ศิรเดช โทณวณิก ปั้นดุสิตครบมิติความยั่งยืน - Forbes Thailand

ศิรเดช โทณวณิก ปั้นดุสิตครบมิติความยั่งยืน

การผสมผสานของความคิด ความเชื่อ และประสบการณ์ที่สั่งสมของนายน้อยแห่งดุสิต สู่การแจ้งเกิด 'ASAI' เติมเต็มดีมานด์นักท่องเที่ยวรุ่นมิลเลนเนียล

ภาคต่อของโรงแรมแบรนด์ไทยอายุมากกว่า 6 ทศวรรษนับตั้งแต่เริ่มต้นตำนาน โดย ท่านผู้หญิง ชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้งโรงแรมปริ๊นเซสบนถนนเจริญกรุงในปี 2492 และโรงแรมดุสิตธานีมุมถนนสีลม ถ่ายทอดเจตนารมณ์ไปยัง ชนินทธ์ โทณวณิก บุตรชายผู้สร้างการเติบโตทางธุรกิจ ทั้งยังเพาะเมล็ดพันธุ์ให้ลูกไม้ใกล้ต้นสามารถแตกกิ่งก้านธุรกิจใหม่ให้มั่นคงมากยิ่งขึ้น “ผมโตที่อังกฤษตั้งแต่อายุ 9 ปีถึง 21 ปี ผมอยู่ที่อังกฤษทำอาหารกินเองทุกวันเพราะค่าอาหารแพง เรียนไปทำงานไปตั้งแต่อายุ 15 ปี เริ่มจากพนักงาน freeze burger ในร้าน McDonald’s ที่อังกฤษ” ศิรเดช โทณวณิก บุตรชายคนโตของชนินทธ์เริ่มต้นเล่าถึงการใช้ชีวิตในต่างแดนก่อนนั่งเก้าอี้รองประธานฝ่ายพัฒนาธุรกิจและโครงการใหม่ กลุ่มบริษัทดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กรรมการผู้จัดการ กลุ่มสถาบันการศึกษาของดุสิตอินเตอร์เนชั่นแนล และกรรมการผู้จัดการ บริษัท อาศัย โฮลดิ้งส์ จำกัด  ศิรเดช โทณวณิก บุตรชายคนโตของชนินทธ์ ทายาทเครือดุสิตธานีวัย 32 ปี หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและการเมือง University of Exeter ประเทศอังกฤษ นายน้อยแห่งดุสิตสมัครใจเริ่มต้นเส้นทางการทำงานในสายการเงินเพื่อสั่งสมพื้นฐานประสบการณ์ก่อนจะกลับมาทำงานในเครือ “ผมไม่ได้จบไฟแนนซ์ แต่ต้องการเรียนรู้โลกการเงินเพราะคิดว่าสำคัญกับธุรกิจ หลังจากนั้นจึงกลับมาทำงานในเครือดุสิตช่วงอายุประมาณ 23 ปี เพื่อเร่งเรียนรู้งานเกี่ยวกับ Hospitality และ Travel Industry” ศิรเดชกล่าวถึงการเข้าสู่ธุรกิจครอบครัวในปี 2550 โครงการแรกที่ทายาทลูกไม้ใต้ต้นได้แสดงฝีมือสร้างผลงานเป็นที่ยอมรับ เริ่มจากโครงการ Dusit Thani Maldives ซึ่งร่วมกับ Giovanni Angelini ปิดดีลได้ภายใน 3 เดือนและเป็นผู้บริหารจัดการโครงการตั้งแต่เริ่มก่อสร้างจนกระทั่งสามารถเปิดดำเนินงาน นอกจากนี้ ศิรเดชยังได้รับมอบหมายให้ดูแลและรับผิดชอบด้านการค้นหาโอกาสและพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ ให้กับเครือ Dusit Thani Maldives หนึ่งในผลงานที่เขามีส่วนร่วมสร้างความสำเร็จด้านการศึกษา ได้แก่ โรงเรียนการโรงแรมที่ฟิลิปปินส์ (Dusit Hospitality Management College) Manila ฟิลิปปินส์ ซึ่งศิรเดชช่วยวางคอนเซปท์และติดต่อสองพันธมิตรที่ดีที่สุดในยุโรป เช่น โรงเรียนการโรงแรมโลซานน์ (Ecole Hôtelière de Lausanne หรือ EHL) และ Institut Paul Bocuse (IPB) จาก Lyon ฝรั่งเศส มาร่วมงาน ทั้งนี้ ในปัจจุบันดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นผู้นำด้านบริหารโรงแรม การศึกษา และดำเนินธุรกิจเทวารัณย์สปา โดยบริหารโรงแรมและรีสอร์ทรวม 4 แบรนด์ ได้แก่ ดุสิตธานี ดุสิตดีทู ดุสิตปริ๊นเซส และ ดุสิตเดวาราณา ซึ่งมีโรงแรมที่เปิดให้บริการแล้วทั้งหมด 27 แห่ง และมีโรงแรมที่อยู่ในแผนเปิดให้บริการเพิ่มขึ้นอีก 70 แห่งทั่วโลกใน 3 ปีข้างหน้า เช่น บาห์เรน ภูฏาน จีน ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม  รวมถึงมี วิทยาลัยดุสิตธานี ที่กรุงเทพฯ และพัทยา โรงเรียนสอนประกอบอาหาร เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต และโรงเรียนดุสิตธานีการโรงแรม ขณะที่ผลประกอบการในปีที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้รวมทั้งหมดจำนวน 5.57 พันล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นในสัดส่วน 2.7% จากปีก่อนหน้า และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 134% หรือจำนวน 267 ล้านบาท   สร้างชื่อ ASAI สู่แบรนด์ ASIA ทายาทวัย 32 ปีขณะนี้พร้อมเดินหน้าสู่ความท้าทายใหม่ ด้วยความคิดในแบบฉบับของนักธุรกิจรุ่นมิลเลนเนียล (ผู้ที่เกิดในช่วงทศวรรษที่ 80-90 หรือปี 2523-2533) “เราเห็นช่องว่างในตลาด ทั้งยุโรป อเมริกาต่างมีแบรนด์ครีเอทีฟจำนวนมาก ขณะที่เรายังไม่เห็นแบรนด์เอเชียหรือโรงแรมที่มีเชนเจาะตลาดนี้อย่างจริงจัง เช่นเดียวกับดุสิตที่ยังไม่มีโรงแรมในกลุ่มนี้ เรายังไม่ตอบสนองในแง่ของนักเดินทางรุ่นใหม่ที่เริ่มมีจำนวนมากขึ้น เขาไม่ได้มองโรงแรมเฉพาะมุม product แต่เป็น experience ซึ่งเป็นความท้าทายที่ผมชอบในการทำสิ่งที่จับต้องไม่ได้ แต่ครีเอทได้ เราสามารถนำเสนอ brand value สร้างแบรนด์ ASAI ขึ้น” พื้นที่ส่วนกลางขนาดใหญ่และเปิดโล่งอันเป็นเอกลักษณ์ของ ASAI แบรนด์ ASAI หรืออาศัย ใช้สโลแกน “Live Local” สะท้อนชัดถึงการอาศัยอยู่ร่วมกันในท้องถิ่นหรือชุมชนที่มีความหลากหลาย การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน “ชื่อแบรนด์ยังมีลูกเล่นสลับตัวอักษรหมายถึงการก้าวสู่แบรนด์แห่งเอเชีย” แบรนด์คอนเซปท์นั้นผสมผสานเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่เข้ากับดีไซน์ร่วมสมัย และให้ความสำคัญกับการมอบประสบการณ์แบบผู้คนในท้องถิ่น และยังจัดสรรพื้นที่ส่วนกลางในโรงแรมสำหรับให้ผู้คนพบปะแลกเปลี่ยนไอเดียและประสบการณ์ ทั้งยังมีการนำเสนอรูปแบบบริการที่แตกต่าง โดยนำเทคโนโลยีมาใช้อำนวยความสะดวก เช่น การเช็กอินด้วยตัวเองที่ตู้บริการอัตโนมัติ บริการคู่มือท่องเที่ยวออนไลน์ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมที่มีแต่เฉพาะคนท้องถิ่นเท่านั้นที่รู้จัก  หรือสถานที่ที่เหมาะกับการเป็นจุดถ่ายรูปเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ในโซเชียลมีเดีย แม้ห้องพักใน ASAI จะมีขนาดกะทัดรัด 15 ตารางเมตร แต่ออกแบบดีไซน์ห้องให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกตารางเมตร โรงแรมอาศัยทุกแห่งมีห้องพักที่ตกแต่งในสไตล์ร่วมสมัยขนาดกะทัดรัดประมาณ 15 ตารางเมตร แต่พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกระดับคุณภาพ มีมุมพักผ่อนพูดคุย เล่นเกม หรือทำงานได้เต็มที่ รวมถึงร้านอาหารที่รังสรรค์เมนูโดยเชฟชื่อดังในท้องถิ่น สำหรับแผนการขยายโรงแรมในช่วงแรกวางไว้ 6 แห่งในเอเชียจำนวนห้องพักรวมกันมากกว่า 1,000 ห้อง ได้แก่ สาทร และจตุจักร ในกรุงเทพฯ, Lahug Cebu, Mactan Cebu และ Oslob Cebu ประเทศฟิลิปปินส์ รวมถึง Yankin Yangon ประเทศเมียนมา พร้อมพิจารณาทำเลที่นักท่องเที่ยวจะได้รับประสบการณ์หลากหลาย ทั้งกิจกรรมที่น่าสนใจ ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต และวัฒนธรรมมีเอกลักษณ์โดดเด่น เช่น Tokyo ประเทศญี่ปุ่น “ผมวางเป้าหมายเซ็นสัญญาปีละประมาณ 10 โรงแรม ในปีนี้ประมาณ 6 โรงแรม ยังเหลืออีก 4 โรงแรมถึงสิ้นปี ผมไม่กลัวการแข่งขัน ผมเชื่อมั่นในตลาดเสรีซึ่งช่วยสร้างอุตสาหกรรมและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ”   เชื่อมั่นปรัชญาแห่งความยั่งยืน ในฐานะทายาทผู้ขับเคลื่อนภาคต่อของอาณาจักรดุสิต เขาเล็งเห็นความสำคัญของความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นการพัฒนาโรงแรมบนแนวทางแห่งความยั่งยืน  “ผมมี passion เรื่องนี้มาก โดยในช่วงที่ผ่านมาเราได้เรียนรู้จากงาน Wonder Fruit Festival ซึ่งเป็น social enterprise มากกว่าการมองเป็นธุรกิจสร้างรายได้ โดยเราสามารถสร้างสรรค์โครงการให้ผู้ที่มางานจำนวนกว่า 15,000 คนสมัครใจไม่ใช้พลาสติก” ศิรเดชกล่าวถึงความสำเร็จของการเป็นหนึ่งในผู้ร่วมจัดงานเทศกาลไลฟ์สไตล์ขนาดใหญ่ที่พัทยา Wonder Fruit Festival 2017 เทศกาลไลฟ์สไตล์ที่รวมทั้งดนตรี งานศิลปะ อาหาร เวิร์กช็อป และทอล์กโชว์สร้างแรงบันดาลใจ (photo credit: residentadvisor.net นอกจากนั้น ผู้บริหารหนุ่มยังร่วมสนับสนุนงาน RE Food Forum เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหันมาใส่ใจการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน ลดปัญหาขยะในอุตสาหกรรมอาหาร ท่องเที่ยว และโรงแรม พร้อมทั้งพัฒนานวัตกรรมต่างๆ เช่น เครื่องผลิตปุ๋ยธรรมชาติ เพื่อบริจาคให้ชาวนา “ผมเห็นตัวอย่างจากโรงแรมที่ Maldives ซึ่งตัดสินใจผลิตน้ำดื่มเองแทนการนำเข้า โดยสามารถลดจำนวนขวดพลาสติกได้ถึง 300,000 ขวดต่อปี...แม้จะต้องลงทุนจำนวนมาก แต่ก็สามารถถึงจุดคุ้มทุนได้ภายใน 2 ปีครึ่ง” ศิรเดชกล่าวถึงแรงบันดาลใจที่ได้รับจากโรงแรม Dusit Thani Maldives นอกเหนือจากการผลิตน้ำดื่ม กลุ่มดุสิตยังเริ่มต้นก้าวสู่เกษตรกรรมยั่งยืน ด้วยการผลิตปุ๋ยผ่านเครื่องอัดหมักที่เดินเครื่องตลอด 24 ชั่วโมงโดยการนำเศษอาหารมาใช้ผลิตปุ๋ยสำหรับปลูกพืชผักบนเกาะ ซึ่งสามารถช่วยลดขยะถึง 85% “ทั้งสิ่งที่คุณพ่อและคุณย่าปฏิบัติ เราต้องนำตรงนี้มาสานต่อ ด้วยวิธีการในรุ่นของเรา คุณพ่อสอนด้วยการทำให้เห็น ไม่ใช่แค่คำพูด สิ่งที่เราเห็นเป็นแบบอย่างและยึดถือตลอดมาคือความจริงใจ หรือ honest ท่านเป็นคนถ่อมตัวมาก ท่านสอนให้เป็นคนดีของสังคมและทำในสิ่งที่เราภูมิใจ”   ภาพ: กิตติเดช เจริญพร
คลิกอ่าน "ศิรเดช โทณวณิก ปั้นดุสิตครบมิติความยั่งยืน" ฉบับเต็มได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand เดือนสิงหาคม 2561 ในรูปแบบ e-Magazine