แม้ต้นทุนชีวิตจะติดลบ แต่ลูกพ่อค้ากระเพาะปลาไม่เคยหยุด “ฝันใหญ่และไปให้ถึง” กระทั่งนำทัพบริษัทที่ปลุกปั้นนั่งแท่นเบอร์หนึ่งเจ้าตลาดอสังหาฯ เมืองไทย ก่อนเดินเกมรุกจัดขบวนใหม่เป็น “พฤกษา โฮลดิ้ง” เตรียมกวาดรายได้แสนล้านภายใน 5 ปี
ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำากัด (มหาชน) หรือ PSH ปรากฏตัวขึ้นด้วยบุคลิกสุขุม ทว่ายิ้มแย้มอย่างเป็นกันเอง บนชั้น 28 SM Tower ถนนพหลโยธินที่มองออกไปไม่ไกลบนถนนเส้นเดียวกันคือ Pearl Bangkok อาคารทรงไข่มุกที่ทองมาอนุมัติงบราว 3 พันล้านบาทในปี 2557 ให้สร้างขึ้นเป็นฐานบัญชาการใหม่ของ PSH ซึ่งคาดว่าจะเปิดใช้งานได้ในปีนี้ หัวเรือใหญ่ของ PSH วัย 60 ปี สร้างตัวจากศูนย์ ทุ่มเทกายใจฝ่าทุกขวากหนามและก้าวข้ามทุกขีดจำกัดเพื่อสร้างอนาคตที่สดใสโลดแล่นจากชลบุรีสู่กรุงเทพฯ จากลูกจ้างร้านบัดกรีสู่วิศวกร จากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างสู่อสังหาริมทรัพย์ภายใต้ บริษัท พฤกษาเรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ที่สร้างรายได้สูงสุด 5.14 หมื่นล้านบาทในปี 2558 ควบคู่กับการติดอันดับ 17 ในทำเนียบ “50 อันดับมหาเศรษฐีไทย” จัดโดยนิตยสาร Forbes ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 4.76 หมื่นล้านบาท ก่อนที่ปี 2559 จะขยับขึ้นอันดับ 14 ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 4.99 หมื่นล้านบาท เขาทราบดีว่ารสชาติความสำเร็จแม้หอมหวานแต่ไม่เคยอยู่ยืนยงจึงปรับโครงสร้างองค์กรขนานใหญ่เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ด้วยการก่อตั้ง PSH เป็นบริษัทโฮลดิ้งเพื่อถือหุ้นในพฤกษา เรียลเอสเตท และหาโอกาสลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ทั้งที่อยู่อาศัยระดับพรีเมียมเจาะกลุ่มลูกค้ากำาลังซื้อสูง รวมถึงธุรกิจโรงพยาบาลที่มีแนวโน้มดี “ในทางอสังหาฯ เรายังโตต่อเนื่อง ถ้าตามแผนธุรกิจเราก็ยังคงตั้งรายได้ไว้ที่ 5.5 หมื่นล้านในปีนี้ ไปสู่ระดับแสนล้านใน 5 ปีข้างหน้า” ทองมาหมายมั่นฝันให้ไกล-ไปให้ถึง ทองมาเป็นชาวจังหวัดชลบุรี บิดาประกอบอาชีพขายกระเพาะปลาหาเลี้ยงลูกๆ 7 คน ความยากจนที่บีบคั้นชีวิตทำาให้เมื่อจบชั้น ป.4เด็กชายทองมาวัย 13 ปี ต้องออกจากโรงเรียนไปเป็นลูกจ้างร้านบัดกรีทำรางระบายน้ำฝนและถังเก็บน้ำแข็ง จนอายุ 14 ปี ก็เข้ากรุงเทพฯ พร้อมความหวังที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น ทำงานที่ร้านขายยาและร้านทอง และต่อมาตัดสินใจเรียนเสริมภาษาอังกฤษเลิกงานตอนเย็นไปเรียนกวดวิชาถึง 3 ทุ่ม จนสอบเทียบวุฒิ ม.ศ.3 ได้สำเร็จ และและเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งเปิดสอนการศึกษาผู้ใหญ่ แม้จะสนใจศึกษาต่อด้านแพทยศาสตร์ ในที่สุดเขาจึงตัดสินใจสอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “ผมไม่คิดน้อยใจที่คนวัยเดียวกันได้ไปเที่ยวเล่น คิดอย่างเดียวว่าถ้าเข้ามหาวิทยาลัยแล้วจะหาเงินที่ไหนมาใช้จ่าย ตอนนั้นผมเลิกเรียน 3-4 โมงก็ไปทำงานร้านทองแถวสามย่านถึง 3 ทุ่มแล้วกลับหอพัก ผมเรียนปี 1 ไปได้ 10 เดือน มีเงินเก็บอยู่หมื่นกว่าบาทและขอทุนได้ 2-3 ทุน ดูแล้วน่าจะพอใช้จ่าย จึงลาออกจากร้านทองเพื่อมาตั้งใจเรียนเต็มที่” บัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมโยธา เล่าถึงอดีต เมื่อจบปริญญาตรี ทองมาทำงานเป็นวิศวกรอยู่ 3-4 ปี จนวันหนึ่งเริ่มตระหนักว่าหากยังเป็นวิศวกรอาชีพที่รับเงินเดือนเพียง 15,000 บาท คงดูแลได้เพียงตัวเอง หากคิดจะดูแลทั้งครอบครัวก็จำต้องก้าวให้ไกลกว่านี้ปี 2528 ทองมาตัดสินใจก่อตั้ง ห้างหุ้นส่วนจำกัด สยามเอ็นจิเนียริ่ง ทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างแบบรับเหมาช่วง (subcontract) “ปีแรกผมทำแล้วไม่ได้อะไร ได้แค่ปิกอัพเก่าๆ คันหนึ่งที่ยืมเงินแม่ 3 หมื่นบาทมาซื้อ” เขาเล่ากลั้วหัวเราะ อย่างไรก็ดีเขาก็ได้หลักการทำางานให้ประสบความสำเร็จจากชาวไต้หวันที่ชักชวนเขาให้รับงานรับเหมาฯ งานแรก นั่นคือ “ต้องหาเงินมาจ่ายให้ตรงเวลา และต้องพาลูกน้องไปหาหมอยามป่วย” อาจฟังดูเรียบง่ายแต่แฝงด้วยนัยสำาคัญของการทำธุรกิจที่เขาจดจำาและปฏิบัติจนถึงทุกวันนี้ จากงานแรกที่เสมอตัว ทองมาเริ่มรับงานต่อๆ มา จนกระทั่งรับงานก่อสร้างที่ ดิ โอลด์ สยาม ช้อปปิ้ง พลาซ่า มูลค่าโครงการ 230 ล้านบาท เป็นงานสุดท้ายก่อนปิดฉากธุรกิจรับเหมาฯ ในราวปี 2535 เพื่อสร้างตำนานบทใหม่ในธุรกิจอสังหาฯ ซึ่งอยู่ในช่วงขารุ่ง ด้วยเงินในมือที่ได้จากการรับเหมาฯ เกือบ 50 ล้านบาทปั้น “พฤกษา” เบอร์หนึ่งอสังหาฯ เมืองไทย
จากวันนั้นสู่วันนี้ ทองมายอมรับว่า “บิดา” มีอิทธิพลต่อแนวคิดและหลักการทำธุรกิจของเขาอย่างชัดเจน “ผมเคยสงสัยว่าทำไมอาผมขายกระเพาะปลาถ้วยละ 1 บาท แต่พ่อผมขาย 50 สตางค์ พ่อก็บอกว่าเพราะคนซื้อของเรามีเงินเท่านี้ ผมก็ถามต่อว่าทำไมเราถึงไม่เอาไก่เลี้ยงโตเร็วมาใช้ พ่อก็ตอบว่าคุณภาพสู้ไก่ไทยไม่ได้และรสชาติไม่อร่อย แล้วผมรู้มาว่าไก่ไทยตัวผู้ราคาถูกกว่าไก่ไทยตัวเมียที่พ่อใช้อยู่ ซึ่งจะลดต้นทุนได้ พ่อก็บอกว่าไก่ไทยตัวผู้แสลงต่อร่างกาย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมติดมาจากพ่อจึงเป็นเรื่องความรับผิดชอบต่อลูกค้า และการทำาอะไรต้องนึกถึงคุณภาพ” ทองมาเฉลยถึงกุญแจสำคัญของการเริ่มต้น บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด ในปี 2536 (แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนในปี 2548) เน้นสร้างที่อยู่อาศัยเจาะกลุ่มลูกค้าระดับกว้างในกรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้วขยายสู่ต่างจังหวัดในเวลาต่อมา พฤกษา เรียลเอสเตท เริ่มโครงการแรก คือ “บ้านพฤกษา 1” ที่รังสิตคลอง 8 ในปี 2536 เป็นทาวน์เฮ้าส์ชั้นเดียว 1,000 หลัง หลังละ 350,000 บาท “พอเราทำโครงการแรกก็จะติดสายเลือดคุณภาพไปในตัว คือทำดีเกินราคาที่ขาย ปรากฏว่าทำแล้วเสมอตัว” ทองมาเล่าพลางยิ้ม ถึงขณะนี้เขาประเมินว่าน่าจะมีทั้งหมดราว 400-500 โครงการแล้ว โดยมีโครงการที่ยังแอคทีฟอยู่ 174 โครงการ แบ่งเป็นทาวน์เฮ้าส์ 105 โครงการ บ้านเดี่ยว 44 โครงการ และคอนโดมิเนียม 25 โครงการ (จากรายงานประจำาของบริษัท สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559) พฤกษา เรียลเอสเตท ให้ข้อมูลตลาดอสังหาฯ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปี 2559 ว่ามีมูลค่ารวมราว 3.62 แสนล้านบาท แบ่งเป็นทาวน์เฮ้าส์ 6.67 หมื่นล้านบาท บ้านเดี่ยว 1.02 แสนล้านบาท คอนโดฯ 1.84 แสนล้านบาท และอสังหาฯ ประเภทอื่น 1.07 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันบริษัทครองอันดับ 1 ในตลาดทาวน์เฮ้าส์ที่ 3.4 หมื่นล้านบาท บ้านเดี่ยว 1.3 หมื่นล้านบาท และคอนโดฯ 1.5 หมื่นล้านบาท ด้านยอดโอนมอบบ้านปี 2558-2559 ทองมาระบุว่าเฉลี่ยอยู่ที่ราว 20,000 ยูนิตต่อปี แบ่งเป็นทาวน์เฮ้าส์ 12,000 ยูนิต บ้านเดี่ยว 5,000 ยูนิตและคอนโดฯ ราว 3,000 ยูนิต หนึ่งในปัจจัยสำคัญคือ “ทำเล” ของโครงการ ซึ่งทองมาบอกว่า 90% เป็นการซื้อปีต่อปี และเลือกซื้อทำเล 5 อันดับแรกจากแต่ละเซ็กเมนต์อย่างไรก็ดี ภายใต้ความสำเร็จมักมีเรื่องราวของอุปสรรคและบทเรียนจากความล้มเหลวเสมอ เช่น วิกฤตการเงินปี 2540 ที่ต้องอดทนทำอสังหาฯ เพื่อส่งมอบบ้านให้ลูกค้า แม้จะมีภาระหนี้ร่วม 1 พันล้านบาท และในความล้มเหลวได้สร้างแบบเรียนสำคัญในการสร้างบ้านให้เร็ว ทั้งการใช้เทคโนโลยีพรีคาสท์ การเก็บเงินดาวน์จากลูกค้าเพื่อเป็นทุนในการสร้างต่อแล้วส่งมอบ เป็นต้น เมื่อถูกถามถึงคุณภาพโครงการที่อยู่อาศัยของบริษัท และเสียงบ่นของลูกค้าที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ ทองมาอธิบายว่า “สมมติในปีหนึ่งเราส่งมอบ 2 หมื่นหลัง ก็มีโอกาสเจอ defect 4-5 หลัง ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยและเกิดได้จากความผิดพลาดในการควบคุมของคน” เขาอธิบายต่อถึงโอกาสการทรุดหรือร้าวของบ้านว่า “เพราะบ้านหลังหนึ่งยืนอยู่บนเข็มราว 20 ต้น จึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีerror ของตำแหน่งหรือเกิด defect เรื่องที่เกิดขึ้นก็มีผลต่อแบรนด์บ้าง แต่ทุกครั้งที่เจอก็เป็นความรับผิดชอบของเราที่ต้องไปแก้ไขให้ลูกค้าสบายใจ”ชูธง PSH มุ่งหน้ารายได้แสนล้าน
จากแนวทางการหาน่านน้ำใหม่ภายใต้การนำของเขา ก่อกำเนิด บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำากัด (มหาชน) หรือ PSH ในเดือนมีนาคม ปี 2559 มีทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 10,000 บาท ต่อมาเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็นกว่า 2.27 พันล้านบาท และรับซื้อหุ้นของพฤกษา เรียลเอสเตท ในสัดส่วน 97.9% จากนั้นวันที่ 1 ธันวาคม หุ้นสามัญของ PSH ก็เข้าเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แทนหุ้นสามัญของพฤกษา เรียลเอสเตท ส่งผลให้พฤกษา เรียลเอสเตท กลายเป็นบริษัทย่อยของ PSH ทั้งนี้ ทองมาได้ขยับสู่ธุรกิจโรงพยาบาลโดยใช้งบ 4-5 พันล้านบาท สร้างโรงพยาบาลขนาดใหญ่จำนวน 250 เตียง ในชื่อ “วิมุตติ” บนที่ดิน 8 ไร่ครึ่งย่านสะพานควาย ติดธนาคารออมสิน เน้นกลุ่มคนไข้รายได้ปานกลางคาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2562 และเปิดบริการเฟสแรกในปี 2563 มิถุนายนปีที่แล้ว โดยมีธุรกิจอสังหาฯ ยังคงเป็นแกนหลักของ PSH และขยายโอกาสการลงทุนสู่ธุรกิจอื่น เพื่อผลักดันรายได้สู่แสนล้านบาทใน 5 ปีข้างหน้าคลิกอ่าน "ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ เคล็ดลับ “กระเพาะปลา” สู่ “พฤกษา” อสังหาฯ แสนล้าน" ฉบับเต็ม ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ มิถุนายน 2560 ในรูปแบบ e-Magazine