“สร้างพลังให้กับสังคมโลกด้วยความโอบอ้อมอารี” เป็นคำมั่นที่บริษัทผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนรายใหญ่อย่าง บี.กริม ประกาศไว้บนหน้าเว็บไซต์ นอกจากทำด้วยตัวเอง ล่าสุดยังเร่งเพิ่มพันธมิตรมาร่วมแนวคิดนี้มากขึ้น
เช้าวันที่ 3 ตุลาคม ปี 2566 เริ่มต้นด้วยอากาศโปร่งใส แดดจ้า แต่ทว่าในช่วงเย็นเกิดความวุ่นวายหลายเหตุการณ์รุนแรง ฝนฟ้าตกกระหน่ำ การจราจรติดขัดอย่างสาหัส ผู้คนรู้สึกหดหู่กับเหตุร้ายที่เกิดขึ้น สังคมแปรปรวน จิตใจผู้คนเปราะบาง ช่างตรงข้ามกับเนื้อหาในบทสัมภาษณ์ Harald Link ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บี.กริม ที่บอกเล่าการทำธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารีจากประสบการณ์ธุรกิจที่หลากหลายกว่า 45 ปีของเขา ในฐานะทายาทรุ่น 3 สืบทอดธุรกิจคู่เคียงกับสังคมไทยมาถึง 145 ปี โดย บี.กริม เติบโตคู่กับสังคมไทยมาตลอด 6 รัชสมัยการปกครอง ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 10 ในปัจจุบัน
เนื้อในธุรกิจอารีสังคม
“หลักของ B.Grimm คือ สร้างประโยชน์ให้กับสังคม ทำให้ B.Grimm อยู่ดี และคนของเราก็อยู่ดี ทุกอย่างที่เราทำก็เพื่อประโยชน์ของสังคมโดยไม่แยกออกจากธุรกิจ” Harald กล่าวกับทีมงาน Forbes Thailand ในช่วงหนึ่งของการสัมภาษณ์ ซึ่งเป็นการตอกย้ำแนวทางการทำธุรกิจของ บี.กริม ที่ประกาศไว้ชัดเจนว่า “สร้างพลังให้กับสังคมโลกด้วยความโอบอ้อมอารี” (Empowering The World Compassionately)
โดยความอารีในเจตนารมณ์ที่ประกาศไว้ชัดเจนนี้คือเป้าหมายร่วมในการทำธุรกิจ ซึ่งไม่ได้แยกแยะว่าต้องสร้างผลประกอบการที่ดีเท่านั้น แต่ยึดมั่นว่าต้องสร้างคุณูปการกับสังคม ผู้คน และชุมชนไปพร้อมๆ กับการเติบโตทางธุรกิจตลอดเส้นทางเดินของบริษัท ตั้งแต่เมื่อครั้งบรรพบุรุษของเขา (Bernhard Grimm) เภสัชกรชาวเยอรมันที่ได้เข้ามาตั้งกิจการนำเข้ายาและเวชภัณฑ์มาช่วยรักษาโรคผู้คนในสยามประเทศตั้งแต่เมื่อร้อยกว่าปีก่อน
จากรุ่นสู่รุ่นธุรกิจ บี.กริม ดำเนินต่อเนื่องเติบโต และแตกสาขาไปตามยุคสมัย จากกิจการค้าขายยา ปัจจุบัน บี.กริม ขยายมาเป็นผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนรายใหญ่ในนาม บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ด้วยพอร์ตธุรกิจขนาดใหญ่รายได้รวมกว่า 63,247 ล้านบาท สินทรัพย์กว่า 1.7 แสนล้านบาท (ณ สิ้นปี 2565)

ขณะที่ธุรกิจดั้งเดิมของ บี.กริม เกี่ยวกับยาและเวชภัณฑ์ก็ยังคงเติบโตด้วยดีภายใต้หลักบริหารเดียวกันคือ ทำธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี เป็นมิตรสร้างพลังให้กับโลกและสังคมอย่างต่อเนื่อง
หลักของ บี.กริม ก็คือ ทำธุรกิจบนความโอบอ้อมอารี พลังงานหมุนเวียนก็เป็นความโอบอ้อมอารีอย่างหนึ่งและเป็น Empower the World ความสำคัญอยู่ที่วิธีการในการทำธุรกิจ “เราก็มีพันธมิตรเยอะ บอกต่อกันไปหลายโอกาสหลายเรื่องราว ผู้คนรู้จักดีว่าประเทศไทยมีเสน่ห์ บริษัทคนไทยเวลาไปต่างประเทศส่วนมากไม่มีใครกลัว ไม่มีใครเกลียด”
แม่ทัพ บี.กริม ยังบอกด้วยว่า สิ่งสำคัญคือ ความเป็นมืออาชีพ ถือเป็นค่านิยมหลักขององค์กร และการมีความคิดอะไรใหม่ๆ ทุกคนก็ยินดีคบค้ากับ บี.กริม ทำให้เวลาไปไหนไม่ค่อยมีใครปฏิเสธ

เขายังอธิบายด้วยว่า บี.กริม ทำโรงไฟฟ้าเป็นหลักก็อยากเชิญคนอื่นเข้ามาร่วมด้วยไม่งั้นก็เหงา พร้อมยกตัวอย่างโครงการที่แหลมฉบังที่เพิ่งได้พันธมิตรเข้ามาร่วมคือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเข้ามา 1 โรง และมีการร่วมมือหลายโรง หรืออย่างพันธมิตรกลุ่มอมตะร่วมกับ บี.กริม 10 โรง “บางคนเป็นห่วงกำไรที่ว่าเราขายอันหนึ่งแล้วทำให้มีกำไรน้อยกว่าไหม ความจริงก็ไม่ใช่ เรามีวิธีทำพลังงานหมุนเวียนให้มีกำไร เป็นวิธีการพิเศษในการขยายธุรกิจซึ่งคนของเราทำได้ดี”
Harald บอกว่า ในการบริหารธุรกิจจากเขาซึ่งเป็นรุ่นที่ 3 กำลังส่งต่อไปยังรุ่น 4 โดยยังคงหลักบริหารเดียวกันคือ ทำธุรกิจสร้างกิจการให้เติบโตไปพร้อมๆ กับการตอบแทนและดูแลสังคม “การสืบทอดธุรกิจไปยังรุ่นหลานเข้ามาบริหารเราทำรูปแบบเดียวกัน รุ่นลูกผมก็สืบต่อทำธุรกิจในแนวทางเดียวกัน” เขาหมายถึงบุตรสาว (Caroline) และบุตรชาย (Felix) ซึ่งได้เข้ามาช่วยงานในฐานะผู้บริหารเจเนอเรชั่นใหม่ ทั้งคู่สืบทอดแนวคิดการจัดการและการบริหารในทิศทางเดียวกัน
ร่วมสร้างท้องถิ่นเข้มแข็ง
หลักสำคัญคือ ทำอย่างไรให้การเติบโตทางธุรกิจดำเนินไปพร้อมกับการร่วมพัฒนาและสร้างความแข็งแรงให้กับสังคมในแง่มุมของการแบ่งปัน ดังนั้น เขาจึงมีโครงการต่างๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อความยั่งยืนหลายโครงการและทำอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการ บวร (บ้าน วัด โรงเรียน) บี.กริม จากข้อมูลที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ www.bgrimmpower ระบุว่าโครงการนี้เปิดตัวเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ปี 2563 ณ หมู่บ้าน บี.กริม (หมู่ที่ 8) ตำบล คลองทับจันทร์ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว
ภายในโครงการประกอบไปด้วยหมู่บ้าน บี.กริม, วัด บี.กริม และโรงเรียน บี.กริม เพื่อขับเคลื่อนพัฒนาชุมชนและสังคมให้เข้มแข็งเติบโตอย่างมีศักยภาพและยั่งยืน โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาชุมชนอย่างครบทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ชุมชน และคน
โครงการ บวร เป็นการบูรณาการให้เป็นไปตามแนวพระราชดำริ “บ้าน วัด โรงเรียน” และเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อให้ชุมชนรักถิ่นฐานบ้านเกิด มีการประกอบอาชีพตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง สร้างชุมชนที่เข้มแข็ง มีรายได้ และมีความเป็นอยู่อย่างมีความสุข มีสมดุลในชีวิต โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างชุมชน วัด และโรงเรียน

จากนั้นในปี 2565 บี.กริม เพาเวอร์ ได้ร่วมกับมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ เดินหน้าผลักดันโครงการต่อ โดยใช้ “โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา” (Partnership School Project) ของมูลนิธิมีชัย วีระไวทยะ ในการขับเคลื่อนผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน โดยมีเป้าหมายร่วมกันเพื่อยกระดับการศึกษาและคุณภาพชีวิตของนักเรียนและสมาชิกในชุมชน
แนวทางของโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาคือ การใช้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาชุมชน จัดทำเป็นแผนระยะยาว โดยมีกิจกรรมหลัก 9 ประการ คือ
1.การมีส่วนร่วมและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน
2.การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาครู นักเรียน และสมาชิกในชุมชน
3.การจัดตั้งแปลงเกษตรขจัดความยากจน
4.การจัดตั้งกองทุนเงินออมและเงินกู้สำหรับการประกอบอาชีพ
5.การสนับสนุนเครื่องมือ อุปกรณ์ และสื่อการเรียนการสอน
6.การสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและรายได้สำหรับผู้สูงอายุ
7.การสนับสนุนด้านสุขภาพอนามัยสิ่งแวดล้อม และปลูกต้นไม้
8.การบริหารจัดการและติดตามให้คำแนะนำ
9.การประเมินผลโครงการ
นอกจากนี้ ยังได้จัดกิจกรรมนำร่อง “การจัดตั้งแปลงเกษตรขจัดความยากจน” บนพื้นที่ของโรงเรียน บี.กริม โดยมีครู นักเรียน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าอาวาสวัด บี.กริม และชาวบ้านเข้าร่วมกิจกรรมการจัดตั้งฟาร์มเมล่อนและฟาร์มองุ่น การวางระบบน้ำโซลาร์เซลล์ในโรงเรือน การอบรมเรื่องเครื่องสีข้าวและการซีลผลิตภัณฑ์เกษตร การบริหารจัดการแปลงผัก การอบรมการทำน้ำยาป้องกันโรคและแมลงจากวัตถุดิบพื้นบ้าน
ตลอดจนการสนับสนุนเครื่องมือ อุปกรณ์ และสื่อการเรียนการสอนต่างๆ โดยมุ่งหวังว่าผลลัพธ์จากกิจกรรมจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตตลอดจนช่วยสร้างรายได้ให้แก่โรงเรียนและชุมชนมากยิ่งขึ้น พร้อมต่อยอดให้โรงเรียน บี.กริม กลายเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรด้านฟาร์มเมล่อนและฟาร์มองุ่นแห่งแรกของจังหวัดสระแก้วที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ และเป็นแบบอย่างให้กับหน่วยงานอื่นๆ ที่สนใจในอนาคต

นอกจากโครงการ บวร บี.กริม แล้ว Harald เผยว่า ยังมีโครงการส่งเสริมสังคมอีกมากมายที่ บี.กริม ได้ลงมือลงทุนและลงแรงในการพัฒนา ซึ่งปรากฏอยู่ในรายละเอียดของแนวทางความยั่งยืน บี.กริม ในเว็บไซต์หลัก เช่น โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย, โครงการหลักสูตรพัฒนานวัตกรรมและธุรกิจใหม่, โครงการฟื้นฟูและเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่ง, โครงการสนับสนุนวงรอยัลแบงค์คอกซิมโฟนีออร์เคสตร้าฯ (RBSO) กรุงเทพฯ, โครงการส่งเสริมกีฬาขี่ม้าและขี่ม้าโปโล ในประเทศไทย ซึ่งจะเห็นว่ามีโครงการที่หลากหลาย ส่งเสริมสังคมและผู้คนหลายกลุ่ม ทั้งชาวบ้าน เกษตรกร คนรุ่นใหม่ สัตว์ป่า และคนเมือง
ฝึกสมาธิ-สติเข้มแข็ง
Harald บอกว่า เรื่องธุรกิจขยายต่อเนื่องไม่หยุด แต่เรื่องจิตใจก็เป็นสิ่งสำคัญ เขามีโครงการพัฒนาสมาธิ ฝึกจิตใจให้กับพนักงานด้วย เป็นการกลั่นกรองประสบการณ์จากการใช้ชีวิตและการมีโอกาสได้พบปะบุคคลสำคัญมากมาย คนเหล่านั้นมีแง่คิดเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่ดีและมีแนวทางการฝึกใจที่ดี
และเพื่อให้คนได้สัมผัสกับคำว่าความสุขจากภายใน เขานำสิ่งเหล่านี้มาถ่ายทอดให้ทีมงานผ่านโครงการอบรมต่างๆ อยู่เสมอ เป็นการบริหารงานควบคู่ไปกับบริหารจิตใจทั้งของตนเองและเพื่อนร่วมงาม พนักงาน และทีมงาน เป็นอีกหนึ่งความอารีที่มีให้กับคนของ บี.กริม ไม่น้อยไปกว่าการสร้างความสุขผ่านโครงการช่วยเหลือสังคมต่างๆ
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : Kenichi Yamato วางโรดแมป “กรุงศรี” รุกทั่วอาเซียน