การเมืองกดดันเศรษฐกิจในประเทศ-หุ้นไทยปรับฐาน - Forbes Thailand

การเมืองกดดันเศรษฐกิจในประเทศ-หุ้นไทยปรับฐาน

ตลาดหุ้นไทยหลังเลือกตั้ง 5 วันทำการที่ผ่านมา ปรับตัวลง 46.46 จุด ปัจจัยกดดันคือความกังวลในการจัดตั้งรัฐบาลและการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี รวมถึงความกังวลนโยบายของพรรคก้าวไกลที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดใหญ่ในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน โบรกเกอร์ปรับลดดัชนีฐานตลาดหุ้นไทย


    ดัชนีหุ้นไทยวันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ปิดที่ 1,514.89 จุด ลดลง 11.80 จุด มูลค่าซื้อขายรวม 47,291.81 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,193.42 ล้านบาท รวม 5 วันทำการต่างชาติขายสุทธิ 10,678.93 ล้านบาท และดัชนีปรับลดลงกล้ว 46.46 จุด

    บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส จำกัด ระบุว่า หุ้นไทยสัปดาห์ที่ผ่านมาถูกกดดันจากประเด็นการเจรจาขยายเพดานหนี้สาธารณะ (Debt Ceiling) ในสหรัฐฯ ขณะที่ในไทยถือเป็นสัปดาห์แห่งการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง หลังได้แกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ความไม่แน่นอนในช่วงรอยต่อ กดดันให้ตลาดหุ้นปรับฐานลงมา

    สำหรับประเด็นที่ต้องติดตาม คือ พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เตรียมลงนาม MOU ในวันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม 2566 นี้ ท่ามกลางกระแสข่าวลือต่างๆ ที่ทำให้เกิดความกังวลต่อการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล ขณะที่การเจรจาเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐคาดว่าจะบรรลุข้อตกลงได้ก่อนที่สภาคองเกรสจะเปิดโหวตในสัปดาห์หน้า


จัดตั้งรัฐบาลยืดเยื้อเศรษฐกิจไทยเสี่ยง


    ฟิตช์ เรทตติ้งส์ (Fitch Ratings) บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ระบุว่า การเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุด ปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองและการคลังที่เกิดขึ้น ฉุดรั้งอันดับเครดิตของประเทศไทยในระยะสั้น ท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่กลับเข้ามา

    คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีเวลาถึง 60 วันในการประกาศผลอย่างเป็นทางการหลังจากการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 โดยอดีตพรรคฝ่ายค้านเดิม ได้แก่ พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทยจับมือเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าพรรคก้าวไกลจะได้คะแนนเสียง 376 เสียง เพียงพอในการจัดตั้งรัฐบาลผสมหรือไม่ รวมถึงการจัดลำดับความสำคัญของนโยบายที่หลากหลาย จะเป็นข้อจำกัดในการทำให้กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไป

    อย่างไรก็ตาม ฟิตช์ เรทตติ้งส์ มองว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบด้านเครดิตในระยะสั้น โดยยังคงยืนยันอันดับเครดิตของประเทศไทยที่ “BBB+” ด้วยแนวโน้มที่มีเสถียรภาพตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา

    “รัฐบาลผสมแยกส่วนที่อาจเกิดขึ้น ทำให้การกำหนดนโยบายที่มีประสิทธิภาพมีความซับซ้อน แต่จะไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ เราคาดว่ารัฐบาลผสมชุดต่อไปจะยังคงมุ่งมั่นในนโยบายเศรษฐกิจสำคัญของรัฐบาลชุดก่อน แต่อาจมีการหยุดชะงักของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่จะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2566 หากการเจรจาพันธมิตรยืดเยื้อออกไป”

    ฟิตช์ เรทตติ้งส์ มองว่า ความล่าช้าของการจัดทำงบประมาณปี 2567 จะส่งผลลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศไทย แต่เศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตได้ในปี 2566 และแข็งแกร่งในปี 2567 จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและภาคเอกชนการบริโภคเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก แต่ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยืดเยื้อมากขึ้น หรือความตึงเครียดทางสังคมที่ทวีความรุนแรงขึ้น กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสถานะเครดิตของประเทศไทยได้เช่นกัน

    ด้าน SCB EIC ระบุว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นความเสี่ยงในประเทศที่ต้องติดตาม แม้ความน่าจะเป็นที่ฝ่ายเสรีนิยมจะได้จัดตั้งรัฐบาลเพิ่มขึ้นมากหลังทราบผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ในกรณีฐาน SCB EIC มองการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจะไม่กระทบทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่าจะเห็นผลกระทบด้านลบในไตรมาสที่ 4 จากความล่าช้าในการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 อยู่บ้าง แต่คาดว่าจะกลับมาเร่งเบิกจ่ายได้ตั้งแต่ต้นปี 2567 พร้อมการผลักดันนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่ที่จะเริ่มมีผลบวกสู่เศรษฐกิจไทย


โบรกฯ ปรับฐานดัชนีหุ้นไทย


    บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด คาดว่าสัปดาห์นี้ วันที่ 22 - 26 พฤษภาคม 2566 ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,500 และ 1,475 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,535 และ 1,555 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนเมษายนของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ และสถานการณ์การเมืองในประเทศ

     สัปดาห์ที่ผ่านมา วันที่ 15-19 พฤษภาคม 2566 หุ้นไทยปิดต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี 2 เดือน ท่ามกลางแรงฉุดดัชนีทั้งจากปัจจัยในประเทศและต่างประเทศ หุ้นไทยปรับตัวลงตั้งแต่ต้นสัปดาห์หลังนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับนโยบายของพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง โดยเฉพาะเรื่องการลดค่าไฟฟ้าและลดปัญหาการผูกขาด ซึ่งกระตุ้นแรงขายหุ้นบิ๊กแคป โดยเฉพาะกลุ่มโรงไฟฟ้าและสื่อสาร

    นอกจากนี้ หุ้นไทยยังมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากความกังวลต่อทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ หลังถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดหลายรายยังไม่ส่งสัญญาณถึงโอกาสในการปรับลดดอกเบี้ย

    ด้านบริษัทหลักทรัพย์ทรีนีตี้ จำกัด ได้ปรับลดดัชนีเหมาะสมของปีนี้ลง หลังสมมติฐานกำไรต่อหุ้นของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ปรับลดลงอย่างรวดเร็วในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยคาดการณ์กำไรต่อหุ้นปี 2567 ใหม่ ลดลงจากเดิมที่ 115 บาท มาอยู่ที่ 113 บาท โดยกรณีตลาดดีสุด (Bull Case) จาก 1,630 จุด ลดลงเหลือ 1,600 จุด กรณีฐาน (Base Case) จาก 1,520 จุด เหลือ 1,490 จุด และกรณีแย่สุด (Bear Case) จาก 1,410 จุด เหลือ 1,390 จุด


ยังหวังตลาดหุ้นฟื้นครึ่งปีหลัง


    ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด และนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) กล่าวว่า รู้สึกผิดคาดที่ตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวในแดนลบตลอดสามเดือนที่ผ่านมา ทั้งที่กิจกรรมในประเทศคึกคักขึ้นอย่างชัดเจน จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศเฉลี่ยเดือนละ 2 ล้านคน เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำกว่า 3% ตามกรอบที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินไว้ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ในระดับต่ำ

    และที่รู้สึกผิดหวังที่ตลาดหุ้นไทยไม่ตอบรับเชิงบวกกับการเลือกตั้งครั้งนี้เลย ทั้งช่วงก่อนและหลังเลือกตั้ง และผลการเลือกตั้งที่ออกมายิ่งเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับตลาด เพราะเป็นการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง การจัดตั้งรัฐบาลอาจไม่ลงตัวง่ายๆ เพราะนอกจากจะไม่มีพรรคไหนได้เสียงเกินครึ่ง พรรคอันดับหนึ่งและสองยังมีคะแนนที่ใกล้เคียงกันมาก ซึ่งหมายความว่าทั้งคู่สามารถเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้

    “ความเสี่ยงทางการเมืองน่าจะเป็นเพียงปัจจัยระยะสั้น เพราะผมเชื่อว่าในที่สุด ไม่พรรคก้าวไกลก็พรรคเพื่อไทย น่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จก่อนการเปิดสภาในเดือนกรกฎาคม” ไพบูลย์ระบุ

    สำหรับแนวโน้มช่วงครึ่งปีหลัง เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิด “Catch-up Rally” ในตลาดหุ้นไทย เนื่องจากตลาดหุ้นไทย Underperform ตลาดหุ้นโลกเกือบ 15% ในปีนี้ และเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นในครึ่งปีหลัง ทั้งจากภาคท่องเที่ยวที่น่าจะเร่งตัวขึ้นอีก การฟื้นตัวที่แรงขึ้นของจีน และผลพวงการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรัฐบาลใหม่

    ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และหลายประเทศในยุโรป มีโอกาสสูงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยชั่วคราวในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งน่าจะทำให้นักลงทุนเริ่มโยกเงินเข้าตลาดหุ้นเอเชียมากขึ้น แต่โอกาสที่จะเห็นตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นอย่างร้อนแรงน่าจะยังเป็นไปได้ยาก จนกว่าเฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ย หรือจนกว่าตลาดจะเชื่อมั่นว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยอย่างแน่นอน


อ่านเพิ่มเติม: ​พัทยาฟู้ด ปรับกลยุทธ์ธุรกิจสู่รายได้หมื่นล้านอีกสามปี


ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine