บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตอบโจทย์การบริโภคคนยุคใหม่ด้วยความง่าย สะดวก และอร่อย ได้การตอบรับที่ดีจากทั่วโลก “มาม่า” จึงมองโอกาสที่กว้างไกลมากกว่า 68 ประเทศที่ทำตลาดอยู่ โดยตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปีจะทำยอดส่งออกให้มีรายได้เท่ากับยอดขายในประเทศ ควบคู่การสร้างนวัตกรรมอาหาร เป็นอีกก้าวย่างสำคัญของผู้นำตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์ไทย
เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นวาระครบรอบ 50 ปี บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA ได้ประกาศตัวทายาทเข้ามาขับเคลื่อนธุรกิจ พร้อมปรับกลยุทธ์จาก volume based สู่ food innovations ที่เป็นสินค้า value based และ future foods จาก local food enterprise ที่ผลิตในประเทศและส่งออกไปสู่ global food enterprise ที่มีศูนย์กลางและสาขาสนับสนุนในพื้นที่ต่างๆ ของโลก (regional hub & spoke) โดยยึดหลัก 2I คือ International และ Innovation
เดินหน้า 5 กลุ่มธุรกิจ
บมจ. ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ หรือ TF ก่อตั้งเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ปี 2515 เป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท เพรซิเดนท์ เอ็นเตอร์ไพรส์ ของไต้หวัน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการผลิต และ บจ. สหพัฒนพิบูล ซึ่งรับผิดชอบในด้านการตลาดและการจำหน่ายสินค้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปภายใต้เครื่องหมายการค้า “มาม่า” ส่วน บมจ. เพรซิเดนท์ไรซ์โปรดักส์หรือ PR ก่อตั้งขึ้นในปี 2524 โดยมี บจ. เพรซิเดนท์ โฮลดิ้ง เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ประกอบธุรกิจด้านผลิตอาหารกึ่งสำเร็จรูป ประเภทเส้นหมี่ เส้นเล็ก เส้นใหญ่ ก๋วยจั๊บกึ่งสำเร็จรูป โจ๊กข้าวต้ม และวุ้นเส้นกึ่งสำเร็จรูป ภายใต้เครื่องหมายการค้า MAMA, MAMY, PAPA, PAMA, HANDI RICE และ PRESIDENT RICE เป็นต้น
- ผลิตภัณฑ์บะหมี่และอาหารกึ่งสำเร็จรูปที่ใช้แป้งสาลีเป็นวัตถุดิบหลักภายใต้แบรนด์ “มาม่า” รวมทั้งการรับจ้างผลิตเพื่อส่งออกให้กับบริษัทชั้นนำของทวีปยุโรป สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย มีกำลังการผลิตประมาณ 7 ล้านซองต่อวัน, ผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปที่ใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบหลัก
- ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ ภายใต้ บมจ. เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (PB) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายขนมปังและเบเกอรี่ภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัท เช่น ฟาร์มเฮ้าส์, เบเกอรี่ที่จำหน่ายผ่านร้านค้าปลีกของบริษัท ได้แก่ ร้านเดลิย่า ร้านเค้กมาดาม มาร์โก้ แฟรนไชส์ขายแซนวิช กู๊ดมอร์นิ่ง ฟาร์มเฮ้าส์ และตู้จำหน่ายขนมปังอัตโนมัติ, เบเกอรี่สำหรับธุรกิจฟาสต์ฟู้ด ได้แก่ ขนมปังสำหรับเบอร์เกอร์ ขนมปังสำหรับฮอทดอก ขนมปังชนิดแผ่น ขนมปังฝรั่งเศส ครัวซองต์ ขนมปังกรอบ และแป้งพิซซ่า
- ผลิตภัณฑ์ขนมปังกรอบภายใต้เครื่องหมายการค้า “บิสชิน” และ “โฮมมี” ซึ่งมีทั้งบิสกิต แครกเกอร์ และเวเฟอร์
- น้ำผลไม้ภายใต้เครื่องหมายการค้า “กรีนเมท”,“เคลลี่” และ “ไทซัน” ในรูปแบบกระป๋องและขวดเพชรหลากรสชาติ อาทิ รสส้ม ลิ้นจี่ เฉาก๊วย มะขาม
- ผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ฟิล์มห่ออย่างอ่อนบรรจุอาหารและถ้วยกระดาษ
ขยาย Global Market
รายได้หลักของบริษัทมาจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่าซึ่งมีการพัฒนารสชาติใหม่ๆ ทุกปี รสที่ขายดีในต่างประเทศคือ ต้มยำกุ้ง น้ำข้น ต้มยำกุ้งน้ำใส รสไก่ และหมูสับ โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์บะหมี่และอาหารกึ่งสำเร็จรูปสร้างรายได้คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 55.98 ข้อมูลจาก Nielsen (Thailand) ระบุถึงภาพรวมมูลค่าตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปปี 2564 ว่า มีมูลค่าประมาณ 15,720 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับปี 2563 และมาม่ายังคงเป็นผู้นำอันดับ 1 จากคู่แข่ง 4 รายด้วยส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 47.1 โดยผลิตภัณฑ์ประเภทซองมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 46.2 ส่วนประเภทถ้วยร้อยละ 50.6 ส่วนตลาดเส้นหมี่ก๋วยเตี๋ยว และวุ้นเส้นกึ่งสำเร็จรูปในประเทศไทยมีมูลค่ารวม 917 ล้านบาท
เริ่มจากลูกค้าเอเชีย
ต่างชาติเริ่มทำความรู้จักบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากไทยในปี 2524 ประเทศปลายทางคือ สหรัฐอเมริกาและยุโรป กลุ่มลูกค้าเป็นชาวเอเชียซึ่งรู้จักสินค้าจากการที่เคยเป็นผู้อพยพลี้ภัยสงคราม และพิพัฒนำมาม่าไปบริจาค “ตอนนั้นคุณพิพัฒเอามาม่าไปแจกในแคมป์ คนที่อพยพออกมาได้เป็นคนมีฐานะมีทั้งชาวกัมพูชา ลาว เวียดนาม พอเขาไปอยู่ประเทศที่สามไม่ว่าสหรัฐฯ ยุโรป พอตั้งตัวได้ก็นึกถึงสินค้าและนำไปจำหน่ายเพื่อให้คนอพยพแถบนั้นได้รับประทาน step เริ่มต้นการส่งออกขายคนเอเชีย ยอดขาย 9 ล้านบาท ประมาณร้อยละ 2 ของยอดขายทั้งหมดและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”

มุ่งตลาดพรีเมียม
ด้วยหลักคิดที่ว่า ผู้บริโภคสามารถกินบะหมี่เป็นอาหาร หรือเป็นส่วนประกอบสำหรับอาหารหลักได้ในราคาไม่แพงนัก ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มแมสบริษัทมีคู่แข่งคือ เวียดนาม อินโดนีเซีย และจีน โดยมาม่ามีราคาสูงกว่าเล็กน้อย แต่นับจากปีที่ 51 เป็นต้นไป บริษัทจะมุ่งสู่กลุ่มสินค้าพรีเมียมและไฮเอนด์โดยใช้เส้นขาวเป็นตัวนำ “ตลาดตอนนี้คือยุโรป และยังคิดอยู่ว่าจะ add value เพิ่ม เช่น plant-based เรากำลังจะออกบะหมี่สำเร็จรูปที่ใส่ผักเคล เห็ดชิตาเกะ (ผสมรวมกับเนื้อบะหมี่) การใส่เห็ด ฟักทอง แครอท 20 ปีที่แล้วเคยทำแต่ตลาดไม่รับ เพราะขายแพงขึ้น การใส่เห็ดชิตาเกะทำให้สุขภาพดีขึ้น ก่อนและหลังโควิดคนบริโภคอาหาร 2 อย่าง อย่างแรกคือ บริโภคแล้วทำให้สุขภาพดีขึ้น อีกอย่างคือ ทำให้เราสนุกสนานมีความสุข ต่างประเทศเราจะออกสินค้าเรียกว่า meal kit คือซื้อกลับไปปรุงที่บ้าน เนื่องจาก work from home กันเยอะ