การเข้าสู่สังคมสูงวัย ความตระหนักเรื่องสุขภาพ ประกอบกับผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการอาหารเสริมของผู้บริโภคในประเทศไทยพุ่งสูงขึ้น ปัจจุบันพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การปรับตัวจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับแบรนด์ที่เป็นผู้เล่นในตลาด
กว่าสองทศวรรษที่ Kantar ได้ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างใกล้ชิดในตลาดอาหารเสริมเพื่อสุขภาพและความงาม (health & beauty supplement) ของประเทศไทย ปัจจุบันสินค้าในกลุ่มนี้มีการแบ่งกลุ่มของแบรนด์ รูปแบบ และประเภทต่างๆ ที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยเราสามารถมองเห็นถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งในด้านผู้บริโภคและมูลค่าตลาด ทำให้เป็นที่สนใจของผู้ประกอบการหน้าใหม่รวมถึงบริษัท OEM ต่างๆ ที่เข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดเอง เนื่องจากใช้ต้นทุนการลงทุนต่ำรวมถึงการออกใบอนุญาตประกอบกิจการที่ง่าย ทำให้ผู้บริโภคในไทยมีทางเลือกที่หลากหลายในการเลือกซื้อสินค้าในตลาดนี้
เพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น Kantar เปิดรายงาน Kantar: Health is Wealth: Thailand”s Supplement Market in 2023 ซึ่งนำเสนอข้อมูลเชิงลึกจากการวิเคราะห์อย่างต่อเนื่องในตลาดอาหารเสริมเพื่อสุขภาพและความงามของประเทศไทย
หลังจากสิ้นสุดการล็อกดาวน์ผู้คนเริ่มที่จะกลับไปใช้ชีวิตนอกบ้านอย่างเป็นปกติ ซึ่งรวมไปถึงการไปออกกำลังกายและการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ส่งผลให้ความต้องการในแง่ของคุณประโยชน์ที่ได้รับจากสินค้าในกลุ่มอาหารเสริมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากช่วงก่อนการแพร่ระบาด โดยผู้บริโภคเลือกอาหารเสริมที่ให้ประโยชน์ด้านสุขภาพเป็นอันดับหนึ่ง และให้ความสำคัญในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เน้นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน (immunity) และการดูแลสุขภาพองค์รวม (general wellbeing) ในขณะที่การดูแลผิวพรรณ (skin) มีความสำคัญรองลงมา ยิ่งไปกว่านั้นผู้บริโภคมีการเลือกซื้ออาหารเสริมที่เน้นในด้านการควบคุมน้ำหนัก (body care) และโปรตีน (protein) ที่สูงขึ้น
ใครคือผู้บริโภคในตลาดอาหารเสริมเพื่อสุขภาพและความงาม
ข้อมูล Household Panel ของ Kantar Worldpanel ในประเทศไทย ทำให้เราเห็นภาพเชิงลึกของแต่ละครัวเรือน เช่น จำนวนสมาชิกในครัวเรือนและรายได้ ไม่น่าแปลกใจที่การสำรวจสำมะโนประชากรในปี 2022 แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดของการย้ายถิ่นฐานของครัวเรือนไปยังชุมชนเมือง และการเปลี่ยนแปลงของประชากรส่วนใหญ่ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรผู้สูงอายุ
จากการศึกษาข้อมูลประชากรของผู้บริโภคที่ซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพและความงาม มีความน่าสนใจอยู่ที่ มูลค่าตลาด 33% มาจากผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยผู้บริโภคในตลาดนี้ส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นครัวเรือนที่ไม่มีทารก (โดยสมาชิกครอบครัวที่อายุน้อยที่สุดคือ 13 ปีขึ้นไป) ครอบคลุมในทุกระดับรายได้ของครัวเรือน และผู้ซื้อหลักมักมีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตามยังมีแนวโน้มเติบโตในกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป มีการเติบโตที่สูงถึง 60% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ข้อมูลจาก Kantar ยังชี้ให้เห็นว่าตลาดมีการเติบโตในทุกภูมิภาคของไทยยกเว้นภาคใต้ ซึ่งการซื้อสินค้าประเภทอาหารเสริมลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี สวนทางกับกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่มีการจับจ่ายสินค้าประเภทดังกล่าวมากที่สุดและมีแนวโน้มที่จะเติบโตมากขึ้นอีกในอนาคต ในขณะที่การเติบโตของตลาดในภาคเหนือเริ่มชะลอตัวลง
เติมเต็มความต้องการผู้บริโภคในตลาดอาหารเสริม
การวิจัยของ Kantar ยังสามารถแบ่งกลุ่มสินค้าอาหารเสริมตามคุณประโยชน์ได้ 10 ประการตามผลิตภัณฑ์ที่แบรนด์หรือผู้ผลิตเคลมไว้ คุณสมบัติในการเสริมสุขภาพองค์รวมและการสร้างภูมิคุ้มกัน (general wellbeing & immunity) เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกในความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งเป็นตัวนำส่วนแบ่งทางการตลาดอาหารเสริมในปัจจุบัน รวมถึงอาหารเสริมโปรตีน (protein) และการควบคุมน้ำหนัก (body care) ก็เติบโตมากขึ้นในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ในขณะที่คุณสมบัติด้านการดูแลผิวและการดูแลดวงตามีสัดส่วนการเลือกซื้อที่ลดลง
ปัจจัยสำคัญจากพฤติกรรมของผู้บริโภคหลังการล็อกดาวน์สิ้นสุดลง โดยผู้คนกลับไปทำงาน ออกกำลังกาย และทำกิจกรรมนอกบ้าน ส่งผลให้อาหารเสริมโปรตีน (protein) และการควบคุมน้ำหนัก (body care) กลับมารีบาวด์ อาหารเสริมเพื่อผิวพรรณและความงาม (skin & beauty) ซึ่งแม้ว่าจะมีส่วนแบ่งในตลาดที่ลดลง แต่ยังคงเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมากที่สุดเป็นอันดับที่สอง ด้วยความสามารถของผลิตภัณฑ์ที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีลักษณะเป็นซองขนาดเล็ก ราคาไม่แพง และสะดวกในการบริโภค ยังเป็นจุดแข็งสำคัญของอาหารเสริมประเภทนี้ซึ่งยังคงรักษาฐานผู้บริโภค (penetration) ได้ดี
ในขณะเดียวกันสุขภาพก็กลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนไทยจำนวนมาก ส่งผลให้อาหารเสริมในด้านเสริมสุขภาพทั่วไปและเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ยังเป็นสิ่งแรกในการพิจารณาอาหารเสริมสำหรับผู้ซื้อหน้าใหม่และผู้ซื้อเดิม ประการสุดท้าย อาหารเสริมที่มีคุณสมบัติในการดูแลสุขภาพของดวงตาซึ่งเคยได้รับความนิยมในช่วงที่มีล็อกดาวน์จากโควิด-19 กลับถูกเลือกซื้อน้อยลงเนื่องจากการที่ผู้คนกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ
เมื่อเราพิจารณารูปแบบผลิตภัณฑ์ของอาหารเสริมอย่างละเอียด ทำให้พบว่า ผลิตภัณฑ์รูปแบบผง (powder) กำลังได้รับความนิยมสูงขึ้น โดยเป็นผู้นำในส่วนแบ่งมูลค่าสูงสุด ทั้งยังเป็นรูปแบบที่นิยมใช้กับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติด้านการเสริมโปรตีนที่กำลังกลับมาเติบโต และด้านความงามที่มีส่วนแบ่งของตลาดในด้านคุณสมบัติเป็นอันดับที่สอง รูปแบบผงเป็นรูปแบบที่นิยมเนื่องจากสามารถใช้ได้กับอาหารเสริมในทุกคุณสมบัติ สามารถอยู่ในบรรจุภัณฑ์แบบซองสำหรับการบริโภคครั้งเดียว (sachet) ที่สามารถกำหนดกลยุทธ์ด้านราคาให้ผู้บริโภคเข้าถึงง่าย เป็นการช่วยดึงดูดผู้บริโภคหน้าใหม่เข้ามาทดลองตัวสินค้า
ในขณะเดียวกันรูปแบบเม็ดและแคปซูลถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ง่ายต่อการบริโภค สะดวกในการจัดเก็บและการพกพา ก็ยังมีส่วนแบ่งเป็นลำดับที่สอง ในทางกลับกันอาหารเสริมแบบน้ำไม่ค่อยดีนักในประเทศไทย เนื่องจากมีอายุการเก็บรักษาที่จำกัดและยากต่อการบริโภคขณะอยู่นอกบ้านและมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า
อ่านเพิ่มเติม: การเมืองกดดันเศรษฐกิจในประเทศ-หุ้นไทยปรับฐาน
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine