"ไทยยูเนี่ยน" กางแผน 5 ปี ยอดขายแตะ 5 พันล้านเหรียญ มุ่งโฟกัสการทำกำไร - Forbes Thailand

"ไทยยูเนี่ยน" กางแผน 5 ปี ยอดขายแตะ 5 พันล้านเหรียญ มุ่งโฟกัสการทำกำไร

ยอดขาย "ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป" ปี 62 ร่วง ผลจากเงินบาทแข็งค่า "ธีรพงศ์ จันศิริ" ประกาศแผน 5 ปี โฟกัสธุรกิจใหม่ทำกำไรสูง พร้อมดึง 23 สตาร์ทอัพพัฒนานวัตกรรมอาหาร

ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมผลประกอบการของบริษัทในปี 2562 มียอดขายลดลง 5.3% อยู่ที่ 126,270 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิหลังจากหักรายการพิเศษอยู่ที่ 3,816 ล้านบาท หากไม่หักรายการพิเศษ กำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติอยู่ที่ 5,218 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่วนกำไรขั้นต้น (gross profit) มากกว่า 2 หมื่นล้านบาท เติบโต เติบโต 6.4%

โดยในปี 2562 ปริมาณการขายเติบโต 1.9% โดยธุรกิจอาหารทะเลแช่เย็นและแช่แข็ง และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง มีปริมาณการขายเติบโตขึ้น 12.8% และธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่ามีปริมาณการขายเติบโตขึ้น 3.2%

รายได้ยังเป็นความท้าทายของเราอยู่ ยอดขายที่ลดลงเป็นผลมาจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งไม่เพียงเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้นที่อ่อนตัวลง แต่เงินปอนด์และเงินยูโรก็อ่อนตัวลงด้วย

ธีรพงศ์ กล่าวอีกว่า สำหรับกลยุทธ์การทำธุรกิจของบริษัท 5 ปีนับจากนี้ คือ ตั้งแต่ปี 2563-2567 ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ปจะยึดนโยบายหลักคือการทำธุรกิจหลักคืออาหารทะเลแช่เย็นและแช่แข็งให้แข็งแรงขึ้น เพิ่มความสามารถในการทำกำไรมากกว่าส่งเสริมการเติบโตของยอดขาย ส่งเสริมนวัตกรรมและความยั่งยืน เพื่อสร้างความแตกต่างกับคู่แข่ง

จะเห็นได้ว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราไม่ได้เน้นยอดขาย แต่เน้นการทำกำไร การลดต้นทุน และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งก็เป็นกลยุทธ์ที่จะทำอย่างต่อเนื่อง โดย 5 ปีต่อจากนี้ เราตั้งเป้าว่ายอดขายจะเติบโต 3-5% ต่อปี สู่รายได้ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2567”

อย่างไรก็ตาม ธีรพงศ์ ชี้ว่า ปีที่ผ่านมาไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป มีการลงทุนหลักๆ ในบริษัท อะแวนติโฟรเซ่น ฟู้ดส์ และบริษัท เรด ล็อบสเตอร์ ซีฟู้ด ซึ่งหากนำมารวมแล้ว จะทำให้พอร์ตรายได้ของไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ในปี 2567 อยู่ที่ 8 พันล้านเหรียญ จากรายได้รวม 6.7 พันล้านเหรียญในปี 2562

สำหรับงบลงทุนในแผน 5 ปีนั้น ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ปวางเป้าใช้งบลงทุนราว 5 พันล้านบาท/ปี (ไม่รวมการเข้าซื้อกิจการ) โดยธุรกิจที่โฟกัสมากขึ้น คือธุรกิจใหม่ๆ ที่เพิ่มมูลค่า ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง, ผลิตภัณฑ์ส่วนผสมทางทะเล, โปรตีนสกัด และผลิตภัณฑ์จากศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยน ที่บริษัทจัดตั้งขึ้นในปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบันมีนักวิจัยกว่า 120 ชีวิต

อาหารแช่เย็น แช่แข็ง และอาหารกระป๋องเติบโตมากแล้ว ซึ่งเรามองว่าการเติบโตของยอดขายต่อจากนี้คงจะชะลอตัวลง แต่ในกลุ่มธุรกิจใหม่ๆ ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ลงทุนในบริษัทจากอิสราเอลที่สกัดโปรตีนจากแมลง และส่งโปรดักต์ขายในประเทศอังกฤษ

ผลิตภัณฑ์ของไทยยูเนี่ยน

ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันอาจยังมีสัดส่วนที่น้อย แต่ตลาดยังมีแนวโน้มความต้องการ ซึ่งจุดเด่นของโปรตีนสกัดคือการไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม คนที่มาบริโภคจะไม่ใช่กลุ่มมังสวิรัติอีกต่อไป ทำให้เราคิดว่านี่จะเป็นทางเลือกของการบริโภคแบบใหม่ ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ ในปี 2562 ที่ผ่านมา ไทยยูเนี่ยนยังร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อตั้งโครงการสเปซ-เอฟ หรือโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตของสตาร์ทอัพนวัตกรรมอาหาร เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมให้กับอุตสาหกรรม โดยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ได้จัดงานพบปะนักลงทุนให้กับ 23 สตาร์ทอัพจาก 6 ประเทศ ได้แก่ เยอรมนี, อินเดีย, นอร์เวย์, สิงคโปร์, สหรัฐอเมริกา และประเทศไทย

สำหรับสัดส่วนยอดขายตามภูมิภาค ยอดขายจากทวีปอเมริกาเหนือมีสัดส่วนถึง 41% ยอดขายจากทวีปยุโรป 28% (ลดลงจาก 33% ในปีก่อน) ไทย 12% และตลาดอื่นๆ ได้แก่ เอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง แอฟริกา และอเมริกาใต้ 18%

ใน 5 ปีข้างหน้า ถ้าเศรษฐกิจยุโรปกลับมาสู่ภาวะปกติ เราน่าจะเห็นสัดส่วนยอดขายของยุโรปมากกว่า 30% ส่วนตลาดเอเชียน่าจะเพิ่มขึ้นมามากกว่า 12% โดยเรายังเห็นโอกาสเติบโตในตลาดเอเชียค่อนข้างมาก เนื่องจากประเทศในเอเชียมีเศรษฐกิจที่เติบโตมากขึ้น

ธีรพงศ์ กล่าวว่า ไทยยูเนี่ยนยังดำเนินอย่างต่อเนื่องตามกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน SeaChange® เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมอาหารทะเล ทั้งนี้ ในอดีตไทยยูเนี่ยนได้เน้นเรื่องการทำประมงที่กฎหมาย การปฏิบัติต่อแรงงานที่ถูกต้อง แต่จากนี้จะเพิ่มความสำคัญในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เพราะสำคัญต่อโลกปัจจุบันและอนาคต โดยจะมุ่งการใช้พลังงานที่เหมาะสม และจัดการของเสียและขยะพลาสติก

   
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine