ปลูกความยั่งยืนแบบ “ศุภชัย” - Forbes Thailand

ปลูกความยั่งยืนแบบ “ศุภชัย”

เมื่อการดำเนินธุรกิจที่พุ่งเป้าไปยังตัวเลขผลประกอบการเป็นหลัก ไม่ได้เป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จของบริษัทยุคใหม่อีกต่อไป เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซี.พี.ที่นับประวัติความเป็นมาได้เกือบ 1 ศตวรรษ จึงปรับทัพรับกระแสโลก ด้วยการให้ศุภชัยเข้ามานั่งในตำแหน่งรองประธานกรรมการ รับผิดชอบงานด้านธรรมาภิบาล ความยั่งยืน และการสื่อสารของ ซี.พี.เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว

“ตอนนี้ ซี.พี.เป็นผู้เล่นในระดับโลก เราเข้าไปดำเนินงานในกว่า 20 ประเทศ ดังนั้นจึงต้องอยู่บนฐานของการเติบโตอย่างยั่งยืน เป้าหมายต่อจากนี้ของ ซี.พี.คือการทำเรื่องความยั่งยืนและนวัตกรรมให้เป็นเรื่องเดียวกัน เราต้องสร้างและนำเสนอสิ่งใหม่ๆ อีกหลายเรื่อง” ศุภชัย บอกด้วยน้ำเสียงจริงจัง ซึ่งเรื่องนวัตกรรมนั้นสอดคล้องกับแนวคิดของ ธนินท์ผู้เป็นพ่อ ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร ซี.พี.ที่มีความสนใจด้านนวัตกรรมต่างๆ เป็นทุนเดิม และสนับสนุนให้บุคลากรของ ซี.พี.คิดค้นนวัตกรรมเพื่อสร้างการเติบโตให้องค์กรอย่างไม่หยุดยั้ง หนึ่งในสิ่งที่ ศุภชัย ดำเนินการเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คือ การนำกลุ่มทรูเข้าเป็นสมาชิกข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact) ที่กระตุ้นให้ภาคธุรกิจทั่วโลกเน้นความยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งในแง่สิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม และการต่อต้านการทุจริตส่วนในเมืองไทย ขณะนี้เขากำลังปลูกความยั่งยืนในประเด็นสิ่งแวดล้อมและการศึกษาหา ทางออกวิกฤต “น่าน” น่าน เป็นจังหวัดหนึ่งที่เกษตรกรนิยมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชสร้างรายได้ โดยมีผู้รับซื้อเป็นบริษัทใหญ่หลายแห่ง รวมทั้งบริษัทในเครือ ซี.พี.ทว่าการปลูกข้าวโพดก็ก่อปัญหาตามมาหลายอย่าง ทั้งการบุกรุกพื้นที่ป่าธรรมชาติ กระทั่งกลายเป็นภูเขาหัวโล้น และการเผาตอซังข้าวโพดหลังการเก็บเกี่ยวก็ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศอย่างหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ “ผู้ที่รับซื้อข้าวโพดที่น่าน มี 4-5 เจ้า และ ซี.พี.ก็ไม่ใช่เจ้าใหญ่ที่สุดในการรับซื้อแต่ ซี.พี.เป็นแบรนด์ใหญ่เป็นเหมือนสายล่อฟ้า อย่างไรก็โดนก่อน แต่แทนที่ถูกฟ้าผ่าแล้วหนี เราไม่หนี ต้องเข้าไปดูว่าแล้วเราทำอะไรได้บ้าง” รองประธานกรรมการ ซี.พี.กล่าว ศุภชัย เดินทางไป จ.น่าน หลายครั้งเพื่อให้เห็นสภาพที่เกิดขึ้นจริง พร้อมพูดคุยเพื่อรับฟังปัญหาของชาวบ้านในพื้นที่ทำให้เห็นว่าปัญหาหลักที่ชาวบ้านต้องเผชิญมี 2 อย่าง คือ เรื่องสิทธิที่ดินทำกินและความยากจนชาวบ้านจำนวนมากอาศัยอยู่ในชุมชนซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ป่า หากต้องย้ายออกชาวบ้านก็ไม่รู้จะไปตั้งรกรากที่ใด ดังนั้นในมุมของศุภชัย ขาเห็นว่าการมีกฎหมายสิทธิที่ทำกินชุมชนดั้งเดิมเพื่อการดูแลและฟื้นฟูป่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ต้องมีผู้ที่เข้าไปช่วยให้คำแนะนำและให้ความรู้เรื่องการปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นที่ไม่ใช่ข้าวโพด ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวบ้าน เพราะอาศัยน้ำเดียวก็อยู่ได้ตลอดทั้งปี แต่การปลูกข้าวโพดบนพื้นที่ลาดชันมีข้อเสียคือให้ผลผลิตเพียง 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับการปลูกบนพื้นที่ราบ และยังมีต้นทุนขนส่งสูง นอกจากนี้ยังต้องให้คำแนะนำแก่ชาวบ้านเรื่องการบริหารจัดการและการหาตลาดมารองรับผลผลิต เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้น ปัจจุบันมีหลายองค์กรที่เข้าไปช่วยแล้ว ศุภชัยจึงมุ่งหวังให้ทุกภาคส่วนผนึกกำลังเพื่อพลิกฟื้นผืนดินน่าน แน่นอนว่าหมายรวมถึง ซี.พี.ด้วย “เราเคยคิดถึงเรื่องการให้เงินสนับสนุนการปลูกป่าทดแทน แต่เราจะให้เขาได้ถึงเมื่อไร และจะเป็นสิ่งที่ยั่งยืนแน่หรือ เมื่อคิดถึงการปลูกเมล็ดพันธุ์กาแฟก็ไม่ได้ เพราะตรงนั้นคือพื้นที่ป่า ผมคิดว่าถ้าภาครัฐ เอกชน และท้องที่มาระดมความคิดและทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง ต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงได้” เสริมความแกร่ง “การศึกษา” ไทย กลุ่มทรูที่มีศุภชัยเป็นหัวเรือใหญ่ยังให้ความสำคัญกับประเด็นการศึกษาที่จะช่วยหล่อหลอมเยาวชนให้เติบโตขึ้นมาเป็นบุคลากรคุณภาพของสังคม ปี 2550 จึงริเริ่มโครงการทรูปลูกปัญญา นำจุดแข็งของกลุ่มทรูด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร ไปช่วยเสริมด้านการเรียนการสอนให้โรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่ขาดแคลนสื่อการเรียนรู้ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดซึ่งนับถึงปี 2558 มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการราว 6 พันแห่ง มีนักเรียนและครูเข้าถึงสื่อการเรียนรู้รวมแล้วเกือบ 2 ล้านคน ต่อมาในปี 2552 ก็ได้สร้างสร้างเว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาขึ้นมาเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลความรู้เพื่อให้นักเรียนหรือผู้สนใจเข้ามาใช้ประโยชน์ “การศึกษาที่ดีต้องมีความโปร่งใส ผมเห็นว่าเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตไม่เพียงแต่จะสามารถช่วยลดความไม่โปร่งใสทางการศึกษา แต่ยังช่วยลดความไม่เท่าเทียมทางการศึกษาได้อีกด้วย” ศุภชัยกล่าวไว้ เมื่อครั้งขึ้นเวทีร่วมอภิปรายในการประชุม One Young World 2015 ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของเยาวชนระดับหัวกะทิเกือบ 200 ประเทศทั่วโลก ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อปลายปีที่แล้วล่าสุด ศุภชัยมีบทบาทใหม่เพิ่มเข้ามา คือการเป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน โครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ ทำงานร่วมกับภาครัฐเพื่อปฏิรูปการศึกษาของไทยให้ก้าวหน้า และพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาของอาเซียน ซึ่งขณะนี้มีโรงเรียนที่ผ่านการคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนต้นแบบโครงการโรงเรียนประชารัฐ ระยะที่ 1 แล้วกว่า 3,300 แห่ง ศุภชัย ย้อนความถึงการก้าวเข้าไปร่วมงานกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าเป็นเพราะกลุ่มทรูทำโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษามาก่อน และมีความสนใจด้านดังกล่าวอยู่แล้ว เมื่อรัฐบาลขอความร่วมมือจากภาคเอกชน จึงรับผิดชอบเรื่องการศึกษาขั้นพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ “จริงๆ ไม่ใช่ผมคนเดียวที่ทำงาน แต่เขาให้เป็นผู้นำด้านนี้ จึงคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีเพราะที่ผ่านมาภาคเอกชนต่างคนต่างทำ หากทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชนก็จะทำให้การศึกษาของไทยเดินหน้าต่อไปได้ไกลขึ้น” ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ โรงเรียนที่สังกัดหน่วยงานภาครัฐจะมีภาคเอกชนเข้าไปช่วยขับเคลื่อน โดยกลุ่มทรูจะยังคงใช้ความถนัดของตนเองในเรื่องเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศเหมือนเช่นที่ผ่านมา ถึงอย่างนั้น ศุภชัยก็เห็นว่าสุดท้ายแล้ว เทคโนโลยีต่างๆ เป็นเพียงเครื่องมือ ส่วนหัวใจที่จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาได้อย่างแท้จริงก็คือคน ที่ไม่เพียงแต่ครอบครัวจะเป็นกลไกสำคัญ แต่บุคลากรในโรงเรียน เช่น ผู้อำนวยการ ครู ฯลฯ ก็มีบทบาทเด่นไม่แพ้กันในการสร้างบรรยากาศการเรียนการสอนที่ให้นักเรียนเป็นศูนย์กลาง มากกว่าจะให้ครูเป็นศูนย์กลาง ศุภชัย เชื่อมั่นในพลังของเด็กและเยาวชนเสมอ เช่นที่เขาบอก Forbes Thailand ว่า เด็กเกิดมาเป็นอัจฉริยะ แต่ที่ไม่ฉลาดเพราะผู้ใหญ่เอาประสบการณ์ของตนไปบอกว่าอย่างนี้ถูกอย่างนี้ผิด จนถูกตีกรอบด้วยความคิดของผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กจึงต้องรู้และเข้าใจเรื่องจิตวิทยาเด็กต้องสามารถดึงศักยภาพและความมั่นใจของเด็กออกมา และปลูกฝังเรื่องคุณธรรม จริยธรรม โดยให้เขาได้ลงมือทำหรือเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนหน้ากระดานต้องเปลี่ยนเป็นการเรียนโต๊ะกลม ให้เขาได้พูดคุยแลกเปลี่ยน ถ้าเด็กรู้จักคิด อีก 10-15 ปีข้างหน้า สังคมก็จะเข้มแข็ง “ผมมีความสุขที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จะมากบ้างน้อยบ้างก็ว่ากันไป ผมหวังว่าเราจะสามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ทำปีเดียวเสร็จ” อีกหนึ่งความตั้งใจ ที่ศุภชัยต้องการทำให้สำเร็จ   เรื่อง: สุทธาสินี จิตรกรรมไทย ภาพ: กลุ่มทรู
คลิ๊กอ่าน "ปลูกความยั่งยืนแบบ “ศุภชัย”" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ AUGUST 2016 ในรูปแบบ e-Magazine