ขุมพลังแห่งความสำเร็จ สัณหวุฒิ ธรรมชวนวิริยะ - Forbes Thailand

ขุมพลังแห่งความสำเร็จ สัณหวุฒิ ธรรมชวนวิริยะ

เมื่อเลขไมล์ของยานยนต์หรือธุรกิจสามารถบอกได้มากกว่าระยะทางและประสบการณ์ที่สั่งสมแต่ยังหมายถึงความชำนาญของผู้นำในการคุมพิกัดการขับเคลื่อนและความไว้วางใจที่รับตลอดเส้นทางการเดินเครื่องไปยังจุดหมายที่กำหนดไว้ได้อย่างเต็มสมรรถนะ


    เบื้องหลังแรงการขับเคลื่อนอาณาจักรยุคมิลเลนเนียมให้เติบโตติดสปีดสู่ระดับหลายหมื่นล้านบาทของ สัณหวุฒิ ธรรมชวนวิริยะ เริ่มต้นจากการสะสมไมล์ประสบการณ์ทำงานผสมผสานกับวิชาบริหารธุรกิจที่ได้รับการถ่ายทอดผ่านดีเอ็นเอของครอบครัวนับตั้งแต่รุ่นปู่ที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลจากแดนมังกรมาตั้งถิ่นฐานในเมืองไทย

    ด้วยความรู้สามารถอังกฤษระดับล่ามประจำสถานทูตไทยจนเกือบได้เป็นนายไปรษณีย์คนแรกของไทย แต่เพราะไม่ต้องการเปลี่ยนนามสกุล “แซ่ตั้ง” ให้เป็นนามสกุลไทย จึงเลือกที่จะเปิดโรงแรมสอนภาษาจีน และปลูกฝังลูกหลานให้ทุ่มเทกับการศึกษาภาษาอังกฤษเป็นพื้นฐานต่อยอดการทำงานและธุรกิจในอนาคต

    ขณะที่ความมุ่งมั่นด้านการศึกษาและทักษะภาษาอังกฤษในรุ่นปู่ยังถ่ายทอดถึงบิดาของสัณหวุฒิซึ่งได้รับทุนการศึกษาด้านคอมพิวเตอร์ที่สหรัฐอเมริกาและกลับมาทำงานเป็นไกด์นำเที่ยวในประเทศไทย ก่อนจะแต่งงานเป็นคู่ชีวิตและคู่ติดทางธุรกิจกับรัตนา โดยขณะนั้นช่วยบิดาขายจิวเวลรีที่โรงแรมมณเฑียรซึ่งได้ร่วมกันสร้างตัวจากธุรกิจขายของที่ระลึกและอสังหาริมทรัพย์อย่างโรงแรม รีสอร์ต เซอรวิสอะพาร์ตเมนต์ และร้านอาหาร

    นอกจากนั้นวิวัฒน์และรัตนายังเปิดทางให้ทายาทลูกไม้ใกล้ต้นอย่าง ศุกลกานต์, เจิดนภางค์ และสัณหวุฒิได้มีส่วนร่วมซึมซับการทำธุรกิจของครอบครัวแต่ยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ด้วยการรับประทานอาหารเย็นร่วมกับสถาปนิกและดีไซเนอร์ของบริษัทพูดคุยเกี่ยวกับพิมพ์เขียวของโครงการอสังหาริมทรัพย์จนสถาปนิกและดีไซเนอร์กลับประมาณ 3 ทุ่ม หลังจากนั้นยังคุยเรื่องต่อเนื่องกับสัณหวุฒิถึงเที่ยงคืนทุกวัน

    “คุณพ่อผ่าตัดหัวใจ ตอนนั้นผมอายุ 21 ปี กำลังจะไปเรียนต่ออังกฤษ คุณแม่ทักขึ้นมาว่าพี่สาว 2 คนไปเรียนต่ออเมริกายังไม่กลับมา เราเข้าใจว่าถ้าเราไปคงไม่มีใครอยู่เป็นเพื่อนดูแลท่าน”

    เราจึงไปสมัครงานที่ธนาคารต่างชาติในปี 2535 เรียนจบไฟแนนซ์เป็นเหมือนมนุษย์ทองคำ แต่คุณพ่อบอกให้ช่วยทำงานที่บ้าน เราก็เชื่อฟังท่าน กลับมาทำธุรกิจที่บ้านเกี่ยวกับเซอร์วิสอะพาร์ตเมนต์และคุณพ่อทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ช่วงแรกเราทำจัดซื้อดูแลเรื่องวัสดุก่อสร้าง คำนวณราคา และได้เรียนรู้ประสบการณ์จากการศึกษา จากวิศวกร นายช่างใหญ่ของบริษัทคุณพ่อ

    สัณหวุฒิเล่าถึงทางแยกวัดใจที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตครั้งใหญ่ในช่วงเวลาที่เกิดขึ้นเพียงเสียวนาที หลังจากบิดาเข้าโรงพยาบาลผ่าตัดโรงหัวใจ ในฐานะบุตรชายและทายาทธุรกิจจึงตัดสินใจทิ้งจดหมายตอบรับปริญญาโทและปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ที่ University of Exeter ประเทศอังกฤษ เพื่อดูแลบิดามารดาและเบนเข็มเส้นทางจากมนุษย์ทองคำที่มีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนมาสานต่อกิจการอสังหาริมทรัพย์ของครอบครัว

    “โครงการอสังหาริมทรัพย์สร้างเสร็จช่วงที่เราอายุ 25 ปี และพี่สาวกลับมาพอดีซึ่งธุรกิจ hospitality ไม่ได้ challenge เรา ในจังหวะนั้นปี 2542 หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง เจ้าสัวล้ม ต่างชาติเข้ามา takeover บริษัทรถจำนวนมาก เราเปิดหนังสือพิมพ์เจอ BMW ประกาศรับสมัครตัวแทนจำหน่าย และเราก็ชอบขับ BMW ตั้งแต่แต่เรียนมหาวิทยาลัย

    เราจึงสมัครปี 2542 และได้รับความไว้วางใจจาก BMW เปิดโชว์รูมวันแรก 24 กุมภาพันธ์ ปี 2543 โดยเริ่มต้นจากขอเงินคุณพ่อมา 20 ล้านนำมาเช่าที่และลงทุนก่อสร้างซึ่งตั้งใจขายวันเว้นเว้นต่อเดือน 15 คัน แต่หลังเปิดจำได้ว่าขายได้ 333 คันในปีแรก

    โดยระหว่างทางเงินทุนหมุนเวียนที่เตรียมไว้ไม่พอต้องขอคุณพ่อเพิ่มทุนอีก 20 ล้านบาท เพื่อให้ได้วงเงินเพิ่มขึ้นจนสามารถขยายธุรกิจได้ในปัจจุบัน”

    บทพิสูจน์ความสำเร็จสะท้อนชัดในตัวเลขการเติบโตอย่างต่อเนื่องพร้อมกับการขยายอาณาจักรธุรกิจในอุตสาหกรรมยานยนต์ครบวงจร ทั้งธุรกิจจำหน่ายยานยนต์ ธุรกิจให้บริการหลังการขาย และให้บริการซ่อมบำรุงรถยนต์อิสระ ธุรกิจให้บริการเช่ารถยนต์และคนขับ รวมทั้งกลุ่มธุรกิจให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) บริการทางการเงินสำหรับยานยนต์ นายหน้าประกันภัย บริการทำความสะอากและเคลือบสีรถยนต์

    “โมเดลธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญ ภาคการเงินสำคัญก็สำคัญ แต่ที่สำคัญที่สุดและยากที่สุดคือ people management ซึ่งผมจบปริญญาเอกบริหารจิตวิทยาองค์กรโดยตรงและได้เรียนเกี่ยวกับการบริหารคนทำให้สามารถนำมาปรับใช้ได้ เนื่องจากองค์กรเรามีพนักงานหลากหลายเพศวัยรวมกันมากกว่า 3,000 คน ซึ่งแต่ละเพศวัยมีความคิดและวิธีบริหารต่างกัน เราต้องใช้ทั้ง rational และ emotional ผสมผสมกัน โดยใช้หลักจิตวิทยาบาลานซ์ให้เหมาะสมกับแต่ละคน”

    สัณหวุฒิเชื่อมั่นในกุญแจความสำเร็จที่ได้รับจากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา และการปรับใช้ความรู้การศึกษาปริญญาโท การจัดการสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และปริญญาเอก การจัดการ สาขาพัฒนาองค์กร มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ รวมถึงการเสริมทัพของครอบครัวร่วมบริหารสร้างความแข็งแกร่งด้านการสื่อสารและการเงิน โดยศุกลกานต์รับภารกิจ นั่งเก้าอี้ประธานเจ้าหน้าที่สายงานสื่อสารองค์กรและลูกค้าสัมพันธ์ ส่วนเจิดนภางค์ ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและบัญชีของกลุ่มบริษัท เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

    “Mindset และ positive thinking เป็นสิ่งสำคัญเพราะพาร์ตเนอร์กับบริษัททุกบริษัทที่เข้ามาต่างต้องการความสำเร็จและการเติบโต ทำให้ได้รับโจทย์ใหม่ๆ มาตลอด ซึ่งเราเปิดรับหมด แต่ทำได้หรือไม่ได้ต้องบอกเขา เพื่อไม่ให้เขาผิดหวังและทำให้เราขาดความน่าเชื่อถือ

    รวมทั้งต่างชาติยังชอบความจริงใจ sincere และ transparent ของเราที่สำคัญคนไทยส่วนใหญ่ยัง respect ผู้ที่อาวุโสกว่าดังนั้นเราต้องจัดทัพเรื่องคนให้พนักงานอายุน้อยที่มีความอ่อนน้อมติดต่อกับผู้ใหญ่หรือพาร์ตเนอร์ ส่วนพนักงานอายุมากหน่อยวางแผนอยู่สำนักงานใหญ่”

    ซีอีโอวัย 49 ปี ปิดท้ายถึงความมุ่งมั่นทำงานอย่างเต็มที่และแสดงความจริงใจในการสร้างธุรกิจให้เติบโต จนกระทั่งได้รับความไว้วางใจจากพันธมิตรยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่างต่อเนื่องยาวนาน พร้อมถ่ายทอดหลักการทำงานให้ทำงานร่วมกันขับเคลื่อนความสำเร็จองค์กร

    “นโยบายแรกเราให้ที่ทำงานท่องคาถาว่า เรายังเล็กและไม่มีเงิน เพราะถ้ามีเงินคงไม่ต้องระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมทั้งฝันให้ไกลไปให้ถึง และอยู่เป็นกับลูกน้องและเพื่อนร่วมงาน โดยผสมผสานการทำงานเหมือนเพื่อนและนาย รวมทั้งเราต้องบาลานซ์ความรู้สึกด้วย

    ซึ่งบางอย่างเราได้รับจากพาร์ตเนอร์มาแบบสุดโต่ง และลูกน้องเป็นคนทำ ถ้าออกมาไม่ได้ก็เหมือนซ้ำเติมกัน ผมจะบอกกับหัวหน้าหลายคนว่า อย่างให้งานล้มทับลูกน้องเพราะเขาจะจากคุณไปก่อน หรือถ้าไม่อยู่ช่วยแก้ปัญาให้ลูกน้องเขาก็ไม่อยู่กับคุณ”

ภาพ: กิตติเดช เจริญพร


อ่านเพิ่มเติม: ดร.สัณหวุฒิ ธรรมชวนวิริยะ เสริมฐานทุน “MGC-ASIA”


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤษภาคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine