oHouse สุดยอดแอปพลิเคชันด้านไลฟ์สไตล์แห่งเกาหลี - Forbes Thailand

oHouse สุดยอดแอปพลิเคชันด้านไลฟ์สไตล์แห่งเกาหลี

แรงบันดาลใจเบื้องหลังแพลตฟอร์มไลฟ์สไตล์และตกแต่งบ้านที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้เกิดขึ้น ณวันแห่งโชคชะตาที่ผู้ก่อตั้งและซีอีโอแห่ง oHouse ได้ไปเยือนบ้านของเพื่อนที่ตกแต่งสวยเสียจนเข้าตกหลุมรัก

ผมเห็นรูปสถาปัตยกรรมจำนวนมากบน Pinterest แล้วก็รู้สึกว่า บ้านสวยๆ แบบนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ในโลกตะวันตกเท่านั้น Seungjae Lee ผู้ก่อตั้งและซีอีโอแห่ง oHouse กล่าวจากสำนักงานของบริษัทใน Seoul ระหว่างการให้สัมภาษณ์ทางวิดีโอกับ Forbesตอนที่ผมไปเยี่ยมบ้าน [ของเพื่อน] ผมถึงได้ตระหนักว่ามันก็เกิดที่เกาหลีได้นะ ... ผมคิดว่าสถานที่แบบนี้สามารถช่วยให้ผู้คนมีชีวิตที่ดีขึ้นได้

Seungjae Lee

Lee วัย 34 เปิดตัว oHouse หรือ 오늘의집 เมื่อปี 2014 หลังจากจบการศึกษาด้านวิศวกรรมเคมีและไฟฟ้าจาก Seoul National University แพลตฟอร์มดังกล่าวเริ่มจากการเป็นคอมมิวนิตี้ที่ผู้คนมาแบ่งปันไอเดียตกแต่งภายในกัน กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกอันอํศจรรย์ที่เขาได้สัมผัสในวันที่ได้เห็นห้องที่ตกแต่งอย่างเยี่ยมยอดของเพื่อนเขา

ปัจจุบัน แอปพลิเคชันนี้ขึ้นแท่น 1 ในแอปพลิเคชันที่ฮอตฮิตที่สุดในโลกอินเทอร์เน็ตแห่งเกาหลีใต้ด้วยยอดดาวน์โหลดกว่า 20 ล้าน ตัวเลขนั้นเท่ากับเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรเกาหลีทั้งหมดเลย นอกจากนี้ ทาง Bucketplace บริษัทแม่ของ oHouse ยังได้เผยว่ามีผู้ใช้งานเว็บไซต์และแอปต่อเดือนถึง 10 ล้านคนอีกด้วย

"ไม่ว่าใครก็อยู่บ้านสวยๆ ได้" สโลแกนของบริษัทสั้นๆ และเรียบง่าย

เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม oHouse สามารถระดมทุนได้ทั้งสิ้น 182 ล้านเหรียญสหรัฐฯในการระดมทุนรอบ ​Series D ทำให้ ณ ตอนนี้ บริษัทมีเงินทุนอยู่ถึง 261.2 ล้านเหรียญ โดยบริษัทสตาร์ทอัพแห่งนี้ได้ยืนยันกับ Forbes ว่า ด้วยเงินทุนก้อนใหม่ล่าสุด ทำให้บริษัทมีมูลค่าอยู่ราวๆ 1.6 พันล้านเหรียญ กลายเป็นบริษัทสัญชาติเกาหลีรายล่าสุดที่ขึ้นแท่นยูนิคอร์น ตามหลัง RIDI แพลตฟอร์มเว็บคอมมิคที่ระดมทุนไปได้ 99.4 ล้านเหรียญเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ผู้ลงทุนในการระดมรอบล่าสุดนี้มีทั้ง Korea Development Bank, Mirae Asset Capital ของเศรษฐีพันล้าน Park Hyeon-joo, SoftBank Ventures Asia จนไปถึงบริษัทร่วมลงทุนของเศรษฐีพันล้านชาวญี่ปุ่น Masayoshi Son อย่าง SoftBank Group และ Vertex Growth บริษัทลูกของ Temasek Holdings บริษัทลงทุนที่รัฐบาลสิคโปร์เป็นเจ้าของ

“oHouse ไม่เพียงแต่กำลังแปลงโฉมวงการตกแต่งบ้านเท่านั้น แต่กำลังเปลี่ยนแปลงประสบการณ์ผู้บริโภคบนโลกอี-คอมเมิร์ซเลยต่างหาก JP Lee ซีอีโอแห่ง SoftBank Ventures Asia กล่าวในคำแถลงการณ์เกี่ยวกับการระดมทุนรอบล่าสุด

ด้วยแอปนี้ ผู้ใช้งานสามารถดูรูปภาพการตกแต่งบ้านของผู้ใช้งานคนอื่นๆ และนำไปเป็นแรงบันดาลใจ หรือแม้กระทั่งซื้อสินค้าที่ใกล้เคียงกับในรูปที่เห็นได้ โดยทางบริษัทสตาร์ทอัพแห่งนี้อ้างว่ามีการซื้อเฟอร์นิเจอร์ผ่านแพลตฟอร์มของพวกเขาทุกๆ 7 วินาที ผลักให้ในปี 2021 บริษัทแห่งนี้มียอดขายสินค้าต่อปีสูงเป็นปรากฎการณ์ โดยมียอดรวมทั้งสิ้น 1.7 พันล้านเหรียญ

มากกว่าแค่แอปแต่งบ้าน

ณ เกาหลี ประเทศที่ประชากรกว่าครึ่งอาศัยอยู่ในเมืองหลวงอย่าง Seoul การตกแต่งภายในต้องมาพร้อมกับความคิดสร้างสรรค์เพื่อบันดาลให้อะพาร์ตเมนต์เล็กๆ แต่แพงสวยงาม โดยเมื่อปี 2021 สื่อท้องถิ่นได้รายงานว่า สตูดิโออะพาร์ทเมนต์ใน Seoul ส่วนมากมีพื้นที่แคบกว่า 215 ตารางฟุต (20 ตารางเมตร)

นอกจากนั้น สถานการณ์โรคระบาดยังทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องทำงานจากบ้าน อีกทั้ง มาตรการการกักตัวและป้องกันไวรัสโควิด-19 ยังถือว่าเป็น 1 ในมาตรการที่เคร่งครัดที่สุดในโลก โดยประเทศแห่งนี้พึ่งจะเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเมื่อเดือนที่แล้ว ส่งผลให้ผู้คนต้องออกแบบ และให้ความหมายกับพื้นที่อยู่อาศัยเสียใหม่

Young Jee

เราเชื่อว่าพฤติกรรมบางอย่างที่เราเรียนรู้จากสถานการณ์โรคระบาด เช่น การใช้เวลาในบ้านมากขึ้น การทำงานจากบ้าน หรือการทำให้พื้นที่ส่วนตัวสะดวกสบายมากขึ้นจะเป็นพฤติกรรมที่อยู่กับเราต่อไป Young Jee หัวหน้าฝ่ายการเงินแห่ง oHouse ผู้ถือใบปริญญา MBA จาก Wharton MBA และอดีตหัวหน้าแห่งบริษัทอี-คอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ Coupang ของเศรษฐีพันล้านแดนกิมจิ Bom Kim กล่าว

และเนื่องจากลูกค้าอาจจะไม่ได้ต้องการอัปเกรดเสมอไป ทาง oHouse เลยหันไปให้ความสำคัญกับ “คอมมิวนิตี้ที่เน้นคอนเทนต์” เกี่ยวกับไอเดียการออกแบบ รวมไปถึงการขายสินค้าประเภทไลฟ์สไตล์ตั้งแต่สินค้าชิ้นเล็กๆ เช่น ผ้าม่าน จนไปถึงหลอดไฟ ทางแพลตฟอร์มมีบริการต่างๆ พร้อมส่งมอบ ไม่วาจะเป็นการรีโมเดลบ้าน ขนย้าย ติดตั้ง จนไปถึงการซ่อมแซม ทั้งนี้พวกเขายังมุ่งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์เพื่อการขนส่งให้ดีขึ้นอีกด้วย

หากเราต้องการขยายได้ในพื้นที่ใหม่ๆ เช่น อาหาร ซึ่งเราเองก็กำลังทดลองอยู่ในตอนนี้เราต้องไม่เพียงแสดงให้คุณเห็น เช่น ขนมปัง เป็นต้น เราจะแสดงให้คุณเห็นทั้งโต๊ะ Jee กล่าว “เราจะไม่ขยายไปยังธุรกิจและการบริการประเภทอื่นๆ เพียงเพราะตลาดมันใหญ่ แต่เพราะผู้ใช้งานของเราถามหาต่างหาก”

ผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็น “ซูเปอร์แอปด้านไลฟ์สไตล์” เจ้านี้ กำลังเล็งขยายตัวระดับโลก โดยจะเริ่มจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สหรัฐอเมิรกา และยุโรปตะวันตก โดยเว็บไซต์ภาษาอังกฤษของทางบริษัทระบุว่าจะเปิดใช้งานในสหรัฐฯ ภายในฤดูร้อนนี้ 

เมื่อเดือนพฤศจิกายน พวกเขาได้เข้าซื้อ Hipvan แพลตฟอร์มเฟอร์นิเจอร์ออนไลน์สัญชาติสิงคโปร์ นับเป็นการก้าวเข้าสู่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก้าวแรกของบริษัทเกาหลีแห่งนี้

นอกจากการก้าวสู่ตลาดใหม่ๆ แล้ว oHouse ยังวางแผนนำระบบ machine learning และ augmented reality (AR) มาใช้ในแพลตฟอร์มของเขาอีกด้วย ซึ่งนี่จะทำให้ผู้ใช้งานสามารถ “จินตนาการว่าเฟอร์นิเจอร์ชิ้นนั้นๆ จะเป็นยังไงหากนำมาวางที่อะพาร์ทเมนต์ก่อนพวกเขาจะตัดสินใจซื้อได้

ด้วยความสามารถของเทคโนโลยี AR ที่ไปไกลขึ้นทุกๆ วัน เราก็เห็นบริษัทค้าเฟอร์นิเจอร์ ตกแต่งภายใน จนไปถึงบริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์หันมาใช้เทคโนโลยีดังกล่าวมากขึ้น

 InSpace บริษัทด้าน AR ที่นำทัพโดย Justin Liang ศิษย์เก่าทำเนียบ Forbes 30 under 30 ได้พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับผู้ทำงานเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ช่วยให้สามารถนำแบบจำลอง 3 มิติไปวางไว้ในตึกของพวกเขาในโลกออนไลน์ได้

ไม่ว่าบริษัทของวิศวกรหนุ่มอย่าง Lee จะกลายเป็นยักษ์ใหญ่แค่ไหน ด้วยการก้าวสู่การเป็นบริษัทขนย้าย หรือแม้กระทั่งบริการส่งอาหาร Lee ยังคงเชื่อมั่นในว่าคุณค่าของ “วันแห่งโชคชะตา” นั้นยังคงฝังลึกอยู่ข้างใน

เหตุผลที่ทำไมเราถึงทำสิ่งนี้จะยังเป็นเช่นเดิมนั่นคือทำให้ชีวิตผู้คนดียิ่งขึ้น Lee กล่าว

บทความแปลและเรียบเรียงจากบทความ ‘Day Of Destiny’: How One Apartment Formed The Blueprint For Korea’s Top Lifestyle App เผยแพร่บน Forbes.com

อ่านเพิ่มเติม: Prada เดินหน้าพัฒนากลยุทธ์ก้าวสู่โลก Web 3.0 ด้วย NFT


ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine