่อกว่า 40 ปีก่อนด้วยคอนเซ็ปต์ที่ต้องการให้มีทุกอย่างในที่เดียว ทำให้ห้าง The Mall มีคาแร็กเตอร์ชัดเจน เป็นห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าที่มี entertainment attraction หลายอย่างดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาใช้บริการ

    ก้าวต่อมาของเดอะมอลล์คือ ความท้าทายอีกขั้นเมื่อมุ่งสู่ทำเลรอบนอกกรุงเทพฯ เธอเลือกถนนตัดใหม่เป็นที่ตั้งห้าง The Mall ขนาดที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งในยุคนั้นถือว่าเป็นทำเลที่ค่อนข้างไกลจากใจกลางกรุงเทพฯ

    “ถนนใหม่เราไปทำสวนน้ำลอยฟ้าที่ The Mall ท่าพระ เป็นสวนน้ำขนาดใหญ่อยู่ในศูนย์การค้าเป็นรายแรก ลูกค้าตอบรับดีมาก ไม่น่าเชื่อว่าการทำสระว่ายน้ำลอยฟ้าจะสามารถดึงดูดคนทั้งตำบลมาได้” เล่ามาถึงช่วงนี้เธอมีรอยยิ้มแห่งความสำเร็จให้เห็น

    “เปิด 2 แห่งใน 2 มุมเมืองบนพื้นที่ใหญ่มาก 50 ไร่ เป็นมหาอาณาจักรแห่งความสุข ใช้ความสุขเป็นตัวดึงดูด ไม่ได้เน้นว่าขายสินค้าอะไร แต่เน้นขายความสุข” ศุภลักษณ์ตอกย้ำความสำเร็จนี้ด้วย The Mall ที่เปิดใหม่ 2 แห่งพร้อมกันคือ สาขาบางแคและบางกะปิ เป็นมอลล์ที่คนมาแล้วมีความสุข ไม่ใช่แค่ช็อปปิ้ง

    ความสำเร็จทำให้เธอมีความมั่นใจ และความเชื่อมั่นของตลาดทำให้ศุภลักษณ์คิดการใหญ่ จากแบรนด์ “The Mall” สัญลักษณ์แห่งศูนย์การค้าที่ขายความสุขเพื่อครอบครัวชนชั้นกลาง เธอเริ่มมองหาโอกาสใหม่ที่จะเป็นการสร้างมูลค่าทั้งต่อธุรกิจของเธอและต่อประเทศ

    “เราเริ่มขยับขยาย เดินทางไปต่างประเทศบ่อย เจอประสบการณ์ที่ต่างชาติดูถูกเมืองไทย ดูถูกผู้หญิงไทย ทำให้เราอยากสร้างอะไรให้พวกนั้นรู้ว่าไทยไม่ได้ด้อยไปกว่าโลกตะวันตก”

    เป็นที่มาของการสร้างศูนย์การค้าระดับลักชัวรี่ Emporium แห่งแรกของเดอะมอลล์และแห่งแรกของไทยขึ้นมา เธอเดินหน้าแผนสร้างห้างหรูแห่งแรกด้วยการนำประสบการณ์ในธุรกิจค้าปลีกที่เธอคลุกคลีมากว่า 18 ปีเป็นต้นทุนสำคัญที่มีทั้งความรู้ ประสบการณ์ คอนเนกชั่น และทีมงาน พัฒนาสู่ก้าวย่างใหม่ของการทำค้าปลีกด้วยการเปิดลักชัวรี่มอลล์แห่งแรกของไทย


บริบทใหม่-ลักชัวรี่มอลล์

    โอกาสมาถึง ศุภลักษณ์ทำถึง แต่ทว่าอุปสรรคปัญหาก็มาถึงด้วยเช่นกัน เนื่องจากในปีที่เปิด Emporium คือปี 2540 ได้เกิดเหตุการณ์ใหญ่วิกฤตการเงินในเอเชีย หรือที่เรียกว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ทำให้เศรษฐกิจไทยทรุดฮวบ ซ้ำเติมด้วยการลอยตัวค่าเงินบาท

    “เราเตรียมเปิดห้างเดือนกรกฎาคมปี 40 แต่สัญญาณเศรษฐกิจแย่มาตั้งแต่เดือนเมษายน โชคดีที่ทุกอย่างเตรียมล่วงหน้า ไม่สามารถหยุดหรือถอนตัว จึงเปิดห้างได้ตามที่กำหนด” นั่นคือวันที่ 27 กรกฎาคม ปี 2540 ตามที่บันทึกไว้

    การเปิดตัว Emporium ครั้งนั้นดำเนินการในนาม บริษัท ซิตี้มอลล์ กรุ๊ป จำกัด โดยกลุ่มเดอะมอลล์ และ บริษัท ซิตี้ เรียลลิตี้ จำกัด ของธาคารกรุงเทพ ได้ร่วมทุนกันเปิดศูนย์การค้าขนาด 200,000 ตารางเมตร โดยให้บริการ 8 ชั้นสำหรับศูนย์การค้า และ 43 ชั้นเป็นอาคารสำนักงาน

    ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่ดีขณะนั้น แม้ Emporium สามารถเปิดได้สำเร็จเพราะพันธมิตรแบรนด์ต่างๆ ยกเลิกไม่ได้ แต่ก็ต้องแลกด้วยการเผชิญปัญหามากมาย “การเชิญแบรนด์ระดับโลกให้มาเปิดในศูนย์มันยากมาก” เธอลากเสียงคำว่ามากยาวเป็นพิเศษเพื่อให้เห็นภาพความยากลำบาก ความท้าทายใหม่คือ การดึงแบรนด์เนมระดับโลกเข้ามาเปิดช็อปในศูนย์การค้าแห่งใหม่

    เพราะโดยปกติแล้วแบรนด์เหล่านี้ส่วนใหญ่เปิดช็อปแบบสแตนด์อโลนนอกห้าง แต่หากอยู่บนห้างก็ต้องเป็นห้างหรูหราในเมืองท่องเที่ยวชื่อดัง แต่ตอนนั้นไทยเป็นเพียงประเทศเล็กที่แทบไม่เป็นที่รู้จัก ดังนั้นการเจรจาเชิญชวนแบรนด์มาลงต้องใช้ทุกวิถีทางในการโน้มน้าวและเชิญชวนพร้อมคำมั่นสัญญาต่างๆ กว่าที่แต่ละแบรนด์จะยอมเข้ามา


    “เราจัดงานเพื่อดึงคนเข้าศูนย์ ความโชคดีของ crisis ครั้งนั้นคือ คนที่ส่งลูกไปเรียนต่างประเทศดึงลูกกลับมา ทำให้ลูกคนมีเงิน และเหล่า celebrities พากันมาเดินที่ Emporium แจ้งเกิดคำว่าไฮโซไซตี้ขึ้นที่นี่” เป็นบันทึกแห่งความสำเร็จบทใหม่ของศุภลักษณ์ที่สร้างธุรกิจค้าปลีกระดับหรูได้สำเร็จ ไม่เพียงคนไทยฐานะดี แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติก็ทะลักเข้ามาเที่ยวไทยเพราะตอนนั้นค่าเงินบาทถูกมาก


สร้างปรากฏการณ์ใหม่

    โครงการใหญ่ที่เป็นบันทึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของเดอะมอลล์ กรุ๊ปคือ การร่วมกับกลุ่มสยามในการพัฒนา “สยามพารากอน” (Siam Paragon) คราวนี้โจทย์ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม การได้ร่วมพัฒนาที่ดินแปลงหลักที่เป็นศูนย์กลางธุรกิจอย่างแท้จริงแม้เป็นโจทย์ยากแต่รอบนี้เธอค่อนข้างมั่นใจ เพราะมีบทเรียนมาแล้วทั้งห้างระดับกลางและระดับลักชัวรี่

    ประกอบกับได้ร่วมมือกับกลุ่มสยามที่มีฐานธุรกิจค้าปลีกแข็งแรงอยู่แล้ว ทำให้ไม่ยากเกินกำลัง ความยากที่สุดตามที่เธอเล่ามาน่าจะเป็นการไปเชิญชวนแบรนด์ระดับโลกเข้ามาเปิดช็อป แต่ก็มีภาษีดีขึ้นเพราะเธอมี Emporium เป็นแบ็กกราวด์ที่ดี เป็นแบบอย่างความสำเร็จที่อ้างอิงได้

    “เราจะเป็น Retail and Entertainment Phenomenal ผู้ใหญ่ถามว่าคำนี้คืออะไร แผ่นดินไหวเหรอ เราตอบใช่ค่ะ เราจะเปิดห้างที่สั่นสะเทือนวงการ ประสบการณ์ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน” พอเปิดจริงก็เป็นตามนั้น ทั้ง Siam Paragon และ EmQuartier สั่นสะเทือนวงการค้าปลีกไทยและโด่งดังไปยังประเทศอื่นๆ เมื่อนักท่องเที่ยวหลั่งไหลมาเยือน



‘Daddy’s Daughter’ ทำให้พ่อภูมิใจ

    ทุกก้าวย่างคือบทเรียน ทุกอุปสรรคปัญหาคือบทพิสูจน์ การทำธุรกิจค้าปลีกความยากมีในทุกขั้นตอน การบริหารก็เช่นกัน มีปัญหาให้ต้องแก้ไขตลอดเวลา ท่ามกลางผลสำเร็จที่มองเห็นศุภลักษณ์ยังต้องคอยดูแลและแก้ปัญหาทุกวัน แม้จะมีทีมงานที่ดีคอยช่วยเหลือ

    แต่บทบาทผู้บริหารสูงสุดคือภาระอันหนักหน่วงที่ปฏิเสธไม่ได้ “เคยคิดว่าไม่อยากทำแล้ว นอนตื่นตอนเช้าไม่อยากลุกไปทำงาน คิดแต่ว่าทำไมเราต้องทุ่มเทขนาดนี้ เคยท้อไม่ใช่ไม่เคย แต่ก็มีจุดให้ได้คิดและกลับมาเดินหน้าต่อ คุณพ่อมีส่วนมากในการผลักดัน”

    เธอเล่าว่า บิดา (ศุภชัย อัมพุช ผู้ก่อตั้งเดอะมอลล์) เป็นคนผลักดันให้เธอเข้าสู่ธุรกิจนี้และคอยเป็นแรงขับให้เธอสู้ไม่ยอมแพ้แม้เจออุปสรรคมากมาย ทำให้เธอมีเป้าหมายชัดเจน “ต้องทำให้ได้ เพราะอยากให้พ่อภูมิใจ”



    แม่ทัพเดอะมอลล์พูดถึงบิดาหลายครั้งในระหว่างการสัมภาษณ์ เธอบอกว่า ผูกพันกับบิดามากที่สุด เพราะคุณแม่เสียไปตั้งแต่เธอยังเด็ก มีช่วงหนึ่งที่เผชิญปัญหาหนักก็ผ่านมาได้เพราะคำพูดของบิดาที่ว่า “ถ้าลูกไม่อยากทำ เปลี่ยนไปทำอย่างอื่นก็ได้ แต่ตอนนั้นใจเราคิดว่าเมื่อพ่ออยากให้ทำก็จะทำ เพราะอยากให้พ่อภูมิใจ มันเริ่มจากความรัก ธุรกิจนี้ไม่ได้มาเพื่อเงินอย่างเดียว แต่มาจาก love and pride รักและภูมิใจ” นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ศุภลักษณ์สู้ไม่ถอย


ก้าวต่อไปเพื่อผู้คน-สังคม

    “ที่นี่แอ๊วออกแบบไอเดียและเลือกของตกแต่งทุกอย่างเอง แม้กระทั่งหมอนที่วางอยู่บนเก้าอี้นี้ก็เลือกเองกับมือ” เธอชี้ชวนให้ชมบรรยากาศของ TRIBE Sky Beach Club คลับชายทะเลลอยฟ้าที่เธอเนรมิตขึ้นบนพื้นที่ชั้น 5 ของศูนย์การค้า Emsphere ที่เพิ่งเปิดตัวไม่นาน แต่มีนักท่องเที่ยวและลูกค้ามาใช้บริการหนาตาเพราะความเก๋และแปลกใหม่ รวมกับบรรยากาศโดยรวมที่ทำได้อย่างไม่น่าเชื่อ


    ไอเดียสร้างสรรค์ที่แม่ทัพเดอะมอลล์กลั่นมาจากประสบการณ์แสดงภาพได้อย่างชัดเจน และวิชั่นในฐานะนักธุรกิจแถวหน้าของเธอนั้นไม่ธรรมดา “เราส่งออกไม่ได้ ท่องเที่ยวจึงเป็นเรื่องใหญ่ ค่าแรงของเราสูงสู้จีนไม่ได้ เราต้องเปลี่ยนเทรดดิ้ง เปลี่ยนหลายๆ อย่าง ถ้าเอาท่องเที่ยวเป็นหลักก็ต้องพัฒนาหลายอย่างให้มากกว่าปกติ เป็นแหล่งท่องเที่ยวมีระดับ”

    ศุภลักษณ์ย้ำว่า ทั้งหมดนี้เธอสร้างด้วยใจ “It comes from my passion” โดยใส่ทุกอย่างที่มีทั้งความรู้ โนว์ฮาว ประสบการณ์ และสำคัญที่สุดคือความรักและพลังสร้างสรรค์ ซึ่งเธอบอกว่า มันมี 3 พลัง ได้แก่ 1. The Power of Love and Care พลังแห่งความรักและห่วงใย 2. The Power of Trust and Faith พลังแห่งความเชื่อมั่นศรัทธา และ 3. The Power of Unity Together พลังความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

    ความฝันของสุภาพสตรีนักบริหารผู้คร่ำหวอดในแวดวงธุรกิจมากว่า 45 ปี ได้เห็นและได้ทำหลายอย่างที่คนอื่นไม่เคยทำ รวมทั้งได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ มากมายทำให้เธอตกผลึกในความคิดและมองเห็นเป้าหมายของวันข้างหน้าต่างออกไป


    “จะพูดอย่างไรดี เราทำมาเยอะแล้ว ไม่ว่าจะเป็น The Mall หรือ EM District ห้างหรูของเหล่าสินค้าแบรนด์เนมและลูกค้าระดับไฮเอนด์ วันนี้ภูมิใจกับสิ่งที่ทำ แต่จากนี้ไปจะขอทำอีกแนวเพื่อคนตัวเล็กในสังคม” ศุภลักษณ์เกริ่นไอเดียคร่าวๆ ของเป้าหมายใหม่ในธุรกิจค้าปลีกที่เธอวางไว้นั่นคือ การสร้าง Bangkok Mall ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ยักษ์พื้นที่ 1 ล้านตารางเมตร ตั้งอยู่ช่วงต้นของถนนเทพรัตน หรือถนนบางนา-ตราด ซึ่งอยู่ในแผนพัฒนาของกลุ่มเดอะมอลล์มาหลายปี ได้เห็นความคืบหน้าการก่อสร้างชัดเจนตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งตามเป้าหมายมอลล์ใหญ่แห่งนี้จะเปิดบริการในปี 2569-2570

    ศุภลักษณ์พูดถึงปัญหาที่พบในการทำลักชัวรี่มอลล์ว่า มีเรื่องให้ต้องคิดและแก้ไขตลอดเวลา ก่อนจะโพล่งออกมาว่า “ไม่เอาแล้ว ปวดหัว ฉันจะทำ Bangkok Mall พักเรื่องแบรนด์ดังระดับโลกไว้ก่อน วันนี้อยากช่วย entrepreneur คนไทยให้มีพื้นที่ค้าขายที่ดี และมีโอกาสสู้กับทุนใหญ่ได้”

    เธอหมายถึงโครงการ Bangkok Mall ที่กำลังก่อสร้าง และคาดว่าจะเปิดในปี 2569-2570 โครงการนี้สานฝันที่อยากให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสเติบโต พร้อมยกตัวอย่างแบรนด์ไทย เช่น AllZ, MK, Jaspal, Flynow, Greyhound และอีกหลายแบรนด์ของไทยที่น่าจะไปได้ดี รวมทั้งแบรนด์ใหม่ๆ ของไทยที่จะเกิดมาจากคนรุ่นใหม่

    “คอนเซ็ปต์ Bangkok Mall ทำไมถึงชื่อ Bangkok Mall เพราะจะเป็นศูนย์ที่ทำให้ประเทศขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อช่วยให้คนมีโอกาสที่ดี โครงการนี้เป็น my meaningful life” ศุภลักษณ์ย้ำว่า ความหมายในชีวิตของเธอไม่ใช่การได้อยู่บนเรือยอช์ตหรือใช้ชีวิตหรูหรา แต่เธอคิดว่าจะทำอย่างไรให้สังคมอยู่ได้ พัฒนาให้คนรุ่นใหม่มีโอกาสได้เติบโตอย่างมีคุณภาพ


รับชมบทสัมภาษณ์ในรูปแบบวิดีโอได้ที่:



ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์ และ เดอะมอลล์ กรุ๊ป



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : รวิศ หาญอุตสาหะ Mission to the Moon ของศรีจันทร์

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2567 ในรูปแบบ e-magazine