ธุรกิจฟาร์มไก่เพื่อการส่งออกสร้างรายได้ระดับหมื่นล้านให้ "สหฟาร์ม" อย่างต่อเนื่อง แม้ต้องอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการมาหลายปีจะออกจากแผนในปีนี้ ดร.ปัญญา โชติเทวัญ วางรากฐานการบริหารสู่ทายาทกว่า 10 คน หนึ่งในนั้นคือ "น้ำผึ้ง-จารุวรรณ" บุตรสาวที่มีแนวคิดและการจัดการแบบคนรุ่นใหม่
จารุวรรณ โชติเทวัญ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายบริหาร บริษัท สหฟาร์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือน้ำผึ้ง เป็นบุตรสาวคนเดียวของ ดร.ปัญญา-ดร.มนูญศรี โชติเทวัญ ปัจจุบันเธอมีบทบาทในฐานะผู้บริหารรุ่น 2 ของ “สหฟาร์ม” อาณาจักรธุรกิจไก่ครบวงจร ผู้ส่งออกไก่สดแช่แข็งรายใหญ่ของไทย
ธุรกิจที่จารุวรรณดูแลมีทั้งการบริหารจัดการฟาร์มและการตลาด กับผลงานล่าสุดแนวคิดของเธอที่ได้รับคำแนะนำจาก ดร.ปัญญาคือ การสร้างฟาร์มไก่อารมณ์ดี ต้นแบบการเลี้ยงไก่ในฟาร์มปิดวิถีใหม่ที่เป็นแหล่งกำเนิดผลิตภัณฑ์ไก่พรีเมียมแบรนด์ “PAULDY” ซึ่งเปิดตัวในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 สร้างแบรนด์ด้วยการทำตลาดออนไลน์ที่เจาะตรงผู้บริโภค
“น้ำผึ้งดู บริษัท สหฟาร์ม อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นหลัก ดูงานบริหารทั่วไปและฟาร์มมิ่ง ซึ่งสหฟาร์ม อินเตอร์ฯ เน้นการผลิตเพื่อส่งออกก็จะดูระบบฟาร์มทั้งหมดและกระบวนการผลิต” จารุวรรณเริ่มต้นบทสัมภาษณ์กับทีมงาน Forbes Thailand ที่สำนักงานใหญ่สหฟาร์ม ถนนนวมินทร์ ซึ่งออฟฟิศที่เธอนั่งทำงานเป็นอาคารด้านหลังภายในอาณาจักรสหฟาร์มย่าน กม. 8 ที่ทุกคนคุ้นเคย
สานต่อเจตนารมณ์บิดาในแบบ จารุวรรณ โชติเทวัญ
ด้วยบุคลิกคล่องแคล่วและมีความเป็นแฟชั่นนิสต้าในตัว ทำให้เธอเป็นที่สนใจของสื่อต่างๆ ถูกเขียนถึงในสื่อบันเทิง-แฟชั่นบ่อยครั้งด้วยชื่อเรียก “ไฮโซน้ำผึ้ง” ซึ่งภาพลักษณ์ของจารุวรรณเป็นคุณหนูนักเรียนนอกที่แต่งตัวเก่ง เป็นเซเลบริตี้ในแวดวงไฮโซ แต่เธอก็มีอีกบทบาทที่ชัดในฐานะนักบริหารหญิง ทายาทธุรกิจหมื่นล้าน บริหารอย่างโดดเด่นร่วมกับพี่น้องหลายคน
“ลูกๆ คุณพ่อ 10 กว่าคน ทุกคนมาช่วยงานทั้งหมด ส่วนใหญ่ก็รับนโยบายจากคุณพ่อเหมือนกัน ทุกคนก็กระจายกันออกไป เราไม่ได้ทำคนเดียว แต่ว่าเป็นความร่วมมือของพี่น้องทุกคนช่วยกัน ทำงานกันเป็นทีมเวิร์กค่ะ ต้องช่วยกัน ต้องใช้หนี้สินทุกบาททุกสตางค์” เธอปิดท้ายคำตอบด้วยเสียงหัวเราะก่อนอธิบายอย่างรวบรัดว่า สหฟาร์มอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการมาแล้ว 7 ปี กำลังจะออกจากแผนในปีนี้
สำหรับ ดร.ปัญญา ปัจจุบันอายุกว่า 90 ปีแล้ว จารุวรรณเผยว่า บิดายังคงแข็งแรงและติดตามการทำงานของลูกๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเธอมักหารือกับบิดาเสมอเกี่ยวกับการทำงาน “คุณพ่ออายุ 90 แล้ว แต่ไม่เหมือนคนอายุ 90 ความจำดีมาก สั่งงานอะไรไม่เคยลืมเลย จะติดตามทวงถามตลอด” ดร.ปัญญาจึงเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญ และหากประเมินจากวิกฤตที่ผ่านมาถือว่าทุกคนร่วมฝ่าฟันมาด้วยกัน
“วิกฤตตอนนั้นจำได้ว่าค่าแรงขึ้นสูงมาก กระโดดไป 300 บาท แต่นั่นก็แค่ส่วนหนึ่ง ปัจจัยหนักอีกตัวคือ อาหารสัตว์ขาดแคลนเพราะเกิดคลื่นความร้อนที่อเมริกา ตอนนั้นเราเลี้ยงไก่เยอะมาก วันละ 800,000-1,000,000 ตัว พออาหารสัตว์ขาดไก่ก็ขาดอาหาร” จารุวรรณสรุปคร่าวๆ ถึงสถานการณ์เมื่อ 7 ปีก่อนที่ทำให้ผลผลิตเสียหาย สหฟาร์มต้องปรับตัวเยอะ ทั้งเรื่องการเลี้ยงไก่และมาตรฐานวงเงินต่างๆ ซึ่งเธอย้ำว่า “เราเป็นธุรกิจครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำตั้งแต่แรก”
นั่นคือเส้นทางการเติบโตและการฝ่าฟันวิกฤตของสหฟาร์มที่จารุวรรณสัมผัสตลอดมา เธอเรียนรู้และซึมซับการทำงานของบิดาตั้งแต่จุดเริ่มต้น นำหลักคิดการบริหารและการดูแลพนักงานมาใช้เช่นเดียวกับ ดร.ปัญญา “คุณพ่อบอกเสมอว่า ทุกครั้งที่เราเจอปัญหานี่แหละคือโอกาสที่เราจะได้ใช้ความคิด สติปัญญา และถ้าเราผ่านพ้นตรงนั้นไปได้คือวิชาที่เราจะได้ มันจะทำให้เราเจริญเติบโตและมีภูมิต้านทาน”
ส่วนการบริหารจัดการฟาร์มยังคงสานต่อความมุ่งมั่นที่จะเลี้ยงไก่ด้วยสุขภาวะที่ดีโดยระบบที่ดีที่สุด “ระบบฟาร์มของเราเป็น compartment ซึ่งจะต้องมี biosecurity ที่แน่นหนามากเพื่อป้องกันไม่ให้โรคจากภายนอกเข้าไปได้ เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นคนหรือสิ่งของหากจะเข้าสู่ฟาร์มต้องอาบน้ำทำความสะอาดฆ่าเชื้อก่อน” จารุวรรณบอกว่า พื้นที่ฟาร์มค่อนข้างใหญ่จึงมีการสร้าง buffer zone ยาว 500 เมตรโดยรอบฟาร์มเพื่อป้องกันไม่ให้ใกล้แหล่งชุมชน โดยฟาร์มของบริษัทในเครือทั้งหมดทั้งที่ลพบุรีและเพชรบูรณ์มีพื้นที่ฟาร์มเลี้ยงและเป็นโรงงานรวม 6,000 ไร่ สามารถผลิตไก่เข้าเชือดวันละ 250,000 ตัว และยังสามารถเพิ่มได้อีกร้อยละ 10-20 เป็นฟาร์มขนาดใหญ่การบริหารจัดการจึงค่อนข้างรัดกุม
มากกว่าการทำระบบฟาร์มปิดที่รัดกุม สหฟาร์มยังมีโครงการน่าสนใจที่เรียกว่า “โครงการฟาร์มไก่อารมณ์ดี” ซึ่งมาจากคำแนะนำของ ดร.ปัญญา ที่ต้องการเลี้ยงไก่ให้มีคุณภาพให้ไก่อารมณ์ดีด้วยการใช้ธรรมชาติบำบัดจึงใส่ความสุขให้กับสรรพสัตว์ทั้งหลาย และด้วยความที่เป็นฟาร์มขนาดใหญ่จึงใช้ความเป็นขนาดใหญ่ให้ไก่อยู่อย่างสบายไม่แออัด
ฟาร์มไก่อารมณ์ดี-โลว์ยูริก
“ไก่ที่เลี้ยงในความพิเศษนี้จะมีความเบาบางมากกว่าปกติ มีกองฟางให้เขาได้คุ้ยเขี่ย มีขอนไม้ให้เขาบินไปเกาะ ให้เขาได้ใช้ร่างกายอย่างเต็มที่ เรายังปลูกต้นกัญชาและฟ้าทะลายโจรให้เขาได้จิกกินด้วย เป็นการเลี้ยงด้วยสมุนไพร” สภาพแวดล้อมแบบนี้จารุวรรณบอกว่า ทำให้ไก่เจริญเติบโตดีโดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเร่งการเติบโต และไม่ต้องใช้ยาเพราะไก่สุขภาพดี ที่สำคัญฟาร์มนี้ยังเปิดเพลงคลาสสิกให้ไก่ฟัง “ทุกครั้งที่ไก่ได้ฟังเพลงก็จะรู้สึกสบายนอนเหยียดขา” เธอเล่าอย่างอารมณ์ดี
เนื่องจากผลผลิตที่ได้ทำให้ไก่น้ำหนักเยอะกว่าปกติ โดยเธอบอก “เมื่อไก่มีความสุขก็จะหลั่งสารแห่งความสุขออกมา เรานำเนื้อไก่ที่ได้ไปตรวจกับฟาร์มข้างๆ ก็พบว่าไก่ที่เลี้ยงด้วยระบบนี้มีค่ายูริกต่ำกว่าไก่ทั่วไปถึงร้อยละ 20 เป็นไก่โลว์ยูริก” เนื่องจากไก่อารมณ์ดีจึงไม่หลั่งสารที่ตึงเครียด โดยจารุวรรณเผยว่า ปัจจุบันเป็นช่วงเริ่มต้น ไก่ที่เลี้ยงด้วยระบบนี้ยังมีน้อยมาก เพราะตลาดค่อนข้าง niche เลี้ยงได้ผลผลิตมาและขายออนไลน์ แต่หากสามารถขายคอนเซ็ปต์นี้ให้กับลูกค้าต่างชาติทั้งยุโรปหรือเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี และประเทศอื่นๆ ได้ก็อาจจะพัฒนาการเลี้ยงมากขึ้น เพื่อรองรับการส่งออกในอนาคต
เนื่องจากมองเห็นโอกาสที่ชัดเจน นอกจากสตอรี่การเลี้ยงที่ลูกค้าเอาไปใช้ได้แล้ว ยังสามารถทดสอบผ่านแล็บได้เลยว่าคุณภาพของเนื้อไก่ที่ได้เป็นอย่างไร “เราเริ่มทำไก่อารมณ์ดีตั้งแต่ช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิดเพราะเมื่อเกิดสถานการณ์โควิดคนหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น ฉะนั้นเขายอมที่จะจ่ายเพิ่มอีกนิดเพื่อบริโภคสินค้าที่ดี แทนที่จะทานแล้วป่วย” เป็นโอกาสที่เธอมองเห็นในช่วงวิกฤต และด้วยความพร้อมในฐานะฟาร์มขนาดใหญ่ที่มีทีมผู้บริหาร มีสัตวแพทย์ สัตวบาล เข้าไปดูแลเรื่องสุขภาพ ดูแลการเจริญเติบโตอยู่เป็นประจำทำให้ไก่มีสุขภาพที่แข็งแรง
"ด้วยความที่เรามีขนาดใหญ่จึงสามารถอำนวยความสะดวกเรื่องการเลี้ยงแบบเว้นระยะห่างได้ ทำให้ไก่มีสุขภาพดี การเลี้ยงแบบธรรมชาติทำให้ไก่โตมาอย่างอารมณ์ดี โดยเป็นการแยก compart ที่ฟาร์มลพบุรี มาเลี้ยงแบบพิเศษในพื้นที่ 1 compart เท่ากัน นำไก่ออกครึ่งหนึ่ง เช่น compart ปกติเคยเลี้ยง 11 ตัวต่อตารางเมตร ปรับเหลือ 6 ตัวต่อตารางเมตร” จารุวรรณอธิบายคร่าวๆ ถึงโครงการฟาร์มไก่อารมณ์ดีที่เกิดจากไอเดียของเธอที่ตอบโจทย์ความต้องการของบิดา และคงไม่หยุดเพียงเท่านี้เธอบอกว่า ในอนาคตอาจจะมีโครงการอื่นๆ เพิ่ม เช่น ไก่สายพันธุ์อื่นๆ ออกมาเป็นลูกเล่นต่อๆ ไป
จากฟาร์มไก่อารมณ์ดีเป็นที่มาของไก่พรีเมียมแบรนด์ PAULDY หรือ พอดี โดยการพ้องเสียงตรงกับปรัชญาความพอดีพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 และ PA มาจากชื่อ ดร.ปัญญา ซึ่งตอกย้ำว่า เป็นแบรนด์ไก่คุณภาพดีเลี้ยงแบบฟาร์มปิดด้วยวิถีธรรมชาติ ลดการใช้ยาและสารเร่งการเติบโต เป็นเนื้อไก่และไข่คุณภาพดีจากธรรมชาติ สามารถทดสอบในห้องทดลองได้ว่า มีค่ายูริกต่ำกว่าไก่ทั่วไปถึงร้อยละ 20 ได้ราคาจำหน่ายสูงขึ้น และตอบโจทย์สำหรับลูกค้าที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพ โดยจารุวรรณมองว่า ในอนาคตตลาดน่าจะตอบรับดีด้วยความพิเศษของไก่ที่แตกต่างจากทั่วไปน่าจะเป็นสินค้าใหม่ที่สร้างแบรนด์ให้สหฟาร์มในกลุ่มพรีเมียมแบรนด์
ทุ่มงบฝ่าวิกฤตโควิด-19
แนวทางการเลี้ยงไก่แบบใหม่เป็นผลพวงที่สืบเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งจารุวรรณยอมรับว่า ช่วงแรกๆ สหฟาร์มรับผลกระทบไม่น้อย ผลกระทบหนักคือ เรื่องแรงงาน ช่วงนั้นจะได้ยินข่าวว่าหลายโรงงานต้องปิดการผลิตชั่วคราวเนื่องจากพนักงานติดโควิด-19 หรือต้องกักตัวทำให้แรงงานขาดแคลน กำลังการผลิตลดลงต้นทุนการผลิตก็สูงขึ้น “ช่วงนั้นกระทบพอสมควร ของเรากำลังการผลิตตอนนั้นหายไปช่วงหนึ่งแต่ไม่เยอะ เราใช้เวลาฟื้นตัวราว 2 อาทิตย์กลับมาเหมือนเดิม” ถือเป็นการกลับมาได้เร็ว พอดีกับความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้น เธอเล่าว่า ตอนนั้นราคาขึ้นเนื่องจากแทบทุกโรงงานผลิตไม่ได้ บางที่ใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะกลับมา ทำให้ซัพพลายมันขาดหายไปจากตลาด
จารุวรรณบอกว่า “เรากลับมาได้เพราะสหฟาร์มให้พนักงานทุกคน ขอความร่วมมือทุกคนฉีดวัคซีน ส่วนแรงงานต่างด้าวเราซื้อวัคซีน (ซิโนฟาร์ม) ให้เลย โดยใช้งบ 20 ล้านบาท เพื่อให้พนักงานทุกคนได้รับวัคซีน” ไม่เฉพาะการซื้อวัคซีน เธอบอกว่า อีกเรื่องที่สหฟาร์มแก้ปัญหาได้เร็วคือ การสร้างโรงพยาบาลสนามขึ้นเอง ใช้งบประมาณอีกกว่า 10 ล้านบาท เปิดอยู่ 2 เดือนเพื่อรักษาพนักงานที่ติดโควิด ที่สหฟาร์มปรับตัวเรื่องนี้ได้เร็วเพราะ ดร.ปัญญา เคยเป็นนายแพทย์ทหารเรือมาก่อน
“คุณพ่อเป็นคนที่ห่วงใยใส่ใจทั้งผู้บริหารและเพื่อนร่วมงานเป็นอย่างมาก พอเกิดปัญหาเราก็สร้างโรงพยาบาลสนามเอง 4,000 เตียง เรามีฟ้าทะลายโจร มียาทุกอย่าง มีหมอ-พยาบาลไปดูแล ทำให้พนักงานที่ตอนนั้นติดเชื้อ 4,000 กว่าคนไม่มีใครเป็นอะไรเลย” จากทีมงานทั้งหมด 6,000 คน ติดกันง่ายเพราะโรงงานเป็นห้องแอร์ เมื่อมีคนติดเชื้อก็จะติดไปด้วยกัน แต่ไม่มีใครเสียชีวิตและทุกคนหายได้ใน 3-5 วัน
นอกจากนี้ ดร.ปัญญา ยังมีเครื่องอบสมุนไพร มีสมุนไพร มีน้ำกระชายแจกทุกคน และยังนำต้นฟ้าทะลายโจรมาสกัดเป็นน้ำให้ทุกคนดื่ม และยังมีน้ำกระชายสกัดจากต้นกระชายป่าที่บ้านสุขาวดีผสมน้ำผึ้งน้ำแร่แจกจ่ายนับ 10,000 ขวด ให้กับทั้งพนักงานและพันธมิตรต่างๆ
ผ่านสถานการณ์โควิด-19 มาได้ ล่าสุดความท้าทายใหม่กำลังมา จารุวรรณบอกว่า “โลกตอนนี้เจอ crisis อยู่ 3 เรื่องใหญ่ เรื่องแรกคือ สถานการณ์โควิดทำให้แรงงานขาด ไม่ใช่แค่ในไทยแต่เป็นทั่วโลก” เธอยกตัวอย่างผลกระทบตามมา เช่น ค่าขนส่งสินค้าที่สูงขึ้นมากเกือบร้อยละ 100 และใช้เวลาในการส่งของเพิ่มขึ้นเท่าตัว เช่น จากไทยไปยุโรปปกติจะใช้ 30 วัน เพิ่มเป็น 40-50 วัน เพราะแรงงานขาดไม่มีคนเคลียร์ตู้สินค้า ค่าขนส่งจึงแพงขึ้นเป็นเท่าตัว
Crisis ที่ 2 คือ สงครามยูเครน-รัสเซีย ทำให้พืชผลต่างๆ ราคาปรับตัวสูงขึ้นมาก รัสเซียเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยรายใหญ่ พอปุ๋ยราคาสูงขึ้นก็ทำให้พืชผลทางการเกษตร ธัญพืช และผักต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้น และ crisis ที่ 3 คือ วัตถุดิบต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้นมาเพิ่มต้นทุนการผลิตโดยตรง เป็นโจทย์ท้าทายที่ต้องจับตามองและปรับแผนรองรับให้ทัน ยิ่งสหฟาร์มเน้นตลาดส่งออกเป็นหลักยิ่งต้องปรับตัวให้เร็วและเท่าทัน
การหันมาสร้างแบรนด์นับเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่สหฟาร์มเริ่มต้นอย่างจริงจัง แต่จะก้าวไกลได้แค่ไหนอาจต้องใช้ทั้งเวลาและเทคโนโลยีต่างๆ ในการปรับตัวเพื่อรองรับความเสี่ยง เมื่อโลกเปลี่ยนท่ามกลางปัจจัยลบก็ถือเป็นวิกฤตอีกอย่างที่มองข้ามไม่ได้
อีก 3-5 ปี แน่นอนว่าเรื่องของเทคโนโลยีจะต้องนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในกระบวนการผลิต นำมาเป็นข้อมูลในการพัฒนาการเลี้ยงให้เติบโตยิ่งขึ้น ทำให้รู้ข้อผิดพลาดแบบเรียลไทม์ ช่วยลบข้อผิดพลาดในการผลิต เช่น รู้ว่าตอนนี้พัดลมมีปัญหาอุณหภูมิเปลี่ยน ก็สามารถปรับแก้ได้ทันท่วงที จะช่วยลดความเสียหาย และแน่นอนมันจะช่วยเพิ่มผลผลิตตามมา
ในอนาคตสหฟาร์มอาจใช้เครื่องจักรมากขึ้น เช่น เครื่องจักรในการถอดกระดูก จากปัจจุบันใช้แรงงานคน ซึ่งสมมุติปัจจุบันมี yield loss อยู่ที่ร้อยละ 20 แต่ถ้าใช้เครื่องจักรอาจลดเหลือร้อยละ 15 เป็นต้น ส่วนเครื่องจักรในการแปรรูปเป็นสเปกของเครื่องที่สหฟาร์มทำมาตั้งแต่ต้น อาจจะมีการใช้ AI เข้ามาเกี่ยวข้องในการขายมากขึ้น เพื่อเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น
จารุวรรณสรุปทิ้งท้ายถึงอนาคตสหฟาร์ม ความยิ่งใหญ่ที่จะยั่งยืนตามเจตนารมณ์บิดาที่ต้องการทำธุรกิจให้ตอบโจทย์ที่ดีกับทุกฝ่าย เลี้ยงไก่ให้มีความสุข ลูกค้าได้สินค้าคุณภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้บริหารและพนักงานทุกคน
ภาพ: กิตติเดช เจริญพร อ่านเพิ่มเติม:- Book Value: "Our Towns" หนังสือแนะนำจาก Steve Case เศรษฐีพันล้าน ผู้ร่วมก่อตั้ง AOL
- พินิจความงามหรูในแบบ PATEK PHILIPPE
- เพ็ญสิริ เสถียรวงศ์นุษา ACOM นำทัพอี-คอมเมิร์ซอาเซียน
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine