RBF ชูนวัตกรรม Food Ingredients ผู้สร้างสีสันโลกของอาหาร - Forbes Thailand

RBF ชูนวัตกรรม Food Ingredients ผู้สร้างสีสันโลกของอาหาร

หากเอ่ยชื่อ บริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) (RBF) หลายคนคงอาจไม่รู้จัก แต่กระนั้นก็เชื่อว่าคงมีจำนวนไม่น้อยที่ได้ลิ้มลองอาหารและเครื่องดื่มที่บริษัทได้เข้าไปมีส่วนร่วมปรุงแต่งด้วยการจัดหาวัตถุแต่งกลิ่นและรสให้โดยไม่รู้ตัว บริษัทสัญชาติไทยแห่งนี้มีมาตรฐานระดับนานาชาติ ลูกค้าต่างชาติน้อยใหญ่ต่างให้การยอมรับ ที่สำคัญคือ มีอนาคตอีกยาวไกลที่ขับเคลื่อนด้วย "นวัตกรรม"

RBF ก่อตั้งโดย สมชาย รัตนภูมิภิญโญ บัณฑิตสาขาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ผู้หลงใหลในเทคโนโลยีทางเคมี เขาได้บุกเบิกสร้างธุรกิจวัตถุแต่งกลิ่นรส จนวันนี้กว่า 3 ทศวรรษ บริษัทประสบความสำเร็จอย่างมากในฐานะเป็นผู้นำด้านการผลิตวัตถุแต่งกลิ่นและสีผสมอาหาร ไม่เพียงในไทยแต่ยังในระดับนานาชาติ ทั้งยังเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และถูกนำเข้าดัชนี SET100 ปัจจุบันบริษัทเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายวัตถุที่ใช้เป็นส่วนผสมอาหาร (food ingredients) ชั้นนำของไทย ผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้าด้วยทีมงานวิจัยผู้เชี่ยวชาญของบริษัท นอกจากนี้ ยังผลิตและจำหน่ายสินค้าให้กับกลุ่มลูกค้าธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่และกลุ่มลูกค้าร้านค้าปลีกทั่วไปภายใต้แบรนด์ของตัวเอง เช่น อังเคิลบาร์นส์, เบสท์ โอเดอร์ และ super-find เป็นต้น มาวันนี้บริษัทมีพัฒนาการขึ้นไปอีกขั้นด้วยการเข้ารุกตลาดกัญชง ปัจจุบันได้รับใบอนุญาตโรงงานสกัดสาร CBD-THC จากกัญชงจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเป็นรายแรกในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงได้รับใบอนุญาตเพาะปลูก-สกัดน้ำมันจากเมล็ดกัญชงจาก อย. ทำให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจกัญชงครอบคลุมต้นน้ำถึงกลางน้ำ นอกจากนี้ ยังเปิดประตูให้ บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) เข้าถือหุ้น 10% เพื่ออาศัยประโยชน์จากเครือข่ายของ TU ที่มีอยู่ทั่วโลกสร้างการเติบโต ตามข้อมูลจากรายงานประจำปี 2564 ระบุว่า กลุ่มบริษัท RBF มีโรงงานผลิตวัตถุผสมอาหารและผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกอยู่ 10 แห่ง แบ่งเป็นในประเทศ 8 แห่ง และต่างประเทศ 2 แห่ง ขณะที่ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยระบุว่าในปี 2564 RBF มีรายได้รวมอยู่ที่ 3,391.06 ล้านบาท กำไรสุทธิ 420.10 ล้านบาท ส่วนปี 2563 รายได้รวมอยู่ที่ 3,187.27 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 519.02 ล้านบาท โดยผลประกอบการของบริษัทในปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตามคาดว่า ในปี 2565 จะกลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่งอีกครั้งหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย แต่ใช่ว่าความสำเร็จนั้นจะได้มาได้ง่ายๆ เพราะที่ผ่านมาต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมายอย่างล่าสุดก็วิกฤตโควิด-19 โดย พ.ต.พญ.จัณจิดา รัตนภูมิภิญโญ ทายาทรุ่น 2 ในฐานะกรรมการ RBF บอกกับ Forbes Thailand ถึงการเอาชนะวิกฤตคือ “ต้องปรับตัวให้ไว” โดยเธอให้เครดิตกับวัฒนธรรมองค์กรที่ “เป็นคนขี้กังวล” เพราะสิ่งนี้ได้ปลูกฝังความขี้กังวลให้เป็น mindset ขององค์กร ทำให้พนักงานจะประเมินตัวเองรอบด้านเสมอ ในทุกช่วงเวลา ไม่ว่าจะด้านลูกค้า ตลาดซัพพลายเออร์ คู่แข่ง สถานการณ์โลก ความเสี่ยงใหม่ๆ ที่จะมาดิสรัปต์ธุรกิจ รวมไปถึงภัยธรรมชาติที่อาจจะส่งผลกระทบในห่วงโซ่เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทำให้บริษัทก้าวไปสู่โอกาสธุรกิจใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งตัวเองต้องทบทวนว่า ได้ทำเต็มประสิทธิภาพแล้วหรือยัง ถ้าไม่จะต้องเรียนรู้อะไรเพิ่ม “ที่ผ่านมาเราผ่านวิกฤตหนักๆ 2 ครั้ง...ซึ่งก็คือวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ทำให้ค่าเงินผันผวนและกำลังซื้อที่เปลี่ยนไป ด้วยความขี้กังวลเราจึงรอดมาได้ เพราะมีหนี้สินน้อย มีเงินสดหมุนเวียนที่ดี มีการหา supplier สำรองรอไว้ รวมถึงการระวังในการให้เครดิตลูกค้า และการลงทุนใน fixed asset ที่ไม่มากจนเกินไป” ตัวอย่างเช่น ภาวะสงคราม หรือการปรับตัวขึ้นของต้นทุนสินค้าต่างๆ คือวิกฤตที่ทุกบริษัทต้องเผชิญ นอกจากการเจรจากับคู่ค้าแล้ว บริษัทยังต้องอาศัยเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้ต้นทุนถูกลง หรือเสนอสินค้าใหม่ๆ เช่น แป้งสาลีราคาแพง บริษัทก็ต้องเตรียมว่าเสนอสินค้าอื่นในกลุ่ม ingredients ได้ไหม หรือใช้แป้งอื่นมาผสมหรือทดแทนแป้งสาลี ซึ่งบริษัทได้มีการพัฒนารอไว้
(ซ้ายและขวาบน) ผลิตภัณฑ์ RBF คิดค้น และ (ขวาล่าง) ทีมงานวิจัย ณ ห้องแล็บของบริษัท
สำหรับการเติบโตในอนาคต พ.ต.พญ.จัณจิดาบอกว่า จะยังเติบโตในลักษณะของผู้ผลิตวัตถุดิบให้กับผู้ประกอบอาหารเช่นนี้ต่อไป เธอเปรียบ RBF เหมือนกับบริษัทยาที่ต้องผลิตยาใหม่ๆ ให้กับแพทย์ไปเลือกใช้กับผู้ป่วย ถ้าไม่มียาใหม่ๆ การรักษาโรคก็คงไม่คืบหน้า เช่นเดียวกับธุรกิจอาหาร ถ้าไม่มี ingredient ใหม่ๆ อาหารก็คงจะมีแต่รสชาติเดิมๆ อาหารเดิมๆ ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับการสร้างนวัตกรรมโดยบริษัทมุ่งเน้นการคิดค้นที่ก้าวหน้ากว่าคนอื่นๆ เพื่อค้นพบสิ่งใหม่ๆ ให้กับวงการ “แนวโน้มอาหารมีความหมายมากกว่าอร่อยและอิ่มท้อง แต่คนมองอาหารเป็นยาเป็นการบำรุงร่างกาย ซึ่งนั่นคือแนวทางของ RBF ในอนาคต ซึ่งก็ได้เริ่มทำมาพักใหญ่แล้ว CBD จากกัญชงเป็นเพียงแค่สารที่ออกฤทธิ์ต่อร่างกายตัวหนึ่งที่เราทำ จริงๆ แล้วยังมีอีกหลายตัวที่เริ่มเตรียมไว้ อาทิ ลดเกลือ, การเติมไฟเบอร์, prebiotic และการลด glycemic index ในอาหารกลุ่มแป้ง”   ภาพ: RBF อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2565 ในรูปแบบ e-magazine