สมศักดิ์ อมรรัตนชัยกุล LEADS “ASIAN” TO ESG 100 ขยายน่านน้ำสากล - Forbes Thailand

สมศักดิ์ อมรรัตนชัยกุล LEADS “ASIAN” TO ESG 100 ขยายน่านน้ำสากล

FORBES THAILAND / ADMIN
11 Jun 2022 | 07:10 AM
READ 10056

ปี 2564 นับเป็นอีกปีที่ดีของ สมศักดิ์ อมรรัตนชัยกุล นายใหญ่ของ บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ด้วยผลประกอบการเฉียดหลักหมื่นล้าน เติบโตจากปีก่อนร้อยละ 9.8 มีกำไรสุทธิ 1,044 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.7

บริษัทจดทะเบียนที่ดำเนินงานโดดเด่นทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance หรือ ESG) ภายใต้โครงการ “Thailand Sustainability Investment” (THSI) และอยู่ใน ESG 100 หรือทำเนียบบริษัทจดทะเบียนที่น่าลงทุนตามเกณฑ์ประเมินด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือกลุ่ม ESG Emerging จากสถาบันไทยพัฒน์ มีจำนวน 146 บริษัท ซึ่งเอเชี่ยนซีฯ ของ สมศักดิ์ อมรรัตนชัยกุล ก็เป็นหนึ่งในนั้น

สมศักดิ์ อมรรัตนชัยกุล

บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ASIAN และบริษัทในกลุ่มประกอบธุรกิจผลิตอาหารจำหน่ายให้กับลูกค้าทั่วโลก โดยเริ่มจากธุรกิจของครอบครัว ที่ค้าส่งผลิตภัณฑ์อาหารทะเลให้กับภัตตาคารและห้องเย็นต่างๆ ตั้งแต่ปี 2507 ปี 2536 ได้ก่อตั้ง บริษัท ห้องเย็นเอเชี่ยน ซีฟู้ด จำกัด และนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีก 1 ปีถัดมาด้วยทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท ภายใต้ชื่อ บริษัท ห้องเย็นเอเชี่ยน ซีฟู้ด จำกัด (มหาชน) ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น บมจ. เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น ในปี 2562

ASIAN และบริษัทย่อยดำเนินธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายอาหาร 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 

1. อาหารแช่เยือกแข็ง ซึ่งเป็นกลุ่ม premium commodities กลุ่มผลิตภัณฑ์พร้อมปรุง (ready to cook) โดยเป็นผู้นำตลาดผลิตภัณฑ์ปลาทรายแล่และหมึกแช่เยือกแข็ง จำหน่ายแบบ B2B ในกลุ่มภัตตาคารและโรงแรม (Hotels Restaurants & Catering: Horeca) ภายใต้แบรนด์สินค้าของบริษัทคือ TCC, SAKURA และ ASIAN ลูกค้าคือ สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น

2. ธุรกิจทูน่า เป็นผู้รับจ้างผลิตในบรรจุภัณฑ์แบบกระป๋องและแบบถุงเพาช์ (pouch) รวมถึงผลิตสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์พร้อมรับประทาน 

3. อาหารสัตว์น้ำ รวมทั้งใช้ปลาป่นที่ทำจากวัตถุดิบเหลือใช้ในอุตสาหกรรมทูน่ามาผลิตอาหารกุ้ง ขายให้กับลูกค้า 

4. ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นผู้รับจ้างผลิตและจำหน่ายในแบรนด์ของตนเอง มีทั้งอาหารแบบเปียกและแบบเม็ด จำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ

รายได้ร้อยละ 75 มาจากภาคการส่งออก ส่วนใหญ่ส่งไปสหรัฐฯ โดยผลิตภัณฑ์หลักที่สร้างรายได้คือ อาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียกและผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุงแช่เยือกแข็ง โดยปีที่ผ่านมารายได้จากการจำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยงคิดเป็นร้อยละ 43 ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแช่แข็งและผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มอาหารชุบแป้งทอดมีสัดส่วนที่รองลงมาคือร้อยละ 35

สร้างความยั่งยืนด้วย CHEERS

ตลอดเวลาที่ผ่านมาบริษัทให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน และมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ในปี 2563 บริษัทจึงประกาศนโยบาย CHEERS สำหรับเป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบใน 6 ด้าน โดยพุ่งเป้าดังนี้

C-Consumers หรือผู้บริโภค หมายถึงการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภค มีความคุ้มค่า สามารถตรวจสอบย้อนกลับ ตลอดจนมีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง โดยแต่ละปีจะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ กว่า 100 SKU

H-Human Development บริษัทมีการพัฒนาเพื่อยกระดับความสามารถของพนักงาน โดยให้ค่าตอบแทนและสวัสดิการในระดับเทียบเคียงกับธุรกิจประเภทเดียวกัน สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีมีความปลอดภัยต่อชีวิต

E-Efficiency ปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงาน ลดของเสียจากกระบวนการผลิต และการนำกลับไปใช้ใหม่

E-Environment ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม บริษัทมีการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ผ่านแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงงานเพื่อทดแทนการใช้ไฟฟ้าจากระบบสายส่ง ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จ 2 โครงการที่โรงงานจังหวัดสมุทรสาคร ได้แก่ หลังคาห้องเย็นของ AAI มีกำลังการผลิตรวม 999.24 กิโลวัตต์ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 801.66 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี โดยเริ่มจ่ายไฟจากระบบโซลาร์ตั้งแต่ปลายปี 2563

โครงการที่ 2 อยู่ที่ฝั่งโรงงานทูน่า กำลังการติดตั้งรวม 3,531 กิโลวัตต์ ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 2,725.71 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี โดยเริ่มดำเนินการปี 2564

ปี 2563 AAI และ AFEED ได้เข้าร่วมโครงการขยายผลการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรในภาคอุตสาหกรรมระยะที่ 9 จนสามารถวัดปริมาณการปล่อยก๊าซและกิจกรรมที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกได้ มีเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อตันผลิต และศึกษาแนวทางการชดเชยคาร์บอน เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2573 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2593 เพื่อมีส่วนร่วมในการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงเกิน 2 องศาเซลเซียส และตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกเป้าหมายที่ 13 (SDG 13)

นอกจากนี้ ยังลดปริมาณการใช้น้ำในกระบวนการผลิต มีการบำบัดน้ำเสียและนำกลับมาใช้ใหม่ จัดการของเสียและวัสดุเหลือใช้ตามหลัก reduce, reuse, recycle

R-Rights of Human ปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนด้วยความเคารพในเกียรติและศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน ไม่ซื้อ ไม่นำเข้า-ส่งออก หรือจำหน่ายสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมงผิดกฎหมาย ไม่ใช้แรงงานผิดกฎหมาย

สุดท้าย S-Stakeholders คือการรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ภายใต้นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีการกำหนดและสื่อสารจริยธรรมธุรกิจ เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติ รวมทั้งเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ในแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตเพื่อต่อต้านการคอร์รัปชันทุกรูปแบบ โดยบริษัทได้จัดทำนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันขึ้นมาเป็นลายลักษณ์อักษร

เริ่มจากธุรกิจขายส่งปลา

ทีมงาน Forbes Thailand มีนัดสัมภาษณ์ สมศักดิ์ อมรรัตนชัยกุล ประธานกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น (ASIAN) และบริษัทย่อยที่ บจ. เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งตั้งอยู่จังหวัดสมุทรสาคร และเป็นโรงงานผลิตทูน่าบรรจุกระป๋องและถุง pouch สำหรับคน และผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียก

นายใหญ่ของ ASIAN รับนัดช่วงบ่าย เพราะต้องเดินทางจากบ้านที่เขาใหญ่มาสมุทรสาคร และเดินทางกลับในช่วงเย็นวันเดียวกัน ไม่บ่อยครั้งนักที่เขาจะให้สัมภาษณ์สื่อ ทั้งนี้ทีมงานเปิดห้องในส่วนงานวิจัยและพัฒนาที่ปกติเปิดให้เข้าชมเฉพาะลูกค้าที่มีแนวโน้มจะเซ็นสัญญา

เมื่อผ่านประตูเข้าไปผนังฝั่งซ้ายมือมีชั้นจัดแสดงตัวอย่างอาหารสัตว์เลี้ยงแบรนด์ต่างๆ ที่บริษัทรับจ้างผลิต รวมทั้งแบรนด์ของบริษัทเองในบรรจุภัณฑ์หลากหลายแบบ

สมศักดิ์และพี่น้องเติบโตมาในย่านบางลำพูและคุ้นเคยการค้าขายตั้งแต่ยังเด็ก เนื่องจากบิดามารดามีร้านขายปลาอยู่ในตลาด พอโตขึ้นก็ขยับมาขายส่งให้ห้องเย็นของบริษัทผู้ส่งออก กระทั่งผันตัวเป็นผู้ส่งออกเองในปี 2520 โดยเริ่มจากปลาทราย ซึ่งปีแรกขายได้ไม่กี่ตู้ ต่อมาจึงเพิ่มปลาหมึกและกุ้งเลี้ยง และขยายกิจการมายังธุรกิจกลุ่มอื่นๆ รวมทั้งเปิดบริษัทใหม่ๆ เพื่อรองรับ

เราเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ มา 28 ปีแล้ว เริ่มจากการขายปลาขยายเป็นปลาหมึกและกุ้ง เดี๋ยวๆ กุ้งก็มีโรค ก่อนมีโรคก็ทำอาหารเลี้ยงกุ้ง ตอนหลังทำอาหารเลี้ยงปลา เห็นเขาทำธุรกิจทูน่าเราก็ทำบ้าง เกือบไม่รอด เพราะเป็นเรื่องที่เราไม่รู้ ขาดทุนมาตลอด พอเห็นว่าทูน่าไม่ดีก็มาทำอาหารเลี้ยงหมาเลี้ยงแมว โดยบริษัทผลิตในแบรนด์ลูกค้า เริ่มจาก OEM ทุกวันนี้ก็ OEM แต่เป็นความร่วมมือกับลูกค้าหรือผู้ซื้อ เขาพัฒนาอาหาร วัตถุดิบ เราเป็นฝ่ายพัฒนา (สินค้า) จนลูกค้าไว้ใจ มั่นใจในสินค้า เราทำจนเรารู้และขายให้กับลูกค้ารายใหญ่ๆ หลายรายสมศักดิ์ อมรรัตนชัยกุล  กล่าว

ทั้งนี้ในปี 2555 เกิดวิกฤตกุ้งตายด่วน บวกเศรษฐกิจซบเซา ค่าเงินบาทแข็ง ส่งผลให้ผลประกอบการปี 2556-2557 ขาดทุน 198 และ 129 ล้าน ก่อนจะพลิกมามีกำไรในปี 2558

มุ่งสู่ Value Added Product

ปี 2557 นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเมื่อนายใหญ่ของ ASIAN ตัดสินใจยกเลิกธุรกิจแปรรูปสัตว์น้ำแช่แข็งซึ่งทำมาตั้งแต่แรก หันมาปั้นสินค้ากลุ่มใหม่เพื่อเพิ่มความสามารถในการทำกำไรจากวัตถุดิบที่มีอยู่เดิม

สมศักดิ์เรียกสินค้าประเภทนี้ว่า “value added product” เป็นกลุ่ม ready to eat และ ready to cook พร้อมๆ กับการเปิดไลน์ผลิตใหม่ในกลุ่ม premium pet food ซึ่งบริษัทได้เซ็นสัญญารับจ้างผลิต (OEM) ให้กับบริษัทใหญ่ในสหรัฐฯ

บริษัทขยายกิจการเข้าสู่ธุรกิจทูน่าในปี 2548 โดยตั้ง บจ. เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (AAI) เพื่อผลิตทูน่ากระป๋องและบรรจุถุง และกลุ่มธุรกิจนี้ก็ทำให้เขาบาดเจ็บอยู่หลายปี

“17 ปีที่แล้วเราทำทูน่าก็ไม่มีลูกค้า ปลาก็ต้องซื้อ เขากำหนดราคาขายต่อรองไม่ได้ ทำเสร็จจะขาย คนก็อยากซื้อของถูก แต่คนขายปลาให้เราก็ขายแพง ทนขาดทุนอยู่หลายปี เลยบอกว่าอย่างนี้ต้องไปหาอาหารสัตว์เลี้ยงมาช่วย คือบ้านผมอยู่เขาใหญ่ ผมเลี้ยงหมา แมว เต่า หมูป่า ควาย...(คิด) จะทำอาหารหมาอาหารแมว ให้ทีมงานไปหาว่าในโลกนี้ใครจะเป็นลูกค้าบ้าง เผอิญผมมีผู้ช่วยเป็นชาวฮอลแลนด์ เขามาจากบริษัทอาหารสัตว์ รู้เรื่องการผลิตและสูตรที่เหมาะกับหมา แมว กุ้ง ปลา ก็พัฒนามาเขากล่าว

เมื่อตัดสินใจว่าจะผลิตสมศักดิ์จึงให้ทีมงานดำเนินการทันทีไม่มีการเซอร์เวย์ใดๆ ทั้งสิ้น โดยใช้เครื่องจักรในโรงงานที่ผลิตทูน่ากระป๋องประยุกต์มาผลิตเนื้อไก่และปลาสำหรับแมวและสุนัข เริ่มจากการผลิตครั้งละน้อยๆ ซึ่งช่วงแรกแทบจะไม่มีกำไร ลูกค้าก็กดราคา

และกล่าวต่อว่าเราเริ่มผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงได้ 14 ปี ตั้งแต่ทำทูน่าแล้ว (กิจการ) ไม่ค่อยดี โดยค่อยๆ ขยับจากร้อยละ 1-2-3-4-5 กระทั่ง 7 ปีก่อนผลิตได้มากและลูกค้ามั่นใจ ไม่ขอตรวจดูรายการผลิตหรือ QC แต่ take order เลย 3 เดือน 6 เดือน เขาเชื่อมั่นทีม R&D ของเรา คือสินค้าที่ออกไปมันจะเป็นตัวบอกว่าคุณภาพดี แพ็กเกจจิ้งสวย หมาแมวชอบ ตอนหลังเขาเห็นว่าสินค้ามีคุณภาพ ลูกค้าซื้อมากขึ้น ก็ยอมให้เราปรับราคา ก็ใช้เวลาหลายปี วันนี้เราเป็นบริษัทต้นๆ ของประเทศไทยในการทำอาหารสัตว์ส่งออก และทำแบรนด์ของเราเองด้วย

อาหารสัตว์เลี้ยงคือ Growth Driver

เมื่อธุรกิจในกลุ่มนี้เติบโตขึ้นและมีแนวโน้มที่ดี ปี 2557 บจ. เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (AAI) จึงเปิดไลน์ผลิตใหม่ในกลุ่ม premium pet food โดยรับจ้างผลิตให้กับ Ainsworth Pet Nutrition, LLC บริษัทในสหรัฐฯ และเป็นบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งของโลก ที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 20-25

ปีต่อมากลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงมียอดขายเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,602 ล้านบาท โดย ASIAN วางตัวเองเป็นผู้ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับเจ้าของแบรนด์รายใหญ่ที่มีการเติบโตสูง โดยบริษัทมีทีมวิจัยและพัฒนา (R&D) 20 คน

นอกจากการรับจ้างผลิตแล้ว ASIAN ยังต้องการเปิดตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในประเทศจีน โดยปี 2561 ตั้งบริษัท Thaiya Corporation (Shanghai) Co., Ltd. ในประเทศจีน เพื่อจัดจำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยงภายใต้แบรนด์ของกลุ่มบริษัท

ปีถัดมาเข้าซื้อหุ้นโรงงานผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเม็ดในประเทศจีนร้อยละ 51 และจ้างผลิตอาหารเม็ดภายใต้แบรนด์ monchou เพื่อจำหน่ายในเมืองใหญ่ๆ เช่น Shanghai, Beijing, Shenzhen รวมทั้งมีแผนที่จะบุกตลาดอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไต้หวัน และยุโรป

“monchou” เป็นอาหารสำหรับสุนัขตัวเล็กและแมว ส่วน HAJIKO เป็นอาหารเม็ดสำหรับสุนัขตัวใหญ่ โดยปัจจุบันโรงงานที่สมุทรสาครผลิตเฉพาะอาหารเปียก และปี 2565 ลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่มูลค่า 100 ล้านบาทเศษเพื่อผลิตอาหารเม็ด และคาดว่าจะเริ่มผลิตในเดือนมิถุนายน ปี 2565

กล่าวได้ว่าบริษัทมุ่งมาสู่ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงมากขึ้น และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น ปี 2564 ได้ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสำหรับแมว โดยผลิตจากส่วนที่เหลือจากการแปรรูปปลาทูน่าภายใต้แบรนด์มองชูบาลานซ์ (monchou Balanced), ขนมขบเคี้ยวสำหรับแมวบรรจุถุงปิดสุญญากาศแบรนด์มองชู, อาหารว่างสำหรับสุนัขในรูปแบบมูส 2 ชั้น, เครื่องดื่มเพิ่มกำลัง (booster) สำหรับลูกแมว

ในปีที่ผ่านมากลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงมีสัดส่วนรายได้สูงสุดคิดเป็นร้อยละ 43 รองลงมาคือ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแช่แข็ง รวมทั้งผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มอาหารชุบแป้งทอดคิดเป็นร้อยละ 35 โดยธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องประมาณร้อยละ 20 และคาดว่าปี 2565 จะเติบโตอีกมากกว่าร้อยละ 10

ทั้งนี้ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในสหรัฐฯ มีมูลค่าประมาณ 3.4-3.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงไทยในปี 2563 มีมูลค่าประมาณ 1 พันล้านเหรียญ และธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงนี้เองที่จะเป็นเรือธงใหม่ของ ASIAN ซึ่งผู้บริหารมีแผนจะนำ บจ. เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปลายปี 2565 โดยจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนมาขยายกำลังการผลิต

ตั้งเป้าโตร้อยละ 15

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2565 เอกกมล ประสพผลสุจริต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน ให้สัมภาษณ์เว็บไซต์ข่าวหุ้นว่าบริษัทตั้งเป้าหมายรายได้ปี 2565 ไว้ที่ 10,600 ล้านบาท หรือเติบโตร้อยละ 12 โดยได้รับปัจจัยหนุนจากอาหารสัตว์เลี้ยงที่คาดว่าจะมีรายได้ 4.8 พันล้านบาท (เติบโตร้อยละ 15)

รองลงมาคือ ธุรกิจอาหารสัตว์น้ำคาดว่าจะมีรายได้ 1.6 พันล้านบาท (เติบโตร้อยละ 27) ด้านธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งคาดว่าอยู่ใกล้เคียงกับปีก่อนคือ 3.5 พันล้านบาท ขณะที่ธุรกิจทูน่าคาดว่าจะอยู่ที่ 800 ล้านบาท (ปรับตัวลดลงร้อยละ 11)

ทั้งนี้บริษัทตั้งงบลงทุนไว้ที่ 660 ล้านบาท สำหรับธุรกิจ 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง มูลค่า 520 ล้านบาท เป็นการลงทุนต่อเนื่องจากปี 2564 ในไลน์การผลิตใหม่มูลค่า 60 ล้านบาท ไลน์อาหารสัตว์เลี้ยงรูปแบบเม็ดมูลค่า 80 ล้านบาท ปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตมูลค่า 380 ล้านบาท 2. ธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็ง มูลค่า 85 ล้านบาท สำหรับปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต 45 ล้านบาท และงบลงทุนอีก 40 ล้านบาท ในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป

ก่อนการสัมภาษณ์เราเข้าใจว่าอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นบายโปรดักต์ที่ได้จากการผลิตทูน่ากระป๋องสำหรับคน ปรากฏว่าเข้าใจผิดอย่างสิ้นเชิง

ส่วนที่ใช้เป็นหัวโปรดักต์ เนื้อก้อนใหญ่ สีสวย ส่วนที่แพงๆ เอาให้หมาแมว รองลงมาจึงใส่กระป๋องให้คนกิน กระป๋องใหญ่ 35 บาท แต่ของแมวกระป๋องเล็กๆ 42 บาท...อาหารหมาแมวต้องเป็นของดี ไม่ใช่ดีอย่างเดียว ต้องสวยด้วย เป็นก้อนหรือชิ้นเล็กๆ เท่ากัน

วัตถุดิบที่ใช้ก็ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งคุมเข้มด้านคุณภาพ

ความได้เปรียบของเราคือ เป็นอาหารเปียกที่มาจากเนื้อปลาแท้ๆ เนื้อไก่แท้ๆ เนื้อวัว หัวใจวัว ตับวัว ทั้งหมดนำเข้า ไม่ใช่วัวที่เลี้ยงตามทุ่งนาบ้านเรา แต่นำเข้าจากฟาร์มวัวออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เขาจะคุมเรื่องคุณภาพ ไม่ว่าแบคทีเรีย พยาธิ...สินค้าของบริษัทราคาแพงกว่ารายอื่น เราเลือกวัตถุดิบและแพ็กเกจจิ้งถุง pouch ใช้ของดี ราคาแพงหน่อย แต่ไม่มีปัญหาการขนส่งแตกหัก

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ASIAN ตอบคำถามด้วยท่าทีสบายๆ ราวกับว่าทุกอย่างราบรื่น แต่ความจริงไม่ใช่เลย ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อน ซึ่งสมศักดิ์เล่าให้ฟังเมื่อถูกถามถึงการค้าขายกับลูกค้าชาวยุโรปและสหรัฐฯ

มาตรฐานเขาเยอะ เวลาเขามาและต้องการให้เราส่งรายงาน ตัวอย่าง หรือข้อมูลต้องส่งให้พร้อม ถ้าไม่พร้อมหรือส่งช้าเขาไม่ซื้อกับเรา ครั้งหนึ่งแมว (กินสินค้า) ตาย 1 ตัว คือลูกค้าที่ซื้อกับเราและพัฒนาสูตรด้วยกันใส่วิตามินดีจากตับปลาทูน่าลงไป เราต้องเอาของลงจาก shelf ทั้งหมด สินค้าที่ท่าเรือก็ต้องเรียกคืนกลับมาหมด เราบอกไม่เป็นไร ก็ช่วยกันเสียหายคนละครึ่ง หมดไปเยอะ 40 ล้านได้มั้ง เลยรักกันมาถึงทุกวันนี้ เป็นคู่ค้าที่อเมริกา

สมศักดิ์ อมรรัตนชัยกุล กับการปฏิวัติครั้งใหญ่ใน ASIAN

เมื่อดูตัวเลขรายได้ย้อนหลัง 4 ปีที่ผ่านมา พบว่า รายได้ใกล้เคียงกัน ข้อแตกต่างคือ ปี 2561-2562 กำไรสุทธิ 362 และ 133 ล้านบาท ขณะที่ปี 2563-2564 ตัวเลขเพิ่มเป็น 818 และ 1,044 ล้านบาท ผู้ก่อตั้ง ASIAN ตอบว่าปี 2561 มีปัญหา เราจะเรียกว่าปฏิวัติก็ได้

คำว่าปฏิวัติของเขาหมายถึงการเปลี่ยนวิธีคิดโดยยกเลิกการผลิตสินค้าคอมโมดิตี้ ตัวอย่างเช่น การขายส่งกุ้งแช่แข็งซึ่งกำไรน้อย แต่นำมาสร้างมูลค่าเพิ่มโดยผลิตสินค้าพรีเมียมด้วยการคิดค้นและพัฒนาโดยทีมงานวิจัยและพัฒนาของบริษัท จากที่เคยขายในรูปกุ้งแช่แข็งก็แปรรูปเป็นกุ้งปะแป้งแช่แข็ง กุ้งปะแป้งทอดแช่แข็ง โดยนำกุ้งมาปอกเปลือก ผ่าหลัง ชุบแป้ง เมื่อลูกค้าแกะถุงนำไปทอดในกระทะหรือในหม้อเพียงนาทีครึ่ง สามารถรับประทานได้ทันที ไม่ต้องปรุงรสใดๆ อีก

เราผลิตสินค้า premium ทำให้ margin เยอะขึ้น เราเลิก (ผลิต) สินค้า commodities ที่ใช้แรงงานคนเยอะๆ ขายถูกๆ margin น้อย ความเสี่ยงเยอะ เราปฏิวัติปี 2561 ตอนนี้ปี 2565 margin สินค้าเป็นเลข 2 หลัก เราไม่ได้ขายกุ้งอย่างเดียว ขายแป้งด้วย ราคาแป้งเท่ากับกุ้ง เป็นสูตรที่ทีม R&D คิดค้นขึ้นมาผสมผสานกับทางผู้ซื้อ แต่เราช่วยเขาพัฒนา

เราหยุดเลยสินค้า commodities กำไรร้อยละ 2-3 เวลาวัตถุดิบพุ่งขึ้นเราขาดทุนร้อยละ 8 อย่างนี้ไม่ทำแล้ว...เราผลิตเฉพาะสินค้าที่มี margin 2 หลัก อาหารแปรรูปแช่แข็งมีปลาหมึกและกุ้งซึ่งเป็นสินค้าพิเศษด้วยกระบวนการผลิต และจำหน่ายในตลาดพรีเมียม ส่วนสินค้าที่ margin 1 หลักตอนนี้เหลือแค่ทูน่า...เราเริ่มจาก pet food ร้อยละ 1 human food ร้อยละ 99 วันนี้ human food ร้อยละ 18 pet food ร้อยละ 82...อาหารคนกำไรหลักเดียวร้อยละ 3-4 อาหารสัตว์เลี้ยงกำไร 10 กว่าเปอร์เซ็นต์แต่ราคาต่อชิ้นไม่แพงมาก เป็นซองชิ้นเล็ก ถุง pouch ถ้วยเล็กๆ แต่อาหารคนขายแพ็กละครึ่งกิโล หรือ 1 กิโล

ปลาหมึกและกุ้งแช่เยือกแข็งผลิตในโรงงานที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยปลาหมึกเป็นสินค้าที่แข็งแรงของบริษัท ปลาหมึกสดจากประเทศไทยที่ส่งไปอิตาลีร้อยละ 60 เป็นแบรนด์ ASIAN

ส่วนผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มอาหารชุบแป้งทอดต้องบอกว่าเป็นช่วงเวลาที่ประจวบเหมาะกันพอดี การระบาดของโควิดทำให้คนอเมริกันอยู่บ้าน อาหารทอดจึงขายดีมาก ลูกค้ามีออร์เดอร์มาตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2563 เนื่องจากบริษัทเพิ่งปิดส่วนงานสินค้าคอมโมดิตี้สายงานการผลิตว่าง ทำให้สามารถรองรับออร์เดอร์ที่ล้นทะลักจากลูกค้าอเมริกา บริษัทจึงมีรายได้จากส่วนนี้เพิ่มเข้ามา ส่วนปลาทรายลูกค้าหลักคือญี่ปุ่น

โปรตีนจากพืช หรือ plant-based เป็นอีกเทรนด์หนึ่งที่กำลังมา แม้ขนาดตลาดยังเล็กอยู่ แต่บริษัทก็ให้ความสำคัญเช่นกัน โดยร่วมกับคู่ค้าที่สหรัฐฯ พัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับทำเบอร์เกอร์และสเต๊ก ขณะนี้ผลิตเป็นสินค้าออกมาแล้ว

บนเส้นทาง 40 ปีของ ASIAN ฝ่าฟันอุปสรรคใหญ่ๆ มาหลายครั้ง ซึ่งผ่านพ้นมาได้ด้วยหลักคิดที่ว่าอย่ายอมแพ้

ผมเคยประสบปัญหาปี 2540 กับปี 2550 มีหุ้น 345 ล้านหุ้น ปี 2540 ไม่มีคนซื้อขายเลย ปี 2550 ราคาหุ้นประมาณ 3.50 บาท แต่เราก็ต้องทนอยู่กับมัน หุ้น ASIAN มีแต่คนขายอย่างเดียว ก็ค่อยๆ แก้ปัญหาไป ไม่ใช่ทุกเดือนแต่ทุกวัน...ต้องทนขาดทุนทั้งที่รู้ว่าเดือนหน้าขาดทุน ปีหน้าขาดทุน ทำอย่างไรให้ขาดทุนน้อยลงก็ต้องทำสู้กับมันไป ถ้าเรายอมแพ้ก็จบ ค่อยๆ คิด ปรับปรุงประสิทธิภาพ ทำสินค้าให้มีคุณภาพดี

โรงงานนี้เปิดปี 2549 ขาดทุนนิดหน่อย ปี 2550 ทั้งปีขาดทุน 750 ล้าน...ปี 2540 เราก็มึนไง กู้เงิน 27 ล้านเหรียญ (อัตราแลกเปลี่ยนขณะนั้น 25 บาทต่อเหรียญ) ต้องจ่ายคืน 48 บาทต่อเหรียญ แต่เราทำงานแก้ปัญหาไปเรื่อย รอโอกาสกลับมา ถ้าเรายอมแพ้คือจบแล้ว

การระบาดของโควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาส่งผลให้ธุรกิจจำนวนมากประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ขาดรายได้ ทว่า ASIAN กลับมีผลประกอบการที่ดีกำไรเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ทั้งยังปรับกลยุทธ์มาเน้นธุรกิจ ซึ่งมีกำไรต่อหน่วยมากกว่า พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มเป็นที่ต้องการของตลาด

ดูเหมือนว่าเมฆหมอกจะพัดผ่านไปแล้ว... ผมมีความฝันตั้งแต่เด็ก ตอนส่งออกปีแรกได้ 30 ล้านบาท และค้าขายมาเป็น 114 ล้าน, 600 ล้าน, 1 พันล้าน, 2 พันล้าน ผมมองว่าต้องขาย 1 หมื่นล้าน และอนาคตจะเป็น 1.2 หมื่นล้าน, 1.4 หมื่นล้าน, 1.8 หมื่นล้าน เป้าหมายจะต้องไปมากกว่านี้สมศักดิ์กล่าวในตอนท้าย

เรื่อง: สินีพร มฤคพิทักษ์ ภาพ: กิตติเดช เจริญพร และ ASIAN

อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine