เส้นทางแห่งการบุกเบิกพัฒนาธุรกิจการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในประเทศไทยที่ต้องใช้ความมุ่งมั่นสร้างความเปลี่ยนแปลงได้กลายเป็นแรงบันดาลใจสานต่อพันธกิจพลังงานสะอาดสู่ต้นแบบความสำเร็จของผู้นำสตรี ที่ได้รับการยกย่องบนเวทีโลกด้วยรางวัล “Leading a Woman Powered Solar Energy Transformation”
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG ยังคงระลึกถึงแนวคิดเริ่มต้นของการตัดสินใจบุกเบิกธุรกิจสีเขียวในช่วงปี 2550 ซึ่งรัฐบาลของ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้มีการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี (ปี 2551-2565) และกำหนดส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (adder) สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 8 บาทต่อหน่วย (กิโลวัตต์ชั่วโมง) โดยวางเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในปี 2565 เท่ากับ 500 เมกะวัตต์
ขยายอาณาจักรโซลาร์ฟาร์ม
จากความสำเร็จในโครงการแรกได้กลายเป็นใบเบิกทางสำคัญสู่การสร้างอาณาจักรโซลาร์ฟาร์มให้เติบโตได้อย่างมั่นคง ด้วยความสามารถในการผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าเป้าหมาย ทำให้ธนาคารเกิดความเชื่อมั่นในการพัฒนาโครงการที่เหลือและลงนามเป็นผู้จัดการเงินกู้ร่วม (mandated lead arranger) มูลค่าการลงทุนประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท รวมถึงได้รับการสนับสนุนจาก International Finance Corporation (IFC) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินในเครือของธนาคารโลก (World Bank Group) มาร่วมทุนในโครงการพัฒนาโซลาร์ฟาร์มและร่วมให้การสนับสนุนด้านการเงิน ทั้งยังนำเงินกู้ Climate Technology Fund มาร่วมให้กู้กับสถาบันการเงินอื่นๆ อีก 6 แห่ง “โครงการที่เหลือต้องใช้เงินทั้งหมด 2.4 หมื่นล้าน แบ่งเป็นเงินกู้ 1.8 หมื่นล้าน และเงินทุน 6 พันล้าน เราจึงติดต่อบินไปธนาคารโลกที่ฮ่องกงและฟิลิปปินส์เพื่อชวนให้มาลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย หลังจากนั้นเขาก็มาทำ due diligence ซึ่งใช้เวลาเร็วมากไม่ถึง 3 เดือนก็เข้ามา ทำให้เราได้รับความเชื่อถือจากนักลงทุน โดยในส่วนของทุน 6 พันล้านเราได้นำบริษัทเข้าตลาดหุ้นทางอ้อมหรือ backdoor listing เพื่อให้ระดมทุนได้ทันทีประมาณ 1.7-1.8 พันล้านบาท ซึ่งเงินส่วนที่เหลือมาจากกสิกรไทยที่ให้เงินกู้มาเป็นทุนทำให้เราสามารถเดินหน้าโครงการทั้งหมดได้” วันดีกล่าวถึงพัฒนาการทางธุรกิจที่สำคัญในการริเริ่มลงทุนและพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสามารถจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตั้งแต่ปี 2553 และพัฒนาครบทั้ง 36 โครงการในปี 2557 รวมกำลังการผลิตติดตั้งกว่า 260 เมกะวัตต์บนพื้นที่รวมกว่า 5,000 ไร่ ใน 10 จังหวัด ทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง

เดินหน้าสู่พลังงานแห่งอนาคต
โอกาสการขยายธุรกิจจากพลังงานสะอาดยังคงสามารถต่อยอดได้อย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับแสงอาทิตย์ที่ยังคงสาดส่องสามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้อย่างมหาศาล ด้วยธุรกิจเกี่ยวเนื่องสำคัญที่วันดีเล็งเห็นความเป็นไปได้ในการเริ่มต้นบุกเบิกธุรกิจให้บริการออกแบบ จำหน่าย และติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (solar roof) ในประเทศไทยและประชาคมอาเซียน วันดีย้ำความมั่นใจในแผนการดำเนินงานที่วางไว้อย่างชัดเจนในด้านคุณภาพที่แตกต่างของบริษัท โดยเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ Kyocera Corporation ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้นำในนวัตกรรมการผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่มีคุณภาพสูงสุดในระดับสากล โดยให้ความสำคัญกับการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา นอกจากนั้น บริษัทยังขยายการทำธุรกิจลิสซิ่งให้บริการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ด้วยการจับมือร่วมธุรกิจกับบริษัท Mitsubishi UFJ Lease & Finance Company Limited หรือ MUL, บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือPEA ENCOM และบริษัท Kyocera Corporation ญี่ปุ่น หรือ KYOCERA โดยได้จัดตั้งบริษัทร่วมกันภายใต้ชื่อ MSEK เพื่อช่วยโรงงานอุตสาหกรรมสามารถนำพลังงานที่ผลิตได้จากแผงโซลาร์ใช้เป็นพลังงานได้อย่างคุ้มค่าทั้งในเชิงการผลิตและลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้า รวมถึงช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อนได้
- วันดี กุญชรยาคง : บริหารฟาร์มแสงอาทิตย์หมื่นล้าน
- พลังงานหมุนเวียน เติบโตเด่นสวนกระแสเศรษฐกิจถดถอย
- ฤทธี กิจพิพิธ ซีอีโอ “Hybrid” จับไมค์ร้องเพลงเล่าชีวิต
คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine
