Felix Danai Link ทายาทธุรกิจ บี.กริม ผู้แสวงหาการตื่นรู้ - Forbes Thailand

Felix Danai Link ทายาทธุรกิจ บี.กริม ผู้แสวงหาการตื่นรู้

Felix Danai Link ทายาทธุรกิจ บี.กริม หลังจากใช้เวลาในการค้นหาตนเอง และศึกษาพุทธศาสนามานานนับ 10 ปี จนกระทั่ง 3 ปีก่อนจึงได้เวลาที่ทายาทหนุ่มกลับมาเรียนรู้งานด้านธุรกิจ โดยดูแลด้านอสังหาริมทรัพย์และกิจกรรมเพื่อสังคม (social engagement)

Felix Danai Link รองประธาน บี.กริม เรียลเอสเตท บุตรคนที่ 2 ของ Dr.h.c. Harald Link ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงงานที่รับผิดชอบในขณะนี้ว่ามีอาคารสำนักงานห้องพักในคอนโดมิเนียมย่านสุขุมวิท การรีโปรเจ็กต์ที่พัทยาและชลบุรี รวมทั้งคุมโปรเจ็กต์ใหม่ในรัฐ Pahang ประเทศมาเลเซีย ซึ่งบริษัทได้สัมปทานพื้นที่ทำการเกษตรจำนวน 20,000 เอเคอร์ โดยที่ผ่านมาเขาได้เดินทางไปศึกษาดูงานโครงการหลวงในจังหวัดต่างๆ เพื่อหาแนวทางสำหรับนำมาประยุกต์ใช้กับโครงการในประเทศเพื่อนบ้าน “ผมไปดูโครงการหลวงที่เชียงใหม่ เพื่อหาไอเดียว่าต้องใช้สาธารณูปโภคอะไรบ้างควรปลูกพืชอะไรที่มีค่าทางเศรษฐกิจ จะปลูกต้นปาล์มแต่ที่ดินบางส่วนเป็นพื้นที่สูง ซึ่งปลูกปาล์มไม่ได้กำลังดูว่าจะปลูกพืชอะไรที่เหมาะสมกับสภาพดินและความต้องการของตลาด คือให้ผลผลิตที่ดี และต้องดีต่อโลกด้วย ทำให้ผืนดินอุดมสมบูรณ์ ไม่สร้างคาร์บอนไดออกไซด์” ถามว่า สนใจงานด้านไหนเป็นพิเศษ เขาตอบว่า อยากให้ผู้คนมีชีวิตดีขึ้น หากสามารถแบ่งเบาภาระจากบิดาด้านไหนได้ก็ยินดีความที่เป็นคนสนใจงานเพื่อสังคมจึงได้รับหน้าที่เป็นผู้จัดการโครงการปรับปรุงโรงเรียนในโครงการ บวร (บ้าน-วัด-โรงเรียน) บี.กริม ที่บริษัทกำลังทำโครงการนำร่องขึ้นที่หมู่บ้านบีกริม จังหวัดสระแก้ว แม้จะเติบโตในไทย แต่ก่อนหน้านี้ Felix ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ต่างประเทศเนื่องจากสนใจการฝึกสมาธิขณะอายุ 20 ปี และเริ่มศึกษาพุทธศาสนาอย่างจริงจังอีก 5 ปีถัดมา โดยเดินทางไปต่างประเทศเพื่อเรียนรู้และปฏิบัติในประเทศอินเดีย เนปาล บราซิล ขณะที่คนหนุ่มทั่วไปกำลังสนุกสนานกับการใช้ชีวิตทางโลก ทายาทบี.กริมวัย 20 ปีเศษกลับมุ่งสู่การเดินทางภายใน เพื่อการเติบโตทางจิตวิญญาณ ปฏิบัติภาวนาค้นหาความหมายของชีวิต โดยใช้ชีวิต 2 ปีครึ่งที่เนปาลกับการศึกษาพุทธศาสนาแบบทิเบต ศึกษาที่ Spiritst Center ในประเทศบราซิลอีก 11 เดือน และอีกหลายปีในแนวทางต่างๆ ที่หลากหลาย
B.GRIMM
Felix Danai Link รองประธาน บี.กริม เรียลเอสเตท
“ฝึกสมาธิมา 17 ปีแล้ว แรงจูงใจมาจากเห็นเพื่อนรักฝึก รู้สึกได้ว่าเขาสุขภาพดี ดูดีมากขึ้น...เริ่มต้นจากเรียนแบบง่ายๆ อ่านหนังสือ เสาะหาครู ทำ retreat ครั้งแรกที่เชียงใหม่ชอบมาก หลังจากนั้นไปหาครูเพื่อฝึกฝน...ผมก็ตกใจที่รู้ว่านี่เป็นสิ่งที่ผมชอบไม่ได้มี pressure ใดๆ จากครอบครัว ไม่มีปัญหาอะไร ผมเป็นคนที่มีความสุขมากมีความสุขตลอดเวลา ก่อนหน้านี้แสวงหาความสุขจากภายนอก ไปปาร์ตี้ เที่ยวกับเพื่อน หลังจากทำ retreat ครั้งแรกรู้สึกว่าดีมากน่ามหัศจรรย์ รู้สึกถึงความสุขสงบและการเติมเต็มจิตใจ รู้สึกว่าสิ่งที่เคยเชื่อที่เคยทำมันไม่ถูกต้อง ก็หยุดปาร์ตี้เลย” ถามว่ามีความปีติสุขกับการทำสมาธิและปฏิบัติภาวนาขนาดนี้เคยคิดอยากเป็นพระ หรือนักบวชบ้างไหม เขาตอบพร้อมกลั้วหัวเราะน้อยๆ ว่า “อยาก แต่คิดว่ายังไม่พร้อม” ในวัย 37 ปี Felix บอกว่า ต้องการบาลานซ์ชีวิตการทำงานทางโลก ควบคู่การเติบโตภายใน “ยังฝึกสมาธิอยู่แต่ส่วนใหญ่ทำงาน แต่อยากมี balance ด้วย ผมชอบทั้งสองอย่างมัน healthy ฝึกอย่างเดียวไม่ติดกับ reality ก็ไม่ดี แต่ยังมีครูอยู่ โทรคุยกันทาง Zoom ได้”  
  • บี.กริม กับสังคมไทย
สำหรับงานกิจกรรมเพื่อสังคม หรือ social engagement เป็นหนึ่งในพันธกิจหลักที่บี.กริมให้ความสำคัญควบคู่กับการดำเนินธุรกิจ เมื่อ Felix เข้ามาทำงานในบริษัท Dr.h.c. Harald Link ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. บี.กริม เพาเวอร์ ผู้เป็นบิดาจึงมอบหมายงานส่วนนี้ให้ด้วย เนื่องจากเจ้าตัวมีความสนใจทำงานเพื่อสังคม Harald บอกว่า บริษัทให้ความสำคัญกับสังคมมาตั้งแต่รุ่นแรกๆ ที่ทำธุรกิจในประเทศไทย และยังคงสานต่อเจตนารมณ์ต่อเนื่องมากระทั่งปัจจุบัน “เราไม่เคยแยกว่าอันนี้เพื่อธุรกิจหรือเพื่อสังคม เรามองตั้งแต่ต้นว่าทำธุรกิจเพื่อสังคมจะทำธุรกิจอะไรเพื่อให้สังคมมีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งมีหลายวิธีการ ผลิตสินค้าที่คนชอบให้บริการที่ช่วยชีวิตคน สนับสนุนระบบการศึกษา ให้คนฟังดนตรีที่ทำให้รู้สึกสบายให้เล่นกีฬาที่เขาชอบ หรือเป็นกีฬาที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย ให้มีโอกาสปฏิบัติศาสนาได้ หรือให้ระบบนิเวศอยู่ได้ด้วยความอุดมสมบูรณ์ บี.กริมทำทุกด้านในเรื่องเหล่านี้” ทั้งนี้บริษัทให้การสนับสนุนใน 6 ด้าน ประกอบด้วย การดูแลชีวิตความเป็นอยู่การศึกษา ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม กีฬา และสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีทั้งดำเนินการเอง ให้ทุน และบางครั้ง Harald ยังรับเป็นประธานหรือรองประธานในหน่วยงานเหล่านั้นด้วย ด้านชีวิตความเป็นอยู่ มีมูลนิธิกองทุนการกุศลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งก่อตั้งในปี 2523 ตามวัตถุประสงค์ของท่านผู้หญิงเบ็ตตี้ ดูเมน ในการเผยแพร่พระเกียรติคุณ และพระราชกรณียกิจแห่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และส่งเสริมสนับสนุนงานขององค์กรต่างๆ ปี 2553 มูลนิธิได้มอบทุนการศึกษาที่ใช้ชื่อทุนว่า “ทุนการศึกษาสมเด็จย่า 90” แก่นักศึกษาวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ของสถาบันพระบรมราชชนก ภายใต้กระทรวงสาธารณสุขทุนละ 10,000 บาทต่อปีจนจบหลักสูตร รวมทั้งมอบทุนให้กับองค์กรการกุศลอีก 10 แห่ง จำนวน 1 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2557 บี.กริม และมูลนิธิกองทุนการกุศลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีให้ทุนแก่นักศึกษาพยาบาลรุ่นใหม่ผ่าน “โครงการตามรอยสมเด็จย่า” โดยเริ่มจากกลุ่มนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 3 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ปัจจุบันนายใหญ่ของบี.กริม เป็นรองประธานกรรมการมูลนิธิกองทุนการกุศลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี B.GRIMM  
  • การศึกษา คือรากฐาน
เพราะเชื่อว่าการศึกษาเป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาสังคม บี.กริมจึงให้การสนับสนุนทุนผ่านโรงเรียน หรือโครงการต่างๆ เช่น โรงเรียนจิตรลดา (สายวิชาชีพ) โดยถวายเงินในกองทุนเพื่อการศึกษาของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาโดยตลอด และทุกปีได้จัดการแข่งขันโปโลการกุศลเพื่อหาทุนมอบให้กับโรงเรียนสายวิชาชีพ นอกจากนี้ ยังสนับสนุนพัฒนาการสอนวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กอายุ 3-6 ปี ผ่านการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชดำริให้คณะกรรมการนำไปพิจารณาริเริ่มดำเนินการนำร่องในประเทศไทย โดยได้ทอดพระเนตรตัวอย่างโครงการ “Haus der kleinen Forscher” คราวเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศเยอรมนีในปี 2552 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ที่สามารถปลูกฝังนิสัยรักวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กและขยายผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปใช้ในโรงเรียนอนุบาลมากกว่า 22,000 แห่งในปัจจุบัน รวมทั้งเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปทำหน้าที่ “นักวิทยาศาสตร์ หรือวิศวกรพี่เลี้ยง” ในเขตจังหวัดชลบุรี, ระยอง และเขตหนองจอกจำนวน 135 แห่ง จากจำนวนโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการนำร่องนี้ทั้งหมดกว่า 200 แห่ง เพื่อให้การสนับสนุนครูในโครงการ และเป็นเครือข่ายท้องถิ่น ทำหน้าที่ประสานงานและถ่ายทอดเนื้อหาเพื่ออบรมครูจากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ยังมี โรงเรียน อ.ฮ.ลิงค์ (ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ซึ่งตั้งขึ้นโดยพระราชประสงค์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อคราวเสด็จเยี่ยมประชาชนที่จังหวัดเพชรบุรีในปี 2512 ดำเนินการก่อสร้างโดย Herbert และ Alma Link ถวายเงินในการก่อสร้างอาคารเรียน บนที่ดินจำนวน 6 ไร่ที่ชาวไทยกะเหรี่ยงบริจาคและก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2513 และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จมาเปิดป้ายอาคารเรียน เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2514 ปัจจุบันบี.กริมให้การสนับสนุนบริจาคเงิน สิ่งของ และมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียน ส่วน “โรงเรียนบีกริม” ตั้งอยู่ที่หมู่ 8 ต. คลองทับจันทร์ อ. อรัญประเทศ จ. สระแก้ว ก่อตั้งในปี 2511 โดยการบริจาคที่ดิน 12 ไร่ของ สุมิตร แสงอ่อน และ บุญมี ปันส่วน โดยนายห้าง Herbert และ Alma Link บริจาคถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีก่อสร้างโรงเรียนในปี 2513 ปีถัดมาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จเป็นองค์ประธานเปิดโรงเรียน และพระราชทานนามว่า “โรงเรียนบีกริม” ปัจจุบันสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ มีนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษาปีที่ 3 กว่า 200 คน และครูจำนวน 18 คน โดยทุกปีกลุ่มบริษัทให้การสนับสนุนทุนการศึกษา บริจาคเงิน สิ่งของ เครื่องใช้ หนังสือ อุปกรณ์การศึกษาและกีฬา  
  • โปรเจ็กต์นำร่อง บวร บี.กริม
ปี 2563 รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ขอความร่วมมือนักธุรกิจภาคเอกชนชั้นนำของประเทศให้ร่วมคิดริเริ่มโครงการเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคมให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนบริษัทจึงบรรจุโครงการ “บวร บี.กริม” (บวร ย่อมาจากบ้าน วัด โรงเรียน) เข้าเป็นหนึ่งในนั้น โดยทำเป็นแผนระยะยาว 8 ปี มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ชุมชน และคนอย่างบูรณาการ โดยเริ่มต้นโครงการนำร่องที่หมู่บ้านบีกริม (หมู่ที่ 8) ต. คลองทับจันทร์ อ. อรัญประเทศ จ. สระแก้ว ซึ่งประกอบด้วย หมู่บ้านบีกริม วัดบีกริม และโรงเรียนบีกริม ซึ่งเป็นชุมชนที่บี.กริมมีความสัมพันธ์มายาวนาน เมื่อครั้ง Herbert และ Alma Link ตามเสด็จสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) ไปในพื้นที่ B.GRIMM โครงการดังกล่าวเป็นโมเดลต้นแบบที่บริษัทจะนำไปขยายผลยังพื้นที่อื่นๆ ที่บริษัทตั้งโรงไฟฟ้า โดยปลายปี 2563 เพิ่งจัดทอดกฐินที่หมู่บ้านบีกริมเพื่อนำเงินมาปรับปรุงศาลาการเปรียญอาคารสมเด็จย่าและผู้บริหารหนุ่ม Felix มีโอกาสลงพื้นที่ไปพูดคุยกับชาวบ้านบ้างแล้ว บริษัทยังเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนหลักอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2525 แก่วงดุริยางค์ซิมโฟนี กรุงเทพ (Bangkok Symphony Orchestra หรือ BSO) และตั้งแต่มิถุนายน 2553 บริษัทมีโครงการให้ทุนแก่บุตรธิดาของพนักงานเข้าเรียนดนตรีที่โรงเรียนดนตรีวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพฯ คนที่ติดตามข่าวสารของบี.กริมคงคุ้นตากับแคมเปญ Save the Tigers ที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสื่อสารกับสังคมอยู่บ่อยครั้งทำไมต้องเป็นเสือโคร่ง? คำตอบคือ “ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังมีจำนวนเสือโคร่งในธรรมชาติมากเพียงพอต่อการฟื้นฟูจำนวนประชากร หากเสือโคร่งซึ่งอยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศถูกทำลาย จะส่งผลต่อสภาพแวดล้อมทางชีวภาพทั้งหมด...เราทุกคนต่างเชื่อมโยงถึงกันหมด ถ้าสัตว์อยู่ไม่ได้ คนก็อยู่ไม่ได้ โควิด-19 คือ เครื่องเตือนความทรงจำอันแสนเจ็บปวดว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากสัตว์ป่าไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องการอนุรักษ์เสือโคร่งและการรักษาสมดุลของระบบนิเวศเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ไม่เฉพาะเพื่อความอยู่รอดของสายพันธุ์เสือโคร่งเท่านั้น แต่ยังหมายถึงเพื่อความอยู่รอดของมนุษยชาติอีกด้วย” ทั้งนี้ บริษัทร่วมกับ World Wild Life Fund-Thailand (WWF-Thailand) ปกป้องเสือโคร่งในประเทศไทยภายใต้ “โครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งของ WWF-ประเทศไทย” ยังมีโครงการปลูกป่า บริเวณ ต. โป่ง อ. บางละมุง จ. ชลบุรี โดยบริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ ร่วมกับบริษัทอื่นๆ ในกลุ่มและสนามไทยโปโล คลับ กีฬาเป็นอีกเรื่องที่บริษัทให้การสนับสนุน โดยเฉพาะกีฬาโปโล โดยมี Thai Polo & Equestrian Club เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโปโลการกุศล เพื่อระดมทุนให้กับองค์กรการกุศลและมูลนิธิต่างๆ ล่าสุดเป็นเจ้าภาพจัดงานใหญ่ของเอเชียระหว่างวันที่ 1-8 ธันวาคม 2562 โดยได้รับอนุมัติจากสหพันธ์กีฬาขี่ม้านานาชาติ ให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาขี่ม้า FEI Asian Championships Pattaya 2019 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในเอเชีย “เราเป็นประเทศแรกที่จัด FEI Asian Championships เป็นเรื่องใหญ่มากๆ สถานที่ต้องดีระดับโอลิมปิก พื้นที่ต้องใหญ่มีกรรมการถูกต้อง ใช้เงินค่อนข้างเยอะ เราจัดที่บี.กริม สโมสรโปโล สร้างชื่อเสียงดีมากๆ (เน้นเสียง) สำหรับประเทศไทย เพราะเป็นสิ่งที่ยากมาก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบมจ. บี.กริม เพาเวอร์ และประธานสมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ     อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมีนาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine