นุสรา บัญญัติปิยพจน์ หญิงแกร่งแห่ง OCEAN LIFE - Forbes Thailand

นุสรา บัญญัติปิยพจน์ หญิงแกร่งแห่ง OCEAN LIFE

ประกันชีวิตมีส่วนช่วยสร้างความมั่นคงและรองรับความเสี่ยง หลายทศวรรษที่ผ่านมาธุรกิจนี้เป็นที่ยอมรับระดับหนึ่ง แต่ในปัจจุบันผู้คนให้ความสำคัญและยอมรับการทำประกันชีวิตเพิ่มขึ้นมาก ยิ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้ผู้คนตื่นตัวเรื่องสุขภาพ และธุรกิจประกันชีวิตมีบทบาทช่วยแบ่งเบาภาระได้อย่างชัดเจน


    “ตลอดสิบปีที่ผ่านมา OCEAN LIFE ไทยสมุทรเรายึดแนวทางสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนหมายความว่าอาจไม่โตแบบก้าวกระโดด แต่เป็นการเติบโตอย่างมั่นคงด้วยฐานะการเงินที่เข้มแข็ง” นุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารหญิงแถวหน้าของวงการประกันชีวิต เริ่มต้นบทสัมภาษณ์ครั้งล่าสุดกับทีมงาน Forbes Thailand ด้วยการอธิบายแนวคิดและปรัชญาการดำเนินธุรกิจของบริษัทประกันชีวิตคนไทยที่ยืนหยัดในธุรกิจมายาวนานถึง 75 ปีในปัจจุบัน

    บิดาของเธอ กฤษณ์ อัสสกุล เป็นผู้ก่อตั้งกิจการไทยสมุทรประกันชีวิต สร้างชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในวงการและส่งต่อธุรกิจสู่นุสรา ซึ่งเธอเคยเล่าในบทสัมภาษณ์หลายครั้งว่า ไม่ได้ชอบธุรกิจประกันชีวิตมาตั้งแต่ต้น แต่ชื่นชอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ทำเป็นงานแรกมากกว่า เพราะการพัฒนาอสังหาฯ ขึ้นเป็นสำนักงาน หรือคอนโดมิเนียมแล้วขายได้ผลตอบแทนที่เร็วด้วยมูลค่าสูงกว่า แต่เมื่อได้เข้ามาสู่ธุรกิจประกันชีวิตเต็มตัว เธอกลับมองเห็นจุดดีของธุรกิจประกันชีวิตที่เติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป เป็นธุรกิจที่ช่วยสร้างความมั่นคงและคุ้มครองความเสี่ยงให้กับลูกค้า

สินทรัพย์รวม 1 แสนล้าน

    ตลอดเวลา 14 ปีในฐานะซีอีโอหญิงของไทยสมุทรฯ ทำให้เธอรักและศรัทธาในธุรกิจนี้ ปัจจุบันยังได้รับตำแหน่งนายกสมาคมประกันชีวิตไทย (The Thai Life Assurance Association) หลังจากเคยดำรงตำแหน่งนี้มาแล้วถึง 2 สมัย (ในปี 2559-2563) ทำหน้าที่หัวเรือใหญ่ขับเคลื่อนการดูแลสมาชิกบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย ตามภารกิจหลักของสมาคมฯ ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ 2499 โดยการผลักดันของผู้ประกอบการหลายรายรวมทั้งบิดาของเธอ ซึ่งตอนนั้นดำเนินการในนามบริษัท ไทยสมุทรพาณิชย์ประกันภัย จำกัด ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น ไทยสมุทรประกันชีวิต (OCEAN LIFE) ในปัจจุบัน ที่โฟกัสในธุรกิจประกันชีวิตเป็นหลัก

    “เรามีผลประกอบการที่ดีต่อเนื่องมาตลอด และมีกำไรที่แข็งแกร่งด้วยอัตราความเพียงพอของเงินกองทุนต่อสินทรัพย์สูงกว่า 360% ซึ่งมากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน” ตามเกณฑ์มาตรฐานตามที่คปภ. หรือคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย กำหนดไว้อยู่ที่ 140%

    นอกจากนี้ ไทยสมุทรฯ ยังมีสินทรัพย์โดยรวมประมาณ 1 แสนล้านบาท และเงินสำรองประกันชีวิตกว่า 8 หมื่นล้านบาท ถือว่ามากเพียงพอและแข็งแกร่ง ปัจจุบันไทยสมุทรฯ มีตัวแทนขายประมาณ 10,000 คน ส่วนใหญ่เป็นการขายผ่านช่องทางดิจิทัลที่ปรับตัวตามพฤติกรรมลูกค้า โดยมีผู้ออกประกันอยู่ 1.4 ล้านกรมธรรม์ มูลค่ากว่า 74,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงปีก่อนหน้า 

    ที่จริงจำนวนกรมธรรมในอดีตเราเคยมีมากกว่านี้ แต่เป็นกรมธรรมเล็กที่เรียกว่าประชาสงเคราะห์ ซึ่งเป็นกรมธรรม์ขนาดเล็กขายให้กับคนที่มีรายได้ค่อนข้างน้อย หรือคนที่เพิ่งเริ่มทำงานรายได้ยังไม่เยอะ แต่ทุกวันนี้ได้หันมาขายกลุ่มลูกค้าในเมืองมากขึ้นซื้อกรมธรรม์ขนาดใหญ่ขึ้น


เปลี่ยนมุมมองเรื่องคน

    ไทยสมุทรฯ เดินทางยาวนานถึง 75 ปีในปัจจุบัน เติบโตมาตั้งแต่ยุคบุกเบิกแต่ในส่วนของนุสรา เธอเพิ่งเข้ามาดูแลเต็มที่ในช่วง 14 ปีหลัง ซึ่งถือว่าเป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจประกันชีวิต เธอพยามปรับองค์กรให้มีความทันสมัยด้วยการจ้างงานบุคลากรกลุ่มคนรุ่นใหม่เพิ่มเข้ามาเรื่อย ๆ 

    “นุสน่าจะเป็นคนที่อาวุโสสุดในบริษัท แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาเพราะเปิดให้พนักงานทุกคนได้มีส่วนร่วม ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปด้วยกัน” ความจริงหากมองเพียงภายนอก แม่ทัพไทยสมุทรฯ ดูเป็นนักธุรกิจที่คล่องแคล่วปราดเปรียวบุคลิคสดใสกระฉับกระเฉงไม่น่าเชื่อว่าจะอยู่ในช่วงวัย 60+ เธอยังคงทำหน้าที่หลักในฐานะซีอีโอไทยสมุทรฯ รวมถึงภารกิจในองค์กรภายนอกอย่างสมาคมประกันชีวิตไทย ทำให้นุสรา ยังคงอัปเดทเทรนด์และข้อมูลต่าง ๆ ในธุรกิจประกันชีวิต ซึ่งต้องวิเคราะห์เชื่อมโยงไปกับสถานการณ์เศรษฐกิจสังคม ทั้งในประเทศและนานาชาติ

    แน่นอนแม่ทัพหญิงเบอร์หนึ่งขององค์กรไม่จำเป็นต้องลงมือปฏิบัติในทุกสิ่ง แต่เธอต้องรู้ทุกอย่างและมองเห็นโครงสร้างทั้งระบบ ซึ่งนั่นเป็นภารกิจนับจากวันแรกที่ก้าวเข้ามาสู่หน้าที่ผู้นำองค์กรประกันชีวิตแห่งนี้ 

    “ช่วงแรกก็เรียนรู้เพื่อให้เข้าใจว่าบริษัทกำไรหรือขาดทุนได้จากอะไร เป็นช่วงที่สร้างฐานทางด้านการเงินของบริษัท เข้ามาเพื่อเปลี่ยนแปลงและได้เปลี่ยนดังที่ตั้งใจ” นุสรา เล่าว่าในช่วงแรกที่เธอเข้ามา ไทยสมุทรฯ มีพนักงานประจำประมาณ 2,000 คน แต่ปัจจุบันลดลงได้พอสมควร ใกล้เคียงกับการลดอายุเฉลี่ยของทีมงานซึ่งมีส่วนทำให้องค์กรใกล้ชิดกับคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้วิถีของคนรุ่นใหม่มากขึ้น

    นุสรา ออกตัวว่าเธอไม่ได้สนใจมากนักในเรื่องอายุของทีมงาน แต่มองเรื่องความสามารถทำงานได้ตามหน้าที่และเติบโตไปกับองค์กรได้หรือไม่มากกว่า “เราให้ความสำคัญต่อการวางแผนว่าแต่ละคนจะเติบโตไปอย่างไร อย่างผู้บริหารเจนเอ็กซ์ที่เริ่มอายุมาก ก็ต้องสร้างรุ่นเด็กขึ้นมาแทนในแต่ละระดับ รองจากนุสหลายคนอายุเยอะก็ต้องการ successor ของเขา” เธอบอกว่าเตรียมทำ individual development พัฒนาเป็นรายบุคคลเพื่อเติมเต็มให้หลายคนมองเห็นโอกาสในอาชีพการงานของตัวเอง นอกจากนี้ยังเปิดพื้นที่เพื่อพูดคุยกับคนรุ่นใหม่อยู่เสมอผ่าน CEO Fan Meet ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้พูดคุยหรือถามคำถามกับซีอีโอได้โดยตรง 

    “วันนี้คิดเรื่องเจนต่างไปจากเดิมมาก ไม่ได้สนใจเรื่องเจนเนอเรชั่นความแตกต่าง ทั้ง generation gap และ gender จะเป็น LGBTQ+ เป็นแบบไหนก็ได้หากพวกเขาทำงานได้” เพราะบางครั้งในองค์กรใหญ่จะมีความหลากหลาย การทำงานต้องเกี่ยวเนื่องกับคนหลายหลายฝ่าย ต้องร่วมมือร่วมแรงร่วมใจกันทำงานเป็นทีม


'การสื่อสาร' หัวใจขององค์กร

    แน่นอนองค์กรใหญ่เป็นไปไม่ได้ที่คนจะดีทั้งหมด แต่หากเกิดปัญหาเธอจะสะท้อนภาพเหล่านั้นเพราะมองว่าเมื่อเกิด conflict ส่วนใหญ่เกิดจากความไม่เข้าใจ ขาดการสื่อสารที่ดีต้องมาดูในรายละเอียดและทำความเข้าใจร่วมกันให้ได้ เช่น ไอทีทำงานดึกเมื่อคืนไม่ได้นอน แต่มารุ่งเช้าระบบยังมีปัญหา ทีมออเปอเรชั่นอาจไม่รู้ว่าไอทีทำงานหนักเพื่อแก้ปัญหาตั้งแต่เมื่อคืน ก็อาจเกิดปัญหาความไม่เข้าใจกันได้ เรื่องแบบนี้ต้องสื่อสารให้เข้าใจตรงกัน

    “ที่สำคัญไม่ใช่สื่อสารเพื่อหาคนผิดหรือเพื่อโทษว่ามันเป็นความผิดของใคร แต่สื่อสารเพื่อที่จะบอกว่ารากของปัญหาจริง ๆ คืออะไรและช่วยกันคิดแก้ไข เลิกใช้วิธีโทษกัน การทะเลาะกันก็จะเกิดขึ้นน้อย” นุสรา บอกว่าวิธีนี้คือการอยู่ร่วมกันของคนที่มีเห็นความแตกต่าง มีความคิดต่างมีปัญหาและเป้าหมายที่แตกต่างกัน ถึงแม้เป้าหมายใหญ่ขององค์กรจะเป็นอันเดียวกัน แต่เมื่อทำเคพีไอแต่ละแผนกย่อมมีความต่าง พอทำแบบนี้เรื่อย ๆ ทุกคนจะทำงานเต็มที่และเลิกโทษกันไปมา 

    “เวลาเราชี้นิ้วไปที่คนอื่น นิ้วที่เหลือก็ชี้เข้าหาตัวเอง ถ้าเราโทษตัวเราก่อนก็จะไม่มีอารมณ์ไม่ต้องโมโห ไม่ต้องไปว่าใครแค่หาให้เจอว่าปัญหาอยู่ตรงไหนและแก้ไข” เป็นการสอนให้ยอมรับและมองปัญหา โดยไม่คิดแต่จะโทษคนอื่นควรมองจากตัวเองก่อนเสมอ



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ศุภลักษณ์ อัมพุช จากย่านช็อปปิ้งหรูสู่ “มอลล์เพื่อคนรุ่นใหม่”

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2567 ในรูปแบบ e-magazine