KTIS หรือ กิจการเกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ จากรุ่นบุกเบิกที่เริ่มต้นด้วยธุรกิจโชห่วยมาเป็นค้าส่งสู่โรงงานผลิตน้ำตาลอันดับ 1 ของโลก กำลังต่อยอดด้วยธุรกิจพลังงานและผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ธุรกิจความหวังที่กำลังจะพลิกโฉมให้กับกลุ่มธุรกิจน้ำตาลหมื่นล้าน
ความร้อนระอุจากไอแดดท่ามกลางพื้นที่กว้างใหญ่กว่า 2 พันไร่อันเป็นที่ตั้งของโรงงานน้ำตาลเกษตรไทยที่อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ คือสัมผัสแรกที่ทีมงาน Forbes Thailand ได้รับเมื่อมาเยือนโรงงานน้ำตาลที่มีกำลังการผลิตสูงสุดในโลก 5.5 หมื่นตันอ้อยต่อวันของบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จากัด (มหาชน) (KTIS) กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาลของคนไทย ตระกูล
“ศิริวิริยะกุล” นำโดย
ประพันธ์ ศิริวิริยะกุล มหาเศรษฐี Forbes 2562 อันดับ 46 ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มKTIS
ปัจจุบัน KTIS กำลังจะเปลี่ยนตัวเองครั้งสำคัญ ไม่ได้วางตัวเองเป็นเพียงบริษัทผู้ผลิตน้ำตาลอีกต่อไป แต่กระโดดเข้าสู่ธุรกิจพลังงาน โรงไฟฟ้า เอทานอล และไบโออุตสาหกรรมหลากหลายสินค้าอย่างเต็มตัวทั้งการลงทุนเองและการร่วมทุน โดยเฉพาะโครงการใหญ่ที่มีชื่อว่า
“ไบโอคอมเพล็กซ์” ที่กลุ่ม KTIS ร่วมทุนกับ กลุ่ม ปตท. ภายใต้ชื่อ บมจ.โกลบอลกรีนเคมิคอล (GGC) เพื่อพัฒนาให้จังหวัดนครสวรรค์เป็นแหล่งรวมโรงงานอุตสาหกรรมไบโอเทคโนโลยีที่หลากหลาย ซึ่งเป็นเทรนด์ธุรกิจที่ตอบโจทย์สังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กับโอกาสสร้างรายได้ที่ยั่งยืนกว่าธุรกิจน้ำตาล
“สมัยก่อนโรงงานน้ำตาลกำไรเยอะมากแต่ปัจจุบันราคาน้ำตาลตกต่ำ ตัวทำกำไรจริงคือ ไบโอและ by-product จากน้ำตาล เช่น เอทานอล โรงเยื่อกระดาษ การขายไฟฟ้า”

ประพันธ์กล่าวถึงเหตุผลซึ่งเป็นที่มาของการร่วมทุนกับปตท. เพื่อพัฒนาโครงการไบโอคอมเพล็กซ์บนที่ดิน 2,000 ไร่ ที่อำเภอตาคลี ซึ่งได้เริ่มลงเสาเข็มโรงงานแรกไปเมื่อต้นเดือนตุลาคม โดยคอมเพล็กซ์แห่งนี้จะมีโรงงานไบโอพลาสติก ไบโอเคมิคอล เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ขึ้นมาเป็นธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“อย่างไรก็ตามน้ำตาลเป็นที่มาของทุกอย่างจากอ้อยมาสู่ by-product กากอ้อยทำโรงเยื่อ และขยายสู่โรงงานไฟฟ้า น้ำตาลเป็นต้นทางของทุกอย่าง เรากำลังจะขยายการผลิตเพิ่มอีก 2.4 หมื่นตันอ้อยต่อวัน จะเพิ่มจาก 3 โรงงานเป็น 4 โรงงาน”
แม้จะหันมาให้น้ำหนักกับการผลิตสินค้าผลพลอยได้จากน้ำตาลมากขึ้น แต่ KTIS ยังคงให้ความสำคัญกับการขยายการผลิตน้ำตาล เพราะเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ ประพันธ์ย้ำว่า
“ไม่ว่า KTIS จะขยายไลน์ผลิตออกไปอย่างไร ภาพลักษณ์ของกลุ่มก็ยังคือน้ำตาล” และจุดแข็งของกลุ่มที่มีคือ มีความใกล้ชิดกับเกษตรกรที่กล้ายืนยันว่า KTIS ดูแลพี่น้องชาวไร่อ้อยดีสุดในประเทศไทยสัญญารับซื้อผลผลิตอ้อยของ KTIS ครอบคลุมพื้นที่ปลูกกว่า 1 ล้านไร่ใน 8 จังหวัดกับเกษตรกรชาวไร่อ้อยกว่า 3 หมื่นราย ได้รับการส่งเสริมและดูแลพัฒนาให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น
“สมัยก่อนผลผลิตชาวไร่อ้อยทำได้ 5-6 ตันต่อไร่ แต่เดี๋ยวนี้ 10 ตันเป็นเรื่องปกติ 12 ตันเป็นเรื่องธรรมดา และ 20 ตันต่อไร่เป็นเรื่องที่สามารถทำได้” นี่คือหัวใจการส่งเสริมชาวไร่ที่ทำให้ KTIS สามารถเข้าไปนั่งในใจพี่น้องเกษตรกรได้ เพราะไม่ใช่แค่เพียงคู่ค้า แต่บริษัทได้ร่วมพัฒนาผลผลิตช่วยเหลือชาวไร่อ้อยมาโดยตลอด
ปัจจุบันกลุ่ม KTIS มีโรงงานผลิตน้ำตาล 3 โรง มีกำลังการผลิตรวม 8.3 หมื่นตันอ้อย หากเพิ่มโรงงานแห่งที่ 4 เข้ามาอีก 2.4 หมื่นตันอ้อย จะทำให้กำลังการผลิตของกลุ่มเพิ่มเป็นกว่า 1 แสนตันอ้อยต่อวัน ซึ่งจะมีขนาดที่ใหญ่เพียงพอสำหรับการขยายสู่การผลิตสินค้าพลอยได้ต่างๆ ที่ทางกลุ่มทยอยปรับตัวมาก่อนหน้านี้หลายปี ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิตเยื่อกระดาษฟอกขาวจากชานอ้อยโรงงานปุ๋ย โรงงานผลิตเอทานอล โรงไฟฟ้า เป็นต้น
ทั้งนี้ โครงการไบโอคอมเพล็กซ์ KTIS ได้ร่วมลงทุนกับกลุ่มปตท. ในสัดส่วนเท่ากันคือ 50:50 จากทุนจดทะเบียน 2.5 พันล้านบาท ในขณะที่งบลงทุนโครงการนี้ 7.5 พันล้านบาท ซึ่งเงินทุนส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงิน โดยโรงงานแห่งใหม่จะเดินเครื่องผลิตในเดือนธันวาคม 2563 และอีกโครงการคือ การผลิตบรรจุภัณฑ์จากเยื่อชานอ้อย (pulp mould) ซึ่ง KTIS ถือหุ้น 85% โดยบริษัทที่ขายเครื่องจักรจากจีนถือหุ้น 15% เป็นบรรจุภัณฑ์จากเส้นใยธรรมชาติที่เป็น food grade เชื่อว่าจะเป็นสินค้าที่มีแนวโน้มสดใส

ผลิตภัณฑ์พลอยได้ไม่ได้เป็นธุรกิจใหม่ของกลุ่ม KTIS เพราะได้ชิมลางธุรกิจนี้มาตั้งแต่ปี 2546 โดยได้ก่อตั้งโรงงานผลิตเยื่อกระดาษฟอกขาวจากชานอ้อย บริษัท เอ็นไวรอนเม็นท์พัลพ์ แอนด์ เปเปอร์ จำกัด ต่อมาปี 2548 ก่อตั้งโรงงานผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล (MOLASSES) บริษัท เอกรัฐ พัฒนา จำกัด
จากนั้นปี 2553 เริ่มก่อตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวลจากชานอ้อยในปี 2556 ตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวลจากชานอ้อย ภายใต้ บริษัท เกษตรไทย ไบโอเพาเวอร์ จำกัด เริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ และก่อตั้งโครงการผลิตก๊าซชีวภาพที่เกิดจากการผลิตเอทานอลของ บริษัท เอกรัฐพัฒนา จำกัด
ต่อมาในปี 2558 ก่อตั้งบริษัท เคทิสวิจัยและพัฒนา จำกัด เพื่อรองรับการขยายและสนับสนุนธุรกิจของกลุ่มบริษัท และในปี 2559 โรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวลจากชานอ้อยบริษัท ไทยเอกลักษณ์ เพาเวอร์ จำกัด เริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์
หากแผนการเป็นไปตามเป้าอย่างที่ประพันธ์ วาดฝันไว้ สัดส่วนธุรกิจของ KTIS จะเปลี่ยนไปจากเดิมค่อนข้างมาก อดีตสัดส่วนน้ำตาลต่อสินค้าพลอยได้อยู่ที่ 80:20 ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น 60:40 และในอนาคตคาดว่าจะเป็น 50:50
ภาพ: ชัยสิทธิ์ จุนเจือดี
คลิกอ่านฉบับเต็ม "KTIS ขับเคลื่อนอนาคตธุรกิจด้วยไบโอคอมเพล็กซ์" ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2562 ได้ในรูปแบบ e-Magazine
