สมชาย นิติกาญจนา ก้าวที่ท้าทาย "วิศวกรฟาร์มหมู" - Forbes Thailand

สมชาย นิติกาญจนา ก้าวที่ท้าทาย "วิศวกรฟาร์มหมู"

ย้อนหลังไป 30 ปีก่อน คงเป็นเรื่องน่าประหลาดใจมาก เมื่อวิศวกรหนุ่มผู้เรียนจบรั้วมหาวิทยาลัย แทนที่จะเข้าทำงานในบริษัทใหญ่ซึ่งหลายแห่งคงอ้าแขนรับ แต่กลับมาประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรที่กลายเป็นธุรกิจหมื่นล้านในปัจจุบัน

สมชาย นิติกาญจนา เรียนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านวิศวกรรมเครื่องกล จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) พื้นเพเป็นชาวชุมพร ต่อมาบิดาย้ายมาตั้งรกรากอยู่ที่จังหวัดราชบุรี มีพี่น้องหลายคน ในวัยเด็กครอบครัวฐานะค่อนข้างยากจน ถึงขนาดต้องเดินเท้าวันละหลายกิโลเมตรเพื่อไปเรียนหนังสือ

หลังเรียนจบปริญญาตรี บิดาของสมชายที่ทำฟาร์มเลี้ยงหมูขนาดเล็กอยู่กับบ้านก็ให้เขามาช่วยงาน และขยายกิจการได้ระดับหนึ่ง เมื่อบิดาถึงแก่กรรม พี่น้องต่างแยกย้ายกันไป สมชายจึงมาเริ่มกิจการฟาร์มเลี้ยงหมูของตัวเองในปี 2533 โดยขณะนั้นเขาอายุ 26 ปี ด้วยเงินทุนเริ่มต้นหลักแสนบาท

ผ่านไป 12 ปี ฟาร์มหมูของสมชายมีรายได้อยู่ที่ 500 ล้านบาท เติบโตทุกปีต่อเนื่องกระทั่งมาแตะหลักหมื่นล้านตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา หลังจากที่ลูกๆ ทั้งสามคนของสมชายเข้ามาช่วยบริหารงานสืบทอดกิจการ โดยสาขาที่ลูกแต่ละคนเลือกเรียนล้วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจของครอบครัว

รูปหมู 3 ตัวหลังเสื้อพนักงาน หมายถึงลูก 3 คนของสมชาย

คนเป็นพ่อบอกว่าไม่รู้ว่าลูกเต็มใจหรือไม่ แต่ในระดับปริญญาตรีทุกคนเรียนจบสมดังความตั้งใจเป็นบัณฑิตด้านวิศวกรรม สัตวแพทย์ และบัญชี จากรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากนั้นจึงไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท

ย้อนหลังไป 30 ปีก่อน เพื่อนร่วมรุ่นของสมชายล้วนแล้วแต่ยึดอาชีพวิศวกร มีเขาเพียงคนเดียวที่เลือกทางเดินเป็นเกษตรกรทำฟาร์มหมู และมั่นใจว่าด้วยภูมิความรู้ของบัณฑิตวิศวะ จะสามารถสร้างและนำพาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนได้

ไม่ว่าราคาหมูในตลาดจะผันแปรไปอย่างไร เอสพีเอ็มก็สามารถเติบโต และขยายกิจการได้อย่างต่อเนื่อง โดยยึดหลักคือใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำกว่าคู่แข่ง เพราะสมรภูมิธุรกิจนี้สินค้าราคาใกล้เคียงกัน สิ่งที่จะอยู่ได้อย่างยั่งยืนต้องมีความต่าง

“ตอนนั้นคิดว่าต้องเอาความรู้ที่เรียนมา ทำต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าคู่แข่งคือชาวบ้านที่เลี้ยงหมู นี่คือหัวใจที่เราคิดและเติบโตมาจากตรงนั้น วิเคราะห์ว่าจุดแข็งจุดอ่อนของเราคืออะไร แล้วขยายจุดแข็งให้โตขึ้นเรื่อยๆ ส่วนจุดอ่อนก็หาพาร์ทเนอร์มาช่วยทำ" เป็นแนวคิดที่สมชายยึดปฏิบัติมาตลอด

โดยจุดแข็งที่ว่าคือการเลี้ยงและขยายพันธุ์หมู รวมทั้งการผลิตอาหารสัตว์ ส่วนจุดอ่อนคือการทำโรงฆ่าสัตว์ ซึ่งเอสพีเอ็มไม่ทำ แต่เลือกที่จะส่งต่อให้รายอื่นทำแทน

 

ใช้ความรู้ลดต้นทุน

หลังส่งมอบกิจการให้ “สรพหล” บุตรชายคนโตบริหารกิจการเมื่อ 5 ปีก่อน สมชายผันตัวไปเป็นประธานบริษัท และรับผิดชอบด้านธุรกิจพลังงานทดแทนจากก๊าซชีวภาพ (biogas) ผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องจากฟาร์มหมู ซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าตัวสนใจและศึกษามาตั้งแต่ครั้งเริ่มก่อตั้งบริษัท เนื่องจากตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและต้องการขจัดของเสียจากการทำฟาร์ม

ปี 2540 จึงเริ่มทำเรื่องพลังงานชีวภาพ โดยผลิตพลังงานทดแทนจากมูลหมู โดยเข้าร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาเชียงใหม่ ทำโครงการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์

“ในใจอยากทำนานแล้ว ตอนเรียนจบปริญญาปี 4 ทำวิจัยเรื่องไบโอแก๊สจากขี้หมู พ่อเลี้ยงหมูไม่กี่ตัว เลี้ยงแบบชาวบ้าน พอรัฐบาลส่งเสริม ปี 2540 ก็เข้าร่วมทันที หน่วยงานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ออกแบบ และหาคนร่วมโครงการ เหมือนให้เราเป็นที่ทดลองระบบ ช่วงหลังๆ พัฒนาเองโดยดูแบบจากต่างประเทศ ทำให้โครงการมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

ระบบก๊าซชีวภาพภายในโรงงาน

“ตอนนี้ที่เราทำมากๆ คือ biogas ผมเอาของเสียมาทำเป็นพลังงาน นำพลังงานไปปั่นไฟ เอาความร้อนจากไอเสียต้มน้ำ เอาน้ำร้อนมากกลูกหมู หากความร้อนไม่พอก็เอาความร้อนจากโซลาร์มาช่วย เราขายคาร์บอนเครดิตเป็นรายแรกๆ ของประเทศ รวมแล้วเป็นเงิน 30 กว่าล้านบาท ขายครั้งหนึ่งได้ 10 กว่าล้าน และขายให้เวิลด์แบงก์เป็นรายสุดท้ายของประเทศไทยในปี 2561 ได้มาอีก 2-3 ล้านบาท”

โดยพลังงานทดแทนได้มาจากของเสียจากการเลี้ยงหมู นำมูลหมูไปหมักได้ไบโอแก๊ส เหลือกากตะกอน น้ำ เอาไปรดต้นมันสำปะหลัง เอามูลหมูมาปลูกพืชปาล์มน้ำมัน ส่วนกากมันสำปะหลังที่เหลือจากการทำอาหารสัตว์ หญ้าเนเปียร์ที่ใช้เลี้ยงวัว ผลปาล์มที่เหลือจากการสกัดน้ำมัน ตลอดจนทะลายปาล์ม ของเสียทั้งหมดนี้ถูกนำมาผ่านกระบวนการผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ ตามเป้าหมาย zero waste โดยผลิตเป็นไฟฟ้าใช้ภายในบริษัททำให้สามารถลดค่าไฟฟ้าได้ถึงปีละ 60-70 ล้านบาท ทั้งยังขายส่วนที่เหลือให้กับการไฟฟ้าได้อีกปีละ 5-10 ล้านบาท

กล่าวได้ว่ากลุ่มบริษัทเอสพีเอ็ม เป็นผู้บุกเบิกการพัฒนาเทคโนโลยีการบำบัดของเสียด้วยบ่อหมักก๊าซชีวภาพในฟาร์มหมูเป็นรายแรกๆ ของประเทศไทย โดยของเสียทั้งหมดที่เกิดขึ้นในฟาร์ม ถูกลำเลียงผ่านระบบท่อใต้ดิน และส่งไปยังบ่อหมักก๊าซชีวภาพ เปลี่ยนให้กลายเป็นก๊าซชีวภาพ ใช้เป็นพลังงานทดแทนในฟาร์ม ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมของชุมชนโดยรอบ ลดค่าไฟฟ้าและช่วยประหยัดการใช้พลังงานของชาติ

 

รางวัลคือเครื่องมือ

ภายในอาคารสำนักงานใหญ่ชั้นล่าง หากเดินเลี้ยวซ้ายมือก่อนถึงห้องประชุม จะพบตู้ 2 ชั้นที่เต็มไปด้วยโล่ ถ้วยรางวัล ใบประกาศเกียรติคุณนับคร่าวๆ ได้ 40 กว่าชิ้น ที่บริษัทได้รับจากหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ อาทิ รางวัลจากการจัดการพลังงานดีเด่น รางวัลปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ด้านเศรษฐกิจประจำปี 2551 โครงการนวัตกรรมระบบสร้างพลังงานความร้อนร่วมจากระบบก๊าซชีวภาพ เป็นต้น

สมชายบอกว่า หากเป็นโล่จากหน่วยงานต่างประเทศ นั่นเป็นผลงานของบุตรชาย ต้องบอกว่าเขาเป็นผู้ประกอบการที่สนใจนวัตกรรม และส่งผลงานประกวดหน่วยงานต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง ถามว่าทำไม เขาตอบว่ารางวัลคือเครื่องมือทำให้คนรู้จัก ทั้งยังเป็นตัวแสดงภาพลักษณ์ว่าเป็นบริษัทที่ดีและมั่นคง ขนาดว่าหน่วยงานรัฐอย่าง สวทช. ยังมาร่วมลงทุนกับเอสพีเอ็ม

ภายในโรงงานอาหารสัตว์ของเอสพีเอ็ม

นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทกระทั่งส่งมอบสู่ทายาท ผู้บริหารเอสพีเอ็ม อาหารสัตว์ บอกว่า มีแนวทางในการบริหารงาน โดยยึดหลัก 4 ข้อ หรือหัวใจ 4 ดวง ซึ่งเป็นโลโก้ของบริษัทด้วย คือ ให้ความสำคัญกับคู่ค้า ลูกค้า พนักงาน และสิ่งแวดล้อม เพราะทุกๆ ส่วนล้วนมีความสำคัญทั้งสิ้น โดยเฉพาะพนักงานที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนงาน เขาอธิบายว่าบริษัทจะเติบโตไม่ได้ หากพนักงานไม่มีใจทุ่มเทให้องค์กร และบริษัทได้ตอบแทนโดยให้โบนัสทุกปีแม้บางปีจะขาดทุนก็ตาม

เมื่อถามถึงเคล็ดลับในการเลี้ยงลูก และเตรียมความพร้อมให้มาสืบทอดกิจการ สมชายตอบว่า “ผมรักลูก ไม่อยากให้ลูกลำบากเหมือนพ่อ การมารับกิจการได้เปรียบคนอื่น เราทำต้นทุนให้ต่ำกว่าบริษัทเติบโตมั่นคง และคุยให้ลูกฟังว่า หากไปทำงานอื่น ไปดูเพื่อนลูกก็ได้ มีใครมีรายได้เท่าเราบ้าง เพื่อนๆ ลูกมีใครทำงานได้มูลค่าเท่านี้ หรือเพื่อนพ่อที่เป็นวิศวกรก็ไม่มีใครรวยเท่าพ่อ”

    ภาพ: ฐิระวิชญ์ ล้อเลิศรัตนะ และ เอสพีเอ็มกรุ๊ป
คลิกอ่านเรื่องราวทางธุรกิจที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ มีนาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine สรพหล นิติกาญจนา