Scrubgrass รู้ดีว่าการทำเหมืองบิตคอยน์ได้ผลาญพลังงานไปมาก ซึ่งมากพอสำหรับประเทศเบลเยียมใช้ได้ทั้งปี และยังปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศปีละ 40 ล้านตันโดยไม่จำเป็น ในขณะที่ประเทศต่างๆ ตั้งแต่จีนจนถึงอินโดนีเซียกำลังปราบปรามการขุดบิตคอยน์ แต่ผู้ประกอบการชาวอเมริกันเหล่านี้เลือกที่จะทำเงินและช่วยให้โลกเขียวขึ้นอีกนิดไปพร้อมกัน
Bill Spence โตมาในชนบททางตะวันตกของรัฐ Pennsylvania ช่วงต้นยุค 1970 เขาเล่นกับเพื่อนๆ บนกองขยะถ่านหินจากเหมืองโดยไม่ได้รู้เลยว่ามีโลหะหนักที่เป็นพิษอยู่ใต้เท้า หลังจากเขาไปทำงานเป็นวิศวกรในอุตสาหกรรมน้ำมันทางฝั่งตะวันตก เขากลับบ้านมาในช่วงทศวรรษ 1990 และพบว่า “ขยะถ่านหินบิทูมินัส” (garbage of bituminous หรือ gob) ก็ยังกองเป็นรอยแผลเป็นอยู่ในทิวทัศน์แถบนี้ ปัจจุบันมีผู้กังวลว่าบ่อเหมืองเหล่านี้ซึ่งไม่ได้ปูพื้นจะปล่อยสารก่อมะเร็งรั่วลงสู่แหล่งน้ำบาดาล หรือในกรณีเลวร้ายกว่านั้นมันอาจติดไฟและเริ่มปล่อยควันพิษสู่อากาศด้วย (รัฐ Pennsylvania มีกองขยะถ่านหิน 772 กอง ซึ่งกำลังปล่อยควันอยู่ 38 กอง)
Spence ปัจจุบันอายุ 63 ปี จึงเริ่มภารกิจลดกองขยะถ่านหิน ฟื้นสภาพพื้นที่ และทำเงินไปพร้อมกัน ในปี 2017 เขาซื้ออำนาจควบคุมใน Scrubgrass Generating ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าใน Venango County ทางเหนือของเมือง Pittsburgh โรงไฟฟ้าแห่งนี้ออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อใช้เผาขยะถ่านหิน แต่ขยะถ่านหินไม่ใช่เชื้อเพลิงที่ดีนักและกิจการนี้ก็แทบจะไปไม่รอด
ต่อมาในปีนั้นหลังจากแพทย์วินิจฉัยว่าเขามีอาการตับอ่อนวายและเป็นมะเร็งไต (ซึ่งเขาเดาว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการที่เขาสัมผัสขยะถ่านหินในวัยเด็ก) เขาก็ถอยออกมาจากกิจการโรงงาน แต่เมื่อเขาลองลงทุนในสกุลเงินคริปโตเพื่อแก้เบื่อได้ไม่นาน เขาก็ปิ๊งไอเดียว่าน่าจะส่งผลดีกับ Scrubgrass ด้วยการเปลี่ยนขยะถ่านหินเป็นบิตคอยน์
หลังจากผ่าตัดและไม่ต้องให้อาหารทางสายยางแล้ว Spence ก็กลับมาเดินหน้าแปลงเศษซากจากอุตสาหกรรมหนักในศตวรรษที่ 20 ให้เป็นทองคำดิจิทัลของศตวรรษที่ 21
ปัจจุบันพลังงานประมาณร้อยละ 80 จากทั้งหมด 85,000 กิโลวัตต์ที่ Scrubgrass ผลิตได้ถูกป้อนให้คอมพิวเตอร์พลังสูงที่กระหายไฟฟ้าสำหรับใช้ยืนยันธุรกรรมบิตคอยน์และแก้โจทย์ประมวลผลแข่งกับคอมพิวเตอร์ทั่วโลกเพื่อชิงบิตคอยน์เหรียญใหม่ กระบวนการนี้เรียกว่า การขุดบิตคอยน์
ถ้าคำนวณจากราคาบิตคอยน์ซึ่งวิ่งขึ้นลงอยู่ราวๆ 35,000 เหรียญ สหรัฐฯ เมื่อไม่นานมานี้ การเอาไฟฟ้ามาใช้ขุดบิตคอยน์จะสร้างรายได้ให้ Scrubgrass ประมาณ 20 เซนต์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น เมื่อเทียบกับการขายไฟฟ้าให้เครือข่ายพลังงานได้แค่ 3 เซนต์ และการที่โรงไฟฟ้าแห่งนี้กำจัดขยะถ่านหินได้อย่างปลอดภัยก็ช่วยให้ได้เครดิตภาษีพลังงานทดแทนจากรัฐ Pennsylvania ซึ่งมีมูลค่าในปัจจุบันประมาณ 2 เซนต์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง เท่ากับเครดิตที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำได้รับ
Spence เป็นหนึ่งในกลุ่มนักขุดบิตคอยน์แนวใหม่ชาวอเมริกันที่นำข้อเสียใหญ่ที่สุดข้อหนึ่งของสกุลเงินคริปโตคือ ความกระหายพลังงานอย่างไม่สิ้นสุดมาเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นการกำจัดขยะเชื้อเพลิงอย่างขยะถ่านหิน การช่วยรักษาสมดุลให้โครงข่ายไฟฟ้าของรัฐ Texas หรือการใช้ประโยชน์จากเปลวไฟในบ่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ผู้
ประกอบการในธุรกิจพลังงานและคริปโตเหล่านี้ก็ทำกำไรได้จากการพลิกวิกฤตดิจิทัลให้กลายเป็นโอกาสสีเขียว และเมื่อประเทศอย่างจีน อินโดนีเซีย และอิหร่านกำลังเคลื่อนไหวเพื่อจำกัดการขุดบิตคอยน์อย่างเข้มงวดหรือสั่งห้ามทั้งหมด ผู้ผลิตในสหรัฐฯ จึงมีโอกาสดีเยี่ยมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
Centre for Alternative Finance ของ University of Cambridge ชี้ว่า สหรัฐฯ เติบโตขึ้นมาเป็นนักขุดบิตคอยน์รายใหญ่อันดับ 2 ของโลก จากที่เมื่อ 2 ปีที่แล้วมีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 4 และตอนนี้สหรัฐฯ ขุดบิตคอยน์ใหม่ได้ร้อยละ 17 จากเหรียญใหม่ทั้งหมด
คอย(น์)หายนะ
แม้จะมีผู้อ้างข้อดีสารพัดของบิตคอยน์ แต่เงินตราสกุลนี้ก็สร้างความหายนะต่อสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจนเช่นกัน ข้อมูลจาก Cambridge ระบุว่า เครือข่ายบิตคอยน์ทั่วโลกสูบพลังงาน 8-15 กิกะวัตต์อย่างต่อเนื่องโดยขึ้นอยู่กับราคาบิตคอยน์ (เมื่อราคาขึ้น นักขุดก็จะเข้ามามากขึ้น) ในขณะที่เมือง New York ใช้พลังงานแค่ 6 กิกะวัตต์ ส่วนประเทศเบลเยียมใช้ 10 กิกะวัตต์ เหมืองบิตคอยน์จะปล่อยคาร์บอนมากแค่ไหนขึ้นอยู่กับแหล่งพลังงานที่ใช้ แต่มลภาวะที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่เรื่องเล็ก และนักขุดต้องป้อนไฟฟ้าให้คอมพิวเตอร์ประมาณ 150,000 กิโลวัตต์ชั่วโมงสำหรับการปลดล็อกบิตคอยน์ 1 เหรียญ ซึ่งมากพอจะให้บ้านทั่วไปในสหรัฐฯ 170 หลังใช้ได้ทั้งเดือน
จุดที่แย่หนักเป็นพิเศษคือ การที่บิตคอยน์ต้องใช้พลังงานมหาศาลขนาดนี้ไม่ใช่เรื่องผิดพลาด แต่เป็นลักษณะประจำตัวของมัน จริงอยู่ที่ไฟฟ้าส่วนหนึ่งถูกใช้เพื่อการยืนยันธุรกรรม แต่ไฟฟ้าอีกเยอะก็ดูเหมือนจะถูกผลาญไปเปล่าๆ กับการแก้โจทย์คณิตศาสตร์ที่ไร้ประโยชน์ กระบวนการ “proof of work” เช่นนี้เป็นแค่วิธีการที่สร้างขึ้นเพื่อจงใจทำให้เหรียญบิตคอยน์กลายเป็นของหายากและแพงเกินกว่าที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะเข้าควบคุมหรือเข้าเปลี่ยนแปลงตลาดได้
เมื่อปี 2010 Satoshi Nakamoto (นามแฝงของผู้สร้างบิตคอยน์) ให้ความเห็นเรื่องนี้ไว้ในกระดานสนทนาแห่งหนึ่งโดยไม่ได้รู้สึกผิดแต่อย่างใดว่า “มันก็เหมือนทองคำและการทำเหมืองทองนั่นแหละ ต้นทุนส่วนเพิ่มของการทำเหมืองทองมักใกล้เคียงกับราคาทอง และการทำเหมืองทองก็มีความสิ้นเปลือง แต่ความสิ้นเปลืองมันสำคัญน้อยกว่าประโยชน์ที่ได้จากการใช้ทองคำเป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนมาก ผมว่ากรณีบิตคอยน์ก็เหมือนกัน ประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นได้ด้วยบิตคอยน์มันสูงกว่าค่าไฟที่ใช้ไปมาก”
แน่นอนว่าถ้าจะออกแบบระบบให้ต่างจากนี้ก็ทำได้ ยังมีสกุลเงินคริปโตที่ใช้กันจริงจังอย่าง ethereum, cardano, stellar, XRP ของ Ripple และ algorand ซึ่งใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าบิตคอยน์อย่างมหาศาลหรือถูกดัดแปลงให้ใช้ไฟฟ้าน้อยลง ตัวอย่างเช่น ethereum กำลังจะเปลี่ยนจากกระบวนการ “proof of work” ไปใช้ระบบที่เรียกว่า “proof of stake” ในปีหน้า ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลังงานลงได้ถึงร้อยละ 99.95 และยังมีสกุลเงินใหม่ชื่อ candela ที่ใช้กระบวนการซึ่งบังคับให้ขุดเหรียญด้วยไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
แต่บิตคอยน์ก็จะไม่ล้มหายไปไหน การเป็นเจ้าแรกช่วยให้บิตคอยน์มีมูลค่าตามราคาตลาดล่าสุด 7 แสนล้านเหรียญ มากกว่าสกุลเงินคริปโตที่มีมูลค่ารองลงไป 5 อันดับรวมกัน (ether สกุลเงินยอดนิยมอันดับ 2 มีมูลค่าตามราคาตลาด 2.5 แสนล้านเหรียญ) และการขุดบิตคอยน์ก็ไม่มีทีท่าว่าจะเปลืองพลังงานน้อยลง
อัลกอริทึมของบิตคอยน์บีบให้นักขุดต้องแข่งกันปลดล็อกเหรียญใหม่แต่ละเหรียญ และการแข่งขันนี้ก็จะดำเนินต่อไปจนกว่าบิตคอยน์เหรียญสุดท้ายจะถูกขุดได้ประมาณปี 2140 อีกทั้ง การลงทะเบียนธุรกรรม 1 ครั้งในบล็อกเชนของบิตคอยน์ใช้พลังงานมากกว่าการประมวลผลธุรกรรม 1 ครั้งในเครือข่ายธนาคารของ Visa ถึง 1 ล้านเท่า (ผู้สนับสนุนบิตคอยน์กล่าวว่า เครือข่ายธุรกรรมระบบใหม่ชื่อ Lightning ที่ออกแบบมาให้ทำงานซ้อนทับกับบิตคอยน์อีกชั้นหนึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้เหนือกว่าเครือข่ายของ Visa ได้)
“ถ้าคุณมองว่า มันเป็นเงินปลอม ถึงใช้ไฟฟ้าขนาดไหนมันก็เยอะเกินไปอยู่ดี” Ted Rogers ตั้งข้อสังเกต เขาเป็นรองประธานกรรมการของ Greenidge Generation Holdings ซึ่งมีโรงไฟฟ้าและเหมืองบิตคอยน์อยู่ที่ทะเลสาบ Seneca ทางเหนือของรัฐ New York “แต่บิตคอยน์ไม่ล้มหายไปไหนแน่ มันจะกลายเป็นเงินสำรองทั่วโลก และเป็นศูนย์กลางของโลกการเงินในอนาคต”
ก้าวแรกแห่งการเยียวยา
ถ้าอยากเห็นว่าบิตคอยน์จะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ขนาดไหน ก็ไม่ต้องไปดูที่ไหนไกลกว่ารัฐดาวเดียวของสหรัฐฯ โครงข่ายไฟฟ้าอิสระของ Texas เคยล้มเหลวจนเป็นข่าวดังในช่วงอากาศหนาวจัดในฤดูหนาวปีที่แล้ว โรงไฟฟ้าหลายสิบแห่งหยุดทำงานจนเป็นเหตุให้ทรัพย์สินเสียหายหลายพันล้านเหรียญ และลูกค้ารายย่อยบางส่วน โดนเรียกเก็บค่าไฟรายเดือนแพงถึง 17,000 เหรียญ ผู้อำนวยการของคณะกรรมการชื่อน่าขำว่าคณะกรรมการความน่าเชื่อถือด้านพลังงานไฟฟ้าแห่งรัฐ Texas (Electric Reliability Council of Texas หรือ ERCOT) ลาออกไปแล้วหลายคนนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ ส่วนนักการเมืองของรัฐนี้ก็ไม่ได้ทำอะไรเพื่อปฏิรูประบบพลังงานมากนัก นอกจากสั่งว่า โรงไฟฟ้าต้องเตรียมตัวให้ดีกว่านี้ในช่วงฤดูหนาว
โชคยังดีที่ดูเหมือนตลาดเสรีจะช่วยได้ โครงการสร้างโรงไฟฟ้าพลังลมและแสงอาทิตย์รวม 16 กิกะวัตต์ในแถบตะวันตกของ Texas จะเกิดขึ้นในช่วงปีหน้า ซึ่งในยามปกติไฟฟ้าจำนวนนี้จะเกินความต้องการของรัฐ Texas ไปมาก แต่มันจะเพียงพอในช่วงที่เกิดสภาพอากาศรุนแรงอย่างพายุน้ำแข็งหรือคลื่นความร้อนในฤดูร้อน
นักขุดบิตคอยน์ก็ทำหน้าที่เป็นตัวลดแรงสะเทือนให้โครงการพลังงานสีเขียวใหม่นี้ด้วยการซื้อไฟฟ้าส่วนที่เกินความจำเป็น และพวกเขาก็จะปิดเครื่องขุดบิตคอยน์เมื่อความต้องการพลังงานพุ่งสูงเพื่อปล่อยให้ไฟฟ้าไหลกลับเข้าสู่โครงข่ายพลังงาน
“Texas ตะวันตกครองวงการแน่ ทุกอย่างจะมารวมอยู่ที่นี่” Jesse Peltan วัย 24 ปีทำนาย เขาเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคของ Autonomous แห่งเมือง Dallas (และติดทำเนียบ Forbes 30 Under 30 ปี 2021) เมื่อปีที่แล้ว Peltan ช่วยเปิดศูนย์ข้อมูลขุดคริปโตขนาด 150 เมกะวัตต์ใกล้เมือง Midland ชื่อ HODL Ranch ซึ่งสื่อถึงการเป็นคนบ้าสะสมคริปโตที่เมื่อซื้อมาแล้ว “ถึงตายก็ไม่ยอมปล่อย” โดยจงใจสะกด hold ผิด) ที่นี่เป็นศูนย์ขุดคริปโตขนาดใหญ่แห่งแรกที่จะใช้ไฟฟ้าจากทุ่งพลังงานแสงอาทิตย์และกังหันลมอันกว้างใหญ่ไพศาลของเขตนี้ ซึ่งในบางคืนมีลมกระโชกแรงมากจนผู้ประกอบการโครงข่ายพลังงานต้องปล่อยไฟฟ้าให้ใช้ฟรีเพื่อป้องกันไม่ให้ระบบมีการใช้งานมากเกินไป
จุดสำคัญคือ นักขุดบิตคอยน์เหล่านี้ทำสัญญาที่เรียกว่า สัญญา “ตอบสนองต่ออุปสงค์” กับโครงข่ายไฟฟ้าของ Texas โดยตกลงว่า พวกเขาจะปิดคอมพิวเตอร์ทันทีที่ขอในช่วงที่ความต้องการพลังงานพุ่งสูงมากโดยแลกกับการได้เงินคืน ซึ่งช่วยให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าของ HODL Ranch ลดเหลือไม่ถึง 2 เซนต์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง สำหรับการขุดที่มีต้นทุนเกือบ 2,000 เหรียญต่อ 1 บิตคอยน์
เหมืองบิตคอยน์ใหญ่ที่สุดในอเมริกาก็อยู่ใน Texas เช่นกัน ซึ่งเป็นเหมืองของ Riot Blockchain ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ (มูลค่าตามราคาตลาด 3 พันล้านเหรียญ) เหมืองนี้อยู่ในเมือง Rockdale ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง Austin ใกล้โครงข่ายไฟฟ้าระดับภูมิภาคขนาดมหึมาที่ส่งไฟฟ้า 5,000 เมกะวัตต์ผ่านเขาวงกตหม้อแปลงและสายไฟฟ้าแรงสูง
Riot ใช้ประโยชน์จากโครงข่ายระดับภูมิภาคนี้โดยตรงเพื่อดึงเอาไฟฟ้า 300 เมกะวัตต์ มาเป็นพลังงานให้คอมพิวเตอร์ขุดเหมืองความเร็วสูง 120,000 ตัว ซึ่งเรียงกันบนชั้นสูง 30 ฟุตในตึกแคบ 3 หลัง ที่แต่ละหลังยาวกว่าสนามฟุตบอล 2 สนาม และกำลังมีการสร้างตึกเพิ่มเพื่อขยายกำลังการขุดเป็น 750 เมกะวัตต์ด้วยคอมพิวเตอร์ที่จะติดตั้งเพิ่มอีก 130,000 ตัวภายในสิ้นปี 2022
Riot ทำสัญญา 10 ปีเพื่อซื้อไฟฟ้าทั้งหมดที่จำเป็นต้องใช้ในเหมือง Rockdale ด้วยราคาตกลงที่ 2.5 เซนต์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่ง Riot ได้ส่วนลด 0.5 เซนต์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงจากการทำสัญญาตอบสนองต่ออุปสงค์ และบริษัทก็มีทางเลือกในการขายไฟฟ้าทั้งหมดกลับคืนให้โครงข่ายได้ด้วย ในช่วงที่ Texas หนาวจัด เหมืองบิตคอยน์ที่ Rockdale อาสาปิดเครื่องขุดให้ 2 วัน ซึ่งถ้าเหมืองนี้ขายไฟฟ้าได้ด้วยราคาสูงสุด 9 เหรียญต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ก็เท่ากับได้ลาภลอยมา 90 ล้านเหรียญ “ถ้ามองเรื่องการจัดหาพลังงานในระดับนี้ เราก็ไม่ได้เป็นแค่เหมืองบิตคอยน์” ซีอีโอ Jason Les กล่าว แต่ Riot ยังทำหน้าที่เป็น “โรงไฟฟ้าในโลกเสมือน” ด้วย
Les วัย 35 ปี เรียนวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัย UC Irvine แต่เขาได้เรียนรู้เรื่องบิตคอยน์เป็นครั้งแรกระหว่างแข่งไพ่โป๊กเกอร์อาชีพช่วงกลางทศวรรษ 2010 และได้เห็นผู้เล่นคนอื่นใช้บิตคอยน์เพื่อเก็บและโอนเงินรางวัลโดยไม่ต้องผ่านธนาคาร เขาไม่กลัวความผันผวนของบิตคอยน์เพราะเขาพร้อมเทหมดหน้าตัก “ช่วงที่ราคาเหวี่ยงหนักๆ ผมไม่ตกใจเลยสักนิด เพราะเวลาเล่นโป๊กเกอร์ถึงคุณจะมือขึ้นแค่ไหนคุณก็แพ้ร้อยละ 45 อยู่แล้ว ผมเลยรับเรื่องราคาตกได้สบายมาก”
เหรียญสีเขียว
Crusoe Energy Systems ได้วางเดิมพันก้อนใหญ่กว่านั้นกับเทคโนโลยีสีเขียว บริษัทนี้ระดมทุนได้ 250 ล้านเหรียญซึ่งส่วนใหญ่นำมาใช้ขุดบิตคอยน์กลางบ่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ห่างไกลใน 6 รัฐ ซึ่งรวมถึง New Mexico, Texas และ North Dakota โดยได้เงินทุนมาจากนักลงทุนซึ่งรวมถึง Bain Capital, Valor Equity Partners, J.B. Straubel ผู้ร่วมก่อตั้ง Tesla และคู่แฝดพันล้านแห่งวงการคริปโต Cameron กับ Tyler Winklevoss
โดย Crusoe ตั้งตู้คอนเทนเนอร์ 45 ตู้ ซึ่งอัดแน่นด้วยคอมพิวเตอร์ที่ขุดบิตคอยน์โดยใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งถ้าไม่นำมาใช้ก๊าซก็จะถูกเผาทิ้ง (เมื่อขุดบ่อน้ำมันเสร็จแต่ยังไม่ได้วางท่อเก็บรวบรวมก๊าซธรรมชาติ บริษัทน้ำมันจะจุดไฟเผาก๊าซทิ้ง เพราะการปล่อยให้ก๊าซลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศจะก่อปัญหาโลกร้อนหนักกว่า)
“เราประเมินความซับซ้อนด้านปฏิบัติการในธุรกิจนี้ต่ำเกินไป” Chase Lochmiller ผู้ร่วมก่อตั้ง Crusoe วัย 35 ปี ซึ่งเคยทำงานในบริษัทจัดการเงินลงทุนด้านคริปโต Polychain Capital มานานยอมรับ สตาร์ทอัพรายนี้เจอเรื่องท้าทายในการดูแลรักษาตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งกระจายอยู่ทั่วพื้นที่กว้างใหญ่
โดยเฉพาะท่ามกลางความร้อนในช่วงฤดูร้อน แต่ถึงแม้ Crusoe ไม่น่าจะขยายธุรกิจให้ใหญ่และมีกำไรเท่า Riot ได้ บริษัทนี้ก็นำก๊าซที่จะต้องเผาทิ้งมาใช้ประโยชน์ได้แล้ววันละ 10 ล้านลูกบาศก์ฟุต “เราคิดว่าวิธีที่ช่วยปรับปรุงเศรษฐศาสตร์ของคาร์บอนจากบ่อน้ำมันได้ดีที่สุดคือ การเพิ่มแท่นขุดบิตคอยน์เข้าไปหลายๆ แท่น” Lochmiller กล่าว
อะไรบ้างที่ถือเป็นพลังงานสีเขียว พลังงานลมและแสงอาทิตย์นั้นแน่นอนอยู่แล้ว แต่แหล่งพลังงานอื่นๆ อาจยากที่จะตัดสินได้
โรงไฟฟ้าของ Greenidge Generation ริมฝั่งทะเลสาบ Seneca ในรัฐ New York ผลิตไฟฟ้าได้ 80 เมกะวัตต์ แล้วนำไฟฟ้าครึ่งหนึ่งมาใช้ขุดคริปโต
บริษัทไพรเวทอิควิตี้ Atlas Holdings ในเมือง Greenwich รัฐ Connecticut ซื้อโรงไฟฟ้าที่หยุดทำงานมาเมื่อปี 2014 และลงทุนไปหลายสิบล้านในการปรับปรุงให้ดีขึ้นเพื่อมาใช้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งแปลว่า โรงไฟฟ้าแห่งนี้ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงเหลือแค่ 1 ใน 4 เมื่อเทียบกับ 6 ทศวรรษที่ผ่านมาในสมัยที่ยังใช้ถ่านหิน และไม่ปล่อยสารประกอบกำมะถันหรือฝุ่นละอองขนาดเล็ก ดูเผินๆ ก็เหมือนจะเขียวดี แต่สิ่งหนึ่งที่โรงไฟฟ้าแห่งนี้ยังทำเหมือนสมัยใช้ถ่านหินก็คือ การดูดน้ำวันละ 100 ล้านแกลลอนมาใช้หล่อเย็น แล้วปล่อยน้ำที่อุ่นขึ้นประมาณ 7 องศาฟาเรนไฮต์กลับลงไปในทะเลสาบ
นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นเรียกโรงไฟฟ้านี้ว่า “เครื่องบดปลาขนาดยักษ์” และกล่าวโทษว่า น้ำอุ่นทำให้ระดับออกซิเจนในทะเลสาบลดลงและก่อปัญหาสาหร่ายสะพรั่ง แต่ร่างกฎหมายที่จะห้ามขุดคริปโตในรัฐ New York เป็นเวลา 3 ปีไปตายอยู่ที่คณะกรรมการชุดหนึ่งของสมัชชาประจำรัฐเมื่อเดือนมิถุนายน ส่วน Greenidge ก็เดินหน้า “ฟอกเขียว” บิตคอยน์ของตัวเองต่อไปด้วยการซื้อโควตาปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และโควตาชดเชยการทำลายป่า ซีอีโอ Jeff Kirt ชี้แจงว่า น้ำที่โรงไฟฟ้าปล่อยออกมายังอยู่ในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดและกล่าวว่า บริษัทได้เพิ่มระบบตรวจสอบเพื่อปกป้องปลาเทราต์ในทะเลสาบ Seneca ด้วย บริษัทนี้มีแผนจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปีนี้
กลับมาที่รัฐ Pennsylvania นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไม่ค่อยปลื้มที่โรงไฟฟ้า Scrubgrass ของ Spence ได้เงินสนับสนุนแบบเดียวกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ แต่ทางรัฐตัดสินใจว่า การมีคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงไฟฟ้าที่เผาขยะถ่านหินก็ยังดีกว่าปล่อยให้ของพรรค์นี้กองเป็นมลภาวะคาบ่อ
“ปัญหานี้มีจริง” Spence ยืนยัน “ทางเดียวที่จะแก้ได้คือ โรงไฟฟ้าแบบนี้” เทคโนโลยีของ Scrubgrass ไม่ได้ใช้กันแพร่หลายก่อนทศวรรษ 1990 และทุกวันนี้มันก็ยังแพงอยู่ เตาแบบพิเศษจะเผาขยะถ่านหิน ก้อนหินและวัสดุอื่นๆ จนได้ขี้เถ้าที่มีค่า pH สูงซึ่งใช้ผสมกับกองขยะถ่านหินที่เหลือเพื่อหักล้างความเป็นกรดได้ แต่กระบวนการนี้จะคุ้มค่าตามหลักเศรษฐศาสตร์ก็ต่อเมื่อบวกการขุดบิตคอยน์เข้าไปด้วยเท่านั้น
Spence ได้หุ้นส่วนคนใหม่ที่มีเส้นสายดีอย่าง Greg Beard ซึ่งเคยเป็นหัวหน้าฝ่ายการลงทุนในทรัพยากรธรรมชาติอยู่ที่บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไพรเวทอิควิตี้ Apollo Global Management จนถึงปี 2019 ทั้งคู่ร่วมกันก่อตั้ง Stronghold Digital Mining ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าของ Scrubgrass Stronghold ซึ่งมี Beard วัย 49 ปี เป็นซีอีโอระดมทุนจากนักลงทุนเอกชนได้ 105 ล้านเหรียญเมื่อเดือนมิถุนายน มากพอที่จะซื้ออุปกรณ์ขุดบิตคอยน์เพิ่ม รวมทั้งซื้อโรงไฟฟ้าขยะถ่านหินโรงที่ 2 และอาจจะโรงที่ 3 ด้วย
บริษัทนี้ยื่นเอกสารเพื่อขอจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว Beard กล่าวว่า เขาไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อนในช่วง 2 ทศวรรษที่อยู่กับการลงทุนในหุ้นนอกตลาดมา “นี่เป็นแผนงานสร้างการเติบโตครั้งสำคัญที่สุดแห่งยุค”
เรื่อง: CHRIS HELMAN เรียบเรียง:ธรรดร โสตถิอำรุง ภาพ: ARON KOTOWSKI อ่านเพิ่มเติม:- จากผู้เพาะพันธุ์เป็ด สู่ ผู้พิชิตวิกฤติโอไมครอน
- Diem ฝันที่สลายของ Facebook ในการสร้างคริปโต
- หนุ่มสาวจากทำเนียบ “30 Under 30” เพิ่มรสชาติสุดยอดผลิตภัณฑ์จาก ‘ฟักทอง’
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมกราคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine