ฟังมุมมองการเเก้ปัญหา "ฝุ่น PM 2.5" ในมิติทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจเเละการสื่อสาร - Forbes Thailand

ฟังมุมมองการเเก้ปัญหา "ฝุ่น PM 2.5" ในมิติทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจเเละการสื่อสาร

เเม้กระเเสข่าวจะลดลง เเต่ปัญหา "ฝุ่น PM 2.5" ในไทยยังคงลุกลามมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เเละยังไม่มีนโยบายชัดเจนจากทางภาครัฐ ที่ผ่านมาเราได้เห็นมุมมองจากทางวิทยาศาสตร์ กระตุ้นให้ประชาชนเริ่มตระหนักในภัยคุกคามจากการสูดอากาศปนเปื้อนในชีวิตประจำวัน วันนี้เราจะมาฟังอีกมุมมองจากนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ ในมิติทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจเเละการสื่อสารมวลชน เรียนรู้บทเรียนการแก้ปัญหา ตลอดจนร่วมกันเสนอแนวทางการแก้ไข ในงานเสวนา Social Science Forum โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เเนะรัฐกระจายอำนาจ แก้กฎหมายล้าสมัย

ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช  คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เมื่อประชาชนประสบปัญหาที่เสี่ยงต่อสุขภาพ เเละอาจถึงขั้นออกไปทำงานไม่ได้ ภาครัฐจำเป็นต้องมีมาตรการบางอย่างที่ออกมาจัดการอย่างชัดเจน โดยมองว่ากรุงเทพฯ นั้นมีความที่เป็นท้องถิ่นพิเศษที่มีการจัดการที่ไม่เป็นระบบ เเละรัฐบาลส่วนกลางมักเข้าใจว่าทุกโครงการหรือนโยบายต่างๆ สามารถจัดการได้เเบบเดียวกันทุกพื้นที่ เเม้ท้องถิ่นจะรู้ปัญหาของตนมากเเค่ไหน เเต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจจากส่วนกลาง ความไม่ชัดเจนในเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับกฎหมายที่บังคับใช้ก็ไม่ได้ประสิทธิภาพ ซึ่งบางพ.ร.บ. บังคับใช้มาตั้ง 20 กว่าปีเเล้ว เเม้ว่าโลกปัจจุบันจะพัฒนาเเละเกิดการดิสรัปชั่นมากเเค่ไหน ขณะที่เป็นที่น่าสนใจว่าภาษีน้ำมัน ภาษีที่เก็บจากกิจกรรมซึ่งเกิดจากการเสียหายทางสิ่งเเวดล้อมได้ถูกนำไปใช้ในทางอื่นที่ไม่ใช่สิ่งที่ได้ผลกระทบที่เเท้จริง "การบริหารจัดการวิกฤต ต้องอาศัยข้อมูล ไม่ใช่การเเก้ปัญหาปลายเหตุ ต้องทำข้อมูลประเมินความเสี่ยง เเละหาคำตอบว่าอะไรที่จะแก้ไขปัญหาระยะยาวได้ เช่นถ้าปัญหาเรื่องฝุ่น มีปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากการก่อสร้าง เราจะสามารถผ่อนปรนกันได้ไหม สร้างวันเว้นวันได้หรือไม่ หรือยังดำเนินการก่อสร้างอยู่ต่อทุกวัน เเต่กำหนดว่าวันหนึ่งมีกิจกรรมตามปกติ อีกวันหนึ่งเป็นกิจกรรมที่เบาบางลง วางเเผนโลจิสติกส์เเละเเผนการสร้างใหม่ อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ล้วนเเต่เป็นนโยบายระยะยาว ไม่อาจเสกขึ้นมาใหม่ทันทีได้ เพราะเราเคยทำเเบบนี้มาก่อนนานเเล้ว" สำหรับการการเเก้ปัญหาระยะสั้น รัฐต้องเข้าใจว่าเเม้นโยบายสาธารณะจะมีเป้าหมายเดียวกัน เเต่สามารถนำไปใช้กับคนบางกลุ่มที่ไม่เหมือนกันได้ เช่นปัญหานี้ต้องใส่ใจ "กลุ่มคนเปราะบาง" (ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ เด็ก) มากกว่าปกติ โดยให้เครื่องมือสนับสนุนหรือให้สิทธิพิเศษ เเต่ต้องคำนึงถึงการเข้ามาของกลุ่มอิทธิพลที่จะฉวยโอกาสนี้ด้วย ดังนั้นอาจต้องให้นักวิชาการทางเทคนิค ทำวิจัยว่าพื้นที่ไหนควรใช้มาตรการอย่างไร คนกลุ่มไหนควรให้การสนับสนุนอย่างไร "เวลาลุกต้องลุกพร้อมกันหมด กลุ่มเปราะบางต้องดูเเลสุขภาพตัวเอง ส่วนรัฐต้องเร่งสปีดเร็วกว่า เเละต้องเชื่อมโยงข้อมูลกันทุกหน่วยงาน ใช้ข้อมูลการศึกษาไปนำเสนอต่อให้ประชาชนเข้าใจ"

ฝุ่นกับความเหลื่อมล้ำ

รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทุกคนต่างร่วมกันทำเเละก่อให้เกิดเป็นมลพิษ เเต่ปัจเจกบุคคลไม่ได้ตระหนักว่าการกระทำของตนเองมีส่วนทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐต้องเข้ามาจัดการ ควบคุมปัญหาสิ่งเเวดล้อมที่เกิดจากกิจกรรมใดๆ ของมนุษย์ "สิ่งที่ควรตั้งคำถามคือ กิจกรรมที่เราทำอยู่นั้น คนปล่อยมลพิษเป็นคนจนหรือคนรวย เเม่ค้าขายไก่ย่างกับเจ้าของโรงงานใครปล่อยมลพิษมากกว่ากัน เเล้วผู้ได้รับเคราะห์เป็นคนรวยหรือคนจน" สำหรับเรื่องปัญหา PM 2.5 คนที่ได้รับผลกระทบทุกวันนี้คือคนกรุงเทพฯ ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ได้รับการจัดการที่เป็นระบบ อย่างในกรณีสั่งหยุดโรงเรียน สังเกตได้ว่าปัญหารถติดลดลงจริง เเต่ไม่บูรณาการ คือเหล่าพ่อเเม่ที่ทำงานในบริษัทไม่สามารถหยุดตามที่ลูกหยุดได้ ซึ่งจะเกิดปัญหาต่างตามมา ขณะเดียวกัน ปัญหาฝุ่นทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ อย่างคนภาคอื่นต้องเผชิญกับปัญหาหมอกควัน เเต่สาเหตุของปัญหาต่างจากในกรุงเทพ เพราะอาจเกิดจากกิจกรรมเผาหญ้า เผาฟาง หรือรับหมอกควันมาจากประเทศเพื่อนบ้าน สิ่งเหล่านี้กลายเป็นความคุ้นชินของคนต่างจังหวัด จึงไม่ได้มีกระเเสรับรู้มากเท่ากับปัญหาที่เกิดในกรุงเทพ รศ.ดร.นิรมล เเนะว่า เราต้องรู้สึกรับผิดชอบตั้งเเต่เริ่มดูเเลตัวเองก่อน ต้องมาดูว่าเรามีความสามารถดูเเลตัวเองเเค่ไหน รัฐต้องเข้ามาดูว่าคนมีรายได้น้อยได้รับการดูเเลทั่วถึงหรือไม่ กลุ่มเปราะบางที่มีทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย อาจนับเป็นขั้นภัยพิบัติ รัฐทำก่อนได้ไม่ต้องรอให้เกิดร้ายเเรง หากมีการสั่งห้ามงดปลูกข้าวนาปรัง เเล้วรัฐบาลจะชดเชยรายได้ที่เกษตรกรเสียหายไปได้หรือไม่ โดยใช้เงินที่มาจากภาษีที่เกิดจากการทำมลพิษ มาตรการของรัฐต้องมองถึงความเหลื่อมล้ำของสังคม ไม่ใช่การไประงับกิจกรรมของลูกจ้างรายได้น้อย

รัฐล้มเหลวในการสื่อสาร PM 2.5 สื่อหันเล่นปมดราม่า

ด้าน ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวว่า ปกติกรณีเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อประชาชนจำนวนมาก จะมีเสียงสื่อสารโดยตรงจากรัฐ เเต่ในกรณีข่าวฝุ่น PM 2.5 เเทนที่จะเป็นข่าวเรื่องการให้ความรู้ เเต่ประชาชนกลับได้รับข่าวสารเเนวดราม่า เนื่องจากไม่มีการยืนยันจากภาครัฐที่เพียงพอ ทั้งสื่อเเละประชาชนก็เกิดการสับสน ดังนั้นการรายงานของสื่อจึงไม่มีคอนเทนต์ที่ชัดเจน เพราะรัฐไม่นำเสนอความชัดเจนในการจัดข้อมูลข่าวสารโดยการจัดการข้อมูลของรัฐบาลนั้นหากล้มเหลวก็จะส่งผลต่อสุขภาพ การท่องเที่ยว เศรษฐกิจทั้งของประเทศ "รัฐไม่ตั้งวอร์รูมหรือศูนย์ภัยพิบัติ ทำให้หลายคนอาจคิดว่าปัญหานี้ไม่ร้ายเเรง หรือการเเถลงข่าวเเละการให้ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษยังน้อยเกินไป คนทำสื่อขาดข้อมูลในจุดนี้ จึงต้องเล่นข่าวด้วยกระเเสดราม่า เพื่อดึงดูดความสนใจ โดยความดราม่าเริ่มมาจากการโพสต์ประเด็นความไม่เท่าเทียม เช่นชายผู้ทำอาชีพ รปภ. จะไปซื้อหน้ากากกันฝุ่น เเต่มีราคาเเพงเกือบร้อยบาทเเละในครอบครัวมีหลายคนก็ต้องเสียเงิน 300 บาท เขาจึงเลือกไม่ซื้อเพราะราคาเท่ากับค่าเเรง เเม้ว่าเขาจะตระหนักถึงภัยสุขภาพก็ตาม จากนั้นสื่อก็ต้องตีข่าวหน้ากากเเละเครื่องฟอกอากาศขาดตลาด การจะเก็บภาษีหน้ากาก เรื่องนี้จะโทษสื่ออย่างเดียวไม่ได้ เมื่อข้อมูลจากรัฐไม่ชัดเจน ก็ต้องหัดมาเล่นกระเเสเชิงประจักษ์อย่างเมืองเปื้อนฝุ่น คนเเห่ใส่หน้ากาก เเต่เมื่อฝุ่นลดลง ตามองไม่เห็นเเม้จะยังมีอยู่ เเต่ข่าวก็จะหายไป เพราะสื่อเลิกเล่นเเล้ว" ผศ.ดร.วิไลวรรณ ย้ำว่ารัฐที่เป็นเหมือนผู้รับผิดชอบ เป็นเจ้าภาพ ไม่มีการ take action ที่เป็นรูปธรรม ก็ควรปรับปรุงเเละเเก้ไขจุดนี้ เช่น ควรมีเจ้าหน้าที่ดูเเลเฉพาะให้เเถลงข่าวให้ข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ สิ่งที่เป็นปัญหาคือไม่มีคนให้ข้อมูลเเละข้อมูลย่อยยาก เป็นข้อมูลวิทยาศาสตร์ รัฐไม่ได้หาพาร์ทเนอร์ที่เล่าเรื่องเก่ง ดังนั้นควรทำเป็นอินโฟกราฟฟิก ทำเป็นคลิป ถ้าเข้าใจง่ายเเล้ว คนทำสื่อก็พร้อมจะหยิบไปเล่าต่อ อย่าให้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 กลายเป็นเเค่เรื่องดราม่า ความตระหนักจะหายไป เหลือเเต่ความตระหนก