เพ็ญสิริ เสถียรวงศ์นุษา ACOM นำทัพอี-คอมเมิร์ซอาเซียน - Forbes Thailand

เพ็ญสิริ เสถียรวงศ์นุษา ACOM นำทัพอี-คอมเมิร์ซอาเซียน

กว่าทศวรรษของการเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จด้านยอดขายของภาคธุรกิจบนโลกออนไลน์นับตั้งแต่เริ่มต้นเปิดประตูธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทย สู่ความเชื่อมั่นในการผสมผสาน ความเชี่ยวชาญเป็นหนึ่งในสามทหารเสือแจ้งเกิดเอคอมเมิร์ซขึ้นแท่นผู้นำการให้บริการสนับสนุนธุรกิจอี-คอมเมิร์ซครบวงจรยักษ์ใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก แต่กลับเป็นโอกาสสำหรับภาคธุรกิจอี-คอมเมิร์ซที่สามารถสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคให้ใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น พร้อมกับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของผู้ให้บริการสนับสนุนการประกอบธุรกิจด้านอี-คอมเมิร์ซอย่างครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “ชื่อบริษัท aCommerce มาจาก anything anywhere anytime หมายถึงในโลกธุรกิจอี-คอมเมิร์ซสามารถขายอะไรก็ได้ ซื้อที่ไหนก็ได้ และเวลาใดก็ได้ เพราะเราเชื่อว่าธุรกิจอี-คอมเมิร์ซมีโอกาสเติบโตและเป็นเทรนด์ในอนาคต ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับคอมพิวเตอร์ที่ต้องมี Windows อยู่เบื้องหลังเราก็ต้องการเปรียบเสมือน operating system brand innovate ไปพร้อมกับแบรนด์ ไม่ว่าอนาคตแบรนด์อาจจะต้องการ omnichannel solution หรือผสมผสานออนไลน์และออฟไลน์ เราต้องสามารถช่วยแบรนด์คิดหรือวางแผนการเดินหน้าต่อได้” เพ็ญสิริ เสถียรวงศ์นุษา ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ประจำประเทศไทย บริษัท เอคอมเมิร์ซ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ACOM เล่าถึงเส้นทางการบุกเบิกธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทยที่เริ่มต้นขึ้นด้วยการทำงานส่วนการตลาดในธุรกิจประกันภัยของ บริษัท มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันซ์ จำกัด ราว 2 ปี ก่อนที่จะตัดสินใจเข้าสู่ธุรกิจสตาร์ทอัพในตำแหน่งนักพัฒนาธุรกิจของ บริษัท ร็อคเก็ตอินเตอร์เน็ต จำกัด ในปี 2554 และรองประธานฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ซาโลร่า (ประเทศไทย) จำกัด ในปี 2555 จากประสบการณ์การทำงานเชื่อมต่อระบบอี-คอมเมิร์ซร่วมกับบริษัทยักษ์ใหญ่ยิ่งตอกย้ำความเชื่อมั่นในเทรนด์แห่งอนาคต และเล็งเห็นโอกาสสร้างการเติบโตทางธุรกิจร่วมกับ วีระพงษ์ (พอล) ศรีวรกุล และ Piers Bennett ด้วยการผสมผสานทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะทางช่วยให้ธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถเปิดประตูสู่โลกอี-คอมเมิร์ซได้สำเร็จ “เรามีโอกาสได้คุยกับคุณพอลและคุณ Piers ซึ่งมีประสบการณ์ด้านการตลาดและสื่อดิจิทัล ส่วนเราทำงานด้าน set up back office operation ซึ่งถือเป็นความโชคดีที่ได้พูดคุยกัน และมีความมุ่งมั่นต้องการเดียวกันในการเป็นฟันเฟืองเบื้องหลังระบบปฏิบัติการให้กับแบรนด์ด้วยทักษะที่แตกต่างและสามารถเสริมกันได้ อย่างคุณ Piers ทำงานด้าน CFO ซึ่งถนัดเรื่องบัญชี การเงินและการลงทุน คุณพอลเป็นเรื่องเทคโนโลยี แพลตฟอร์ม visionary และ next step ส่วนเราจะเป็นการนำไปปฏิบัติทำให้เกิดขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจสามารถก้าวไปข้างหน้าและพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่องตลอด 10 ปีที่ผ่านมา” เพ็ญสิริกล่าวถึงความมุ่งมั่นข้ามผ่านความท้าทายในช่วงเริ่มต้นก่อตั้งธุรกิจให้บริการผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์และบริการเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับอี-คอมเมิร์ซในปี 2556 จนกระทั่งก้าวเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี (tech company) ซึ่งให้บริการสนับสนุนด้านอี-คอมเมิร์ซอย่างครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งพิจารณาจากเกณฑ์ยอดขายสินค้ารวม (GMV) ในปี 2563 โดยครอบคลุมผู้ใช้บริการอี-คอมเมิร์ซครบวงจรใน 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย สำหรับการให้บริการของบริษัทครอบคลุมทุกด้านอี-คอมเมิร์ซ ตั้งแต่การให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์อี-คอมเมิร์ซ การพัฒนาร้านค้าออนไลน์ การดำเนินการให้ร้านค้าแบรนด์ (brand store operations) การทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ให้สามารถสร้างยอดขายได้ (performance marketing) การบริการคลังสินค้าครบวงจร (warehousing and fulfillment) การรับชำระเงินและการจัดส่งสินค้า (payment and delivery) ศูนย์บริการและดูแลลูกค้า (customer care solutions) และการวิเคราะห์ข้อมูลและการให้ข้อมูลในเชิงลึก (data analytics and insights) นอกจากนั้น บริษัทยังช่วยให้ผู้ใช้บริการอี-คอมเมิร์ซครบวงจรสามารถสร้างธุรกิจอี-คอมเมิร์ซและขายสินค้าบนช่องทางออนไลน์ขายตรงของแบรนด์ (ร้านค้า brand.com) บนร้านค้าอย่างเป็นทางการในตลาดซื้อขายหลัก (marketplaces) และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียรายใหญ่ เพื่อสร้างประสบการณ์การซื้อสินค้าแบบไร้รอยต่อผ่านช่องทางต่างๆ ที่สอดคล้องกับตำแหน่งทางการตลาดของแบรนด์  

- เชื่อมต่ออี-คอมเมิร์ซระดับโลก -

จากข้อมูลของ Euromonitor คาดการณ์มูลค่าธุรกรรมอี-คอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีอัตราเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 19.8% ต่อปี ตั้งแต่ปี 2563-2568 จากยอดขายสินค้ารวม (GMV) ที่ 5.23 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2563 เป็นยอดขายสินค้ารวม (GMV) ที่ 1.29 แสนล้านเหรียญภายในปี 2568 จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมซื้อสินค้าทางออนไลน์เพิ่มขึ้น บริษัท เอคอมเมิร์ซ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ขณะที่ผลการดำเนินงานของบริษัทสามารถเติบโตอย่างต่อเนื่องควบคู่กับการขยายตัวของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในภูมิภาค โดยรายได้รวม (รายได้จากการขายและบริการ, กำไรอัตราแลกเปลี่ยน, รายได้อื่นๆ) เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 4.6 พันล้านบาทในปี 2562 เป็น 7.29 พันล้านบาทในปี 2563 และรายได้รวม 9 เดือนปี 2564 จำนวน 6.34 พันล้านบาท ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) 52% จากปี 2562-2564 พร้อมฐานลูกค้าแบรนด์ไทยและแบรนด์โลกรวมกว่า 168 ราย บริหารจัดการสินค้ากว่า 39,221 รายการ รวมทั้งศูนย์คลังสินค้าครบวงจร และคลังสินค้า 5 แห่ง คิดเป็นพื้นที่รวม 21,919.2 ตารางเมตร และดำเนินงานร่วมกับศูนย์คลังสินค้าครบวงจร ซึ่งดำเนินการโดยแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ “เราอยู่ในธุรกิจอี-คอมเมิร์ซที่การเติบโตเฉลี่ย 30-40% ซึ่งภาพรวมการเติบโตของเราแบ่งเป็น organic growth จากลูกค้าปัจจุบันในการขยาย store front ให้มากขึ้นในช่องทางหรือตลาดใหม่ๆ ที่เรามีอยู่ในต่างประเทศ และกลุ่มลูกค้าใหม่อีกหลายธุรกิจที่เรายังไม่ได้ทำ รวมถึงการนำเสนอผลิตภัณฑ์ SaaS ช่วยขยายฐานลูกค้าทั้งแบรนด์และธุรกิจขนาดกลาง โดยยังไม่รวม inorganic growth ซึ่งเราขยายธุรกิจไปยังเวียดนามและมาเลเซีย โดยอาจจะหาธุรกิจที่เสริมธุรกิจของเราหรือ M&A” เพ็ญสิริกล่าวถึงการใช้เงินลงทุนแล้วกว่า 800 ล้านบาท เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มเทคโนโลยีของบริษัทชื่อ EcommerceIQ ซึ่งใช้ในการบริหารจัดการการขายสินค้าบนแพลตฟอร์มต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยบริษัทได้เชื่อมต่อแพลตฟอร์มเข้ากับซอฟต์แวร์ช่องทางการเชื่อมต่อ (Application Programing Interfaces หรือ APIs) กว่า 300 รายการไปยังผู้ให้บริการต่างๆ ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอี-คอมเมิร์ซ นอกจากนั้น บริษัทยังเปิดตัวผลิตภัณฑ์ SaaS (Software as a Service) ชื่อ EcommerceIQ SaaS ในปี 2564 ซึ่งให้บริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ตสำหรับการบริการด้านการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง เพื่อให้ผู้ใช้บริการอี-คอมเมิร์ซครบวงจรสามารถทำความเข้าใจผู้บริโภคขั้นปลายและคู่แข่งของตน โดยให้การบริการข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับตลาด (market insight) และบริการวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับผู้ใช้บริการอี-คอมเมิร์ซครบวงจร (client analytics) รวมถึงให้บริการผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์หรือบริการอย่างใดอย่างหนึ่ง (value-added services) ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจด้านอี-คอมเมิร์ซ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในภูมิภาคนี้ “การให้บริการของเรามี 3 โมเดลหลักตั้งแต่โมเดลการบริการครบวงจรให้เราจัดการทุกอย่าง และโมเดลบริการ a la carte เป็น value-added service เลือกเฉพาะบริการที่ต้องการ และสุดท้ายที่เรามองเห็นโอกาสสร้างการเติบโตจากเทคโนโลยี Software as a Service หรือ SaaS ที่เปิดตัวไปแล้ว และ EcommerceIQ ซึ่งเราพัฒนาตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้สำหรับใช้ในองค์กรและเล็งเห็นโอกาสนำระบบดังกล่าวทำเป็น self serving tool สำหรับลูกค้าให้ใช้งานในระบบของเราได้” ดังนั้น บริษัทจึงเดินหน้าแผนการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อรองรับกลยุทธ์สร้างการเติบโตและขยายธุรกิจในอนาคต ได้แก่ การพัฒนาความสัมพันธ์ในฐานะพันธมิตรกับกลุ่มผู้ใช้บริการอี-คอมเมิร์ซครบวงจรระดับโลกของบริษัท เพื่อเพิ่มจำนวนแบรนด์ รายการสินค้า และการให้บริการมากกว่า 1 ประเทศ รวมทั้งลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการ พร้อมขยายฐานผู้ใช้บริการรายใหม่และกลุ่มสินค้าใหม่ในธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ขณะเดียวกันยังมุ่งเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ EcommerceIQ SaaS ทั้งในด้านฟีเจอร์ต่างๆ และเพิ่มความปลอดภัยในการรักษาข้อมูล เพื่อขยายไปสู่ตลาดที่กว้างขึ้น ตั้งแต่บรรษัทข้ามชาติถึงธุรกิจขนาดกลางด้วยต้นทุนส่วนเพิ่มที่น้อยมากเนื่องจากอยู่ในรูปแบบ Software as a Service หรือ SaaS รวมถึงการเข้าซื้อกิจการที่อาจมีขึ้นในอนาคตเพื่อขยายขอบเขตทางภูมิศาสตร์สู่ตลาดใหม่ การเสริมขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของบริษัท และแบรนด์ที่มีการขายเฉพาะในช่องทางออนไลน์ (private online brands) ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง และที่จะช่วยให้บริษัทได้ประโยชน์จากความสามารถในการจัดจำหน่ายแบบหลากหลายช่องทาง (omnichannel) บริษัท เอคอมเมิร์ซ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) “ผู้ก่อตั้งเราเป็นคนไทยและเริ่มต้นจากประเทศไทย ซึ่งภาพตั้งแต่วันแรกของเราต้องการขยายธุรกิจให้ครอบคลุมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดด้วยตัวเอง เพราะเราเป็นรายแรกที่บุกเบิกตลาดและมีความรู้ความเชี่ยวชาญ รวมถึงเทคโนโลยีของเราที่สามารถใช้โมเดล hybrid combination จากความแตกต่างของแต่ละประเทศทั้งภาษา วัฒนธรรม ภูมิภาค ภูมิประเทศ ทำให้เราต้องมั่นใจว่า เรามีทีมงานที่เข้มแข็ง เข้าใจธรรมชาติตลาดและเข้าใจผู้บริโภค" "ซึ่งทุกประเทศของเราจะมี local team และ local country head โดยนำเทคโนโลยีของเราไปเชื่อมต่อกับ local partner เช่น การทำขนส่งให้ครอบคลุมการจัดส่งในแต่ละประเทศ รวมทั้งการควบคุมคุณภาพจาก regional team ที่มีสำนักงานใหญ่ที่เมืองไทย ซึ่งเริ่มต้นขยายจากอินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และสุดท้ายหลังจาก IPO จะขยายไปเวียดนาม” เพ็ญสิริกล่าวถึงการขยายธุรกิจให้บริการสำหรับผู้ใช้บริการอี-คอมเมิร์ซครบวงจรระดับโลกหลายรายในพื้นที่ต่างๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งบริษัทสามารถให้บริการได้อย่างครอบคลุมความต้องการและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้เหมาะสมในแต่ละประเทศ ด้วยประสบการณ์ทำงานและความสามารถเฉพาะในการช่วยผู้ใช้บริการอี-คอมเมิร์ซครบวงจรด้านการดำเนินงานร้านค้าแบรนด์ การเพิ่มประสิทธิภาพการขาย การประสานงานทำการตลาดแคมเปญ และการส่งเสริมการขายในช่องทางต่างๆ ส่งผลให้บริษัทสามารถเป็นพันธมิตรระดับภูมิภาคที่สำคัญของผู้ใช้บริการอี-คอมเมิร์ซครบวงจรกับองค์กรระดับโลกได้อย่างต่อเนื่อง   ภาพ: กิตติเดช เจริญพร อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2565 ในรูปแบบ e-magazine