ปณิธาน ปวโรฬารวิทยา และ วิชัย กุลสมภพ ต่างนำทัพ "เครือสหพัฒน์" บริหารโจทย์การค้ายุคใหม่ - Forbes Thailand

ปณิธาน ปวโรฬารวิทยา และ วิชัย กุลสมภพ ต่างนำทัพ "เครือสหพัฒน์" บริหารโจทย์การค้ายุคใหม่

FORBES THAILAND / ADMIN
28 Sep 2019 | 12:01 PM
READ 18903

ปณิธาน ปวโรฬารวิทยา และ วิชัย กุลสมภพ 1 ทายาท 1 ลูกเขย เครือสหพัฒน์ ที่ต่างได้รับโจทย์ธุรกิจและสร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์ โดยมีปรัชญาจาก ดร.เทียม โชควัฒนา เป็นแกนหลักในการทำธุรกิจ

ปณิธาน ปวโรฬารวิทยา เครือสหพัฒน์

ปณิธาน ปวโรฬารวิทยา เกมต่อจุดบูติคนิวซิตี้

เรื่อง: พรพรรณ ปัญญาภิรมย์ ภาพ: ชัยสิทธิ์ จุนเจือดี บทพิสูจน์ความสามารถของทายาทธุรกิจรุ่น 3 ในบริษัทผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้าสตรีสำเร็จรูปรายแรกในประเทศไทยที่สอบผ่านตั้งแต่ภารกิจแรกที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบหนี้สินของบริษัทจำนวน 2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ พร้อมยกเครื่ององค์กรในช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีและวัฒนธรรมองค์กรให้ทันสมัยสอดคล้องกับเทรนด์โลก ภายใต้ปรัชญาคำสอนของ ดร.เทียม โชควัฒนา ที่ปลูกฝังความซื่อสัตย์สุจริตและคุณธรรมตลอดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้าง “Trust” นำทางให้บริษัทสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว “ช่วงที่กลับมายังไม่คิดจะสืบทอด แต่ด้วยความรับผิดชอบให้เข้ามาช่วยคุณแม่เจรจาต่อรองหนี้สินต่างประเทศ ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นสอนอะไรผมหลายอย่าง ในจังหวะที่เทคโนโลยีต่างๆ เริ่มพัฒนาในประเทศ เช่น เครื่องพิมพ์ดิจิทัล โปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยผมได้รับมอบหมายให้ทำงานด้านบัญชี การตลาด รวมถึงปรับระบบและนำแนวคิดใหม่ๆ เข้ามาช่วยให้องค์กร transform ได้” ปณิธาน ปวโรฬารวิทยา ประธานกรรมการ บริษัท บูติคนิวซิตี้ จำกัด (มหาชน) (BTNC) กล่าวถึงการสั่งสมประสบการณ์ธุรกิจ พร้อมรับภารกิจในฐานะบุตรชายคนโตของศิรินา โชควัฒนา ปวโรฬารวิทยา ซึ่งเป็นบุตรสาวคนที่ 5 ของ ดร.เทียม จากยอดขายช่วงเริ่มต้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการราว 400 กว่าล้านบาทเติบโตเป็นบริษัทพันล้านหลังขยับนั่งเก้าอี้ซีอีโอคุมทัพธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งเสื้อผ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศและบริการออกแบบรับสั่งตัดพิเศษสำหรับองค์กร (uniform) ครบวงจร ภายใต้สินค้าแบรนด์ต่างๆ ได้แก่ GSP, JOUSSE, C&D, LOF-FI-CIEL, STEPHANIE, GUY LAROCHE ขณะที่บริษัทมีร้านสาขารวม 67 แห่ง จุดขายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำจำนวน 45 แห่ง และขายในประเทศเพื่อนบ้าน (AEC) 22 แห่ง ทั้งยังได้รับความไว้วางใจในการออกแบบและตัดเย็บเครื่องแบบองค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศมากกว่า 400 องค์กร รวมถึงการพัฒนาจุดขายรูปแบบ multi brand store ใช้ชื่อร้าน A’MAZE ซึ่งนำเสนอการแต่งกายสินค้าจากหลายแบรนด์และเปิดรับพาร์ทเนอร์ในการนำสินค้ามาจำหน่ายเมื่อปีที่ผ่านมา นอกจากการมุ่งเน้นจุดแข็งเดิมของบริษัทในด้านคุณภาพที่ได้รับการยอมรับ ราคาเหมาะสม การส่งมอบตรงเวลา และบริการที่ดีทั้งก่อนและหลังการขาย ปณิธานยังเล็งเห็นความสำคัญของการปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของเทรนด์สินค้าเครื่องแต่งกายทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภค ด้วยการศึกษาข้อมูลประวัติการขาย แนวโน้มในตลาดธุรกิจแฟชั่น ความต้องการของลูกค้าในและต่างประเทศ ขณะเดียวกันยังนำข้อมูลต่างๆ ที่รวบรวมมาวิเคราะห์เพื่อใช้ประกอบในการวางแผนงานต่างๆ

ปรับกลยุทธ์รับคลื่นลูกใหม่

เมื่อความท้าทายระลอกใหม่ในกระแสน้ำวนที่ไม่อาจคาดการณ์ความรุนแรงของคลื่นลมกำลังเป็นอีกหนึ่งบททดสอบความสามารถของทายาทรุ่น 3 ให้ขับเคลื่อนนาวาธุรกิจเหนือน่านน้ำที่เต็มไปด้วยคู่แข่งจากทั่วโลกพร้อมท้าชิงส่วนแบ่งตลาดผ่านช่องทางที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรงในเวลาอันรวดเร็ว “สิ่งที่เกิดขึ้นคือเรากำลังเผชิญความท้าทายใหม่จากเมื่อก่อนที่เราสามารถมองเห็นคู่แข่งได้ง่ายมาก แต่ตอนนี้เรามองไม่เห็น ออนไลน์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น redesign landscape การแข่งขันหมด แต่ละแบรนด์อาจจะใหญ่ แต่รวมกันหลายร้อยหลายพันแบรนด์อาจจะครองมาร์เก็ตแชร์ใหญ่สุด ถ้านึกภาพเหมือนการดำน้ำขุ่น มีไฟฉายส่องเห็นเป็นหย่อมๆ เราต้องค่อยๆ จับ มันยากต่อการคาดการณ์” ดังนั้น ปณิธานจึงให้ความสำคัญกับการศึกษาและทำความเข้าใจแนวทางความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริงในโครงการทดลอง และมองหาช่องว่างทางธุรกิจที่สามารถพัฒนาแพลตฟอร์มและประสานการทำงานของเครือข่ายให้เชื่อมโยงกันจนเกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังมุ่งมั่นตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้ครอบคลุมยิ่งขึ้นจากกลุ่มหลักที่อยู่ในวัยประมาณ 40 ปีขึ้นไปหรือเจเนอเรชั่น X สู่กลุ่ม เจเนอเรชั่น Y และ Z ซึ่งมีไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมการตัดสินใจซื้อสินค้าแตกต่างกัน พร้อมทั้งพัฒนาสินค้าใหม่ให้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตและโอกาสที่มีความหลากหลายของทุกกลุ่มผู้บริโภค ภายใต้เป้าหมายสร้างการเติบโตให้ยอดขายแตะ 2 พันล้านบาทใน 5 ปี ปณิธานเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพทั้งพื้นที่ขายออฟไลน์ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น พัฒนาช่องทางการขายออนไลน์ ศึกษาความต้องการลูกค้าเพื่อนำเสนอสินค้าใหม่ ลดต้นทุนสินค้า และขยายขอบเขตความสามารถของพนักงาน รวมถึงความสุขในการทำงานเป็นทีม พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการปรับตัวเพื่อรับกับทุกโอกาสทางธุรกิจ ด้วยความมุ่งมั่นยึดถือการดำเนินงานอย่างมีจริยธรรม และหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างต่อเนื่อง   วิชัย กุลสมภพ เครือสหพัฒน์

วิชัย กุลสมภพ ธุรกิจเริ่มต้นที่ความจริงใจ

เรื่อง: อรวรรณ หอยจันทร์ ภาพ: บมจ.สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง เอสพีไอหรือสหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง เป็นทัพหน้าในการลงทุนใหม่ๆ ของ เครือสหพัฒน์ ที่วันนี้สืบทอดการบริหารสู่รุ่นที่ 3 ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง ผู้บริหารเจนใหม่ได้ตั้งเป้ามูลค่าธุรกิจร่วมทุนของเครือไว้สูงถึง 2 แสนล้านบาท เป็นโจทย์ยากที่เขาเชื่อว่าเป็นไปได้ ความซื่อสัตย์และคุณธรรมคือแก่นในปรัชญาการทำธุรกิจของดร.เทียม โชควัฒนา ผู้ก่อตั้งอาณาจักรสพัฒน์ซึ่งเดินทางบนถนนสายธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคมายาวนานกว่า 76 ปี ตกทอดการบริหารจากรุ่นบุกเบิกมาสู่ทายาทรุ่นที่ 3 และคนในตระกูล วิชัย กุลสมภพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือเอสพีไอ แม้ไม่ใช่ทายาทโดยตรงของตระกูลโชควัฒนา (สามีของ ธนินธร โชควัฒนา บุตรสาวคนที่ 3 ของเจ้าสัวบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา) แต่ก็เป็นบุตรเขยที่เจ้าสัวบุณยสิทธิ์ให้ความไว้วางใจ และมอบภารกิจบริหารกิจการร่วมทุนและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้ดูแลเต็มตัว 7 ปีมาแล้วที่วิชัยรับตำแหน่งบริหารในเอสพีไอ เขาเล่าว่าเป็น 7 ปีที่ทำงานมากผ่านร้อนผ่านหนาวผ่านเรื่องราวสนุกมากมาย ตั้งแต่เริ่มแรกที่มาช่วยงานแบบไม่เอาตำแหน่งไม่เอาเงินเดือน แต่หลังจากเอสพีไอเกิดการเปลี่ยนแปลง 2-3 ช่วงใหญ่ๆ ผู้บริหารหลักท่านหนึ่งเสียชีวิตลงกะทันหัน เมื่อต้นปี 2561 ทำให้งานบริหารหลักต้องมาอยู่ในมือคนรุุ่นใหม่อย่างเขาและทีมงาน “เสี่่ยไม่ใช่คนจะทำงานด้วยง่ายๆ ถ้าไม่ทำงานหนัก ไม่ทุ่มเท ไม่เข้าใจความคิดของเขา จะทำงานด้วยยาก” กรรมการผู้จัดการใหญ่ สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง หรือ เอสพีไอ วัย 42 ปี กล่าวถึงเสี่ยใหญ่-บุณยสิทธิ์ วัย 82 ปี ผู้เป็นทั้งพ่อตาและเจ้านายโดยตรง ตั้งแต่ปี 2555 จนถึงวันนี้ วิชัยทำงานในเอสพีไอต่อเนื่องและจริงจังมากที่สุดในชีวิตการทำงานของเขาซึ่งเคยเป็นนักลงทุนอิสระตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ ก่อนแต่งงานเขาทำเงินจากการลงทุนในธุรกิจต่างๆ เรียกว่าทำเงินระดับ 100 ล้านบาทด้วยชีวิตที่มีอิสระ เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศตลอด โดยใน 1 สัปดาห์วิชัยทำงานแค่ 2 วันเท่านั้น พอมาอยู่ใต้ชายคาสหพัฒน์ชีวิตการทำงานของวิชัยเปลี่ยนไปและเปลี่ยนมากที่สุด “งานของเสี่ยไม่เคยหยุด เสาร์-อาทิตย์ก็หยุดไม่ได้ เราเป็นนิคมอุตสาหกรรมและดูงานต่างประเทศ เหมือนต้องทำงานทุกวันมีเรื่องให้ต้องตัดสินใจตลอด”

ควบรวมธุรกิจอาหารมูลค่าแสนล้าน

เมื่อเข้ามารับหน้าที่เต็มตัว วิชัยทำงานเต็มที่ ผลงานชิ้นโบแดงที่สร้างความภูมิใจให้เขาและบริษัท คือการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจอาหารของเครือสหพัฒน์ที่นำมาซึ่งรางวัลแห่งความภูมิใจในระดับเอเชีย หลังจากเมื่อปี 2560 เอสพีไอได้ปรับโครงสร้างการถือหุ้นกลุ่มธุรกิจอาหารของเครือสหพัฒน์ โดยควบรวม บริษัท เพรซิเดนท์ไรซ์โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PR ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้าวต้ม โจ๊ก เส้นหมี่แบรนด์มาม่า กับ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TF ผู้ผลิตและจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์มาม่า ขึ้นมาเป็นบริษัทใหม่ภายใต้ชื่อเดิม คือ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) และเปลี่ยนชื่อย่อในการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ จาก “TF” เป็น “TFMAMA” ต่อจากนั้น TFMAMA ได้ประกาศซื้อหุ้นทั้งหมดของ บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) หรือ PB ผู้ผลิตและจำหน่ายเบเกอรี่แบรนด์ “ฟาร์มเฮ้าส์” ซึ่งเป็นบริษัทในเครือสหพัฒน์เช่นกัน เป็นการจัดกลุ่มธุรกิจในเครือให้มีความแข็งแกร่งและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ด้วยความสำเร็จจากการควบรวมกิจการ และปรับโครงสร้างธุรกิจอาหารในเครือมูลค่าราว 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 9.2 หมื่นล้านบาท นอกจากผลงานเด่นด้านการปรับโครงสร้างองค์กร วิชัยยังมีเป้าหมายบริหารเอสพีไอให้เติบโตอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น จากจุดเริ่มต้นเอสพีไอมีทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท ก่อตั้งเมื่อปี 2515 หลังจากนั้นมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market cap) เพิ่มเป็น 1.2 หมื่นล้านบาท “นายห้างใช้เวลา 40 ปีบริหาร market cap จาก 500 มาเป็น 12,000 ล้านบาท โตประมาณ 30 เท่า ถ้าผมมีโจทย์ว่าต้องเก่งกว่า มีเวลาแค่ 20 ปีจะทำ market cap จาก 12,000 เป็น 200,000 ล้าน วันนี้เป็นเรื่องที่อยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้” วิชัยกล่าวอย่างเชื่อมั่นกับเป้าหมายที่เขาคิดว่าเป็นไปได้ ผู้บริหารเจน 3 ของเอสพีไอ ยังกล่าวถึงแนวคิดน่าสนใจในการทำธุรกิจว่า “สำหรับผม สิ่งที่ยากกว่าการสะสมที่ดินหรือเงินลงทุน คือสะสมความสัมพันธ์ที่ดีที่มีมาอย่างยั่งยืน” ส่วนการเติบโตของเอสพีไอนับจากนี้ไปในอีก 5 ปีข้างหน้า วิชัยบอกว่าคงมีหลายอย่างที่ต้องเปลี่ยน คนเปลี่ยน แนวทางการทำธุรกิจหลากหลายออกดอกออกผลหลายธุรกิจ และเชื่อว่าหลายธุรกิจจะเคลื่อนมาสู่ภาคบริการมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงมีมาก แต่สิ่งหนึ่งที่จะไม่เปลี่ยนคือหลักคิดในการทำงานของเครือที่จะไม่หลงแสงสี ไม่หลงระเริงหรือเอาเปรียบประชาชนซึ่งจะไม่ทำแน่นอน  
คลิกอ่านเรื่องราวฉบับเต็มครบทั้ง 6 ขุนพลได้จาก “ปรับใหญ่รุ่น 3 สหพัฒน์ ทุกบริษัทต้องพร้อม “ปลั๊กอิน” ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2562 ในรูปแบบ e-Magazine