B.Grimm อยู่กับสังคมไทยมายาวนานถึง 143 ปี จากจุดเริ่มต้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยตระกูล Grimm และ Mueller มาสู่บรรพบุรุษตระกูล Link ส่งผ่านสู่ทายาทสืบสานเจตนารมณ์อยู่ร่วมกับสังคมด้วยความเอื้ออารีบนแนวคิด “ทำธุรกิจเพื่อพัฒนาสังคม” บนแผ่นดินไทยตลอด 6 รัชสมัยสืบจนปัจจุบัน
ราวกลางเดือนธันวาคม 2563 ข่าวปรับโครงสร้างการบริหารของ B.Grimm ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ มากมาย ทีมงาน Forbes จึงเริ่มต้นด้วยคำถามถึงการปรับโครงสร้างครั้งนี้ที่ส่งผลให้ Dr.h.c. Harald Link แม่ทัพใหญ่วัย 65 กลับมานั่งเก้าอี้ผู้บริหารสูงสุดในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหารหญิงคนก่อนที่ปรับไปเป็นกรรมการบริหาร ดูแลด้านต่างประเทศแทน “ไม่มีอะไรครับ ผมยังนั่งบริหารเหมือนเดิมไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไรมาก” Harald กล่าวเพียงสั้นๆ ถึงการปรับโครงสร้างบริหารที่เป็นข่าว ก่อนจะข้ามประเด็นนี้ไปและหันมาให้น้ำหนักเรื่องความยึดมั่นในหลักการดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี ซึ่งเขาบอกว่าเป็น core value ขององค์กรบี.กริมที่ยึดถือและปฏิบัติมาตั้งแต่ต้น จากยุคบุกเบิกมาถึงยุคเขา และจะสืบสานสู่ยุคต่อไปที่เขากำลังปูรากฐานเตรียมการส่งต่อธุรกิจสู่ทายาททั้ง 2 คน Caroline บุตรสาววัย 39 และ Felix Danai บุตรชายวัย 38 “วิสัยทัศน์ของเรา Empowering the World Compassionately หมายถึง เรามุ่งไปทั้งโลกโดยทำธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารีเป็นทั้งหลักของบริษัทและหลักส่วนตัวเราอยากเป็นมิตรกับทุกคนไม่ว่าภายในภายนอก” Harald อธิบายเพิ่มเติมว่า จากแนวคิดนี้เองค่านิยมองค์กรของทุกบริษัทในบี.กริมจึงประกอบด้วย 1. การมองโลกแบบดี 2. การเป็นมิตรที่ดี 3. ทำทุกอย่างแบบมืออาชีพ รอบคอบ เข้าใจทุกอย่างลึกซึ้งประณีต เต็มที่ เต็มใจ และ 4. มี pioneer spirit พร้อมเสมอที่จะปรับตัว ปรับโครงสร้างปรับทุกอย่าง เพื่อผงาดอย่างทันสมัย ทดลองวิธีการใหม่ ทำสิ่งใหม่ตลอดเวลา องค์กรแห่งการ “บุกเบิก” ระหว่างการสัมภาษณ์นอกจากมุมมองต่อการพัฒนาไปข้างหน้าแล้ว Harald ได้สอดแทรกประวัติความเป็นมาของบี.กริมเป็นระยะๆ ด้วยแววตาแห่งความภูมิใจว่าบี.กริมเป็นบริษัทแรกในประเทศไทยที่ปรุงยาจากยุโรป ช่วยคนในพระราชวังสมัยรัชกาลที่ 5 และ 6 ปรุงยาถวายกษัตริย์ไทยทั้งสองพระองค์กับพระราชินี และคนในวังหลวง นอกจากนี้ บี.กริมยังได้ร่วมโครงการใหญ่ขุดคลองรังสิตในเวลานั้น เป็นโครงการทางด้านสาธารณูปโภคที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของศตวรรษที่ 19 หลังจากนั้นบี.กริมยังได้บุกเบิกหลายอย่างนำพาสิ่งใหม่ๆ เข้ามาในเมืองไทย ด้านการเงินก็เป็นอีกแนวทางที่บุกเบิก โดยบี.กริมเป็นบริษัทแรกที่ทำ Green Bond ในเมืองไทย และเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าบริษัทแรกที่ทำ Green Loan ในภูมิภาคนี้และทำ Infrastructure Fund ในแง่พลังงาน “เราทำบริษัทแรกหลายอย่างในแง่โรงไฟฟ้าเพื่อโรงงานอุตสาหกรรมเราเป็นบริษัทที่ 2 แต่ ณ วันนี้เรามีลูกค้าอุตสาหกรรมมากที่สุดในบรรดาบริษัทไทย และยังเป็นบริษัทแรกที่เป็นเอกชนผู้ทำธุรกิจสายส่งไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจที่เวียดนาม โดยการซื้อไฟฟ้ามาแล้วนำระบบสายส่งเข้าให้บริการ” ส่วนตัวเลขกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ 7,200 เมกะวัตต์ภายในปี 2568 แม่ทัพใหญ่บี.กริมยืนยันว่า เป็นสิ่งที่ไม่ไกลเกินจริง เพราะปัจจุบัน บี.กริม เพาเวอร์ ผลิตไฟฟ้าอยู่กว่า 3,000 เมกะวัตต์ และมีสัมปทานอยู่ 3,500 เมกะวัตต์ ส่วนการผลิตไฟฟ้าสามารถทำได้ 14,000 kWh ลงทุนใหญ่หลายประเทศ ในวันนี้บี.กริม ขยายการลงทุนไปในหลายประเทศ เริ่มจากทางเหนือที่เกาหลีใต้กำลังสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลม “เรามีสัญญาอีก 100 และ 30 เมกะวัตต์ที่โน่น ส่วนฟิลิปปินส์เราก็มีพันธมิตร ปัจจุบันทำโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์บนหลังคาติดตั้งไปแล้ว และลาวเรามีสัมปทานผลิตโรงไฟฟ้าจากน้ำทำมาแล้ว 3 โครงการ ยังมีต่อที่กัมพูชา เพิ่งสร้างโรงไฟฟ้าเสร็จคุณภาพสูง มีโอกาสจะขยายได้มากขึ้น ในมาเลเซียก็มีโอกาสเข้าหุ้นกับบริษัทเพื่อนทำพลังงานเพื่ออุตสาหกรรมในอินโดนีเซีย ซึ่งมีทั้งโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์และลม” โรงผลิตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดของบี.กริมในวันนี้คือ ที่เวียดนาม ซึ่งหลายบริษัทที่นั่นมีทั้งโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์และลม บี.กริมกำลังจะมีโครงการเวียดนาม 120 เมกะวัตต์ทางด้านลม ซึ่งจะขยายได้ถึง 500 เมกะวัตต์และมีหลายโครงการมีการนำเข้าแก๊สส่งไปโรงไฟฟ้าผลิตไฟหลายโครงการใหญ่ “เราคิดว่า ถ้าได้โรงไฟฟ้าใหญ่อันเดียวที่เวียดนามเราก็ผลิตได้ถึง 7,200 เมกะวัตต์ แนวโน้มภายในปี 2568 เรามีโอกาสทำมากกว่านั้นแต่ไม่อยากเร่งเกินไป” การลงทุนในธุรกิจพลังงานของบี.กริมไม่ได้มีเฉพาะในประเทศเอเชีย แต่ยังขยายไปถึงตะวันออกกลางและยุโรป และในอนาคตอันใกล้บี.กริมกำลังจะนำเข้าระบบ Energy Storage System (ESS) เช่น แบตเตอรี่เป็น ESS ซึ่งเก็บไฟฟ้าได้ มีการปรับปรุงพัฒนาเยอะมาก “ธุรกิจสายส่งเราก็ทำเป็นธุรกิจ ที่เยอรมนีธุรกิจสายส่งเป็นเอกชนหมด แต่ในภูมิภาคนี้เป็นของรัฐ แต่เรามีของเราเองก็จะทำให้มากขึ้น” เพิ่มพลังงานหมุนเวียน-ไฟฟ้าย่อย จากกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของบี.กริม สัดส่วนร้อยละ 30 เป็นพลังงานหมุนเวียน โดยมีไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นหลัก 800 เมกะวัตต์ อีก 35 เมกะวัตต์เป็นพลังน้ำ และ 16 เมกะวัตต์เป็นพลังลม ทิศทางโลกพลังงานกำลังมุ่งหน้าสู่พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เพราะโรงผลิตไฟฟ้าแบบเดิมก่อปัญหามลภาวะ ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม “ถ้าเราไม่ผลิตไฟฟ้า ใช้แก๊ส ใช้ถ่านหิน ก็มีมลพิษมากกว่า ทั้งโลกก็พยายามใช้แก๊สน้อยลง” นี่คือทิศทางของธุรกิจพลังงาน ส่วนฐานลูกค้าของ บี.กริม เพาเวอร์ Harald เผยว่า ลูกค้าร้อยละ 80 เป็นราชการร้อยละ 20 เป็นอุตสาหกรรม โดยในเวียดนามเขามีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 677 เมกกะวัตต์ พลังงานหมุนเวียนมากกว่า 800 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้บี.กริมได้ขาย 90 เมกะวัตต์ในระบบสายส่งของตัวเอง สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแก๊สธรรมชาติยังคงเป็นการผลิตที่สำคัญ แต่ Harald บอกว่า ต้องดูที่ตัวแปรด้วย “แก๊สอยากซื้อราคาที่ดีคุณภาพที่ดีถ้า ปตท. ขายให้เราในราคาที่คนอื่นขายให้เราได้ เราก็รัก ปตท. ถ้าซื้อจาก ปตท. ได้เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับเรา ตอนนี้มี 20 องค์กรมาเสนอ เรากำลังเจรจาอยู่ ที่เวียดนามก็เหมือนกันเพิ่งคุยกับเพื่อน มีเจ้าอื่นไม่ขายเมืองไทยแต่ขายให้ที่นั่น” Harald เผยว่า อยากคัดเลือกเป็นข้อตกลงระยะยาวส่วนหนึ่ง ระยะสั้นส่วนหนึ่ง และยอมรับว่าการซื้อหลักๆ ยังไปที่ ปตท. มีหลายโรงงานที่เซ็นสัญญากับ ปตท. หลายสิบปี อย่างไรก็ตาม แม่ทัพ บี.กริม เพาเวอร์ มองว่า ทิศทางธุรกิจพลังงานในอนาคตโรงไฟฟ้าจะมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ และในที่สุดคนจะมีโรงไฟฟ้าในบ้าน ทุกวันนี้ก็เริ่มมีแล้ว ต่อไปหากแบตเตอรี่ถูกลงคนจะซื้อมาติดตั้งเอง ติดแผงโซลาร์บนหลังคาผลิตไฟฟ้าขายเพื่อนบ้านแบบ Peer to Peer ที่แลกเปลี่ยนกันได้โดยตรง แต่ต้องมีระบบซอฟต์แวร์ที่ดี นอกจากธุรกิจพลังงานที่เป็นรายได้หลักของบี.กริมในปัจจุบันแล้ว Harald เผยว่าธุรกิจต่อเนื่อง บี.กริมยังมองเรื่องดิจิทัลขยายธุรกิจด้านไฟแนนซ์ ประกัน และสุขภาพ โดยล่าสุดเพิ่งเปิดคลินิกให้บริการตรวจรักษาแบบป้องกัน และใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาเสริมอาจมีบริการนัดหมายแพทย์ในรัศมีใกล้เคียงหรือเฉพาะทางให้กับลูกค้า นำดิจิทัลมาอำนวยความสะดวกสำหรับคนไข้ ซึ่งบริการด้านสุขภาพนี้เขามุ่งหวังจะให้บุตรสาว Caroline Link เป็นคนเข้ามาบริหาร และเชื่อว่าจะตอบโจทย์ความต้องการผู้คนได้เป็นอย่างดี พุทธสมาธินำสติ-ธุรกิจ สองพ่อลูก Harald และ Felix พวกเขามีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันนั่นคือ ความสนใจเรื่องพุทธศาสนาและการทำสมาธิ “ผมคล้ายๆ เป็นลูกศิษย์ของลูกชาย เขาอยู่บราซิล ผมก็ไปบราซิลไปเรียนปฏิบัติกลับมาช่วยธุรกิจเยอะเหมือนกัน” Harald เล่าอย่างอารมณ์ดีเป็นการยืนยันว่า เวลาหลายปีที่บุตรชายเขาทุ่มเทไปกับการฝึกสมาธิไม่ได้ทำให้แม่ทัพใหญ่บี.กริมรู้สึกไม่พอใจ ในทางตรงข้ามเขากลับมองว่า เป็นสิ่งที่ดี เพราะเชื่อมั่นว่าการฝึกจิต ฝึกสมาธิ จะนำมาซึ่งหลักคิดและพลังบวกให้กับการทำงาน ทุกวันนี้สองพ่อลูกจึงแลกเปลี่ยนความถนัดกันอย่างลงตัว ในขณะที่ Harald ยังคงบริหารกิจการหลักด้านพลังงาน เขาก็ใช้ความรู้ด้านสมาธิมาช่วยในการทำงานส่วนบุตรชายที่ค้นหาสัจธรรมอยู่หลายปีก็เริ่มกลับเข้ามาสู่ธุรกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภาพ: กิตติเดช เจริญพรคลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมีนาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine