ZEN แบรนด์อาหารสัญชาติไทยจัดทัพ 12 แบรนด์ในเครือ ติดอาวุธธุรกิจครบเครื่องครอบคลุมความต้องการผู้บริโภค พร้อมจับมือพาร์ทเนอร์ขยายสาขาแฟรนไชส์รุกเสิร์ฟครัวอาเซียนสู่ระดับเวิลด์คลาส พิชิตเป้าหมายยอดขายหมื่นล้าน
“ผมอยู่ซิงเกอร์ 9 ปี เดินทางทั่วประเทศ ผมชอบชิมอาหารและมีความสุขกับการเดินทาง ผมเข้ามาในธุรกิจนี้ด้วย passion ซึ่งก่อนหน้านี้ผมเคยนั่งเก้าอี้กรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบกลุ่มเซ็นตั้งแต่ปี 2559 ทำให้เชื่อมั่นในศักยภาพและเห็นถึงโอกาสการเติบโต ขณะที่กลุ่มเซ็นต้องการผู้บริหารที่มีประสบการณ์ สามารถเติมเต็มการวางรากฐานการขยายธุรกิจและรอบรู้การขยายสาขา...” บุญยง ตันสกุล กล่าวถึงการรับตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เมื่อกลางปีที่ผ่านมา
โดยกลุ่มเซ็นเป็นบริษัทรายแรกๆ ของประเทศที่บุกเบิกธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นและพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนเป็นผู้ให้บริการร้านอาหารหรือ food services อย่างเต็มรูปแบบในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจบริการจัดส่งอาหาร บริการจัดเลี้ยง ธุรกิจให้บริการบริหารร้านอาหาร และที่ปรึกษาเกี่ยวกับร้านอาหาร ธุรกิจอาหารค้าปลีก
สำหรับร้านอาหาร ปัจจุบันมีทั้งหมด 255 สาขาทั้งในและต่างประเทศ แบ่งเป็นกลุ่มบริษัทเป็นเจ้าของ 110 สาขา และแฟรนไชส์ 145 สาขา โดยมีร้านอาหารญี่ปุ่นและอาหารไทยรวม 12 แบรนด์ โดยร้านอาหารญี่ปุ่น 6 แบรนด์ ได้แก่ ZEN, Musha by ZEN, Sushi Cyu Carnival Yakiniku, AKA, Testu, On the Table, Tokyo Café ส่วนแบรนด์ร้านอาหารไทย 6 แบรนด์ ได้แก่ ตำมั่ว, ลาวญวน, แจ่วฮ้อน, เฝอ, de Tummour และร้านเขียง
นอกจากนั้น บริษัทยังมีจุดแข็งด้านการขยายสาขาผ่านรูปแบบการลงทุนเป็นเจ้าของสาขาและแฟรนไชส์ ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงจากการลงทุนโดยรวมและสร้างผลกำไรอย่างต่อเนื่อง
“วันนี้ถ้าถามคนในเมืองต้องเคยมีประสบการณ์รับประทานอาหารในเครือเซ็น 1 ใน 12 แบรนด์ ซึ่งการมีแบรนด์จำนวนมากถือเป็นข้อได้เปรียบ แต่ต้องมีข้อแม้ว่าแบรนด์เยอะแต่ต้องโดน ต้องเป็นที่รู้จักและยอมรับด้วย โดยเรายังไม่หยุดเฉพาะการเปิดสาขาในศูนย์การค้า แต่เราจะก้าวไปในทุกที่ที่มีทางหรือมีลูกค้า...เราต้องย่อแบรนด์ลงให้เป็นโมเดลที่สามารถตอบโจทย์ทั้ง scale และ speed”
รุกแฟรนไชส์ข้ามพรมแดน
“แบรนด์ตำมั่วที่เราซื้อกิจการในปี 2559 เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เราขยายสาขาได้ง่ายขึ้นในรูปแบบของแฟรนไชส์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ...” บุญยงกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงทางกลยุทธ์ที่ทำให้เซ็นกรุ๊ปโตเร็ว
นอกจากนี้ เขายังสามารถแปรเปลี่ยนชั่วโมงบินกว่า 10 ปีในธุรกิจสินเชื่อเงินผ่อนสู่โมเดลแฟรนไชส์เงินผ่อนที่ช่วยให้ความฝันการเป็นเจ้าของร้านอาหารมีโอกาสเป็นจริงได้มากขึ้น เพียงแค่มีใจต้องการเปิดร้านอาหาร ความเข้าใจ ประสบการณ์และความพร้อมในการทำธุรกิจบริการก็สามารถกู้เงินกับสถาบันการเงินได้ 100% เป็นการเพิ่มโอกาสขยายสาขาของเครือ
จากกลยุทธ์นี้ ซีอีโอวัย 53 ปีจึง ตั้งเป้าขยายสาขาเพิ่มอีก 123 สาขา ทั่วประเทศ แบ่งเป็นแฟรนไชส์ 87 สาขา และลงทุนเอง 36 สาขา ภายในปี 2562 โดยเฉพาะแบรนด์ร้านอาหารไทยที่สามารถขยายได้ทั่วประเทศ
รวมถึงการขยายสาขาในต่างประเทศที่จะเป็นรูปแบบแฟรนไชส์ทั้งหมด 8 สาขาในสิ้นปีนี้ จากเดิมที่มี 8 สาขา และได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีทั้ง สปป.ลาว ที่มีร้านตำมั่วและแจ่วฮ้อน เมียนมามีร้านเฝอ 2 สาขาและร้านตำมั่ว รวมถึงกัมพูชาที่มีร้าน On the Table และร้าน AKA
“…ในช่วงแรกเราเน้นที่ประเทศเพื่อนบ้านและอาเซียนเป็นหลัก แต่เราได้จด trademark แล้วทั่วโลกครอบคลุมทวีปยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย” บุญยงกล่าวถึงแผนการขยายสาขาในต่างประเทศที่วางหมุดหมายในระดับโลก โดยอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรในฮ่องกงและจีน รวมถึงสนใจโอกาสในตลาดตะวันออกกลางที่สามารถขยายได้ทั้งสาขาแฟรนไชส์และธุรกิจอาหารค้าปลีกที่อยู่ในขั้นตอนการขออนุญาตใช้เครื่องหมายฮาลาลและหนังสือรับรองการผลิตอาหารฮาลาล
สำหรับการสนับสนุนแฟรนไชส์แบบครบวงจรของบริษัทเริ่มตั้งแต่การให้บริการจัดหาผู้รับเหมาก่อสร้างสาขาและการตกแต่งภายในสาขาให้สอดคล้องกับทำเลที่ตั้ง การฝึกอบรมพนักงาน และการเตรียมความพร้อมในการเปิดร้าน โดยจัดให้มีการฝึกงานในทุกตำแหน่งเป็นเวลา 1 เดือนก่อนการเปิดสาขา
“แฟรนไชส์ในต่างประเทศจะเป็นลูกค้านำเสนอทำเลเป็นหลัก เพราะเชื่อว่าเจ้าของพื้นที่มีความชำนาญมากกว่า ซึ่งมีทั้งรูปแบบศูนย์การค้าและสแตนด์อะโลน โดยเราจะส่งทีมไปดูและศึกษาความเป็นไปได้เรื่องการลงทุน ทำเล ผลตอบแทน ก่อนจะนำประสบการณ์จากการเปิดสาขาในประเทศไทยมาใช้ในรูปแบบเดียวกันทั้งการตกแต่ง ส่วนผสม เครื่องปรุงรส เมนูต่างๆ ที่ต้องได้มาตรฐาน”
นอกจากนี้ บริษัทยังคงเปิดกว้างด้านการสร้างสรรค์เมนูและปรับเปลี่ยนรสชาติให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในประเทศนั้นๆ โดยมีทีมวิจัยและพัฒนาของแต่ละแบรนด์นำเสนอเมนูพิเศษตามเทศกาลต่างๆ เพื่อช่วยกระตุ้นยอดขาย
อย่างไรก็ตาม การขยายสาขาแฟรนไชส์ในต่างประเทศยังคงมีความท้าทายสำคัญนอกเหนือจากการควบคุมมาตรฐาน ซึ่งบุญยงยอมรับว่าการหาพันธมิตรทางธุรกิจรายใหญ่ที่มีความสามารถในการขยายสาขาได้จำนวนมากไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น คุณสมบัติข้อแรกที่กลุ่มเซ็นต้องการคือ ผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์ในธุรกิจอาหารและบริการ
“การไปต่างประเทศไม่ได้เร่ง แต่ต้องอาศัยเวลาหาลูกค้าที่ใช่ ช้าแต่ชัวร์ เราต้องการหามาสเตอร์แฟรนไชส์ที่ได้รับสิทธิในการขยายสาขาประเทศนั้นๆ ไปเลย สักวันหนึ่งเราคงได้เจอ strategic partner ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องการ...”
ตอบโจทย์ดีมานด์ “ครัวทุกชีวิต”
“การพัฒนาของเซ็นมี 2 แพลตฟอร์มในการขยายธุรกิจช่วง 5 ปีต่อจากนี้ ต้องผสมผสานกันระหว่างการพัฒนาแบรนด์ของเราหรือการขยายสาขาต่อเนื่องประมาณ 80% และการซื้อกิจการหรือลงทุนแบรนด์ใหม่ที่มีศักยภาพเติบโตต่อไปในอนาคตประมาณ 20% ตามจังหวะและโอกาสที่เข้ามา”
บุญยงยกตัวอย่างแบรนด์ร้านอาหารน้องใหม่ของบริษัทที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น Musha by Zen ซึ่งเป็นการพัฒนาและปรับเปลี่ยนเมนูจาก ZEN ให้มีขนาดของสาขาเล็กลง และระดับราคาที่ผู้บริโภคทุกกลุ่มเข้าถึงได้ ทั้งยังมีความคล่องตัวและเหมาะกับการขยายสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์ เนื่องจากใช้พื้นที่การเปิดสาขาน้อย เงินลงทุนไม่สูงมากนัก
นอกจากนั้น บริษัทยังสามารถขยายสาขาในทำเลใหม่นอกจากภายในศูนย์การค้า โดยเน้นรูปแบบ micro format หรือพื้นที่ขนาดเล็ก เช่น สถานีบริการน้ำมันและแหล่งชุมชน เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ดีขึ้น ด้วยการพัฒนาร้านอาหารไทยแบรนด์ใหม่ภายใต้ชื่อ “เขียง” ซึ่งเป็นร้านอาหารไทยตามสั่งจานด่วนตอบโจทย์ผู้บริโภคในตลาดแมส
“การทำธุรกิจอาหารเหมือนการค้าปลีก เราต้องย่อส่วนลงให้เข้าถึงผู้บริโภค จากลูกค้าต้องมาหาเรา เราต้องหาพื้นที่บลูโอเชียนหรือไวท์โอเชียน ด้วยการปรับเปลี่ยนตัวเองให้เหมาะกับพื้นที่ที่ยังว่างอยู่...”
- เสริมทัพ บาร์บีคิว พลาซ่า "ฟู้ดแพชชั่น" ซื้อธุรกิจ Red Sun
- ราชาหม้อไฟ หัวใจบริการ ความสำเร็จของ Haidilao ธุรกิจร้านอาหารที่รวยที่สุดในโลก
เซ็นยังปรับตัวเน้นบริการเดลิเวอรี่และรับจัดเลี้ยงมากขึ้นด้วยเห็นโอกาสการเติบโตรวมไปถึงการพัฒนาอาหารค้าปลีก เช่น หมี่มั่ว และอาหารพร้อมทาน เช่น น้ำจิ้มแจ่ว น้ำจิ้มไก่ และแจ่วบอง (น้ำพริกปลาร้า)
“ในวันนี้สินค้ารีเทลของเราโกอินเตอร์ทั่วโลกแต่ยังเป็นลักษณะที่เขานำไปเอง ซึ่งเราคงไม่หยุดแค่การขยายช่องทางการจำหน่ายแต่ยังพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น น้ำซอส น้ำสลัดต่างๆ”
บุญยงปิดท้ายถึงเป้าหมายสร้างการเติบโตให้กลุ่มเซ็นก้าวสู่แบรนด์สัญชาติไทยที่สามารถสร้างชื่อในระดับเวิลด์คลาส ด้วยยอดขายหมื่นล้านบาทในปี 2566 ภายใต้สโลแกนที่ทีมงานทั้งกลุ่มบริษัทยึดมั่นในการให้บริการมาตรฐานเดียวกัน “ทุกครั้งที่ทำต้องดีที่สุด ทุกครั้งที่ทำต้องสุดชีวิต”
ภาพ: กิตติเดช เจริญพร
คลิกเพื่ออ่านบทความ "บุญยง ตันสกุล ZEN ติดปีกสาขาหมื่นล้าน" ฉบับเต็มได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับ เมษายน 2562 ในรูปแบบ e-Magazine