ธรรมนูญร้อยปี “กลุ่มสิทธิผล” ถอดความสำเร็จโฮลดิ้งหมื่นล้าน (ตอน 1) - Forbes Thailand

ธรรมนูญร้อยปี “กลุ่มสิทธิผล” ถอดความสำเร็จโฮลดิ้งหมื่นล้าน (ตอน 1)

FORBES THAILAND / ADMIN
03 Jun 2019 | 09:10 AM
READ 15634

อาถรรพ์การสืบทอดธุรกิจครอบครัวในรุ่น 3 ที่ไม่เพียงได้รับการลบล้างอย่างสิ้นเชิงแต่ยังสามารถเขียนประวัติศาสตร์ในศตวรรษใหม่สู่ยุคทองแห่งการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนด้วยการผนึกกำลังกันของสี่พี่น้องลี้อิสสระนุกูลแห่ง "กลุ่มสิทธิผล" นำทัพธุรกิจประสานเป็นหนึ่งเดียวภายใต้หมุดหมาย “King of Fast-moving Spare Parts”

ภายใต้ธรรมนูญของครอบครัวที่ถ่ายทอดการตอบแทนคุณแผ่นดินไทยโดย กนก ลี้อิสสระนุกูล ผู้บุกเบิกเส้นทางธุรกิจจากแดนมังกร และ โสภา คู่ชีวิตที่ร่วมเคียงข้างก่อร่างสร้าง บริษัท เซ่งง่วนฮง จำกัด ในปี 2462 เพื่อนำเข้าจักรยานแบรนด์ดัง Raleigh (ราเล่ห์) ของอังกฤษในช่วงหลังสิ้นสุดสงครามโลกและประเทศกำลังขาดแคลนน้ำมัน

จากการยึดมั่นในคติการทำธุรกิจอย่างซื่อสัตย์สุจริตและจำหน่ายสินค้ามีคุณภาพทำให้ธุรกิจของกนกและโสภาสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องพร้อมชื่อบริษัทใหม่บริษัท สิทธิผล 1919”

ดีเอ็นเอของนักสู้ทางธุรกิจได้รับการถ่ายทอดสู่ทายาทรุ่น 2 ที่แบ่งบทบาทหน้าที่การนำทัพกันอย่างชัดเจน โดยวิทยาเป็นผู้กุมบังเหียนกิจการดั้งเดิมสองล้อของครอบครัว ซึ่งในช่วงแรกมีขนาดเล็กกว่าธุรกิจสี่ล้อของพี่ชาย (ปริญญา ลี้อิสสระนุกูล) และน้องสาว (กัลยาณี พรรณเชษฐ์)

ด้วยวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกล การวางรากฐานอย่างแยบยล แนวทางการดูแลกิจการแบบอนุรักษนิยมของวิทยา ส่งผลให้กลุ่มสิทธิผลสามารถสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งจากธุรกิจสองล้อที่รับสืบทอดโดยตรงสู่ธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ที่อิงจักรยานยนต์เป็นหลัก พร้อมฝึกปรือฝีมือให้ทายาทรุ่น 3 ได้แก่ ทนง พิมพ์ใจ อภิชาต และพรทิพย์ สามารถรับภารกิจขยายอาณาจักรขนาดหลายหมื่นล้านบาท

4 พี่น้องรุ่น 3 : (จากซ้าย) พรทิพย์ เศรษฐีวรรณ, อภิชาต ลี้อิสสระนุกูล, ทนง ลี้อิสสระนุกูล และพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล

ธุรกิจของเราเริ่มจากยานพาหนะหรือจักรยาน ซึ่งสมัยนั้นมีธนาคารไทยพาณิชย์หรือแบงก์สยามกัมมาจลสาขาแรกที่นี่ ทำให้สามารถติดต่อการค้าหรือทำธุรกิจได้สะดวก โดยคุณปู่มีวิสัยทัศน์ที่ดีมากจากการปะยาง ก็เริ่มซ่อมจักรยานและนำเข้าจักรยานจนถึงมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ ในยุคคุณปู่มีคุณพ่อ คุณน้า คุณอาช่วยกัน

ทนง ลี้อิสสระนุกูล กรรมการผู้จัดการ กลุ่มสิทธิผล วัย 59 ปีเริ่มต้นเล่าในฐานะบุตรชายคนโตของรุ่น 3 ซึ่งเป็นผู้นำทัพดูแลกลุ่มสิทธิผลทั้งหมด นำโดยบริษัท สิทธิผล 1919 จำกัด อันเป็นเสมือนบริษัทแม่และผู้ทำการตลาดให้สินค้าจากบริษัทในเครือ รวมถึง บริษัท ไดโด สิทธิผล จำกัด ผู้ผลิตโซ่ขับเคลื่อน และ บริษัท โททาล ออยล์ (ประเทศไทย) จำกัด กลุ่มธุรกิจพลังงาน

นอกจากนั้น น้องๆ อีก 3 คนที่เข้ามาร่วมงาน ได้แก่ พิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล ดูแล กลุ่มบริษัทอีโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ IRC อภิชาต ลี้อิสสระนุกูล บริหารกลุ่ม บริษัท ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (Stanly) และ พรทิพย์ เศรษฐีวรรณ รับผิดชอบ บริษัท แปซิฟิค อินดัสตรีย์ส จำกัด ควบตำแหน่งงานด้านบัญชีการเงินของกลุ่มสิทธิผล

 

เปิดคลังสมบัติสิทธิผล ขุมพลังแห่งความยั่งยืน

ผมเป็นคนโตกลับมาดูเรื่องการตลาด การวางแผนต่างๆ และเรื่องความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น (พาร์ทเนอร์ของเครือ) โดยส่วนหนึ่งอยู่ที่เราให้เกียรติซึ่งกันและกัน แบ่งกันชัดเจน โดยเงินปันผลได้รับตามสัดส่วนโฮลดิ้งที่คุณพ่อจัดสรรไว้แล้ว ซึ่งการนำหุ้นไปอยู่ในโฮลดิ้งเป็นโจทย์ของครอบครัวว่า ไม่สามารถขายหุ้นทิ้ง เพราะ management right จะหายไปด้วยทนงกล่าวถึงก้าวแรกในธุรกิจครอบครัวหลังสำเร็จการศึกษาจากญี่ปุ่น โดยเริ่มที่ บมจ.อีโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย)

หลังกลับจากญี่ปุ่น ผมคิดคอนเซปท์แรกของตัวเอง คือ King of Fast-moving Spare Parts เช่น ยางล้อ หลอดไฟ แตกหักเสียหายหรือสึกหรอต้องเปลี่ยน แม้สองล้อจะเล็กกว่าสี่ล้อ แต่มีจำนวนผู้ใช้งานมาก ผมคิดว่า mass transport ของเรายังไม่สะดวกมากทำให้ยานพาหนะยังมีความต้องการและเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในไทย

กลุ่มสิทธิผล ผลประกอบการ

สิทธิผลจึงพัฒนาจนเป็นเจ้าแห่งอะไหล่และชิ้นส่วนยานยนต์ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจยางรถ กลุ่มธุรกิจแสงสว่างอิเล็กทรอนิกส์และพลาสติก กลุ่มธุรกิจโซ่และเหล็กแปรรูป ทั้งยังขยายน่านน้ำไปยังธุรกิจพลังงานตามโอกาสการเติบโตที่เล็งเห็น

สำหรับเป้าหมายสำคัญของกลุ่มสิทธิผลอยู่ที่การสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงสม่ำเสมอเฉลี่ย 10% ทุกปี และการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ เช่น ลาว อินโดนีเซีย และปากีสถาน รวมถึงการต่อยอดทางธุรกิจเพื่อกระจายความเสี่ยง

กลุ่มสิทธิผล โซ่จักรยานยนต์
ผลิตภัณฑ์จากกลุ่มสิทธิผล: โซ่จักรยานยนต์ D.I.D

เราต้องต่อยอดแตกกิ่งก้านไปเรื่อยๆ ในทุก material ที่เราทำ เราเน้นความสม่ำเสมอเลี้ยงตัวเองได้ด้วยการเติบโตประมาณ 10% ทุกปี พนักงานเราออกน้อยมาก ซึ่งเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของเราที่พนักงานอยู่กับเราเป็นเวลานานหลายหมื่นชีวิต แม้อัตราการเติบโตเราจะช้ากว่าคนอื่น แต่เป็นการเติบโตแบบ realistic จากความพยายามค้นหาและตอบสนองความต้องการของลูกค้า กลุ่มสิทธิผลตั้งใจทำงานโดยไม่มีทางลัด

นอกจากนั้น ในปีนี้บริษัทยังเตรียมฉลองครบรอบศตวรรษ ด้วยการทุ่มงบลงทุนกว่า 500 ล้านบาท สร้างอาคารสำนักงานใหม่ย่านพระราม 3 เพื่อเป็นศูนย์รวมธุรกิจในเครือ รองรับการเติบโตในอนาคต บนพื้นที่ 7,500 ตรงเมตร ความสูงอาคาร 21 ชั้น

 

IRCT Group หมื่นล้าน ปักหมุด 2 เท่าใน 5 ปี

หนึ่งในธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับกลุ่มสิทธิผล ภายใต้การนำของ พิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล ประธานกรรมการบริหาร ของ บริษัท อีโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ IRC

ความมุ่งมั่นของพิมพ์ใจในการปรับปรุงกระบวนการผลิต พัฒนาตลาด และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาที่ประเทศกำลังขยับขยายได้กลายเป็นแรงส่งให้ยอดขายธุรกิจเติบโตเป็นเท่าตัวในเวลาเพียงไม่กี่ปี และสามารถจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2537

เราทำงานกับพาร์ทเนอร์ด้วยใจ trust ไว้วางใจกัน ซึ่งพาร์ทเนอร์ญี่ปุ่นช่วยเสริมฐาน OEM แต่ก็ต้องมั่นใจว่าเราดูแลลูกค้า OEM ได้ ให้สมกับที่เขามั่นใจเรา ขณะเดียวกันการสื่อสารและความเข้าใจระหว่างเรากับพาร์ทเนอร์และลูกค้าต้องเหมือนบอลลูกเดียวกันจึงจะไปอย่างมีประสิทธิภาพ

กลุ่มสิทธิผล ยาง IRCT
กลุ่ม IRCT เป็นหนึ่งในผู้ผลิตหลักในตลาด OEM (first-tier) ซัพพลายเออร์ของผู้ประกอบรถยนต์เกือบทุกค่าย และยางรถจักรยานยนต์ IRC ที่ติดตั้งพร้อมรถจักรยานยนต์ใหม่ทุกค่าย

กลุ่ม IRCT ยังให้ความสำคัญกับการค้นคว้าวิจัยด้านยางอีลาสโตเมอร์ ยางสังเคราะห์ และยางธรรมชาติ ด้วยงบประมาณกว่า 800 ล้านบาท จัดตั้งบริษัทวิจัยและพัฒนา เพื่อรองรับนโยบายประเทศในการสร้างองค์ความรู้ต่อยอดธุรกิจ

จากยอดขายวันที่เราเข้ามา 300 ล้านบาท เราตั้งใจว่าถึงหมื่นล้าน จะล้างมือในอ่างทอง แต่ตอนนี้ใกล้หมื่นล้านบาทแล้ว เราขอต่ออีก 5 ปี ด้วยศักยภาพที่มีทั้งทีมงาน องค์ความรู้ความสามารถวิจัยพัฒนา คอนเนคชั่นทุกอย่าง พร้อมหมด การที่เราเป็นผู้ผลิตและพัฒนาสินค้าที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภค ทำให้เรามั่นใจว่าจะขยายฐานหรือยอดขายเป็นสองเท่าสู่ 2 หมื่นล้านบาทได้ใน 5 ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน พิมพ์ใจย้ำ

นอกจากนั้น พิมพ์ใจยังเล็งเห็นโอกาสสร้างการเติบโตในตลาดต่างประเทศจากปัจจุบันที่มีสัดส่วนเกือบ 50% ของรายได้หรือจำนวนราว 4 พันล้านบาท โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม จากเทรนด์การใช้งานรถมอเตอร์ไซค์ที่เปรียบเหมือนสินทรัพย์และการลงทุน รวมถึงความต้องการยางล้อรถมอเตอร์ไซค์ที่มีอยู่จำนวนมาก พร้อมทั้งเล็งเห็นความต้องการยานยนต์ในกลุ่มประเทศแถบแอฟริกาเหนือที่น่าสนใจและยังมีโอกาสสร้างการเติบโตได้ในอนาคต

อ่านเพิ่มเติม: ธุรกิจในมือทายาทรุ่น 3 เรื่อง: พรพรรณ ปัญญาภิรมย์ และพิชญ ช้างศร ภาพ: ชัยสิทธิ์ จุนเจือดี

[ติดตามอ่านเรื่องราวของกลุ่มสิทธิผลตอน 2 ได้ที่นี่ หรืออ่านเรื่องราวฉบับเต็มได้ใน e-Magazine กดติดตาม Facebook @ForbesThailandMagazine เพื่อไม่พลาดบทความดีๆ ของเรา]


คลิกเพื่ออ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ เมษายน 2562 ในรูปแบบ e-Magazine