พอลล์ กาญจนพาสน์ หนึ่งรุ่น 2 ของตระกูลทายาทผู้บริหาร IMPACT บุตรชายคนที่ 2 ของ อนันต์ กาญจนพาสน์ เข้ามาดูแลทั้งสองธุรกิจคือ อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่นและบางกอกแลนด์ ในฐานะซีอีโอ บางกอกแลนด์ โดยเข้ารับแต่งตั้งเมื่อปลายปี 2563 หลังจากคลุกคลีบริหารงานมานานกว่า 20 ปี
ถ้าใครมีโอกาสแวะไป “เมืองทองธานี” วันนี้และได้เข้าไปใช้ชีวิตในพื้นที่อำนวยความสะดวกต่างๆ ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้า แหล่งช็อปปิ้ง และศูนย์อาหารขนาดใหญ่คงจะรู้สึกเหมือนกำลังใช้ชีวิตอยู่ในฮ่องกง ด้วยองค์ประกอบหลายอย่างที่คล้ายกัน ที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารของ พอลล์ กาญจนพาสน์ หนึ่งรุ่น 2 ของตระกูลทายาทผู้บริหาร IMPACT แม้จะอ้างอิงสไตล์การพัฒนาเมืองแบบฮ่องกง แต่กลิ่นอายความเป็นไทยยังคงชัดเจนและโดดเด่นด้วยการวางผังเมืองบนพื้นที่กว่า 4,000 ไร่อย่างเป็นระบบ ผสานพื้นที่ใช้ประโยชน์ทั้งที่อยู่อาศัยและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งพื้นที่การศึกษาและพื้นที่ธุรกิจรวมเข้ากับธรรมชาติอย่างทะเลสาบขนาดใหญ่ รองรับทั้งคนที่อยู่อาศัยในเมืองทองธานี คนพื้นที่ใกล้เคียง และคนที่มาใช้บริการภายในโครงการเมืองทองธานี โดยเฉพาะศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค อารีน่า และอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ พื้นที่ภายในโครงการได้รับการออกแบบอย่างสวยงาม มีพื้นที่สำหรับใช้จัดงานขนาดใหญ่ถึง 140,000 ตารางเมตร ขึ้นแท่นเป็นผู้นำอันดับ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้านการประชุมและแสดงสินค้าในธุรกิจ MICE (Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions) ที่ทำรายได้มหาศาลเข้าประเทศ ก่อนต้องสะดุดไปเพราะสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ที่ทำให้การเดินทางทั่วโลกชะงักงัน มิกซ์ยูสขนาดใหญ่แห่งนี้ตั้งอยู่ ณ จุดตัดระหว่างถนนแจ้งวัฒนะกับแนวเชื่อมต่อระหว่างทางพิเศษศรีรัชและทางพิเศษอุดรรัถยา ได้รับการพัฒนาเป็นเมืองย่อมๆ ที่ครบถ้วนด้วยองค์ประกอบในการอยู่อาศัยพร้อมมูลค่าและคุณค่าของชีวิต เป็นเมืองสมบูรณ์ที่ยกระดับการใช้ชีวิตของผู้คน ซึ่งมีจุดเริ่มต้นพัฒนาพื้นที่ด้วยแนวคิดการใช้โมเดลการพัฒนาที่อยู่อาศัยจากฮ่องกงมาตั้งแต่ปี 2533 ภายใต้การดำเนินงานและพัฒนาเบื้องต้นโดย บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BLAND และยังคงทำมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน อีกธุรกิจที่ยังคงเติบโตต่อเนื่องคือ ธุรกิจศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ ดำเนินการโดย บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ที่ปัจจุบันจดทะเบียนเป็นทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์อิมแพ็คโกรท (IMPACT) หรือ IMPACT Growth Real Estate Investment Trust จากสองธุรกิจหลักล่าสุดอิมแพ็คได้ขยับไปสู่กลุ่มธุรกิจอาหาร ซึ่งธุรกิจน้องใหม่นี้ ปัจจุบันได้ขยายอาณาจักรไปสู่ใจกลางกรุงเทพฯ เป็นการลงทุนในสเกลค่อนข้างใหญ่ตามแบบเฉพาะอิมแพ็ค ที่เน้นการลงทุนขนาดใหญ่ด้วยเงินสด หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทางกลุ่มผ่านบทเรียนอันเจ็บปวดจากการลงทุนด้วยสินเชื่อ และเผชิญปัญหาหนี้ท่วมเป็นเท่าตัวจากช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540ช่วงเปลี่ยนผ่านแห่งการเติบโต
พอลล์ กาญจนพาสน์ บุตรชายคนที่ 2 ของ อนันต์ กาญจนพาสน์ เข้ามาดูแลทั้งสองธุรกิจคือ อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น และบางกอกแลนด์ ในฐานะซีอีโอ บางกอกแลนด์ โดยเข้ารับแต่งตั้งเมื่อปลายปี 2563 หลังจากคลุกคลีบริหารงานมานานกว่า 20 ปี ประสบการณ์ทำงานของพอลล์ได้รับการสะสมจากการทำงานเคียงคู่บิดามาตลอด 2 ทศวรรษ ซึมซับการบริหารในแบบที่ไม่ใช่การนั่งเลคเชอร์ทีละบท แต่เป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง โดยตลอดเวลาที่เขาทำงานดูแล อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น พอลล์ยอมรับว่ามีบ่อยครั้งที่ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของบิดา แต่เพราะเขาเป็นคนที่ปรับตัวและวิธีคิดได้ง่ายและรวดเร็วจึงทำงานโดยไม่เคยขัดแย้งกันเลย ปัจจุบันบางกอกแลนด์ถือหุ้น 50% ในกองทรัสต์ IMPACT เป็นผู้บริหารธุรกิจและการเงินสร้างความเติบโตให้อิมแพ็คมาโดยตลอด และมาในระยะหลังนี้ขึ้นชื่อเรื่องความแข็งแกร่งของเงินทุนสำรองในรูปแบบเงินสดจำนวนมากที่พร้อมสำหรับการลงทุนธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งเห็นได้จากการขยายธุรกิจต่อเนื่องหลายครั้งเดินหน้าโดยไม่ได้ใช้สินเชื่อเหมือนในอดีต ในวัย 40 ต้นๆ เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่พอลล์ได้นำประสบการณ์ทำงานตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาและมุมมองการทำธุรกิจที่เปิดกว้างมากกว่าช่วงแรกมาใช้ได้มากขึ้น เมื่อเทียบจากจุดเริ่มต้นที่เข้ามาทำงานในปี 2541 ซึ่งขณะนั้นเขามีอายุเพียง 24 ปี เพิ่งจบการศึกษาด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยในอังกฤษ และบินกลับมาช่วยงานบิดา พอลล์เริ่มต้นทำงานในแบบที่ไม่สามารถฟัง พูด อ่าน และเขียนภาษาไทยได้เลย จึงต้องเรียนรู้ภาษาไทยไปพร้อมการบริหารงานที่เป็นธุรกิจที่ใหม่มากๆ เมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว และยังจะต้องปรับการใช้ชีวิตให้ช้าลงเพื่อให้ทำงานในจังหวะเดียวกันกับองค์กรจึงต้องใช้เวลาอยู่พักใหญ่ เนื่องด้วยเขาเกิดและเติบโตในฮ่องกง แล้วไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยในอังกฤษ ส่งผลให้เขามีสไตล์การใช้ชีวิตรวดเร็วเหมือนบุคลิกของคนตะวันตกส่วนใหญ่ชะลอแผนขยายพื้นที่ครั้งใหญ่
“ช่วงก่อนโควิดมีลูกค้าบางรายใช้พื้นที่เต็ม และเขาก็ถามเราว่ามีแผนจะขยายพื้นที่อีกไหม เพราะเขาต้องการจัดงานใหญ่ขึ้นอีก เขาอยากจัดงานใหญ่ในคราวเดียว แต่ถ้าไม่มีพื้นที่ให้ก็จำเป็นต้องจัดงานแบบ 2 ช่วงก็ได้มีการพูดคุยกันประมาณนี้” เป็นคำยืนยันที่พอลล์อ้างอิงจากดีมานด์ลูกค้าที่ใช้บริการอยู่ยังคงต้องการพื้นที่จัดงานที่ใหญ่ขึ้นไปอีก เขาจึงมองเรื่องแผนขยายพื้นที่แต่มาสะดุดเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้แผนขยายพื้นที่ต้องชะลอไว้ก่อน “เรามองว่าจะขยายออกมาค่อนข้างใหญ่ แต่ตอนนี้วงกลมเต็มแล้ว เราใช้พื้นที่ภายในโครงการราว 70% แล้ว และพื้นที่หลักๆ ที่เหลือคือ ตรงทะเลสาบ ในอนาคตคงต้องขยายไปตรงนี้” พอลล์ย้ำก่อนจะอธิบายถึงแผนที่เตรียมไว้ก่อนหน้านี้ว่า “เราเตรียมไว้ค่อนข้างใหญ่ จะมีการแบ่งเป็นเฟส แต่เพราะมีโควิดเราจึงให้ทุกอย่างชะลอไปก่อน ซึ่งก็ไม่ใช่แค่เราที่ชะลอลูกค้าก็เจอปัญหาทำให้เขาต้องถอยกลับไปด้วย เราก็ต้องมามองว่าการมีรถไฟฟ้าเข้ามาในเมืองทองเราจะมีความพร้อมมากขึ้นเตรียมการไว้ว่า สถานีแรกให้จอดตรงชาเลนเจอร์ สถานีที่ 2 ไปจอดตรงทะเลสาบ ถ้าไม่มีโควิดเราคิดว่าจะพัฒนาที่ตรงทะเลสาบรองรับรถไฟฟ้าเลย แต่นี่คงต้องเปิดมาปุ๊บยังไม่มีอะไร เพราะเราต้องชะลอดูสถานการณ์ก่อน ส่วนรถไฟฟ้าจะเสร็จในปี 2566” พอลล์เล่าว่า โครงการพัฒนาที่ดินโซนทะเลสาบที่ผ่านมาได้มีการออกแบบมาแล้ว “Full scale เลย เหมือนขยายอิมแพ็คอีกเท่าตัว เราจะสร้างศูนย์การค้า โรงแรมมีออฟฟิศเพิ่ม ให้เต็มพื้นที่ไปเลย แต่จะไม่ใช่การสร้างทีเดียวเสร็จ” แม่ทัพอิมแพ็คเจนฯ 2 บอกเล่าถึงการเตรียมความพร้อมที่ต้องชะงักไปชั่วคราวเพราะสถานการณ์โควิด ทำให้อิมแพ็ค เมืองทองธานี ต้องเผชิญภาวะงานหดหายมาตลอด 2 ปีเต็ม แต่เขาก็ยืนยันว่า ยังรับมือไหว โดยช่วงปีแรกๆ ไม่มีการปลดพนักงานหรือลดเงินเดือน แต่ปีที่ 2 จำเป็นต้องปรับบางส่วนเพื่อประคองสถานการณ์ “เรามีเงินเก็บพอสมควรก็ใช้ดูแลพนักงานในช่วงแรกๆ ตอนนี้ต้องสำรองไว้เผื่ออนาคตที่จะลงทุนด้วย” ส่วนเรื่องของรายได้แม่ทัพอิมแพ็คยอมรับว่าช่วงโควิดรายได้หดหายเพราะไม่มีงาน แต่ในสถานการณ์ปกติอิมแพ็คจะมีรายได้อยู่ที่ 200-250 ล้านบาท/เดือน แต่ตอนนี้คือ “0” แต่เขาก็เข้าใจดีว่า “โควิดไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะในไทย ทุกคนค่อนข้างเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น และการที่จะฟื้นฟูธุรกิจมันก็ขึ้นอยู่กับทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง” พอลล์ย้ำและว่า “อิมแพ็คเป็นแค่ส่วนหนึ่ง โควิดไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะคนที่อยู่ในบ้านเรา แต่มันเกิดขึ้นกับต่างประเทศด้วย ทั่วโลกกระทบหมด คนเดินทางไม่ได้ ต่างชาติจะบินมาด้วยสายการบินอะไร ตั๋วราคาเท่าไร และธุรกิจที่เกิดขึ้น ซื้อขายกันเท่าไร เรื่องนี้เข้าใจกันง่าย เพราะทุกคนลำบากเหมือนกัน ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะเป็นสิ่งที่ดีกับทุกฝ่าย”ลุยปรับโครงสร้างธุรกิจ
แม้จะไม่มีงานแต่แม่ทัพอิมแพ็คบอกว่า “ตอนนี้เราไม่ได้หยุดนิ่ง เราอาจไม่ได้ไปสร้างพื้นที่จัดแสดงมาก แต่ทุกวันนี้เราทำงานกันอยู่ ปรับโครงสร้างบริษัทเพื่อให้สามารถขยายออกไปหลังโควิดดีขึ้น” พร้อมอธิบายว่า อย่างอิมแพ็คมีหน่วยงานหลายหน่วย มีทีมหนึ่งดูแลสถานที่ ทีมอาหารที่ดูแลอาหารในสถานที่ให้เช่า กับมีธุรกิจร้านอาหาร มีโรงแรมในโครงการ มีหน่วยงานเกี่ยวกับการจัดงาน จึงต้องการปรับตรงนี้ให้ชัดเจนขึ้น เพื่อให้สามารถแยกเป็นธุรกิจรายบริษัทเพื่อการเติบโตในอนาคต “อนาคตเราจะลงทุนสร้างโรงแรมเพิ่มก็ใช้บริษัทนี้ บริษัทที่เกี่ยวกับธุรกิจอาหารก็บริษัทนี้ บริษัทที่เกี่ยวกับการจัดงานก็บริษัทนี้ เรากำลังจะปรับตรงนี้ให้ชัดเจนขึ้น เพื่อที่เราสามารถแยกออกไปทำธุรกิจได้รวดเร็ว” พอลล์อธิบายพร้อมเล่าว่า แนวทางของเขาเน้นลงทุนด้วยเงินสด ซึ่งก็จะมีทั้งลงทุนเองและการเทกโอเวอร์ และเมื่อแยกธุรกิจแล้วก็อาจเปิดขายหุ้นใหม่ (IPO) โดยแยกไปเป็นบริษัท แม้จะไม่ได้สร้างอะไรในขณะนี้เขาก็ใช้เวลาช่วงนี้ให้เป็นประโยชน์ด้วยการปรับโครงสร้างบริษัท วางแผนธุรกิจใน 3 ปี 5 ปี ทำเป้าหมายตัวเลขว่าจะเดินไปช่องทางไหน “บริษัทไหนพร้อมก็ทำ แต่ยังไม่ได้ลงรายละเอียด ตอนนี้เราตั้งเป้าก่อน ไม่ใหญ่ไม่ทำ รายเล็กๆ ตัดออกไป เราโฟกัสตัวใหญ่ๆ โรงแรมก็จะมาดูว่าทำอะไรเพิ่มได้ธุรกิจอาหารจะใหญ่ขึ้นถึงตัวเลขเท่าไร จึงจะออกเป็น IPO ต้องเซตเป้า ทบทวน 3 ปี 5 ปี เป้าเปลี่ยน เราจะเดินไปอย่างไร” พอลล์ย้ำและว่า “เรามีศักยภาพ ถ้าเรายังมองว่าเป็นแค่หน่วยเล็กๆ มันก็ทำอยู่แค่นั้น ในช่วงที่ว่างนี้ทำให้เรามองเห็นว่าเราสามารถทำอะไรได้อีกเยอะ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องลงทุนสร้างอาคารเพิ่ม อันนั้นเราต้องทำอยู่แล้ว แต่ยังมีอีกเยอะแยะที่จะทำได้” พอลล์แยกแยะธุรกิจอิมแพ็คว่า ตอนนี้มีอิมแพ็ค อารีน่า, อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ และอิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ ทั้งหมดเป็นสินทรัพย์อยู่ในกองทรัสต์ IMPACT การจะขยายโอกาสต้องมองว่าทิศทางของเศรษฐกิจเป็นอย่างไร งานที่พูดถึงต้องการใช้พื้นที่เยอะขึ้น คือ งานส่งออก เมื่อส่งออกได้เยอะพื้นที่การจัดแสดงสินค้าส่งออกก็ต้องมีเยอะขึ้น แต่ปีนี้ยังชะลอก็ต้องมองตามแผนงานกันไป “การขยายสถานที่ ขยายธุรกิจ อยู่ที่ทิศทางของลม อยู่ที่การขยายเศรษฐกิจว่าเรามาที่นี่ตอนที่เราเปิดประตูฮอลล์ใหม่ลูกค้าเราพร้อมที่จะมากี่เปอร์เซ็นต์มีงานจะเข้ามากี่เปอร์เซ็นต์”สยายปีกโรงเรียนทำอาหาร
ปี 2562 อิมแพ็คมีรายได้มาจากธุรกิจร้านอาหารประมาณ 150 ล้านบาท เฉพาะที่เข้ากองรีท เช่น ร้านกาแฟก็เป็นหนึ่งในธุรกิจอาหาร มีร้านกาแฟเชนจากฮ่องกง ร้านอาหารญี่ปุ่น ร้านอาหารจีน ร้านอาหารไทย รวมทั้งผับ “ตอนนี้เรามีร้านอาหารไม่ต่ำกว่า 25 ร้าน แต่ถ้าเราตั้งเป้าไว้ 3 ปี 5 ปี ต้องเติบโตอีกระดับหนึ่ง เราก็ต้องเตรียมบ้านให้ชัดเจน ถ้าเติบโตตรงนี้เราก็สามารถ takeoff ออกไปได้” เขาอธิบายว่า เมื่อวางเป้าโตชัดเจนทำให้ต้องหาคนที่เชี่ยวชาญมาดู 100% ในทุกธุรกิจไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารโรงแรม และศูนย์เอ็กซิบิชั่น “อิมแพ็คเรายังไม่ได้ถึงทางตัน เรายังไปได้อีกไกล แต่จะไกลแค่ไหนก็อยู่ที่ความพยายามของทุกคน เพราะเราอยากจะขยายธุรกิจ สำหรับร้านอาหาร เรากำลังเตรียมจะเปิดตัวธุรกิจอาหาร น่าจะเปิดตัวประมาณเดือน 7 เดือน 8 ก็จะเป็นอีกตัวหนึ่ง ที่เสริมศักยภาพของอิมแพ็คให้แข็งแรงขึ้น” พอลล์เฉลยว่าธุรกิจอาหารที่เขากำลังเตรียมเปิดตัว คือ โรงเรียนสอนทำอาหารที่จะสร้างคนเพื่อเสิร์ฟธุรกิจอาหาร โดยจะเป็นธุรกิจสอนทำอาหารที่อยู่ในเมืองทอง ซึ่งจะทำให้คนเข้า-ออกเมืองทองเยอะขึ้น โรงเรียนสอนทำอาหารที่พอลล์พูดหมายถึง“เลอโนท” (LENOTRE) เป็นสถาบันสอนทำอาหารชื่อดังจากฝรั่งเศส และเป็นธุรกิจที่ใหญ่มากในยุโรป” ปี 2562 เราเซ็นสัญญากับเขาเพื่อมาสร้างตึกสอนทำอาหารในเมืองทอง ตั้งใจเปิดสอนช่วงต้นปี 64 แต่ไม่ทัน ตอนนี้ก็ตั้งใจจะเปิดในเดือนสิงหาคม” พอลล์เผยแผนต่อยอดธุรกิจอาหารอย่างเป็นรูปธรรม และว่าประมาณเดือน 10 ปีนี้ จะมีคอร์สการสอนออกมา ซึ่งเลอโนทจะเสริมศักยภาพของอิมแพ็คในด้านเคเทอริ่งและครีเอทิวิตี้ ซึ่งเป็นธุรกิจอาหารที่สามารถแยกออกมาและเติบโตได้อีกมากเรื่อง: อรวรรณ หอยจันทร์ และ กนกวรรณ ไม้สนธิ์ ภาพ: กิตติเดช เจริญพร และ IMPACT
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine