“ไอทีวี” เผือกร้อนในมือ “สารัชถ์ รัตนาวะดี” เศรษฐีหุ้นแห่งกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี - Forbes Thailand

“ไอทีวี” เผือกร้อนในมือ “สารัชถ์ รัตนาวะดี” เศรษฐีหุ้นแห่งกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี

บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ถูกปลุกขึ้นมาอยู่ในกระแสอีกครั้ง หลังจากเป็นชนวนเหตุสำคัญที่อาจทำให้อนาคตของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยต้องพลิกผัน ปัจจุบันไอทีวีเป็นบริษัทในเครือของอินทัช ที่มีบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ของ สารัชถ์ รัตนาวะดี เศรษฐีหุ้นอันดับ 1 ของไทย


    บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือชื่อเดิมบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ธุรกิจดั้งเดิมของตระกูลชินวัตร ที่มีธุรกิจในเครือ อาทิเช่น บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (มือถือ AIS) บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) บริษัท อินทัช มีเดีย จำกัด บริษัท เอสซี แมทช์บอกซ์ จำกัด เป็นต้น


เครือข่ายธุรกิจอินทัชโฮลดิ้งส์-ไอทีวี


ปี 2547 ตระกูลชินวัตรขายหุ้นทั้งหมดให้แก่เทมาเส็ก โฮลดิงส์ของสิงคโปร์ และในปี 2549 บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ของ สารัชถ์ รัตนาวะดี ได้เข้าซื้อกิจการต่อจากเทมาเส็ก และกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของอินทัชถึงปัจจุบัน โดยมี คิมห์ สิริทวีชัย บุคคลที่เป็นข่าวในเอกสารประชุมผู้ถือหุ้น ไอทีวี เป็นกรรมการผู้อำนวยการ

    ปี 2565 อินทัช โฮลดิ้งส์ มีกำไรสุทธิ 10,533 ล้านบาท รายได้หลักมาจากการดำเนินธุรกิจเอไอเอส ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีเครือข่ายครอบคลุมกว่า 85% ของประชากรในประเทศไทย รวมทั้งได้เข้าซื้อกิจการ ทริปเปิลทรี บรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ต (3BB) และ เข้าซื้อหน่วยลงทุนกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) ในสัดส่วน 19% โดย AWN ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของเอไอเอสที่ดำเนินธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้าน คาดว่าจะปิดดีลภายในไตรมาส 2 ของปีนี้ และก้าวขึ้นเป็นผู้นำในตลาดอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ที่มีฐานลูกค้าเกือบ 6 ล้านราย

    อินทัช โฮลดิ้งส์ ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ร้อยละ 52.92 ซึ่งไอทีวีได้แจ้งในหมายเหตุประกอบงบการเงินปี 2565 ระบุว่า “กลุ่มบริษัท” เคยดำเนินธุรกิจหลักเกี่ยวกับการดำเนินการสถานีโทรทัศน์ภายใต้สัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ (“สัญญาอนุญาตให้ดำเนินการ”) ที่ได้รับจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (“สำนักงานปลัดฯ”) สื่อโฆษณา และการผลิตรายการ โดย ณ วันที่ 7 มีนาคม 2550 สำนักงานปลัดฯ ได้เพิกถอนสัญญาอนุญาตให้ดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้บริษัทต้องหยุดดำเนินกิจการ

    ไอทีวี ยังมีบริษัทย่อยชื่อบริษัท อาร์ตแวร์ มีเดีย จำกัด ดำเนินธุรกิจให้เช่าป้ายโฆษณาอิเล็กทรอนิกส์และให้บริการจัดกิจกรรมทางการตลาดที่เกี่ยวกับและการผลิตรายการ (ปัจจุบันหยุดดำเนินธุรกิจ) โดยสถานะการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 กลุ่มบริษัทยังคงมีหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนจำนวน 1,627 ล้านบาท และขาดทุนสะสมเกินทุนจำนวน 1,626 ล้านบาท

    ข้อพิพาทระหว่างไอทีวี กับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น มีการตั้งคณะอนุญาโตตุลาการฟ้องร้องกันไปมา นับตั้งแต่บอกเลิกสัญญาในเดือนมีนาคม 2550 มียอดเรียกค่าเสียหายระหว่างกันหลักแสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม การพิจารณาข้อพิพาทล่าสุดคือยอดหนี้สินและดอกเบี้ยที่บริษัทจะต้องจ่ายให้กับสำนักปลัดอยู่ที่ 2,890 ล้านบาท ซึ่งสำนักปลัดได้ยื่นคัดค้านต่อศาลปกครองกลาง แต่ศาลยกคำร้องเมื่อเดือนธันวาคม 2563 สำนักปลัดจึงยื่นคัดค้านต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งปัจจุบันอยู่ในกระบวนการของศาลปกครองสูงสุด


ไอทีวีดำเนินกิจการหรือไม่


    ระหว่างการดำเนินคดีตามข้อพิพาทกับสำนักปลัด ไอทีวี ยังคงดำเนินกิจกรรมกับบุคคลภายนอกโดยมีการว่าจ้างบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม 2 ราย และว่าจ้างธนาคารแห่งหนึ่งเพื่อดำเนินการบริหารเงินลงทุนในตราสารหนี้ ตามนโยบายการลงทุนของบริษัท และเพื่อดำเนินการรับฝากทรัพย์สินที่ได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ ตามลำดับ โดยมีอายุสัญญา 1 ปี รวมทั้งจ้างที่ปรึกษาด้านกฎหมาย และบัญชี

    ล่าสุด บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อยรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 แจ้งผลประกอบการในไตรมาส 1/2566 มีรายได้รวม 6,114,891 บาท กําไร 3,070,980 บาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2565 มีรายได้รวม 5,190,002 บาท และกำไร 2,430,733 บาท ซึ่งมาจากรายได้จากผลตอบแทนจากเงินลงทุนและดอกเบี้ยรับ

    และสำหรับงวดไตรมาสแรกของปี 2566 (ยังไม่ได้ตรวจสอบ) ไอทีวีมีกำไรจากการกิจกรรมดำเนินงาน 3,842,496 บาท และในหมายเหตุประกอบงบการเงิน ระบุว่าวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 บริษัทมีการนำเสนอการลงสื่อให้กับกิจการที่เกี่ยวข้องกัน และเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/2566 มีมติรับทราบรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยเป็นผู้ให้บริการลงสื่อโฆษณา และจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส 2 ของปี 2566

    อย่างไรก็ตาม จากข้อสงสัยเกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯว่า จะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดความโปร่งใสเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

    จากประเด็นร้อนที่เกิดขึ้นในตอนนี้ว่าไอทีวียังเป็นสื่อหรือไม่ และมีการปลุกชีพไอทีวี เพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง หากดูจากเอกสารทางกฎหมายและงบการเงินของบริษัทระบุว่าไอทีวียังดำเนินกิจการอยู่ แต่การดำเนินกิจการนั้นถือว่าเป็นสื่อหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ ในอนาคตหากข้อพิพาทระหว่างสำนักปลัดกับไอทีวีสิ้นสุดลงมีโอกาสที่ไอทีวีจะกลับมาดำเนินกิจการหรือไม่ ก็ต้องบอกว่ามีด้วยธุรกิจในกลุ่มอินทัช โฮลดิ้งส์ มีทั้งโครงข่ายระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ และอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่ต้องการธุรกิจสื่อและคอนเทนต์มาต่อยอดการทำธุรกิจให้แข็งแกร่ง ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจที่กลุ่มชิน คอร์ปเคยทำมาก่อน

    ไอทีวีจึงกลายเป็นอีกหนึ่งเผือกร้อนของ สารัชถ์ รัตนาวะดี ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของอินทัช โฮลดิ้งส์ และไอทีวี ที่ก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบจากนโยบายของพรรคก้าวไกลในการรื้อระบบสัมปทานโรงไฟฟ้าทำให้มูลค่าหุ้นหายไปกว่า 3% จากมาร์เก็ตแคปมูลค่าเกือบ 500,000 ล้านบาท


อ่านเพิ่มเติม: ตลท. เตือนนักลงทุนให้ระวังหลังหุ้น OTO ซื้อขายผิดปกติ



คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤษภาคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine