อาชีพโบรกเกอร์มักถูกมองเป็น “เสือนอนกิน” แต่ในวันที่การแข่งขันดุเดือดเช่นนี้ จะนอนกินแบบเดิมๆ คงไม่ได้ แต่ ธนพิศาล คูหาเปรมกิจ เสือหนุ่มเจนเนอเรชั่น 3 แห่งบ้าน “คูหาเปรมกิจ” กลับมองว่ามันเป็นวัฏจักรแห่งโอกาสรอบใหม่
การเป็นลูกชายคนสุดท้องของครอบครัวไม่ได้หมายความว่า ต้องรอให้พี่ๆ เข้ามารับช่วงธุรกิจก่อนเสมอไปบางครั้งลูกคนเล็กก็ได้รับการถ่าย-โอนธุรกิจให้นั่งเก้าอี้บริหารสูงสุดได้เช่นเดียวกับ “ธนพิศาล คูหาเปรมกิจ” หรือ “อัพ” ซีอีโอหนุ่มในวัย 37 ปี เขานั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด มาเป็นเวลา 8 ปีแล้ว นั่นหมายความว่า เขาก้าวสู่ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดมาตั้งแต่วัยต่ำกว่า 30 ด้วยซ้ำ และใช้เวลา 5 ปีในการเติบโต หลังจากได้เริ่มงานครั้งแรกกับธุรกิจใหม่ของครอบครัวคูหาเปรมกิจ ที่เดิมทำธุรกิจค้าทองคำส่งออก-นำเข้า และผลิตทองคำแท่ง ก่อนจะเข้าสู่ธุรกิจหลักทรัพย์ในช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง (2540) ได้ไม่นานจากนั้น 10 ปีให้หลัง ธนพิศาลจึงได้เข้ามาร่วมงานกับโกลเบล็กเมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาโท master of science in finance จาก University of Warwick, UK ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 2 (2550-2551) สาขาที่เขาเลือกเรียนคือ pricing market option ตลาดตราสารอนุพันธ์ (derivative) สายตรงธุรกิจหลักทรัพย์ก็ว่าได้ “ผมเป็นลูกชายคนสุดท้องของคุณพ่อซึ่งเป็นลูกชายคนโตของคุณปู่ ตอนแรกก็ไม่ได้คิดว่าจะมานั่งเป็นผู้บริหารเต็มตัวอะไร แต่ที่เลือกเรียนด้านเศรษฐศาสตร์เพราะตอนนั้นที่บ้านทำธุรกิจค้าทองคำซึ่งมันเกี่ยวกับเศรษฐกิจอยู่แล้ว ที่เรียนด้านนี้ก็คิดว่าต้องมาช่วยครอบครัว” ธนพิศาลเล่าที่มาของเขาก่อนเข้ารับตำแหน่งซีอีโอโกลเบล็ก ซึ่งคุณพ่อที่เขาหมายถึงคือ “โอฬาร คูหาเปรมกิจ” ผู้ก่อตั้งธุรกิจหลักทรัพย์โกลเบล็กในยุคเริ่มต้น และปัจจุบันยังคงเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญให้กับบริษัท การตัดสินใจในเรื่องใหญ่ๆ บิดาของเขาต้องมีส่วนร่วม แต่ก็ไม่ได้เข้ามาดูในทุกเรื่อง ปล่อยให้ผู้บริหารเจเนอเรชั่น 3 อย่างเขาเดินหน้าได้เต็มที่ “ปกติผมเป็นคนรันบิซิเนส ส่วนคุณพ่อท่านจะดูแต่เรื่องใหญ่ๆ ที่เราต้องปรึกษาหารือในการตัดสินใจ” ย้อนไปที่จุดเริ่มต้นการทำงานในโกลเบล็ก ธนพิศาลเล่าว่า “ผมเข้ามาดูโฮลดิ้งก่อน ดูภาพรวมธุรกิจโดยเข้ามาเมื่อปี 2550 ตั้งแต่เรียนจบก็มาเป็นที่ปรึกษาตลาดตราสารอนุพันธ์ให้เครือด้วย” เนื่องจากเขาจบมาด้านไฟแนนซ์โดยตรงในระดับปริญญาโทแต่ในระดับปริญญาตรีเขาเรียนเศรษฐศาสตร์ที่ Boston University College of Art and Sciences แล้วจึงค่อยไปต่อโทที่อังกฤษ โดยงานวิทยานิพนธ์ที่เขาทำคือ “การพยากรณ์ราคาทองคำ” ดังนั้น เมื่อกลับมาทำงานเขาจึงเริ่มที่ฝั่งโฮลดิ้ง และดูเรื่องทองคำ แต่ต่อมาเนื่องจากหลักทรัพย์โกลเบล็กประสบปัญหา ผู้บริหารสูงสุดซึ่งเป็นซีอีโอมืออาชีพลาออกไป และผู้บริหารระดับรองก็ลาออกในเวลาต่อมา “ตอนนั้นที่หลักทรัพย์โกลเบล็กเหมือนขาดหัวไม่มีคนดูภาพรวม ผมจึงเข้ามา” นี่คือจุดเริ่มต้นในฐานะซีอีโอของธนพิศาล ทายาทหนุ่มของคูหาเปรมกิจที่มีพื้นฐานด้านหลักทรัพย์โดยตรง บทพิสูจน์แรกบริหารคน ธนพิศาลก้าวเข้าสู่ตำแหน่งซีอีโอในวัยที่ยังไม่ถึง 30 ด้วยซ้ำ แต่ปัญหาที่เขาต้องเผชิญให้พิสูจน์ฝีมือในฐานะผู้บริหารหลักเรื่องแรกคือ การแก้ปัญหาเรื่องคน ตอนที่เข้ามานั่งเก้าอี้ผู้นำ นอกจากมาเพราะซีอีโอคนเก่าลาออกแล้ว ยังพบว่ามีปัญหาความเหลื่อมล้ำเรื่องคนในองค์กรรอการแก้ไขอยู่ ซึ่งในธุรกิจโบรกเกอร์ หรือตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ หัวใจของทีมคือฝ่ายการตลาดและการขาย ขณะนั้นมีปัญหาความเหลื่อมล้ำหลายอย่างภายในองค์กร โดยเฉพาะกับทีมงานฝ่ายการตลาดที่มีหลายกลุ่ม มีปัญหาทั้งเรื่องรายได้ ผลตอบแทนสวัสดิการที่ไม่เท่าเทียม สร้างความกดดันให้เขาพอสมควร เพราะทีมงานแต่ละคนล้วนมีความสำคัญ วิธีการแก้ปัญหาของซีอีโอหนุ่มคือ การเรียกทีมงานเข้ามาคุยทีละคน เปิดอกคุยทุกปัญหา ใครข้องใจเรื่องอะไร คิดว่ามีความไม่ชอบธรรมอะไรธนพิศาลดึงข้อมูลเหล่านั้นจากทีมงานทั้งหมด ในที่สุดก็แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้สำเร็จ “ผมใช้เวลาไม่น้อยเลยราว 8-9 เดือนกว่าจะเคลียร์ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำของทีมงานได้ลงตัว มาทุกวันนี้ทุกคนแฮปปี้ ทำงานกันเหมือนเพื่อน เหมือนญาติพูดคุยกันได้ทุกเรื่อง การเติบโตของบริษัทก็ดีขึ้นมาก” ซีอีโอหนุ่มเล่าว่า ในช่วงวิกฤตตอนนั้นจากพนักงาน 400 คน มีลาออกพร้อมกัน 70-80 คน เกิดภาวะสมองไหลซึ่งมาจากการแข่งขันที่สูงของธุรกิจหลักทรัพย์ มีการดึงตัว มีการซื้อตัว กว่าจะก้าวข้ามปัญหาเหล่านั้นมาได้โกลเบล็กภายใต้การนำของธนพิศาลก็ต้องต่อสู้ช่วงชิงไม่น้อย โดยเฉพาะการรั้งทีมงานให้อยู่ด้วยอย่างเต็มใจจากการให้ผลตอบแทนที่เป็นธรรมและทั่วถึง แต่มาวันนี้เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปจำนวนพนักงานปรับลดไปตามสถานการณ์โกลเบล็กมีทีมงานราว 200 คน แต่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมาก สามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างทั่วถึง ซึ่งธนพิศาลบอกว่า นี่คือหัวใจที่เขาต้องการสร้างให้เกิดขึ้นเป็นจุดเด่นด้านบริการของโกลเบล็ก ด้วยการให้บริการลูกค้าได้ดีที่สุดอย่างที่ลูกค้าต้องการ “โกลเบล็กเราอยากเป็นโบรกเกอร์คนไทยที่เซอร์วิสลูกค้าได้ทุกอย่าง แต่ยังคงกติกาตามกฎหมายเป๊ะ เราอยากเป็น niche ด้านบริการ การดูแลลูกค้าให้พวกเขารู้สึกสะดวกสบาย” Diversify เพิ่มรายได้ เมื่อรายได้จากการเป็นโบรกเกอร์ลดลงสิ่งที่ผู้บริหารโกลเบล็กพยายามทำคือการ diversify เพื่อหารายได้เพิ่มในช่องทางอื่นๆ ซึ่งเขาบอกว่าทำมาหลายปี “เรา diversify ไปทำหุ้นกู้ underwrite หุ้นกู้แทน ออก corporate bond และทำตลาดรอง ลูกค้า sale buy back มีเงินมาซื้อหุ้นกู้ เราทำสัญญาซื้อกัน เพราะดีกว่าฝากเงินได้ดอกเบี้ยที่ดีกว่า” ธนพิศาลอธิบายและว่า การทำ trading bond ค่อยๆ กระจายรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ทำเฉพาะ traditional brokerage และนอกจากนี้ยังทำ IB (investment banking) รวมทั้งพยายามทำกองทุนต่างๆ และหน่วยลงทุนเพิ่ม โดยมีทีมที่หาลูกค้าหน่วยลงทุนและบริษัทยังเป็นตัวแทนขายให้กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ต่างๆ ด้วย ก่อนจบการสัมภาษณ์ แม่ทัพหนุ่มแห่งโกลเบล็กยังได้บอกเล่าตัวตนและวิธีคิดในการทำงานของเขาว่า “ผมเป็นคนไม่ใจร้อนแต่ก็ไม่ถึงกับใจเย็น เป็นคนรับฟัง ถ้าร้อนผมก็ร้อน เป็นคนให้โอกาสคน รับฟัง แก้ปัญหาก่อนลงมือทำ บริหารสไตล์ท็อปดาวน์ให้อำนาจแต่ละคนตัดสินใจทำงาน แต่ทุกคนต้องรับผิดชอบถ้าเราล้วงไปทุกลูกก็ปวดหัวเราเอง บางทีมีการเบรกเราก็รับฟังไม่เผด็จการ 100%” เมื่อถามถึงปรัชญาในการทำงาน ธนพิศาลบอกว่า “ปรัชญาผมมี 2 ข้อ เรื่องแรกความรับผิดชอบ รับปากใครอย่างไรตื่นมารู้หน้าที่ตัวเอง ไม่เถลไถล แต่วิธีการก็แล้วแต่ และอย่างที่สองคือ ซื่อสัตย์ต่อธุรกิจกับลูกค้าเชื่อมั่นให้คำสัญญากับลูกค้ากับทุกคน” คือบทสรุปความเป็นซีอีโอเจเนอเรชั่น 3 ของธนพิศาล คนหนุ่มที่มีสไตล์การทำงานแบบมั่นใจ และพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าภาพ: ชัยสิทธิ์ จุนเจือดี
อ่านเพิ่มเติม: ธราภุช คูหาเปรมกิจ คุมขุมทองโฮลดิ้ง GBXคลิกอ่านฉบับเต็ม ธราภุช คูหาเปรมกิจ คุมขุมทองโฮลดิ้ง GBX ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤษภาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine