ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหา มลพิษทางอากาศ ที่ประเทศไทยประสบวิกฤตอย่างรุนแรงในช่วงปลายปี 2561 ต่อเนื่องจนถึงช่วงต้นปี 2562 ทำให้ชาวไทยเริ่มตระหนักรู้ถึงพิษภัยของมลพิษทางอากาศมากขึ้น
ถึงแม้ในช่วงนี้วิกฤตดังกล่าวจะบรรเทาเบาบางลงไป แต่ก็ใช่ว่า มลพิษทางอากาศ อย่างฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว PM 2.5 จะหายไปอย่างถาวร และยังไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าวิกฤตนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกครั้ง ทำให้หนึ่งในหัวข้อของงานสัมมนา Delta Future Industry Summit 2019 ที่จัดขึ้นโดยบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) คือการพูดถึงประเด็นฝุ่นละอองในประเทศไทย ภายใต้เสวนา “โซลูชั่นอัจฉริยะเพื่อลดมลพิษทางอากาศสำหรับเมืองในอาเซียน”
ฝุ่นพิษมีมานานแล้ว แต่ไทยเพิ่งรู้
รศ.ดร.มาณิศา พิพัฒนสมพร อาจารย์หน่วยปฏิบัติการวิจัยสมาร์ทกริด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อันที่จริงปัญหาด้านสภาพอากาศ PM 2.5 ในประเทศไทยมีมา 6-7 ปีแล้ว แต่ที่ผ่านมาเราไม่มีเครื่องมือวัด และเพิ่งจะมีเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้เพิ่งรู้ว่าอากาศมีมลพิษรุนแรงจนมีการจัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 3 เมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูงที่สุดในเอเชีย รองจาก Jakarta และ Hanoi
“ประเทศไทยมีค่าเฉลี่ย PM 2.5 อยู่ที่ 39 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สาเหตุหลักของการเกิดฝุ่นมาจากภาคการขนส่ง และการเผาพื้นที่ไร่ในภาคเหนือ”
สอดคล้องกับ อรรณพ กิ่งขจี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท อีอีซี เอ็นจิเนียริ่ง เน็ทเวิร์ค จำกัด ที่ระบุว่า PM 2.5 อยู่ในประเทศไทยมานานแล้วแต่มีปริมาณไม่มาก จนถึงช่วงที่ผ่านมาที่ปริมาณสูงขึ้นจนจับกันเป็นก้อน ทำให้เรามองเห็นเหมือนเป็นหมอกควัน
“ทั้งนี้ PM 2.5 เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ และอุตสาหกรรมก่อสร้างที่สร้างฝุ่นจิ๋วนี้ทางอ้อมจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์รถขนส่งที่วิ่งเข้า-ออกไซต์ก่อสร้าง รวมถึงในบางครั้งก็ทำให้การจราจรติดขัด รถคันอื่นๆ ใช้เวลาอยู่บนท้องถนนนาน และเผาไหม้เชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น”
ด้าน ภาสกร ธรรมวิทยากร ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายพัฒนาธุรกิจผลิตภัณฑ์พัดลมระบายอากาศ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงผลกระทบจากมลพิษทางอากาศว่าคือเรื่องความปลอดภัยในชีวิต เนื่องจากฝุ่นขนาดเล็กนี้กระทบต่อสุขภาพรวมถึงพัฒนาการของเด็ก ขณะเดียวกันยังส่งผลต่อวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ผู้คนไม่สามารถออกมาใช้ชีวิตภายนอกได้
แกปัญหา 'มลพิษทางอากาศ' ด้วยยานยนต์ไฟฟ้า
Peter Galli รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานสื่อสารองค์กร บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ยานยนต์มีส่วนอย่างมากในเรื่องก่อ มลพิษทางอากาศ ซึ่งนิสสันมองว่ายานยนต์ไฟฟ้าจะเข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้ได้ แต่การจะแก้ปัญหาได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน ในการค่อยๆ ให้รถยนต์ส่วนตัวและรถสาธารณะทยอยเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า
“นิสสันมีการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 1997 จนกระทั่งในปัจจุบันที่โปรดักต์ของเราสร้างมลพิษในอากาศเป็นศูนย์ โดยในประเทศไทยที่ถึงแม้ขณะนี้ยังอยู่ในระยะต้นสำหรับเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า แต่เราก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งยานยนต์, สถานีชาร์จ และบริการ เพื่อให้ระบบนิเวศพร้อมสำหรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้า”
Galli ระบุว่า อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือการสร้างความตระหนักรู้ให้ทุกคนเห็นถึงปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขารวมไปถึงสัตว์เลี้ยงด้วย อีกทั้งในระยะยาวต้องคำนึงถึงเรื่องพลังงานหมุนเวียน ซึ่งนิสสันมีโครงการให้ความรู้แก่นักศึกษาเรื่องรีไซเคิลขยะแทนการเผา เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน
โซลูชั่นอัจฉริยะในมหาวิทยาลัย
ด้าน รศ.ดร.มาณิศา ระบุถึงการคิดค้นโซลูชั่นเพื่อรับมือวิกฤตมลพิษทางอากาศของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า ที่ผ่านมาจุฬาฯ มีการนำยานยนต์ไฟฟ้าเข้ามาใช้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นรถบัสไฟฟ้า รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า รวมถึงรถ HA:MO ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 1 ที่นั่งให้เช่าใช้ในมหาวิทยาลัยอีกด้วย
“นอกจากนี้เรายังมีการพัฒนาโซลูชั่นที่ที่ใช้ดูคุณภาพอากาศในตึก โดยสามารถดูได้ทั้งปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และ PM 2.5 ทั้งนี้ โซลูชั่นต่างๆ ที่เรานำมาใช้ถือเป็นการค่อยๆ สร้างการรับรู้และปลูกฝังให้นิสิตตระหนักถึงการลดมลพิษในอากาศ”
ออกแบบบ้าน-พัฒนาเมืองลดมลพิษ
ขณะที่ อรรณพ ระบุถึงแนวทางอัจฉริยะในการลดมลพิษทางอากาศว่า จากช่วงต้นปีที่เกิดเหตุการณ์ฝุ่นพิษ ทำให้ประชาชนรับรู้ถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น ดังนั้น พวกเขาจะหาแนวทางป้องกันตนเองจากฝุ่น ซึ่งในนั้นคือการให้ “บ้าน” เป็นเกราะป้องกันส่วนตัว ด้วยการออกแบบบ้านให้สามารถปิดสนิทได้จริง ซึ่งจะช่วยกรองไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเข้าสู่บ้านได้
“อย่างไรก็ตาม ชีวิตมนุษย์ไม่สามารถอยู่ในบ้านได้ตลอดเวลา เราต้องออกไปทำกิจกรรมต่างๆ นอกบ้าน ซึ่งการแก้ปัญหาในเบื้องต้น ณ ขณะนี้คือทุกคนต้องป้องกันตัวเองด้วยหน้ากาก N95 แต่ในภาพใหญ่หากมีการพัฒนาเมืองเป็นสมาร์ทซิตี้ก็จะช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองได้”
รัฐควรมีมาตรการหนุนรถยนต์ไฟฟ้า
ภาสกร ระบุว่า จริงอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มจากตัวเราก่อน แต่ในบางครั้งก็ต้องมีการสนับสนุนจากภาครัฐด้วย เช่น กรณีของรถยนต์ไฟฟ้าที่ปัจจุบันยังมีราคาสูงมาก ไม่สอดคล้องกับรายได้ของคนไทย ซึ่งรัฐบาลควรเข้ามาช่วยเหลือตรงนี้
“ส่วนประชาชนเบื้องต้นเราก็ต้องเริ่มปรับวิถีชีวิตเล็กๆ น้อยๆ เช่น หันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนแทนรถยนต์ส่วนตัว เพื่อลดปริมาณการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงลงไปนั่นเอง”
รายงานโดย กนกวรรณ มากเมฆ / Online Content Creatorไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine