วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ เปิดฉากพลังงานปฏิวัติโลก - Forbes Thailand

วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ เปิดฉากพลังงานปฏิวัติโลก

เส้นทางแห่งการบุกเบิกพัฒนาธุรกิจการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในประเทศไทยที่ต้องใช้ความมุ่งมั่นสร้างความเปลี่ยนแปลงได้กลายเป็นแรงบันดาลใจสานต่อพันธกิจพลังงานสะอาดสู่ต้นแบบความสำเร็จของผู้นำสตรี ที่ได้รับการยกย่องบนเวทีโลกด้วยรางวัล “Leading a Woman Powered Solar Energy Transformation”

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG ยังคงระลึกถึงแนวคิดเริ่มต้นของการตัดสินใจบุกเบิกธุรกิจสีเขียวในช่วงปี 2550 ซึ่งรัฐบาลของ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้มีการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี (ปี 2551-2565) และกำหนดส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (adder) สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 8 บาทต่อหน่วย (กิโลวัตต์ชั่วโมง) โดยวางเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในปี 2565 เท่ากับ 500 เมกะวัตต์
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท SPCG
ช่วงนั้นได้มีโอกาสพบท่าน ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในขณะนั้นหลายครั้ง และท่านได้ชักชวนให้ลองศึกษาความเป็นไปได้ โดยเรายิ่งศึกษาก็ยิ่งอิน เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในใจของเราและครอบครัวที่มีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในยุคที่การพัฒนาอุตสาหกรรมทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนและ climate change ซึ่งส่งผลกระทบทั่วโลก โดยขณะนั้นประเทศไทยยังมีการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์รวมๆ กันไม่เกิน 2 เมกะวัตต์ ทำให้รัฐบาลต้องการขับเคลื่อนเรื่องนี้ เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ผลิตไฟฟ้า” นอกเหนือจากความตั้งใจทำธุรกิจพลังงานสะอาดที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศและสิ่งแวดล้อมโลก วันดียังเล็งเห็นโอกาสสร้างการเติบโตทางธุรกิจได้ในระยะยาว ด้วยทำเลยุทธศาสตร์ของไทยที่ตั้งอยู่บริเวณศูนย์สูตรของโลกทำให้มีแสงอาทิตย์สาดส่องเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ และสามารถรับแสงที่มีความเข้มต่อเนื่องได้เต็มที่ (Peak Sun Hour หรือ PSH) ประมาณ 5 ชั่วโมง ดังนั้น ธุรกิจจึงสามารถผลิตไฟฟ้าได้โดยไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและปราศจากมลภาวะจากทรัพยากรธรรมชาติที่มีไม่จำกัด อย่างไรก็ตามการบุกเบิกเส้นทางพลังงานทางเลือกในช่วงทศวรรษก่อนที่ยังมีโรงไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ไม่กี่แห่งในโลกไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ด้วยแรงสนับสนุนของครอบครัวที่ช่วยผลักดันให้วันดีสามารถเดินหน้าข้ามผ่านทุกความท้าทาย พร้อมใช้ความเพียรพยายามสร้างความเชื่อมั่นในโอกาสทางธุรกิจกับสถาบันการเงินนับสิบแห่งและทุ่มเทกำลังทรัพย์ส่วนตัวเป็นเงินลงทุน จนกระทั่งสามารถเริ่มต้นโครงการแรกที่จังหวัดนครราชสีมา (โคราช 1) และส่งเข้าระบบจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date หรือ COD) ครั้งแรกได้สำเร็จเมื่อวันที่ 21 เมษายน ปี 2553  

ขยายอาณาจักรโซลาร์ฟาร์ม

จากความสำเร็จในโครงการแรกได้กลายเป็นใบเบิกทางสำคัญสู่การสร้างอาณาจักรโซลาร์ฟาร์มให้เติบโตได้อย่างมั่นคง ด้วยความสามารถในการผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าเป้าหมาย ทำให้ธนาคารเกิดความเชื่อมั่นในการพัฒนาโครงการที่เหลือและลงนามเป็นผู้จัดการเงินกู้ร่วม (mandated lead arranger) มูลค่าการลงทุนประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท รวมถึงได้รับการสนับสนุนจาก International Finance Corporation (IFC) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินในเครือของธนาคารโลก (World Bank Group) มาร่วมทุนในโครงการพัฒนาโซลาร์ฟาร์มและร่วมให้การสนับสนุนด้านการเงิน ทั้งยังนำเงินกู้ Climate Technology Fund มาร่วมให้กู้กับสถาบันการเงินอื่นๆ อีก 6 แห่ง “โครงการที่เหลือต้องใช้เงินทั้งหมด 2.4 หมื่นล้าน แบ่งเป็นเงินกู้ 1.8 หมื่นล้าน และเงินทุน 6 พันล้าน เราจึงติดต่อบินไปธนาคารโลกที่ฮ่องกงและฟิลิปปินส์เพื่อชวนให้มาลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย หลังจากนั้นเขาก็มาทำ due diligence ซึ่งใช้เวลาเร็วมากไม่ถึง 3 เดือนก็เข้ามา ทำให้เราได้รับความเชื่อถือจากนักลงทุน โดยในส่วนของทุน 6 พันล้านเราได้นำบริษัทเข้าตลาดหุ้นทางอ้อมหรือ backdoor listing เพื่อให้ระดมทุนได้ทันทีประมาณ 1.7-1.8 พันล้านบาท ซึ่งเงินส่วนที่เหลือมาจากกสิกรไทยที่ให้เงินกู้มาเป็นทุนทำให้เราสามารถเดินหน้าโครงการทั้งหมดได้” วันดีกล่าวถึงพัฒนาการทางธุรกิจที่สำคัญในการริเริ่มลงทุนและพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยสามารถจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตั้งแต่ปี 2553 และพัฒนาครบทั้ง 36 โครงการในปี 2557 รวมกำลังการผลิตติดตั้งกว่า 260 เมกะวัตต์บนพื้นที่รวมกว่า 5,000 ไร่ ใน 10 จังหวัด ทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง โครงการโซลาร์ฟาร์มในไทย “ความมุ่งมั่น หรือ passion ของเราอย่างแรกคือ climate change ทำให้เกิดสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประเทศและโลกของเรา จากทั้งประเทศที่มี 2 เมกะวัตต์ขณะนั้นสามารถเพิ่มเป็น 260 เมกะวัตต์เทียบเท่าการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปลดปล่อยได้ถึง 200,000 ตัน ซึ่งพัฒนาเสร็จประมาณปี 2557 โดยเราได้รับรางวัลผู้นำสตรีด้านการลดโลกร้อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์จาก UNFCCC ในงานประชุม COP20 ที่เปรู ซึ่งเป็นรางวัลที่เรารู้สึกภาคภูมิใจมาก” ขณะเดียวกันบริษัทยังร่วมลงทุนในโครงการโซลาร์ฟาร์มที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น Ukujima Mega Solar Project เกาะ Ukujima เมือง Sasebo จังหวัด Nagasaki ด้วยงบลงทุนประมาณ 1.79 แสนล้านเยน หรือ 6 หมื่นล้านบาท โดยกำลังการผลิตติดตั้งรวม 480 เมกะวัตต์ และสัญญาการซื้อไฟฟ้าแบบ FiT ที่ 40 เยนต่อหน่วย ซึ่งบริษัทถือหุ้น 17.92% คิดเป็นเงินจำนวน 9 พันล้านเยนหรือ 2.7 พันล้านบาท “การลงทุนของเราต้องการยึดที่การเป็นผู้นำด้านการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ โดยเลือกลงทุนที่ญี่ปุ่นรวมๆ กันแล้วน่าจะใกล้ 500 เมกะวัตต์ ซึ่งที่ Miyako ใกล้จะเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้าง ที่ Ukujima ประมาณ 480 เมกะวัตต์ โดยน่าจะเป็นเมกะโปรเจ็กต์พลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น​” โครงการโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่นของ SPCG นอกจากการลงทุนในต่างประเทศและในประเทศ 36 โครงการ วันดียังเดินหน้าโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับใช้ในพื้นที่เมืองใหม่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กำลังการผลิตติดตั้งรวมไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ โดยมีมูลค่าการลงทุนไม่เกิน 2.3 หมื่นล้านบาท สำหรับโครงการดังกล่าวถือเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนให้พื้นที่ EEC เป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (low carbon society) เป็นเมืองพลังงานสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งยังช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยระยะยาว พร้อมช่วยเพิ่มศักยภาพในการสร้างรายได้และกระแสเงินสดของบริษัท  

เดินหน้าสู่พลังงานแห่งอนาคต

โอกาสการขยายธุรกิจจากพลังงานสะอาดยังคงสามารถต่อยอดได้อย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับแสงอาทิตย์ที่ยังคงสาดส่องสามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้อย่างมหาศาล ด้วยธุรกิจเกี่ยวเนื่องสำคัญที่วันดีเล็งเห็นความเป็นไปได้ในการเริ่มต้นบุกเบิกธุรกิจให้บริการออกแบบ จำหน่าย และติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (solar roof) ในประเทศไทยและประชาคมอาเซียน วันดีย้ำความมั่นใจในแผนการดำเนินงานที่วางไว้อย่างชัดเจนในด้านคุณภาพที่แตกต่างของบริษัท โดยเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ Kyocera Corporation ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้นำในนวัตกรรมการผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่มีคุณภาพสูงสุดในระดับสากล โดยให้ความสำคัญกับการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา นอกจากนั้น บริษัทยังขยายการทำธุรกิจลิสซิ่งให้บริการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ด้วยการจับมือร่วมธุรกิจกับบริษัท Mitsubishi UFJ Lease & Finance Company Limited หรือ MUL, บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือPEA ENCOM และบริษัท Kyocera Corporation ญี่ปุ่น หรือ KYOCERA โดยได้จัดตั้งบริษัทร่วมกันภายใต้ชื่อ MSEK เพื่อช่วยโรงงานอุตสาหกรรมสามารถนำพลังงานที่ผลิตได้จากแผงโซลาร์ใช้เป็นพลังงานได้อย่างคุ้มค่าทั้งในเชิงการผลิตและลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้า รวมถึงช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อนได้ สัดส่วนรายได้ธุรกิจ SPCG “สัดส่วนรายได้ธุรกิจหลักมาจาก 36 โครงการ ส่วน solar rooftop ประมาณ 25% และอื่นๆ 5% ซึ่งในอนาคตเราต้องการเห็น solar rooftop เพิ่มเป็น 50% น่าจะ 5 ปีข้างหน้า โดยต้องให้คู่แข่งเข้ามาในตลาดให้เต็มที่ เพื่อจะได้มีทั้งโมเดล success และ fail ช่วยพิสูจน์การตัดสินใจของลูกค้า กุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความสำเร็จจึงอยู่ที่ทีมงาน ระบบ และความสามารถในการปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว พร้อมมองหาโอกาสและข้ามผ่านทุกวิกฤตให้ได้ “การทำธุรกิจที่มองเฉพาะเรื่องรายได้ ต้นทุน กำไร และผู้ถือหุ้น ส่วนการทำงานจิตอาสา เรามองภาพของการให้ เพราะฉะนั้นเราต้อง balance power ให้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของการเป็นผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายต้องสามารถตัดสินใจในเวลาที่เหมาะสมได้อย่างถูกต้อง” ผู้ก่อตั้งอาณาจักรโซลาร์ฟาร์มวัย 64 ปีให้มุมมองความหมาย power women ในฐานะสตรีที่ได้รับการยกย่องถึงความสำเร็จในระดับโลก   ภาพ: กิตติเดช เจริญพร อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine