เป็นแม่ทัพหญิงคนแรก และเป็นผู้บริหารไทยคนแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของบริษัทข้ามชาติที่ทำธุรกิจมายาวนานกว่า 50 ปี ย่อมมีความน่าสนใจ และการก้าวสู่ตำแหน่งผู้นำในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งทำให้ นพมาศ ปิยะธำรงชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท บิทิชีโน (ประเทศไทย) จำกัด มีความโดดเด่นทั้งในแง่การรับมือกับวิกฤตและการบริหารจัดการที่ก้าวข้ามอุปสรรคสู่การปรับองค์กรและวิธีทำงานใหม่ ซึ่งนอกจากยอดขายไม่ตกแล้ว เธอยังทำให้การบริหารจัดการทำได้รวดเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพดีขึ้น
“ทำงานกับ BTicino มา 13 ปี เริ่มต้นจากบริหารการขายก่อนจะขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการได้ 3 ปี” นพมาศเผยประสบการณ์ของเธอในบิทิชีโน ประเทศไทย บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มสวิตช์และปลั๊กไฟแบรนด์ดังจากอิตาลี บิทิชีโน (BTicino) ซึ่งปัจจุบันเป็นบริษัทหนึ่งในเครือเลอกรองด์ (Legrand) บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศฝรั่งเศส
นพมาศก้าวสู่ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บิทิชีโน ไทย ตอนอายุ 38 ปี ถือเป็นนักธุรกิจหญิงรุ่นใหม่ที่เติบโตเร็ว เธอเผยว่า กว่า 3 ปีในบทบาทผู้บริหารภารกิจหนักขึ้นต้องมีมุมมองที่กว้างขึ้น ไม่ใช่แค่การขายหรือทำรายได้เพียงอย่างเดียว เพราะนโยบายบริษัทแม่มีแนวทางชัดเจนเรื่องการทำธุรกิจต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน ซึ่งชัดเจนมาตั้งแต่แรกและตลอดห่วงโซ่การผลิตไปจนถึงการทำตลาด
เติบโตคู่ความยั่งยืน
“บริษัทแม่ที่ฝรั่งเศสให้ความสำคัญเรื่อง sustainability อย่างมาก กำหนด KPI หลายข้อ เช่น การผลิตในโรงงานลดใช้พลาสติกลงได้เท่าไร แม้เราทำปลั๊กไฟซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลาสติกก็ต้องลดให้ได้”
ดังนั้น โรงงานก็ต้องปรับตัวและพยายามหาวัสดุอื่นมาใช้ หรือทำกระบวนการรีไซเคิลเพื่อลดการใช้พลาสติกลงให้ได้ นพมาศสรุปคร่าวๆ ถึงนโยบายองค์กรที่มาจาก Legrand บริษัทแม่สัญชาติฝรั่งเศสซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ที่ปารีส
ความเข้มงวดนี้ไม่ได้ดูเฉพาะการผลิต แต่พิจารณาตรวจสอบมาตั้งแต่การออกแบบ “เวลาไทยจะผลิตโปรดักต์ตัวหนึ่งออกมาต้องทำแผนและรายงานเรื่องความยั่งยืนเป็นมิตรกับโลกให้บริษัทแม่ซึ่งจะมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญพิจารณาอนุมัติก่อนจึงจะเริ่มการผลิตได้” เป็นอีกวิถีการทำงานที่เข้มงวดสไตล์ยุโรป ด้วยเหตุนี้นพมาศย้ำว่า สินค้าของบิทิชีโนทุกตัวจึงมั่นใจได้ว่ามีคุณภาพ ปลอดภัย เป็นมิตรกับโลกและสิ่งแวดล้อม
ไม่เพียงกำกับดูแลเรื่องโปรดักต์ใหม่ มาตรฐานของ Legrand Group ยังวางแนวทางชัดเจนเรื่องคุณภาพชีวิตของพนักงาน มีการกำหนดเป็นแนวทางว่าต้องไม่ให้พนักงานทำงานหนักเกินไป ดังนั้น ชั่วโมงการทำงานรวมโอทีและอื่นๆ แล้วต้องไม่เกิน 7-8 ชั่วโมงเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความยั่งยืนภายใต้กรอบ ESG: Environment, Social, Governance ที่ครอบคลุมทั้งมิติการใช้ชีวิตและสิ่งแวดล้อม
โอกาสในวิกฤต
นพมาศเล่าว่า วันที่เผชิญวิกฤตทีแรกก็ไม่รู้ว่าควรทำอย่างไร เพราะตอนนั้นเธอเพิ่งก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารไม่นานนักก็อยู่ในช่วงโควิดพอดี ซึ่งขณะนั้นบริษัทแม่มีนโยบายให้ทีมงานในแต่ละภูมิภาคได้มีโอกาสขึ้นมาเป็นผู้บริหาร ซึ่งนอกจากเป็นผู้บริหารในภูมิภาคคนแรกแล้ว ยังเป็นผู้หญิงคนแรกในกรุ๊ปผู้บริหารระดับท้องถิ่นจากหลายประเทศ ซึ่งแต่ก่อนผู้บริหารระดับนี้ล้วนเป็นต่างชาติและเป็นผู้ชาย
“แน่นอนช่วงโควิดย่อมมีผลต่อยอดขาย แต่การปรับตัวปรับกลยุทธ์รองรับได้ทำให้เราพบแนวทางใหม่ๆ และที่สำคัญเราไม่ได้แย่ขนาดนั้น เพราะยังมีตลาดส่งออกซึ่งมีดีมานด์อยู่ไม่น้อย”
ด้วยความที่อุปกรณ์ของบิทิชีโนคือปลั๊กไฟและอุปกรณ์เกี่ยวกับไฟที่เป็นงานปิดจบเพื่อส่งมอบลูกค้าทำให้บริษัทมีงานเข้ามาต่อเนื่อง เพราะโครงการต้องทำให้เสร็จถึงจะโอนให้ลูกค้าได้ทำให้บิทิชีโนมีงานต่อเนื่องไม่ได้หดหาย แต่บริษัทก็ต้องเปลี่ยนระบบการทำงานเพื่อไม่ให้กระทบธุรกิจ
นพมาศบอกว่า การบริหารในช่วงวิกฤตนั้นช่วยให้บริษัทสามารถทรานส์ฟอร์มธุรกิจมาสู่ออนไลน์ได้เร็วขึ้น ที่สำคัญประเทศไทยไม่ได้ทำโดยลำพัง เนื่องจาก Legrand Group บริษัทแม่ก็มองเห็นปัญหาเช่นเดียวกันจึงมีการทำสื่อการตลาดที่เป็นเวิลด์ไวด์เพื่อเป็นข้อมูลให้บริษัทในเครือทุกประเทศนำไปใช้ได้ จึงทำให้การทำตลาดออนไลน์และการตลาดดิจิทัลต่างๆ ทำได้อย่างสมบูรณ์
เติบโตต่อเนื่อง
แม้ 2-3 ปีที่ผ่านมาต้องเผชิญสถานการณ์โควิดแต่นพมาศย้ำว่า รายได้บิทิชีโนยังคงเติบโตด้วยสัดส่วนเดิมคือ ลูกค้าในประเทศไทย 70-75% ที่เหลืออีกราว 25-30% เป็นตลาดส่งออก และผลการดำเนินงานโดยภาพรวมมีการเติบโตทุกปี โดยในปี 2566 ยอดขายเติบโต 9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
และบริษัทแม่ Legrand Group ที่ฝรั่งเศสก็เช่นเดียวกัน ในปี 2566 มียอดขายรวมกว่า 3 แสนล้านบาท หรือราว 8.3 พันล้านยูโร เป็นรายได้จากทั่วโลกที่มีสินค้าของกลุ่มเข้าไปจำหน่ายใน 170 ประเทศ
ก่อนจบการพูดคุยวันนั้นเรามีคำถามสุดท้ายว่า นพมาศมองบทบาทตัวเองอย่างไร? เธอตอบแทบไม่ต้องคิดว่า “เป็นคนที่เปิดกว้างรับฟังทุกเรื่องจากทีมงาน พร้อมรับฟังและนำไปใช้ ประตูห้องทำงานเปิดตลอดเวลา” เธอหมายความว่า รับฟังได้ทุกเรื่องทั้งดีและไม่ดี อยากให้ทีมงานเข้ามาแลกเปลี่ยนและมีส่วนร่วมก้าวเดินไปด้วยกัน
ภาพ : API
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Chrissy Taylor พลังขับเคลื่อนแห่ง Enterprise Mobility