ทรูประกาศความพร้อมมั่นใจผงาดเป็นผู้นำกลุ่มภายใน 3 ปี นำคลื่นความถี่เป็นใบเบิกทางขยายฐานธุรกิจแกร่งร่วมเสริมทัพโครงสร้างพื้นฐานประเทศเปิดฉากยุคเศรษฐกิจดิจิทัลสู่ศูนย์กลางแห่งอาเซียน
กว่า 3 ปีนับจากอภิมหาเศรษฐีแห่งเอเชียอาคเนย์เคยประกาศวิสัยทัศน์ไว้อย่างชัดเจนใน Forbes Thailand ฉบับกรกฎาคม 2556 ว่า “ตลาดในโลกนี้เป็นของ ซีพี” ผู้นำทัพและบรรดาทายาทแห่งเจียรวนนท์ยังคงทุ่มเทสรรพกำลังขับเคลื่อนอาณาจักรอย่างต่อเนื่อง ทั้งธุรกิจการเกษตร อาหารค้าปลีก และโทรคมนาคม สู่มูลค่าทรัพย์สิน รวม 6.6 แสนล้านบาท หลังจากทายาทคนที่ 4 ของเจียรวนนท์ทุ่มงบปิดสองดีลประมูลแห่งปีรวม 1.16 แสนล้านบาท สปอต์ไลท์ดวงใหญ่ก็เปลี่ยนทิศสาดส่องไปยังธุรกิจโทรคมนาคม ภายใต้ปีกของ ศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้พลิกเกมธุรกิจจากมวยรองที่เคยเสียเปรียบคู่แข่งอยู่หลายขุมกลายเป็นผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมครบวงจรในประเทศที่มีอาวุธครบมือ “เราเคยเสียเปรียบ เพราะมาทีหลัง เราได้รับสัมปทานน้อยที่สุด ระยะเวลาสั้นที่สุด แต่วันนี้เรามีคลื่นที่ดีที่สุดอยู่ในมือ 4G ที่ดีที่สุด ทั้งความจุ คลื่นความถี่ ความเร็วสูงสุด และเครือข่ายคุณภาพที่มีความครอบคลุม ทั้งยังเป็นผู้นำด้านคอนเวอร์เจนซ์ครบวงจร เราเป็นรายเดียวที่มีแพลตฟอร์มครบ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ บริการโทรทัศน์ บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต ความเร็วสูงครอบคลุม 10 ล้านครัวเรือน”ศุภชัยกล่าวถึงความพร้อมนำทรูขยับชั้นสู่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเป็นผู้นำโลกการสื่อสารโทรคมนาคมแบบคอน-เวอร์เจนซ์อย่างแท้จริง ความมุ่งมั่นจริงจังของผู้นำทัพวัย 49 ปี ยังคงฉายชัดเช่นเดียวกับวันแรกที่เริ่มต้นทำงานบนเส้นทางธุรกิจครอบครัว จากผู้อำนวยการฝ่ายห้องปฏิบัติการ ในบริษัท เทเลคอมเอเซีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ (ชื่อเดิมของทรู) ปี 2536 ไต่ระดับเรียนรู้งานหลายแผนกจนได้นั่งเก้าอี้รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสด้านปฏิบัติการซึ่งเป็นจังหวะเดียวกันกับพิษต้มยำกุ้งที่เล่นงานธุรกิจสื่อสารในเครือซีพีแทบล้มละลาย ด้วยหนี้สินจำนวนเกือบแสนล้านบาทในปี2540 ด้วยกลยุทธ์ฝ่าวิกฤตของศุภชัยในขณะนั้น อยู่ที่ความเพียรพยายามสร้างความเชื่อมั่นและเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงความพร้อมปรับเปลี่ยนธุรกิจให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลกและโอกาสทางธุรกิจที่ที่เป็นมากกว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน คือการโดดเข้าสู่ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในนาม ทีเอออเร้นจ์ ก่อนเปลี่ยนเป็น ทรูมูฟ และปรับยุทธศาสตร์ธุรกิจสู่ “Convergence Lifestyle” ผสมผสานสินค้าและบริการต่างๆ ในกลุ่มเพื่อตอบสนองความต้องการและไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายของผู้ใช้บริการ “แม้ในระหว่างกระบวนการเรียนรู้จะมีความเจ็บปวด ตอนวิกฤตเราล้มละลายตอนที่ฟื้นกลับก็อ่อนแอเหมือนคนฟื้นไข้แต่สำหรับผมถือเป็นประสบการณ์และบทเรียนที่มีค่าเราเห็นวิกฤตในแต่ละยุคเราเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางเทคโนโลยีที่ต้องปรับตัวให้ทัน ทันทีที่มีโอกาสเราเปลี่ยนตัวเองเป็น 3G การเป็นผู้นำ สร้างความเปลี่ยนแปลงดีกว่าเป็นผู้ตามความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่โอกาสของทรู แต่เป็นโอกาสของประเทศ จากบรอดแบนด์ที่เข้าถึงทุกคนประเทศไทยจะสร้างประโยชน์ สังคม และเศรษฐกิจจากเทคโนโลยีได้อย่างไร” ปัจจุบันกลุ่มทรูสามารถขยายอาณาจักรสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งใน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ กลุ่มทรูโมบาย ธุรกิจให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ครอบคลุมทั่วประเทศ และมีแบนด์วิดท์ภายใต้ใบอนุญาตที่มากที่สุดในประเทศไทย ส่วนกลุ่มทรูออนไลน์เป็นธุรกิจให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานรายใหญ่ที่สุดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ด้วยจำนวนผู้ใช้บริการราว 1.5 ล้านราย ขณะที่กลุ่มทรูวิชั่นส์ ยังเป็นผู้นำบริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกและบริการในระบบ HD ทั่วประเทศ ด้วยจำนวนฐานลูกค้าทั้งหมด 3.1 ล้านราย ณ สิ้นปี 2558 สำหรับผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558 กลุ่มทรูมีทุนจดทะเบียนและทุนชำระแล้ว 98,432 ล้านบาท สินทรัพย์รวม 2.8 แสนล้านบาท รายได้รวม 1.2 แสนล้านบาท และกำไรสุทธิ 4.4 พันล้านบาท โดยไตรมาสแรกมี 2559 มีสินทรัพย์รวม 3.7 แสนล้านบาท รายได้ 3.3 หมื่นล้านบาทและกำไรสุทธิ 1.97 พันล้านบาท ทรูติดอาวุธรับพรมแดนใหม่ ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของทรูเริ่มต้นขึ้นหลังจากชนะดีลการประมูลคลื่นความถี่ที่กลายเป็นอาวุธครบมือ ด้วยความมุ่งมั่นร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคมของไทยให้ทัดเทียมต่างประเทศ พร้อม รองรับการก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ศุภชัยวางแนวทางผสานจุดเด่นของคลื่นย่านความถี่สูง(1800 MHz และ 2100 MHz) ในเรื่องความจุและคลื่นย่านความถี่ต่ำ (850 MHz ภายใต้ CAT Telecom และ 900 MHz) ในเรื่องความครอบคลุมพร้อมเพิ่มประสบการณ์การใช้งานให้ลูกค้าและเพิ่มศักยภาพในการให้บริการของกลุ่มให้ครอบคลุมทุกมิติทั้ง 2G 3G และ 4G ที่ดีที่สุด “ภายใน 3 ปีจะเห็นสัญญาณความเป็นผู้นำของทรูอย่างแน่นอน เราลงทุนเพื่อยุคอนาคตจากที่เป็นผู้นำคอนเวอร์เจนซ์และ 4G เราสร้างโอกาสการเป็นผู้นำในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งเป็นยุคใหม่ที่ตอบโจทย์การขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ยิ่งเอกชนแข่งขันกัน ยิ่งสร้างความแข็งแกร่งให้โครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศให้เติบโต” ดังนั้น ก้าวต่อไปที่สำคัญของทุกองค์กรจึงอยู่ที่ความพร้อมในการ “ปรับตัว” โดยทรูไม่เคยประมาทคู่แข่งหน้าใหม่ที่มีโอกาสเกิดขึ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะในยุคที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงการใช้อินเทอร์เน็ตคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟนหรือแท็บเลตได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ทำให้บริการโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ตหรือ VoIP เป็นคู่แข่งที่น่ากลัว เช่น เฟซบุ๊ก, ไลน์, กูเกิล ซึ่งอาจจะตอบสนองความต้องการของตลาดได้ดีกว่า “เราเห็นมิติของความเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านเทคโนโลยีและการลงทุน รวมถึงเรื่องการเมืองที่มีการคุ้มครองดูแลโดยภาครัฐสูงทำให้เราต้องปรับตัวเองตลอด นอกจากเรื่องการตลาด นวัตกรรม การพัฒนาด้านคุณภาพการให้บริการต่างๆ หลังจากวิกฤตปี 2000 และปรับโครงสร้างหนี้สำเร็จ เราเติบโตขึ้นตลอดจากวิกฤตแต่ละช่วง ซึ่งต่อจากนี้ผมเชื่อว่าเราจะสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดและยั่งยืนในสภาพแวดล้อมที่ดีที่สุดสำหรับทรู” ศุภชัยสรุปอย่างมั่นใจในการเปิดฉากทรูยุคใหม่ที่ผ่านการจัดแต่งกระบวนทัพเป็นอย่างดี เรื่อง: พรพรรณ ปัญญาภิรมย์ ภาพ: ฐิระวิชญ์ ล้อเลิศรัตนะคลิ๊กอ่าน "ทีของ TRUE “เรามีคลื่นทีดีที่สุดอยู่ในมือ”" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ AUGUST 2016 ในรูปแบบ e-Magazine