หากเอ่ยถึงมหาเศรษฐีเมืองไทย คงไม่มีใครไม่รู้จักตระกูล “สิริวัฒนภักดี” และธุรกิจหลากหลายของครอบครัวนี้ โดยเฉพาะธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ AWC หรือ แอสเสท เวิรด์ คอร์ป ที่นำทัพโดย วัลลภา ไตรโสรัส นักธุรกิจหญิงรุ่นที่ 2 ของตระกูลผู้โดดเด่นทั้งในด้านธุรกิจและชีวิตครอบครัว
Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2564 ในธีม Power Woman ปีนี้ทีมงานเลือก วัลลภา ไตรโสรัส นักธุรกิจหญิงแกร่งเพียงหนึ่งเดียวมานำเสนอ เพื่อให้เห็นจุดเด่นและรายละเอียดในพลังความสามารถของแขกรับเชิญผู้นี้ ซึ่งเป็นบุตรสาวคนที่ 2 ของ เจ้าสัวเจริญ-คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี 1 ใน 5 ตระกูลนักธุรกิจไทยที่ร่ำรวยที่สุด จากการจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไทยของนิตยสาร Forbes ตลอดหลายปีที่ผ่านมา แม่ทัพหญิงผู้นี้คลุกคลีกับงานบริหารด้านอสังหาริมทรัพย์ให้ครอบครัวมานานกว่า 2 ทศวรรษ โดยก่อนหน้านี้เธอมักเปิดตัวผ่านสื่อคู่กับสามี (โสมพัฒน์ ไตรโสรัส) ในฐานะผู้บริหารร่วมใน ทีซีซี แคปปิตอล แลนด์ บริษัทร่วมทุนระหว่าง ทีซีซี แลนด์ ของครอบครัวสิริวัฒนภักดี และแคปปิตอล แลนด์ จากสิงคโปร์ แต่ล่าสุดเมื่อมีการแยกสินทรัพย์ออกจาก ทีซีซี แลนด์ มาตั้ง บริษัทใหม่ แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ด้วยสถานะบริษัทอสังหาฯ พอร์ตใหญ่ที่สุดในชื่อ AWC เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ปี 2562 เธอได้ก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารหลักเต็มตัว “จริงๆ แล้ว Power Woman ตัวจริงของครอบครัวเราคือ คุณแม่ค่ะ” วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) ออกตัวกับทีมงาน Forbes Thailand เมื่อพูดถึงธีม Power Woman ในการขอสัมภาษณ์เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งเธอเปิดห้องรับรองพิเศษของโรงแรม Bangkok Marriott Hotel The Surawongse หนึ่งในอสังหาฯ ของ AWC จากการเทคโอเวอร์มาปรับปรุงใหม่ได้ 3 ปีเศษเป็นสถานที่สัมภาษณ์ เนื่องจากวัลลภามักใช้สถานที่นี้ในการทำงานเป็นส่วนใหญ่แทนออฟฟิศหลักที่อาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์ ถนนสาทร ฐานบัญชาการใหญ่ของ ทีซีซี แลนด์ยืนยันแผน 5 ปีแสนล้าน
ถ้านับกันที่อายุบริษัท AWC ถือว่าเป็นน้องใหม่เพราะเพิ่งฟอร์มทีม และนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังไม่ถึง 2 ปี แต่หากมองที่รากฐานความเป็นมาแล้ว AWC ถือเป็นรายใหญ่ดั้งเดิม ผู้เป็นเจ้าของที่ดินจำนวนมหาศาลและคร่ำหวอดในแวดวงอสังหาริมทรัพย์เมืองไทยรายใหญ่ที่สุด ไม่ว่าจะมองไปทางไหนทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่หลายแห่งจะพบอสังหาฯ ของครอบครัวนี้ในแทบทุกพื้นที่ “เราเลือกทรัพย์สินคุณภาพดี มี return ที่ดีมารวมไว้ในพอร์ตของ AWC ซึ่งประกอบด้วยโรงแรม พื้นที่รีเทลแบบขายปลีก พื้นที่ขายส่ง และอาคารสำนักงาน” จะเห็นว่าใน 4 กลุ่มอสังหาฯ ของ AWC ไม่มีพอร์ตที่อยู่อาศัย วัลลภาอธิบายว่า เนื่องจากลักษณะการดำเนินธุรกิจต่างกัน “แอสเสทที่เลือกมาอยู่ใน AWC ต้องเป็นแอสเสทที่มีมูลค่าเพิ่มมีโอกาสทำรายได้ต่อเนื่อง จะเป็นสิ่งที่ดึงความสนใจของนักลงทุนสำหรับที่อยู่อาศัยนั้น เป็นการสร้างแล้วขายออกไปไม่ตรงกับคอนเซ็ปต์ที่เราวางไว้ว่า AWC เป็นแหล่งรวมอสังหาฯ คุณภาพดีที่ทำรายได้ดีอย่างต่อเนื่อง” นอกจากเลือกแอสเสทคุณภาพดีแล้ว การถือครองกรรมสิทธิ์ก็เป็นอีกจุดเด่นของบริษัทนี้ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหัวใจหลักในธุรกิจอสังหาฯ ในบ้านสิริวัฒนภักดี “อสังหาฯ ใน AWC เป็นการถือครองที่ดินแบบ freehold มากกว่า 90% เราจะได้มูลค่าที่ดินที่ปรับขึ้นตลอด เฉลี่ย 12.64% ต่อปี นับย้อนหลังไป 36 ปี” วัลลภาแจกแจงรายละเอียดของมูลค่าเพิ่มในอสังหาฯ หลัก คือ ที่ดิน อย่างไรก็ตาม แม้จะบอกว่า AWC ไม่คิดจะพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อขาย แต่ก็มีแผนสร้างโครงการประเภทที่อยู่อาศัย เพื่อให้เช่าเป็นรายได้หมุนเวียนด้วยเช่นกัน ซึ่งบรรจุไว้ในแผนเพิ่มพอร์ต Lease Hold Branded Resident และบริหาร Wellness Ritz-Carlton Reserved Residence ที่จะกลับมาเป็น recurring income ให้บริษัท นอกจากนี้ ยังมีแผนพัฒนาโครงการใหญ่ที่พัทยา และโครงการที่เวิ้งนาครเขษม พื้นที่อาคารสำนักงานก็เช่นเดียวกัน อาคารสำนักงานเกรดเอ เกรดบี ที่ AWC ถือครองล้วนเป็นอาคารซึ่งอยู่ในทำเลดี มีอัตราการเช่าพื้นที่ในระดับสูงทั้งสิ้น และอีก 2 กลุ่ม คือ พื้นที่รีเทลค้าปลีก เช่น ศูนย์การค้าเกตเวย์ เอกมัย, เกตเวย์ บางซื่อ และศูนย์ค้าส่ง เช่น พันธุ์ทิพย์พลาซ่า และเออีซี เทรด เซ็นเตอร์ เป็นต้น ล้วนเป็นอสังหาฯ ที่มีมูลค่า มีศักยภาพในการสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง เหล่านี้คืออสังหาฯ ที่มีอยู่ก่อนสร้างรายได้มาก่อนหน้าที่จะถูกนำมารวมในพอร์ตของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์น้องใหม่แต่มือเก๋ารายนี้ “เป้าหมายเราไม่เปลี่ยน ยังคงจัดเตรียมงบ 3 หมื่นล้านบาทสำหรับการซื้อโครงการมาพัฒนา และแผนงานสำหรับลงทุนรวม 1 แสนล้านบาทภายในเวลา 5 ปี” วัลลภาบอกเล่าด้วยท่าทีปกติแม้เม็ดเงินที่เธอพูดถึงนั้นมหาศาล แต่ดูเป็นเรื่องปกติสำหรับนักธุรกิจสาววัย 47 ปีผู้นี้ ท่าทีเรียบง่ายของวัลลภาที่พูดถึงแผนใช้งบแสนล้านบาทอาจเป็นเพราะครอบครัวสิริวัฒนภักดีเป็นนักธุรกิจแสนล้านมายาวนาน สมัยที่บิดาของเธอไปซื้อกิจการเฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ หรือ F&N ที่สิงคโปร์เมื่อหลายปีก่อน ตอนนั้นเจ้าสัวเจริญทุ่มเงินกว่า 3 แสนล้านบาทเข้าไปเทคโอเวอร์ โดยใส่เงินเข้าไปเรื่อยๆ ในการซื้อหุ้นเพิ่มเพื่อก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าของกิจการ ดังนั้น การลงทุนในธุรกิจอสังหาฯ ด้วยเม็ดเงินแสนล้านจึงไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับบ้านสิริวัฒนภักดียืนหยัดท่ามกลางโควิด
“ช่วงโควิดเราลดค่าใช้จ่ายลงได้ 36% ด้วยโครงการประหยัดพลังงาน” เธอบอกว่า ไม่เฉพาะช่วงโควิดเท่านั้นแต่เป็นแนวทางการปรับตัวที่ยั่งยืนและจะได้ผลดีในระยะยาว นอกจากนี้ ก็ยังมีแผนปรับองค์กรด้าน culture core value รวมพลัง AWC ในช่วงวิกฤตด้วยการหากลยุทธ์ในการสร้างประสิทธิภาพองค์กร ดูแลพาร์ตเนอร์ ดูแลลูกค้า เรียกว่าดูแลทั้ง ecosystem โดยในส่วนของบุคลากรใช้หลักการ transform clear role clear target มีการกำหนด job opportunity ใน AWC ใครอยากก้าวไปในส่วนไหนบริษัทจะเปิดโอกาสให้ “ช่วงที่เรา transform เราไม่ได้เลิกจ้าง แต่มี voluntary package จากช่วงที่พนักงานโรงแรมไม่ได้ service charge รายได้ก็ลดลง ก็มีหลายคนที่รับแพ็กเกจออกไปบ้าง” ซึ่งก็เป็นภาวะปกติเมื่องานลดลงบางคนต้องการหารายได้ที่มั่นคงกว่าก็มองหาทางเลือกใหม่ แต่สำหรับวัลลภาเธอย้ำเสมอว่า ธุรกิจโรงแรมจะกลับมาแน่นอน ในระหว่างการปรับองค์กรแม่ทัพ AWC บอกว่า อีกสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วคือ การ transform digital ด้วยการใช้ information base organization “เราเปิดตัว AWC Infinite Lifestyle ให้คนทำงานที่บ้าน ทำงานที่ไหนก็ได้ และได้พัฒนาคอนเซ็ปต์ของ work place ที่มี hotel lifestyle จะเป็น work from anywhere anytime แต่ก็ยังต้องมี office เป็น center” การปรับตัวนี้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดออฟฟิศซึ่งพบว่า ผู้เช่าออฟฟิศมีการเปลี่ยนแปลง เช่าพื้นที่ลดลง ซึ่งมาจากธุรกิจที่รับผลกระทบโดยตรงไม่เกี่ยวกับ new normal ต่อยอดทรัพย์สินเพิ่มมูลค่า ด้วยกลยุทธ์หลัก ทำเลทอง ทำให้พอร์ตอสังหาฯ ของ AWC ตั้งอยู่ในทำเลที่ดีทั้งย่านใจกลางธุรกิจ และทำเลแหล่งท่องเที่ยวทำให้ง่ายต่อการทำตลาดและสร้างรายได้ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ชัดเจนของ AWC “พอร์ตใหญ่ต้องอยู่ในโลเคชั่นเมืองหลัก เราเน้น project mix development สร้าง synergy สร้าง global partnership ร่วมมือกับเชนต่างๆ เช่น Marriott, IHG, Hilton และล่าสุดที่เพิ่งเซ็นสัญญาคือ Nobu” วัลลภาเผยแนวคิดการบริหารและเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินว่า นอกจากทุกอสังหาฯ ต้องอยู่ในทำเลที่ดีแล้ว การร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ระดับสากลอย่างเชนโรงแรม 5 ดาวทั่วโลก คืออีกหนึ่งแนวทางในการยกระดับอสังหาฯ ให้เป็นทรัพย์สินเกรดเอที่มีโอกาสทางการตลาด และสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง “AWC เราเน้น global partner มาบริหารโรงแรมให้ โดยเราเป็นผู้ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เอง แต่มอบการบริหารให้มืออาชีพที่มีทั้งแบรนด์และประสบการณ์เป็นที่ยอมรับระดับสากลเข้ามาช่วยทำให้อสังหาฯ นั้นๆ ได้การยอมรับอย่างต่อเนื่อง” และด้วยเหตุนี้จึงทำให้อสังหาฯ หลายแห่งได้รับรางวัลระดับสากลเป็นสิ่งรับประกันคุณภาพและบริการ เช่น Marriott HKT ได้ Best Wedding in the World เป็นต้น วัลลภาเล่าว่า การดูแลอสังหาฯ ขนาดใหญ่ต้องมีทีมงานที่พร้อม ไม่เฉพาะผู้บริหารและพนักงาน แต่ยังรวมถึงคณะกรรมการบริหารและคณะที่ปรึกษา ซึ่งทุกคนทราบดีว่าครอบครัวสิริวัฒนภักดีจะเน้นความสำคัญเรื่องประสบการณ์ และมักเชิญผู้บริหารหลังเกษียณทั้งจากรัฐและเอกชนที่มีประสบการณ์มายาวนานและมีสายสัมพันธ์ที่ดีในหลากหลายธุรกิจเข้ามาเสริมทีมบริหาร แม่ทัพของ AWC ก็เช่นเดียวกัน เธอเดินตามรอยบิดาในเรื่องการสร้างเครือข่ายและการรับฟังคำแนะนำจากผู้มีประสบการณ์เป็นองค์ประกอบสำคัญในการตัดสินใจเกี่ยวกับธุรกิจ “Board ของ AWC แอ็กทีฟมาก คุณพ่อก็นั่งอยู่ในบอร์ด ซึ่งทีม ExCom ประชุม 5 ครั้งแล้วปีนี้ เพราะมีรายการที่ต้องพิจารณาให้ทันกับสถานการณ์ AWC เป็นกิจการหลักด้านอสังหาฯ ของทีซีซี กรุ๊ป กรรมการอิสระ 8 คนจาก 15 คนเห็นตรงกันว่า ต้องการให้ AWC มีทิศทางการเติบโตที่ยั่งยืน เน้นเรื่องธรรมาภิบาลที่ดี good governance and sustainability” เป็นเป้าหมายและความคาดหวังที่ทีมบริหารทีซีซี กรุ๊ป ต้องการเห็นจาก AWC และเป็นโจทย์ที่วัลลภาต้องนำนาวาอสังหาฯ ลำใหญ่นี้ไปสู่องค์กรยั่งยืนที่เติบโตทั้งผลประกอบการและธรรมาภิบาลที่ดี ก่อนจบการสัมภาษณ์วัลลภาได้ตอบคำถามทิ้งท้ายเกี่ยวกับปรัชญาการใช้ชีวิตและการทำงานซึ่งสะท้อนมุมมองที่เรียบง่ายแต่มุ่งมั่นได้ชัดเจนว่า “ทุกอย่างเป็นสิ่งที่ดีที่เราได้มีโอกาสเรียนรู้ ทำให้ดีที่สุดแล้วทุกอย่างจะดีเอง” ภาพ: กิตติเดช เจริญพร และ AWCคลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine