สรพหล นิติกาญจนา ขยายอาณาจักร "เอสพีเอ็ม" ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ - Forbes Thailand

สรพหล นิติกาญจนา ขยายอาณาจักร "เอสพีเอ็ม" ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ

เอสพีเอ็ม กรุ๊ป เป็นองค์กรธุรกิจแบบครอบครัว ไม่มีแนวคิดนำกิจการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ คนทั่วไปจึงอาจไม่คุ้นชื่อนัก แต่ในแวดวงธุรกิจฟาร์มและอาหารสัตว์แล้ว กลุ่มนี้ถือเป็นรายใหญ่ยอดขายระดับหมื่นล้าน มีฟาร์มหมูขนาดใหญ่ถึง 12 แห่ง เลี้ยงหมูเพื่อจำหน่ายปีนี้กว่า 1 ล้านตัว และสร้างธุรกิจด้วยนวัตกรรม

ภาพหมู 3 ตัวพร้อมข้อความเราจะโตไปด้วยกันที่ปรากฏอยู่บนด้านหลังเสื้อพนักงานของกลุ่มบริษัท เอสพีเอ็ม อาหารสัตว์ จำกัด (SPM Feed Mill) เป็นประหนึ่งคำมั่นสัญญาที่ สมชาย นิติกาญจนา ผู้ก่อตั้งบริษัท ให้ไว้กับพนักงานและคู่ค้า เมื่อครั้งตัดสินใจทำกิจการฟาร์มเลี้ยงหมูจำนวน 100 ตัวบนพื้นที่กว่า 50 ไร่ ที่ราชบุรี อันเป็นที่ตั้งของสำนักงานปัจจุบัน

หลังจากเริ่มต้นด้วยการเลี้ยงหมู พอย่างเข้าปีที่ 2 จึงผลิตอาหารสัตว์ใช้เองในฟาร์ม เพื่อลดต้นทุน เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านอาหารคิดเป็น 60% ของต้นทุนทั้งหมด

รูปหมู 3 ตัวหลังเสื้อพนักงาน หมายถึงลูก 3 คนของสมชาย

สมชายเคยมีประสบการณ์จากการช่วยบิดาเลี้ยงหมูอยู่กับบ้าน เมื่อบิดาถึงแก่กรรม พี่น้องต่างแยกย้ายกันไป แต่สมชายตั้งใจทำฟาร์มเลี้ยงหมู และคาดว่าจะเติบโตได้อย่างมั่นคง เพราะมั่นใจว่าตนเองมีต้นทุนที่ดี เนื่องจากเรียนจบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านวิศวกรรมเครื่องกล จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) มีความรู้และเทคโนโลยี ขณะที่เจ้าของฟาร์มอื่นๆ เป็นชาวบ้านการศึกษาไม่มากนัก ยังเลี้ยงหมูแบบบ้านๆ เมื่อเทียบกันแล้วเป็นคู่แข่งที่ไม่น่ากลัวนัก

ทุนก้อนแรกเป็นเงินหลักแสนบาทที่กู้จากธนาคาร ซึ่งผู้บริหารแบงก์ขณะนั้นยังแปลกใจว่า เรียนจบวิศวกรรมทำไมถึงมาเลี้ยงหมู แต่เมื่อว่าที่เกษตรกรหนุ่มเปิดโปรแกรมคอมพิวเตอร์คำนวณสูตรอาหารสัตว์ให้ดู และยืนยันถ้าปล่อยกู้ให้เขา เงินไม่สูญแน่นอน เงินกู้ก้อนแรกจึงได้รับการอนุมัติ

นั่นคือจุดเริ่มต้นที่สมชายก่อตั้งมาด้วยวิถีใหม่ ฟาร์มหมูไฮเทค ต่อมาในปี 2557 สมชายได้ส่งต่อการบริหารงานทั้งหมดให้กับ สรพหล นิติกาญจนา ทายาทคนโต และผันตัวไปเป็นประธานกรรมการ ดูแลธุรกิจพลังงานงานทดแทนจากก๊าซชีวภาพ

 

ปั้นธุรกิจอาหารสัตว์ชีวภาพ

สรพหล กรรมการผู้จัดการหนุ่มวัย 39 ปีเล่าว่า ก่อนเรียนจบไม่เคยเข้ามาทำงานหรือรับรู้เกี่ยวกับกิจการภายในฟาร์ม ตั้งหน้าตั้งตาเรียนหนังสืออย่างเดียว พ่อแม่ไม่เคยพูดเรื่องงานให้กังวล รับรู้ว่าช่วงแรกท่านลำบากมาก และตระหนักดีว่าสักวันหนึ่งต้องกลับมาดูแลธุรกิจของครอบครัว

หลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านวิศวกรรมอุตสาหการ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2545 จึงเข้ามาทำงานที่บริษัท ซึ่งตอนนั้นมีฟาร์มปศุสัตว์กับโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งผลิตให้เฉพาะหมูในฟาร์ม ด้วยความที่เป็นนักอุตสาหการ จึงเอา management tools เข้ามาใช้ ปรากฏว่าประสิทธิผลออกมาดี สามารถผลิตสินค้าเท่าเดิม โดยใช้วันทำงานน้อยลง จาก 6 วัน เหลือ 5 วัน แต่บริษัทจ่ายค่าแรงพนักงานเป็นรายเดือน ไม่ใช่รายวัน เขาจึงปิ๊งไอเดียว่าควรเอาแรงงานที่เหลือมาสร้างมูลค่าเพิ่ม และเห็นว่าอาหารสัตว์ที่บริษัททำมีคุณภาพ เป็นจุดแข็ง น่าจะทำขายได้

เมื่อเสนอความคิดนี้กับบิดา คำถามแรกที่ได้รับคือจะสู้ซีพีได้หรือ เพราะอุตสาหกรรมอาหารสัตว์กำไรต่ำมาก อาหารไก่กำไร 2% อาหารหมู 4-5% อาหารกุ้งกำไร 10% มีเพียงอาหารสัตว์เลี้ยงที่กำไรค่อนข้างสูง และข้อจำกัดอีกอย่างคือต้องให้เครดิตลูกค้าด้วย

คุณพ่อไม่ให้ขาย กลัวหนี้สูญ ผมเป็นคนแรกที่ขายอาหารหมูเป็นเงินสด ส่วนใหญ่เขาขายให้เครดิตกัน 2-4 เดือน คุณพ่อบอกไม่อยากเพิ่มเซลส์ ผมจึงเป็นเซลส์คนแรกของบริษัท วิ่งขายเองเป็นปีนับเป็นโจทย์ที่ท้าทายเพราะเป็นบริษัทน้องใหม่ ไม่เคยทำธุรกิจขายอาหารสัตว์มาก่อน ทั้งยังขายเงินสด ไม่ให้เครดิตคู่ค้า ถามว่าขายได้ไหม คำตอบคือได้และทุกวันนี้ธุรกิจอาหารสัตว์กลายเป็นรายได้หลักของบริษัท

ขณะที่กำลังสนุกกับการทำธุรกิจได้ 3 ปีก็มีใบตอบรับจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาที่สรพหลสมัครเรียนต่อปริญญาโท เขากลับมาพร้อมรางวัลผลการเรียนดีเด่นในปี 2548 และ 2549 รวมทั้งรางวัล BGS recognition for outstanding business study ปี 2549 กลับมาให้พ่อแม่ชื่นใจ และเรียนรู้งานธุรกิจของครอบครัวอย่างเต็มเวลาตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา กระทั่งผู้เป็นบิดาวางใจและวางมือ ให้ดูแลกิจการทั้งหมดในปี 2557

 

สร้างจุดต่าง หมูอินทรีย์-โอเมก้า

นอกจากเนื้อหมูอนามัยที่ได้จากการเลี้ยงหมูด้วยระบบปิด มีการควบคุมการใช้ยาและสารเคมีตามมาตรฐานกรมปศุสัตว์แล้ว บริษัทยังมีโครงการผลิตเนื้อหมูอินทรีย์ (organic pork) เนื้อหมูธรรมชาติปลอดสารพิษ (green pork) และเนื้อหมูเสริมโอเมก้า 3 (omega pork) เป็นเนื้อหมูเกรดพรีเมียมที่มีปริมาณกรดไขมันไม่อิ่มตัวในกลุ่มโอเมก้า 3 สูงกว่าปกติ 3-5 เท่าตัว

โดยเป็นฟาร์มขนาดใหญ่แห่งแรกของประเทศไทยที่ได้การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จากสำนักมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) และล่าสุด ได้ร่วมทุนและใช้เทคโนโลยีจากญี่ปุ่น ผลิตเนื้อหมูโคจิบุตะ (Kojibuta) และฮอกไกโดแฮม

ผู้บริหารหนุ่มบอกว่า บริษัทมีความเข้มแข็งธุรกิจต้นน้ำ มีฟาร์ม อาหารสัตว์ จึงคิดว่าควรทำธุรกิจปลายน้ำด้วย ถ้าทำเนื้อหมูขายธรรมดา มีความเสี่ยงสูง และถูกกดราคาจากโมเดิร์นเทรด เมื่อจะกระโจนสู่ตลาดนี้ทั้งที ผลิตภัณฑ์ต้องมีความต่าง

ถ้าคิดเหมือนชาวบ้าน เราไม่โตเท่าวันนี้ ต้อง differentiate ตัวเองก่อน เราร่วมทุนกับญี่ปุ่น โคจิบุตะเป็นนวัตกรรมเนื้อหมูสไตล์ญี่ปุน มีความนุ่ม อร่อย แต่ปลอดภัย ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงเลย มีค่านิวตริชั่นสูง มีโปรตีนสูงกว่าปกติ วิตามินอีสูง สารแอนตี้ออกซิแดนท์มาก ไขมันต่ำ กินแล้วสุขภาพดี อร่อย ในราคาที่สูงกว่าเนื้อหมูทั่วไป 10% ตอบโจทย์มาก เราเพิ่งวิจัยและเทสต์เสร็จ เพิ่ง launch ในปี 2563”

 

ผลิตเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม

เส้นทางการสร้างนวัตกรรมในการเลี้ยงหมูของเอสพีเอ็มไม่ได้เพิ่งเริ่ม แต่ทำมามากกว่า 10 ปีแล้ว โดยในปี 2550 บริษัทได้ร่วมทุนกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (NSTDA) หรือ สวทช. ด้วยมูลค่าการลงทุน 100 ล้านบาท มีจุดประสงค์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่สามารถประยุกต์ใช้ในหลายธุรกิจในระดับอุตสาหกรรม

ใช้ความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพมาพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์

แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ สารเสริมและวัตถุดิบอาหารสัตว์ชีวภาพสำหรับสัตว์เศรษฐกิจ สารเสริมชีวภาพสำหรับสัตว์เลี้ยง สารเสริมชีวภาพสำหรับมนุษย์ และการบำบัดของเสีย และการหมักก๊าซชีวภาพ โดยเป็นโรงงานผลิตเชื้อจุลินทรีย์ในระดับอุตสาหกรรมแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อต่อยอดงานวิจัยให้นำมาใช้ได้จริงในอุตสาหกรรม เพราะอย่างที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ว่า สวทช.มีงานวิจัยดีๆ จำนวนมาก แต่พอจะอัปสเกลเพื่อผลิตแบบอุตสาหกรรมกลับทำไม่ได้

 

เทคโนโลยีสร้างภาพอนาคต

เมื่อให้ฉายภาพทิศทางของเอสพีเอ็ม กรุ๊ปในอีก 5 ปีข้างหน้า กรรมการผู้จัดการหนุ่มบอกว่า จะใช้จุดแข็งที่มีคือต้นน้ำบวกเทคโนโลยี ขยายทั้งแนวนอนและแนวตั้งแตกเป็นธุรกิจใหม่ ในแนวตั้งจะผลิตอาหารสัตว์ เพื่อให้ได้เนื้อหมูชนิดพิเศษ เช่น ได้เนื้อหมูที่นุ่ม อร่อย ปลอดสาร และแปลงสู่ปลายน้ำเป็นพรีเมียมฟู้ด หากวันหนึ่งพบพาร์ทเนอร์ที่เหมาะสม สื่อสารกันเข้าใจ ก็จะทำเชนร้านอาหาร

ส่วนแนวนอน คือธุรกิจเดิมซึ่งประกอบด้วยฟาร์ม และอาหารสัตว์ ต้องมีการขยับขยายเช่นกัน โดยจะขยายกำลังการผลิตหมูในฟาร์มขึ้นอีก 30% และเพิ่มประเภทของอาหารสัตว์นอกจากอาหารหมู ซึ่งเขายืนยันว่าเป็นเบอร์ 1 ในกลุ่มผู้เลี้ยงหมูอิสระ โดยแตกออกเป็นอาหารสัตว์น้ำ อาหารสัตว์ปีก อาหารสัตว์เลี้ยง ในกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งแบ่งเป็น 3 ตลาด อีโคโนมี สแตนดาร์ด พรีเมียม

ปัจจุบันบริษัททำตลาดอีโคโนมี และเริ่มเจาะตลาดพรีเมียมโดยนำเข้าจากญี่ปุ่น ส่วนกลุ่มสแตนดาร์ดซึ่งอยู่ตรงกลางจะสร้างแบรนด์ใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีบริษัทญี่ปุ่นที่ร่วมลงทุนแต่ผลิตในประเทศไทย เรียกว่าจะเจาะตลาดสัตว์เลี้ยงทั้ง 3 กลุ่ม

ผมมีความเชื่อว่า ความสำเร็จไม่ได้มาด้วยโชคหรือพระเจ้า ต้องสร้างด้วยมือ ด้วยลำแข้งของเราเอง อย่ามองวิกฤตว่าเป็นปัญหา ทุกธุรกิจมีโอกาส คุณต้องมีมุมมองต่าง การทำธุรกิจไม่ง่ายเหมือนรุ่นพ่อรุ่นแม่ เราต้องมองมุมต่างทำแบบต่าง นวัตกรรมสร้างความแตกต่างได้

    ภาพ: ฐิระวิชญ์ ล้อเลิศรัตนะ และ เอสพีเอ็มกรุ๊ป
คลิกอ่านฉบับเต็ม “สรพหล นิติกาญจนา ขยายอาณาจักร "เอสพีเอ็ม" ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ” ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ มีนาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine สรพหล นิติกาญจนา