'ศุภชัย เจียรวนนท์' นำ UNGCNT สร้างพลังเครือข่ายสังคมรักษ์โลก-ยั่งยืน - Forbes Thailand

'ศุภชัย เจียรวนนท์' นำ UNGCNT สร้างพลังเครือข่ายสังคมรักษ์โลก-ยั่งยืน

โลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาจากหลายปัจจัยทั้งสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีที่ไม่หยุดนิ่ง คนจึงต้องปรับตัวให้เท่าทันทั้งเทคโนโลยีและจิตสำนึกแห่งความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทานของชีวิต-ธุรกิจ ไปสู่ชุมชน-โลก


    สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UNGCNT: UN Global Compact Network Thailand) เป็นเครือข่ายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม ปี 2561 มีสมาชิกผู้ก่อตั้งในไทย 15 บริษัท โดย UNGCNT เป็นหนึ่งในเครือข่ายท้องถิ่น (local network) ลำดับที่ 70 ขององค์การสหประชาชาติ (UN: United Nations) 

    UNGCNT ดำเนินการต่อเนื่องจะครบ 6 ปี ในเดือนธันวาคมนี้ หลังร่วมก่อตั้งโดย ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และผู้นำธุรกิจขนาดใหญ่ 15 บริษัท โดยศุภชัย เจียรวนนท์ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมคนปัจจุบัน ซึ่งหากได้ติดตามความเคลื่อนไหวของสมาคมจะทราบดีว่า ผู้นำ UNGCNT มีภารกิจสำคัญในการผลักดันเพื่อสร้างความยั่งยืนให้โลกและย้ำเสมอว่า “คน” คือหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน ทั้งการดำเนินชีวิตและเดินหน้าธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล โดยการสร้างความยั่งยืนต้องพัฒนาคนให้พร้อมทุกการเปลี่ยนแปลง มีองค์ความรู้เท่าทัน สามารถพัฒนาและใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและโลก ร่วมเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้เติบโตอย่างยั่งยืน  


3 ความท้าทายสำคัญ 

ศุภชัยอธิบายว่า ประเทศไทยและโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายสำคัญ 3 ด้าน ที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ Deglobalization, Decarbonization และ Digitalization

    Deglobalization หรือการทวนกลับของกระแสโลกาภิวัตน์ อันเกิดจากความตึงเครียดและการแข่งขันเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งส่งผลต่อการค้าระหว่างประเทศและการลงทุนข้ามชาติที่ลดลง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของการจัดการห่วงโซ่อุปทานที่มุ่งเน้นภายในภูมิภาคหรือท้องถิ่น (reshoring/ friendshoring) มากกว่าการจัดการห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ  

    Decarbonization หรือกระบวนการกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่หลายประเทศรวมถึงประเทศไทยยังมีความล่าช้าและอาจไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero emission) ภายในปี 2050 ซึ่งหากเราไม่สามารถหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศได้ โลกเราอาจต้องเผชิญกับความสูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า 23 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ GDP โลกลดลงประมาณ 11-14% 

    Digitalization หรือการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล นำมาซึ่งข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้วัตถุดิบ พลังงานและน้ำอย่างสิ้นเปลือง ส่งผลต่อการเกิดมลพิษทางอากาศ และของเสียต่างๆ รวมถึงผลกระทบต่อสังคม โดยเฉพาะช่องว่างและความเหลื่อมล้ำที่กว้างขึ้นในการเข้าถึงบริการทางดิจิทัลในรูปแบบต่างๆ หรือแม้กระทั่งอัตราการก่ออาชญากรรมไซเบอร์ และผู้เสียหายที่ถูกคุกคามทางไซเบอร์โดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบาง เด็ก สตรี คนพิการ และผู้สูงอายุ เป็นต้น 


    อย่างไรก็ดีเราต้องแสวงหาโอกาสจากความท้าทายดังกล่าวเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ เริ่มจากการรับมือการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ด้วยการสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ และความร่วมมือด้านเศรษฐกิจภายในภูมิภาคอาเซียนด้วยการค้า การลงทุนที่มุ่งเน้นการเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจสีเขียวและการเปลี่ยนผ่านที่ยั่งยืน รวมถึงการส่งเสริมการสร้างและการจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน ลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคมทุกรูปแบบด้วยการสร้างงานที่มีคุณค่า (decent work) เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน รวมถึงการมุ่งเน้นการผลิตและการบริโภคภายในภูมิภาคที่ยั่งยืนด้วยการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมถึงอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ยั่งยืน

    การกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยการส่งเสริมการลงทุนในพลังงานสะอาดมาใช้อย่างจริงจัง เพื่อสร้างระบบนิเวศในการแข่งขันทางเศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นธรรม การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการวิจัย และพัฒนาตัวเลือกพลังงานสะอาด ซึ่งเห็นว่าพลังงานนิวเคลียร์น่าจะเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าจะนำมาศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง ปัจจุบันมีการนำนิวเคลียร์มาใช้เป็นพลังงานทดแทนกว่า 25% และมีโอกาสที่จะขยายสัดส่วนการนำนิวเคลียร์มาใช้ได้กว่า 50% การบรรลุ net zero ภายใน 2593 จะเป็นจริงได้ด้วยการส่งเสริมการนำพลังงานสะอาด เช่นพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ในเชิงพาณิชย์และธุรกิจในหลายประเทศ

เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเป็นตัวเร่งที่สำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ก็ไม่ใช่ยาวิเศษ ดังนั้น การบูรณาการผลประโยชน์อย่างสมดุลระหว่างภาคส่วนต่างๆ การกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ และการประกันให้ประชากรทุกลุ่มสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างเท่าเทียมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล


ขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่าน  

    “โลกยุค 4.0 ที่ผ่านมาเราทํา digital transformation เพื่อให้กระบวนการธุรกิจทั้งหมดมีความเป็นอัจฉริยะ โดยใช้เครื่องมือสมัยใหม่อย่าง AI มาช่วยขับเคลื่อน” ศุภชัยบอกเล่าภาพรวมการปรับตัวที่ผ่านมาและย้ำว่า ทรานส์ฟอร์เมชันหรือการเปลี่ยนผ่านในยุคที่ AI (Artificial Intelligence) เข้ามามีบทบาทจะยิ่งเร่งให้มีการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น ซึ่งการทรานส์ฟอร์มไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับระบบหรือกระบวนการเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการพัฒนาคนด้วยกรอบความคิด จริยธรรมและคุณธรรม “เทคโนโลยีและจริยธรรมเหมือนหยิน-หยางที่ต้องเดินไปคู่กัน เมื่อ transform technology ก็ต้อง transform human ด้วย หากถามว่าเรามาไกลแค่ไหน ต้องบอกว่ามาได้ครึ่งทางแล้ว” ผู้นำ UNGCNT ย้ำสิ่งที่เขาและทีมทำมากว่า 5 ปี ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะพัฒนาศักยภาพคนกับเทคโนโลยีให้เดินไปพร้อมกันได้อย่างราบรื่นโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

สิ่งสำคัญการทรานส์ฟอร์มคนต้องมีเป้าหมายและเจาะจงไปยังความท้าทายใหม่ๆ ของโลก ในปัจจุบันคือ ความยั่งยืน (sustainability) เป็นเป้าหมายใหญ่ที่ทุกคนต้องทําร่วมกัน ศุภชัยย้ำว่า “การทำ digitalization มีจุดประสงค์สำคัญคือต้องการพัฒนาองค์กรให้สามารถใช้เทคโนโลยีและข้อมูลขับเคลื่อนธุรกิจ แต่สิ่งเหล่านั้นจะไม่สำเร็จหากไม่มีการพัฒนาบุคลากร วัฒนธรรม และกำหนดคุณค่าองค์กร”  

    อย่างไรก็ตามการทรานส์ฟอร์มหากปรับแค่เทคโนโลยีก็ยังไม่พอ ต้องเชื่อมโยงความยั่งยืนด้วยกรอบกติกาต่างๆ ซึ่งเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น ที่ผ่านมาทุกคนตั้งเป้า carbon neutral หรือความเป็นกลางทางคาร์บอน ปัจจุบันทุกสถานประกอบการต้องทำ แต่ยังทำไปไม่ตลอดซัพพลายเชนทั้งหมด หลังจากที่ Paris Agreement ซึ่งเป็นข้อตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการประชุม COP21 ที่นคร Paris ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งกำหนดเป้าหมาย net zero หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ต้องรวม Scope 3 คือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมที่อยู่เหนือการควบคุม (indirect value chain emissions) ที่บริษัทต้องรวมเข้ามาในการดำเนินการและการรายงานด้วย



    ศุภชัยเสริมว่า “การสร้างคนให้สามารถใช้เทคโนโลยีได้ก็ยังไม่พอ องค์กรต้องทำให้กระบวนการทางธุรกิจตอบสนองเรื่องความยั่งยืนและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรับผิดชอบ” ทุกคนรู้ว่าการบริโภคทรัพยากรบนโลกอย่างไม่ยั่งยืนเป็นที่มาของภาวะเรือนกระจก (greenhouse effect) ภาวะโลกร้อน (global warming) สิ่งเหล่านี้เกิดจากการบริโภคและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วแต่ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นที่มาของภัยธรรมชาติต่างๆ การบริโภคที่มากและเร็วเกินไปเป็นต้นทุนเชิงเศรษฐกิจที่ไม่เคยถูกมองในยุค 2.0-4.0 

 

5.0 ยุคอัจฉริยะที่ยั่งยืน 

    “ยุค 5.0 ต้องเป็นยุคของ Sustainable Intelligence หรือ SI หมายถึงสังคมที่เน้นปัญญา เพื่อการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างยั่งยืน เป็นยุคที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะมีบทบาทสำคัญ” ซึ่งต่อเนื่องมาจากเทคโนโลยีใหม่โดยมีคอมพิวติ้งเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง เรายังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้ เมื่อทุกคนสามารถใช้เทคโนโลยีได้ยังคล่องแคล่ว คนที่ก้าวไปกับเทคโนโลยีได้จะกลายเป็น “super human” เช่น คนที่เล่นหมากรุกไม่เป็นเลยพอมี AI มาช่วยก็สามารถเล่นหมากรุกเอาชนะคนที่เล่นเก่งที่สุดได้ 

    แต่เหรียญมี 2 ด้านเสมอ ผู้นำ UNGCNT ย้ำว่า เทคโนโลยีคือเครื่องมือที่ดี แต่ถ้านำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น ใช้ AI ในทางที่ผิดจะกลายเป็นอาชญากรรมที่ยิ่งใหญ่ ถ้าใช้ในทางที่ถูกจะเปลี่ยนแปลงโลกให้เกิดความสุข ความสมบูรณ์ ความก้าวหน้า ความสงบ และความเจริญ ดังนั้นคําว่า Sustainable Intelligence เราจะเรียกว่า ethic intelligence ก็ได้ เพราะความยั่งยืนเป็นเรื่องของจริยธรรมและคุณธรรมของการอยู่รวมกัน

    “Sustainable Intelligence เป็นเรื่องใหญ่มากในยุค 5.0 และยุคต่อไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กรุ่นใหม่ ลูกหลานของเราที่จะเติบโตขึ้นท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่” ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างทั้งด้านเทคโนโลยี ความยั่งยืน คุณธรรม จริยธรรม และศักยภาพของมนุษย์ที่จะสามารถดําเนินชีวิตได้ดีขึ้น จึงต้องเตรียมพร้อมในเรื่องกรอบความคิด ทั้งผู้บริหารและพนักงานต้องมีการปรับเปลี่ยนและเปิดกว้าง “เรากระโดดจากยุค 2.0 ที่เป็นนักอุตสาหกรรมไปสู่ยุค 5.0 การใช้ AI ใช้เทคโนโลยีอย่างยั่งยืนยิ่งต้องเน้นกรอบความคิด ผู้นําต้องชัดเจนเรื่อง transformation” และทำให้ทุกคนรับรู้ว่า ความยั่งยืนเป็นประโยชน์ เป็นสิ่งที่จะทําให้องค์กรเติบโต ดังนั้น ทุกคนต้องพร้อมเรียนรู้และปรับตัวตลอดเวลา

    นอกเหนือจากนั้นความพร้อมของคนในระดับปฏิบัติงานก็สำคัญ เพราะต่อไปพวกเขาต้องทํางานร่วมกับเทคโนโลยี เช่น ในโรงงานหากเครื่องจักรเสียหรือต้องซ่อมบํารุง ก่อนหน้านี้ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญหรือช่างที่มีประสบการณ์สำหรับเครื่องจักรที่ซับซ้อนมาก แต่จากนี้ไปช่างจะสามารถใช้ AI เป็นผู้ช่วยสามารถสแกนระบบได้เลย ปัญหาคืออะไร จะวางแผนแก้ไขอย่างไร เป็นคู่มือการใช้งาน (operating manual) ว่าต้องทําอะไรก่อน-หลัง ทั้งเรื่องการบํารุงรักษาและแก้ปัญหา 

    การซ่อมบำรุงไม่มีขีดจำกัดเรื่องสถานที่อีกต่อไป เพราะสามารถเชื่อมโยงกลับไปยังแหล่งที่มาของเครื่องจักร สามารถรีโมต (remote) แก้ปัญหาตรงมาจากต่างประเทศได้ ศักยภาพของช่างก็จะเปลี่ยนไป “ยิ่ง automation เพิ่มขึ้น digitalize มากขึ้น ช่างยิ่งต้องมีบทบาทสําคัญ เครื่องจักรทํางานให้ตามเทคโนโลยี แต่คนต้องเป็นผู้ควบคุม บํารุงรักษา และใช้เทคโนโลยี” ศุภชัยย้ำว่า นี่คือสิ่งที่จะเปลี่ยนไปในยุคเทคโนโลยี 5.0 

    “อนาคตคนจะไม่ใช้แรงงาน และผู้ชายผู้หญิงจะเท่าเทียมกัน ไม่มีแล้วที่ว่าผู้ชายออกไปล่าสัตว์ ผู้หญิงดูแลลูก อนาคตทุกคนจะเท่ากัน ทํางานโดยไม่เน้นการใช้แรงงาน แต่เน้นทักษะ ปัญญาและเทคโนโลยี” เป็นภาพแห่งอนาคตที่ฉายชัดจากคำบอกเล่าของผู้นำ UNGCNT 


มาตรวัด “SDG Goals” 

    การปรับเปลี่ยนทุกอย่างเริ่มต้นจากการตั้งเป้าหมาย และตัวชี้วัดด้านความยั่งยืนสำคัญคือ SDG Goals 17 ข้อ ซึ่งศุภชัยบอกว่า สามารถใช้เป็นแนวทางการกำหนดตัวชี้วัดจากทั้ง 17 ข้อนำมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจและประเมินว่าในแต่ละเป้าหมายที่กำหนดไว้เราทำได้แค่ไหน  

    อย่างไรก็ดีเป้าหมายใหญ่ๆ ยังคงเป็น carbon neutral, net zero รวมถือ zero waste ที่ทุกองค์กรต้องทําเหมือนกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันในลักษณะเครือข่าย เชื่อมโยงถึงกัน อย่าง UNGCNT “เราเริ่มต้นจากการเป็นเครือข่ายก่อนที่จะตั้งขึ้นเป็นสมาคม โดยมี UN Global Compact ให้การสนับสนุนและรับรอง” ขณะเดียวกันเครือข่าย Global Compact แต่ละประเทศทั่วโลกต่างแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมมือกัน 

    ศุภชัยย้ำว่า กลไกธุรกิจที่ยั่งยืนจะสร้างอนาคตที่ดีให้คนรุ่นถัดไป “การสร้างแรงจูงใจหรือการให้ incentive อยู่บนพื้นฐานความจริงที่ว่า การทำทุกอย่างล้วนมีต้นทุน แต่ที่ผ่านมาการทำดีบางอย่างไม่เคยสะท้อนต้นทุนเลย” ตัวอย่างเช่น เรื่องการดูแลป่าที่ผ่านมาไม่เคยมีใครให้แรงจูงใจต่อเกษตรกรหรือชาวบ้านที่อยู่กับป่าและดูแลป่าไม่ให้ถูกทำลาย เมื่อไม่มีแรงจูงใจชาวบ้านบางคนก็ไม่ใส่ใจเรื่องการดูแลป่า บางคนเลือกตัดไม้ทำลายป่า โค่นไม้ใหญ่ หันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำให้มีเกิดการเผาตามมา 

    “พืชเชิงเดี่ยวเป็นพืชเศรษฐกิจ ยิ่งปลูกยิ่งทําให้การดูดซับคาร์บอนหายไป แห้งแล้งเพิ่มขึ้น ปล่อยคาร์บอนมากขึ้น เป็นต้นทุนของมนุษยชาติที่ไม่เคยมีใครให้คุณค่า ไม่เคยให้แรงจูงใจเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์” และเมื่อเกิดปัญหาการเผาป่าชุมชนเหล่านั้นก็ถูกตำหนิว่าไม่รับผิดชอบสังคม แต่ในความเป็นจริงชาวบ้านก็ต้องอยู่รอด ทุกคนต้องทำให้ตัวเองอยู่รอดให้ได้ “หากเทียบป่ากับการ digitalize จะทำอย่างไรให้ป่าไม้มีลักษณะคล้าย digital asset คือมีมูลค่า สามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ ต้องดูว่าจะแก้ปัญหาได้ไหม เรากําลังศึกษาแนวคิดเหล่านี้และพยายามขับเคลื่อน” ซึ่งหากสามารถสร้างมูลค่าจากการรักษาป่า ไม่ทําให้เกิดการเผาป่า สามารถขายคาร์บอนเครดิตได้จะเหมือนการระดมทุนอีกรูปแบบ เมื่อรายได้ไปถึงชุมชนที่ดูแลป่าก็จะสามารถเปลี่ยนผู้ทําลายมาเป็นผู้รักษาป่า นอกจากอนุรักษ์ป่าแล้วยังจะทำให้ปลูกป่าเพิ่มขึ้นและคืนสมดุลให้ธรรมชาติ 


สร้างพลังด้วย “Incentive” 

    “เราไม่เคยมีกลไกสร้างแรงจูงใจเพื่อรักษาป่า ไม่เคยคิดว่าการทำให้ธรรมชาติสมดุลนั้นเป็นต้นทุนและมีมูลค่า ถ้าเราสะท้อนสิ่งหล่านี้ออกมาได้ ทุกคนเข้าถึงได้ กลไกตลาดจะมีพลังขับเคลื่อนมหาศาล” พลังขับเคลื่อนเหล่านี้จะช่วยเปลี่ยนโลกให้เดินไปในทิศทางที่ควรเป็น UNGCNT พยายามส่งต่อแนวคิดนี้นําเสนอสู่สังคมโดยร่วมกับภาครัฐ เป็นความร่วมมือที่เป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนหรือ PPP (Public Private Partnership) “เราต้องช่วยขับเคลื่อนสิ่งที่เป็นนโยบาย ช่วยผลักดันและปฏิบัติ โดยคนระดับผู้นำ ทั้ง CEO และ Deputy CEO มาเข้าร่วมในการขับเคลื่อน และต้องมี Chief ด้านความยั่งยืนของแต่ละองค์กรมาร่วม” ศุภชัยย้ำว่า ผู้นําสูงสุดมีความสําคัญมาก ผู้นําต้องตระหนักและสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืน สร้างการเปลี่ยนแปลงเพียงอย่างเดียวอาจไม่พอ 

    เมื่อผู้นำมีโอกาสเข้าร่วมในการประชุมสำคัญหรือกิจกรรมด้านความยั่งยืน และร่วมให้คำมั่นและเจตนารมณ์ร่วมกันเป็นเรื่องที่สําคัญมาก ในที่สุดแล้วการขับเคลื่อนเรื่องใดก็ตามต้องมีศรัทธาและความเชื่อว่าเป็นการทําในสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่ดี และผู้นําต้องทําเป็นตัวอย่าง เริ่มจากเชื่อนำไปสู่ความศรัทธา เป็นเรื่องใหญ่ที่เครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กพยายามขับเคลื่อนร่วมกัน

    ส่วนเรื่องการสร้างพลังต้องทำกับคนรุ่นใหม่และ tech startup ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน เมื่อคนรุ่นใหม่มีความตระหนักรู้และมีกิจกรรม มีโอกาสได้เยี่ยมชมกิจการและร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวกับความยั่งยืนจะเป็นการสร้างเสริมศรัทธาจากการได้เรียนรู้ด้วยของจริง เช่น ศูนย์การเรียนรู้ของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติได้จัดสิ่งที่เรียกว่า นิทรรศการเชิงประสบการณ์ให้เด็กได้ทดลองสัมผัสเรียนรู้เรื่องหุ่นยนต์ (robotic) ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับความยั่งยืน การรีไซเคิล การลดการปล่อยคาร์บอน สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเรื่องที่จะทําให้คนรุ่นใหม่ตระหนักและเข้าถึงแหล่งความรู้ได้โดยตรง 

    “ลองเปลี่ยนบทบาทจาก center of knowledge มาเป็น facilitator เป็นคนที่ทําให้เด็กๆ เข้าถึงการค้นคว้าสิ่งใหม่ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นศาสตร์หรือศิลป์ และเสริมเรื่องคุณธรรมจริยธรรมเข้าไป” โดยปฏิบัติให้เป็นตัวอย่างที่ดีด้วยการสร้างธรรมาภิบาล สร้างแรงจูงใจให้ทำในสิ่งที่ดีและถูกต้อง จะทําให้เยาวชนรุ่นใหม่มีศักยภาพมากขึ้น มากกว่ารุ่นเก่าหลายเท่า เพราะเด็กรุ่นใหม่เติบโตมากับการเข้าถึงข้อมูลที่เปิดกว้าง “ยิ่งปัจจุบันมี AI และเทคโนโลยี 5G ต่อไปจะเป็น 6G การเรียนรู้จะไปเร็วมาก เพราะเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยทั้งความรวดเร็ว รายละเอียด และความกว้างไกลของข้อมูล” 



    “UNGCNT เริ่มต้นจากการร่วมมือกันของ 15 บริษัท แต่ตอนนี้เรามีสมาชิกกว่า 130 บริษัท และเป็นบริษัทที่มีห่วงโซ่อุปทานใหญ่จึงทำให้มีพลังและมี impact ต่อเศรษฐกิจ” และเพิ่มพลังในการขับเคลื่อนด้วยการขยายความร่วมมือจากภาคเอกชนไปถึงภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม จากจุดเริ่มแรกที่ต้องการแลกเปลี่ยนเฉพาะในเครือข่ายภาคเอกชนกันเอง ดูความสามารถในการแข่งขัน และการดำเนินธุรกิจให้เป็นธรรม แต่ตอนนี้เครือข่ายที่ทำร่วมกันมีภาพใหญ่ขึ้นและเกิดแนวคิดว่าจะทําอย่างไรให้ทุกคนสามารถปรับตัวไปได้ด้วยกัน เพราะหากไม่ทำความเสียหายจะเกิดขึ้นกับทุกคนทุกองค์กร 

    ศุภชัยยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า “นอกจากปัญหา global warming ที่ทุกคนประสบร่วมกันแล้ว สภาวะเรือนกระจกก็เป็นเรื่องใหญ่มาก บางคนนึกภาพไม่ออกให้ลองสังเกตลูกแก้วที่ปลูกต้นไม้เล็กๆ ไว้ข้างใน หากอุณหภูมิเปลี่ยนนิดเดียวต้นไม้ในนั้นตายหมด” ศุภชัยย้ำว่า “โลกเราเปราะบางมากขึ้น ไม่ได้หมายถึงโลกที่อยู่มา 4,500 ล้านปี แต่หมายถึงนุษย์และสิ่งมีชีวิตในโลกที่เปราะบาง ปัญหามาจากสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เราจะแก้ไขอย่างไร” คือคำถามที่ผู้นำ UNGCNT ฝากไว้เป็นข้อคิด  


ธุรกิจใหญ่นำร่องคืนสมดุลโลก 

    เขายกตัวอย่างการปรับตัวของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (C.P. Group) ในฐานะผู้นำว่า โดยภาพใหญ่หากพูดถึง carbon emissions หรือการปล่อยก๊าซคาร์บอน C.P. มีเป้าหมายชัดเจนไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือ carbon neutral ในปี 2573  สำหรับ scope 1 และ net zero ที่รวมถึง scope 3 ในปี 2593 ซึ่งแนวทางและแผนปฏิบัติการเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนของ C.P. ทำมาแล้ว 7-8 ปี แต่เพิ่งเห็นผลในการลดการปล่อยคาร์บอนชัดเจนเมื่อปี 2565 “2 ปีที่แล้วเพิ่งเป็นปีแรกที่ธุรกิจยังเติบโต แต่ carbon emission ลดลง เป็นเรื่องน่ายินดีเพราะปกติแล้วถ้าธุรกิจโต การปล่อยคาร์บอนต้องโตตาม แต่ด้วยมาตรการหลายอย่างที่ทำจึงเห็นผลที่ชัดเจน” 

    ทั้งการใช้พลังงานทดแทนอย่าง biogas หรือก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์และอื่นๆ โดยคาดว่าฟาร์มของ CPF ทุกแห่งจะไม่ต้องใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าได้ทั้งหมดภายในปี 2573 โดยจะเน้นการใช้ก๊าซจากมูลสัตว์และพลังงานสะอาดที่เป็น green energy ทั้งหมด ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังลม และอาจมีเหลือพอที่จะส่งเข้าโครงการ Direct PPA หรือการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานสะอาด ระหว่างเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้และผู้ใช้ไฟฟ้าโดยตรงผ่าน power grid หลัก สิ่งนี้เป็นเรื่องท้าทายที่ใกล้เห็นผลความสำเร็จจริงเข้ามาทุกขณะ 

    “การทำ Direct PPA จำเป็นต้องลงทุน แต่เราคํานวณแล้วว่าจะสามารถลดค่าใช้จ่ายพลังงานเพื่อกลับมาทดแทนกับการลงทุนได้ภายในเวลาที่กำหนด” ศุภชัยย้ำว่า นี่เป็นเป้าหมายใหญ่ที่ต้องติดตาม ซึ่งในเบื้องต้น C.P. ตั้งเป้าว่า carbon neutral ในปี 2573 จะต้องลดการปล่อยคาร์บนลงได้ 50% ตัวอย่างเช่น เดิมเคยปล่อย 7 ล้านคาร์บอนตันต่อปี ต้องลดลงไปถึง 3.5 ล้านคาร์บอนตันต่อปีซึ่งเป็นความท้าทายอย่างมาก 

    นอกจากนี้ เป้าหมายที่ท้าทายมากคือในปี 2593 ซึ่งต้องมีการรวม scope 3 ในเป้าหมาย net zero ซึ่งไม่ได้คำนวณจากการปล่อยก๊าซคาร์บอน 7 ล้านคาร์บอนตันต่อปี แต่จะขึ้นมาเป็น 70 ล้านคาร์บอนตันต่อปี เพราะต้องนับรวมพันธมิตรตลอดห่วงโซ่อุปทานเข้ามาด้วย ซึ่งเป็นหนึ่งใน SDG 17 ข้อที่ต้องทํางานกับภาครัฐและพันธมิตรคู่ค้า 

    “ทั้งโลกตอนนี้เห็นพ้องกันว่าต่อให้รวมพลังงานลม แสงอาทิตย์ และพลังงานน้ำก็ยังไม่พอ ต้องมีพลังงานไฮโดรเจนและพลังงานนิวเคลียร์ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเฉพาะมาใช้ด้วย” ถึงแม้คนส่วนใหญ่ยังฝังใจกับคำว่านิวเคลียร์ที่เป็นอาวุธทำลายล้าง แต่ศุภชัยเห็นว่า นิวเคลียร์ฟิวชัน (nucler fusion) ต่างออกไป เพราะเป็นพลังงานที่ได้จากการหลอมรวม ซึ่งจะทําให้มนุษยชาติสามารถแก้ปัญหาเรื่องโลกร้อนและใช้พลังงานได้ยั่งยืนมากขึ้น 

    อย่างไรก็ตามเรื่องพลังงานและความยั่งยืนเป็นสิ่งที่ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องทําร่วมกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการสร้างแรงจูงใจให้คนหันมาทำเรื่องความยั่งยืนและร่วมมือในการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนซึ่งเป็นเรื่องที่ทำโดยลำพังไม่ได้ แต่เป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนของทุกประเทศทั่วโลกต้องร่วมมือกัน 

    “คิดถึงอนาคตถ้าเรารักครอบครัว อยากเห็นสังคมที่ดีส่งต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน เราต้องตระหนักว่ามลพิษต่างๆ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ภัยธรรมชาติ รวมถึงโรคระบาด เป็นความท้าทายที่เราต้องช่วยกันแก้ไข” ผู้นำ UNGCNT สรุปว่า “ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นในรุ่นเรา เริ่มตระหนักและแก้ไข ส่งต่อคนรุ่นใหม่เชื่อว่าพวกเขาจะหาวิธีแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน นอกจากรัฐ-เอกชนยังเป็นการผนึกกำลังระหว่าง generation ด้วย”   


ภาพ: วรัชญ์ แพทยานันท์ 



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : วิชัย กุลสมภพ ภารกิจ “SPI” ผูกพัน-แบ่งปัน ทำเลพระราม 3

คลิกอ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2567 ในรูปแบบ e-magazine