สู้มลพิษทางอากาศ รัฐบาลอังกฤษประกาศให้คำมั่นเตรียมออกกฎหมายเกี่ยวกับคุณภาพอากาศภายในปีนี้ เพื่อช่วยชีวิตประชาชนเเละลดผลกระทบทางเศรษฐกิจกว่าพันล้านปอนด์
โดยจะทำให้อังกฤษเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ประเทศเเรกที่จะนำเอาเป้าหมายคุณภาพอากาศ ตามข้อเเนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าด้วยเรื่องอนุภาคในอากาศที่ผู้คนรับเข้าสู่ร่างกายมาใช้อย่างจริงจัง
“มลพิษทางอากาศ ยังคงทำให้ชีวิตของเราสั้นลงอย่างต่อเนื่อง ทำร้ายเด็กๆ เเละบั่นทอนคุณภาพชีวิต เรามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนและจริงจัง” Michael Gove รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของอังกฤษระบุในแถลงการณ์
โดยกระทรวงสิ่งแวดล้อม อาหารและกิจการชนบท ยังประกาศแผนที่จะลดผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ ที่มีผลต่อเศรษฐกิจเเละสังคมลงปีละกว่า 1.7 พันล้านปอนด์ ภายในปี 2020 เเละจะเพิ่มเป็น 5.3 พันล้านปอนด์ให้ได้หลังจากปี 2030
ทั้งนี้ เมื่อปีที่ผ่านมา รัฐบาลอังกฤษได้ประกาศเเผนลดการปล่อยมลพิษจากรถยนต์เเละเครื่องบิน เเละสั่งยกเลิกการใช้งานรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลทั้งหมด ภายในปี 2040 นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายไปที่การแก้ปัญหามลพิษจากบ้านเรือน การทำไร่และมลภาวะทางอุตสาหกรรมต่างๆ
ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา อัยการสูงสุดของอังกฤษเปิดทางให้มีการชันสูตรพลิกศพการเสียชีวิตของ
Ella Kissi-Debrah ผู้ป่วยโรคหอบหืด วัย 9 ขวบซึ่งเสียชีวิตในปี 2013 หลังจากครอบครัวร้องเรียนว่า มลพิษทางอากาศ ในกรุงลอนดอนเป็นเหตุให้เธอเสียชีวิต ซึ่งหากมีหลักฐานยืนยันเเน่ชัดก็จะทำให้ครอบครัวสามารถยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อศาลสูงได้ใหม่อีกครั้ง
เเละอาจจะเป็นผู้เสียชีวิตรายแรกในสหราชอาณาจักรที่ได้รับการตัดสินคดีว่าเชื่อมโยงกับมลพิษทางอากาศ โดยองค์กรการกุศลเเละกลุ่มนักเคลื่อนไหวกำลังกดดันให้รัฐบาลตระหนักถึงผลกระทบจากมลพิษทางอากาศที่มีผลเสียต่อสุขภาพประชาชน
“เราต้องสูญเสียหลายพันชีวิตในสหราชอาณาจักรไปทุกๆ ปี เพราะอากาศที่เราหายใจเข้าไปนั้นมีอนุภาคอันตราย” Simon Gillespie ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ British Heart Foundation กล่าว
“เราต้องการให้แนวทางเหล่านี้ถูกนำมาใช้เป็นกฎหมายแห่งชาติอย่างเร่งด่วน เพื่อปกป้องหัวใจเเละสุขภาพของประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร”
สำหรับยุทธศาสตร์
อากาศสะอาด (Clean Air Strategy) ที่รัฐบาลอังกฤษเพิ่งประกาศไปเมื่อ 14 มกราคมที่ผ่านมา ระบุว่าจะกำหนดเป้าหมายใหม่ที่ชัดเจนเพื่อลดฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ที่ปัจจุบันเมืองกว่า 40 แห่งในสหราชอาณาจักร มีค่า PM 2.5 ในระดับเดียวกับที่องค์การอนามัยโลก กำหนดหรือสูงกว่า
โดยรัฐบาลจะมีการเผยเเพร่รายละเอียดเกี่ยวกับเเผนดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายใหม่ภายในช่วงต้นปีนี้ เเละคณะรัฐมนตรียืนยันว่ากระบวนการ Brexit จะทำให้สหราชอาณาจักรดำเนินการเเก้ปัญหานี้ต่อไปได้มากกว่าสหภาพยุโรป เเละอังกฤษจะเป็น"แกนนำโลก" ในการควบคุม PM 2.5
ที่มา
ภาพ Isabel INFANTES / AFP