[บทความประจำฉบับมกราคม 2558]
หลักการความเป็นอิสระได้รับความสนใจกันมากในแวดวงการกำกับดูแลที่ดี ทั้งระดับกิจการ องค์กร และประเทศ มีหัวใจสำคัญอยู่ที่การตัดสินใจตลอดกระบวนการปฏิบัติงาน ตั้งแต่การบริหาร ปฏิบัติการ ควบคุม จนถึงตรวจสอบ หรือคือการเลือกกระทำ เลือกคิด-พูด-ทำ นั่นเอง
หลักการความเป็นอิสระได้รับความสนใจกันมากในแวดวงการกำกับดูแลที่ดี ทั้งระดับกิจการ องค์กร และประเทศ มีหัวใจสำคัญอยู่ที่การตัดสินใจตลอดกระบวนการปฏิบัติงาน ตั้งแต่การบริหาร ปฏิบัติการ ควบคุม จนถึงตรวจสอบ หรือคือการเลือกกระทำ เลือกคิด-พูด-ทำ นั่นเอง
อิสระ แปลว่า ปกครองตนเอง ไม่อยู่ใต้การควบคุม ไม่ต้องพึ่งพา แต่ไม่ใช่การเป็นเอกเทศ ทำตามอำเภอใจ ไม่ต้องฟังใคร เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง
แนวทางการวิเคราะห์ความเป็นอิสระอาจพิจารณาแยกเป็น 3 ส่วนใหญ่ ได้แก่
ส่วนแรก บุคคล มักแบ่งฝ่ายเป็นเขากับเรา ส่วนที่สอง การกระทำหรือกรรม ทั้งก่อให้เกิดและรับการกระทำ หรือแสดงออกและรับรู้ และส่วนสุดท้าย ผลกรรม ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อผู้กระทำไม่ว่าจะเป็นเขาหรือเรา และยังส่งผลโดยอ้อมต่อไปยังเขาและเราอีก พัวพันต่อเนื่องกันไปเป็นเกลียวความเป็นอิสระ
บุคคลจะมีความเป็นอิสระได้คงต้องเริ่มจากตัวเอง ด้วยความพยายามป้องกันรักษาจิตใจจากพันธนาการทางความเห็นหรือทิฐิที่ไม่ถูกต้อง ก่อนจะคิด-พูด-ทำ ซึ่งมักอยู่ในรูปที่คุ้นเคย ได้แก่ รัก โลภ โกรธ หลง
อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของตนเป็นปัจจัยภายใน เช่น ชอบ อยาก หลงเชื่อ เกลียด กลัว เกรงใจ ซึ่งต่างเป็นอาการตอบสนองของจิตใจต่อปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะผลกระทบที่อาจให้โทษได้ เช่น ภัยคุกคาม อันตราย อิทธิพล อำนาจ แรงกดดัน ความเสี่ยง ปัจจัยภายนอกจึงมีผลต่อปัจจัยภายใน ซึ่งส่งผลต่อความเป็นอิสระอีกทอดหนึ่ง
การกระทำของบุคคลเกี่ยวพันกับความเป็นอิสระในแต่ละบริบท ซึ่งขึ้นอยู่กับขอบเขตและเงื่อนไขตามบทบาท สิทธิ หน้าที่ อำนาจ และความรับผิดชอบของบุคคลนั้น แม้ว่าอาจแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด แต่คงเหมือนกันในหลักการสำคัญ เพราะเจตนานำหน้าการกระทำ ซึ่งโดยทั่วไปประกอบด้วยหลายการกระทำย่อย ความเป็นอิสระจึงมีมิติของขั้นตอนด้วย เช่น วางแผน ดำเนินงาน บริหาร ควบคุม ติดตาม รายงาน ทุกขั้นตอนล้วนมีผลต่อความเป็นอิสระโดยรวมทั้งสิ้น การกระทำอาจส่งผลต่อความเป็นอิสระของบุคคลได้หลายลักษณะวิธี เช่น กระตุ้นยุยง ให้ประโยชน์ ใช้อิทธิพลบารมี สั่งการ แทรกแซง หากใช้ให้ถูกทางก็อาจช่วยเสริมความเป็นอิสระได้ แต่ถ้าใช้ผิดก็จะบั่นทอนความเป็นอิสระลง
ผลกรรมเป็นสิ่งทั้งหลายที่ตามมา ทั้งรูปธรรมและนามธรรม ได้แก่ ผลสำเร็จ ผลงาน ผลกระทบ ผลตอบแทน ผลได้ผลเสีย ผลพลอยได้ ทั้งกลุ่มที่เป็นคุณกับกลุ่มที่เป็นโทษ ผลกรรมจึงเป็นปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อความเป็นอิสระ
ความเป็นอิสระเป็นเรื่องของจิตสำนึกและเจตนารมณ์ของบุคคล ในกระบวนการตัดสินใจเลือกกระทำ หรือไม่กระทำ โดยคำนึงถึงผลกรรมที่จะเกิดขึ้น ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งต้องฟังให้มาก รู้ให้จริง ด้วยหลักการพื้นฐาน คือ เป็นกลาง เป็นจริง และเป็นธรรม ควบคู่กับ 3 เสาหลัก คือ เปิดเผยได้ ตรวจสอบได้ และเปรียบเทียบได้ บนรากฐานของความดี คุณธรรม ศีลธรรม และจริยธรรม ความถูกต้องมีเหตุผล ความยุติธรรม ความสมดุล รวมถึงความเหมาะสมพอดี
ความเป็นกลาง คือพิจารณาทางเลือกบนพื้นฐานความคิดเห็นที่ถูกที่ควร อย่างสุจริตซื่อตรง โปร่งใส เปิดเผยได้ ไม่ว่าต่อหน้าหรือลับหลัง นั่นคือ ไม่ลำเอียง ไม่เข้าข้าง ไม่ใช้อารมณ์ ความเป็นจริง คือพิจารณาไตร่ตรองข้อเท็จจริงแบบเที่ยงตรง ตรวจสอบได้ ด้วยสติปัญญา อย่างจริงใจ รอบคอบ ให้ครบถ้วนสมบูรณ์เพียงพอและเหมาะสมกับกรณี และความเป็นธรรม คือพิจารณาเหตุผลความเป็นจริงตามธรรมชาติ อย่างสม่ำเสมอ เปรียบเทียบได้
แนวคิดเชิงป้องกันเบื้องต้นคือ กำหนดหลักเกณฑ์ คุณสมบัติ และข้อจำกัดทางสายสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับส่วนได้ส่วนเสียบางประการในการคัดเลือกสรรหาบุคคล โดยคาดหวังว่าจะลดโอกาสสูญเสียความเป็นอิสระไปบ้างตั้งแต่แรก และรักษาความเป็นอิสระไว้ได้ในระหว่างการทำหน้าที่ แต่ไม่อาจรับประกันได้ว่าต่อไปจะมีความเป็นอิสระเพียงใด หลายสาขาอาชีพมีจรรยาบรรณ นับว่าเข้มงวดขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี เพราะหัวใจอยู่ที่การยึดถือปฏิบัติจริงในแต่ละขณะจิต
คนเรามักคำนึงถึงตนเองก่อนเสมอ คือเราก่อนเขา บ่อยครั้งที่ไม่คิดถึงโทษต่อเขา หรือบางครั้งก็ลืมนึกถึงโทษต่อเรา ความเป็นอิสระที่อ่อนแอจึงมีส่วนทำให้เกิดปัญหาหลากหลาย เช่น ละเลย ล่วงละเมิด ฝ่าฝืน โกงกิน ทุจริต เล่นพวก ข่มเหงรังแก ให้ร้าย ใช้อำนาจในทางที่ผิด มี 2 มาตรฐาน
การประเมินความเป็นอิสระมักมองข้ามกระบวนการทำงาน และการปฏิบัติงานจริงในแต่ละขั้นตอน โดยมักสนใจเพียงผลลัพธ์ เพราะเป็นรูปธรรมเห็นได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะกรณีเมื่อความเสียหายเกิดขึ้นอย่างชัดเจน จึงพอบอกได้ว่าอาจมีปัญหาความไม่เป็นอิสระ ส่วนกรณีอื่นคงไม่มีหลักฐานหรือเหตุการณ์ที่แสดงว่าสูญเสียความเป็นอิสระไปบ้างแม้แต่น้อย เสมือนการกลบเกลื่อนแม้ไม่จงใจปกปิดก็ตาม ผลที่ตามมาจากการไม่รักษาความเป็นอิสระ ก็อาจไม่ปรากฏให้เห็นได้โดยตรงในรูปของความรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติงานตามหน้าที่จนทำให้ไม่ค่อยสนใจกัน จึงอาจกล่าวได้ว่า ความเป็นอิสระเป็นจุดอ่อนสำคัญของการกำกับดูแลที่ดี
ความเป็นอิสระในการกำกับดูแลที่ดีจึงพัฒนาได้จากการนำหลักการไปสู่การปฏิบัติจริง ด้วยกลไกสนับสนุน ได้แก่ แบ่งแยกหน้าที่ ควบคุมและตรวจสอบ และเปิดเผยข้อมูล ซึ่งต้องจัดเตรียมปัจจัยเสริมสร้างให้ครอบคลุมทุกบริบท คือ ปัจจัยแวดล้อม ปูรากฐาน ได้แก่ หลักการที่ยอมรับ มาตรฐานสากล กฎหมาย มาตรฐานทางวิชาชีพ รวมถึงศาสนาวัฒนธรรม
ถัดไป ปัจจัยจัดการวางแนวทาง ได้แก่ หลักการที่นำมาปรับใช้ในแต่ละองค์กร นโยบาย ระบบงาน รวมถึงค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กร
สุดท้าย ปัจจัยทำการสร้างคุณค่า ได้แก่ การประพฤติปฏิบัติอย่างจริงจัง ตามภารกิจอย่างเต็มความสามารถ โดยอาศัยหลักธรรมเป็นแนวปฏิบัติ โดยเฉพาะ มีสติ ละอายใจ อดทนอดกลั้น
ประสิทธิผลของความเป็นอิสระคือสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของการกำกับดูแลที่ดี การจะได้รับประโยชน์เต็มที่จากหลักการความเป็นอิสระนั้น ต้องปูรากฐาน วางแนวทาง และสร้างคุณค่า ด้วยการปลูกฝังค่านิยมให้หยั่งรากลึกเป็นธรรมเนียมปฏิบัติและวัฒนธรรมองค์กรให้ได้ ประเมินผลเพื่อแก้ไขปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่อง และเปิดใจรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือเห็นต่าง คิดดีหรือคิดร้ายและฟังเสียงความเงียบให้ดี
หลักการความเป็นอิสระส่งเสริมความดีให้คนเรามีการตัดสินใจที่ดีกว่า ได้ทางเลือกที่ดีกว่า เกิดผลลัพธ์ที่ดีกว่า แม้อาจไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดก็ตาม เพราะความเป็นอิสระนั้นแม้ว่าจำเป็น แต่ยังต้องการคุณสมบัติอื่นอีก ความเป็นอิสระที่ถูกที่ควรจึงย่อมเป็นสิ่งดีอย่างแน่นอน แต่อย่าลืมสุภาษิต ทำดีอย่าให้เด่นจะเป็นภัย ไว้เตือนสติตัวเองในสังคมด้วย
ปิยะพันธ์ ทยานิธิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน)