กางแผน ‘ไมเนอร์ ฟู้ด’ เดินหน้าสู่ Global Company เตรียมเปิดแฟรนไชส์ ‘เดอะ พิซซ่า’ ที่สิงคโปร์ - Forbes Thailand

กางแผน ‘ไมเนอร์ ฟู้ด’ เดินหน้าสู่ Global Company เตรียมเปิดแฟรนไชส์ ‘เดอะ พิซซ่า’ ที่สิงคโปร์

กางแผน ‘ไมเนอร์ ฟู้ด’ เดินหน้าสู่ Global Company เตรียมเปิดร้านแฟรนไชส์เดอะ พิซซ่า คอมปะนี ครั้งแรกในสิงคโปร์กลางปีนี้ พร้อมเพิ่มสาขาซิซซ์เล่อร์ สเต็ก และเดอะ คอฟฟี่ คลับ ในเวียดนาม ส่วนตลาดใหม่ตะวันออกกลางและอินเดียจ่อคิวรอ คาดน้ำหนักรายได้ต่างประเทศจะเพิ่มถึง 60% ภายใน 3-5 ปี


    ธันยเชษฐ์ เอกเวชวิท ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ไมเนอร์ ฟู้ด มีแผนจะบุกตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ความตั้งใจนำบริษัทสู่เป้าหมาย Global Company ในอีก 3-5 ปี โดยจะนำร้านอาหารที่มีขยายอยู่แล้วในบางประเทศ เข้าไปเปิดในประเทศใหม่ๆ เช่น ‘เดอะ พิซซ่า คอมปะนี’ ที่มีแผนจะเปิดร้านแฟรนไชส์เป็นครั้งแรกในสิงคโปร์ในกลางปีนี้ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของธุรกิจมากขึ้น ภายหลังจากที่เดอะ พิซซ่า คอมปะนี ได้เปิดสาขาในต่างประเทศแล้วกว่า 160 แห่ง เป็นพอร์ตธุรกิจอาหารที่ใหญ่ที่สุดของไมเนอร์ ฟู้ด ในต่างประเทศ

    นอกจากนี้ ‘ซิซซ์เล่อร์’ เป็นอีกแบรนด์ที่จะขยายต่างประเทศเพิ่มขึ้น เริ่มจากเวียดนามที่ได้ไปเปิดสาขาแรกที่โฮจิมินห์แล้วเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และกำลังจะมีการขยายสาขาแห่งที่ 2 ในเร็วๆ นี้ ภายหลังจากได้รับการตอบรับเป็นที่น่าพอใจจากลูกค้าเวียดนาม ที่คนรุ่นใหม่เปิดรับวัฒนธรรมการการกินอาหารตะวันตก สะท้อนจากการเปิดสาขาของเดอะ พิซซ่า คอมปะนีกว่า 70 แห่งที่นี่

    ขณะที่แบรนด์ ‘แดรี่ ควีน’ เน้นบุกตลาดในอินโดนีเซีย และร้านชานมไข่มุก ‘กาก้า’ ก็จะเปิดสาขาที่นี่ด้วยเช่นเดียวกัน นอกจากนี้แล้ว บริษัทยังศึกษาที่จะขยายแบรนด์ ไทย เอ็กซ์เพรส แบรนด์ร้านอาหารไทยของไมเนอร์ในสิงคโปร์ ไปยังประเทศใหม่ๆ ด้วยเช่นเดียวกัน

    ธันยเชษฐ์บอกว่า กาก้า เป็นแบรนด์เครื่องดื่มที่เพิ่งซื้อกิจการมาเข้าพอร์ตของไมเนอร์ฟู้ดเมื่อไม่นานมานี้ แต่ปัจจุบันสามารถขยายสาขาได้มากกว่า 50 สาขา เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากที่มีอยู่เดิม กาก้าเป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จอีกแบรนด์หนึ่ง เพราะเป็นแบรนด์ที่มีคอนเซ็ปต์และคาแรคเตอร์ที่แข็งแรง พร้อมขยายไปตลาดต่างประเทศมากๆ

    “ตะวันออกกลางเป็นประเทศหนึ่งที่ไมเนอร์ ฟู้ด มองเห็นโอกาสที่จะธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเข้าไป เพราะคนที่นี่เปิดใจยอมรับแบรนด์อาหารและเครื่องดื่มที่มีคอนเซ็ปต์ใหม่ๆ ได้ง่าย และตะวันออกกลางยังศูนย์การค้าจำนวนมาก ส่วนอินเดียก็เป็นประเทศที่ไมเนอร์ ฟู้ด สนใจที่จะขยายธุรกิจเข้าไปเหมือนกัน แต่คงไม่ใช่ระยะใกล้ๆ นี้” ธันยเชษฐ์ กล่าว


    ปัจจุบัน ไมเนอร์ฟู้ดเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจร้านอาหารที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยจำนวนร้านที่มีถึง 2,645 แห่งใน 24 ประเทศ ภายใต้แบรนด์ต่างๆ ในเครือ ได้แก่ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, เดอะ คอฟฟี่ คลับ, สเวนเซ่นส์, ซิซซ์เล่อร์ และ แดรี่ ควีน และคาดว่าจำนวนสาขาจะเพิ่มเป็น 3,700 สาขาทั่วโลกภายใน 3 ปีข้างหน้า

    ข้อมูลในวัน Opportunity Day เมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่าแผนขยายธุรกิจของไมเนอร์ ฟู้ด ภายใน 3 ปีนี้จะทำภายใต้ 5 กลยุทธ์ ได้แก่

    1. Maximizing Asset Value ซึ่งเป็นการเพิ่มความคุ้มค่าและมูลค่าให้กับแบรนด์ผ่านการนำเสนอสินค้าใหม่ๆ

    2. Portfolio Expansion เป็นการขยายธุรกิจ ผ่าน cross brand expansion, การมีแบรนด์ใหม่ในพอร์ตและเพิ่มโอกาสขยายร้านผ่านระบบแฟรนไชส์

    3. Enhancing Distribution Channels เป็นการบริหารจัดการกำไรในแต่ละช่องทาง ภายหลังจากโควิด ลูกค้ากลับมาทานอาหารที่ร้านมากขึ้น บริษัทจึงเน้นเพิ่มสัดส่วนรายได้ในช่องทาง dine in และ take away มากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะ maximize กำไรในช่องทางดิลิเวอรีไปพร้อมๆ กันด้วย

    4. Expanding Customer Base ด้วยการขยายเปิดร้านในทำเลที่นอกเหนือจากขยายในศูนย์การค้า เพื่อได้ฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ เช่น shophouse และร้านในทำเลที่ใกล้กับย่านที่อยู่อาศัย เพื่อการกลับมาซื้อซ้ำของลูกค้า และทำให้ productive ต่อตารางเมตรสูงขึ้น นอกจากนี้ยังเพิ่มรายได้จากสมาชิกของแต่ละแบรนด์ด้วยการมอบสิทธิประโยชน์ผ่านโปรแกรมต่างๆ

    5.Boosting Flow Through ด้วยการขยายร้านอาหารคอนเซ็ปต์ใหม่ๆ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนการลงทุนที่เร็วขึ้น เช่น ร้าน delivery พร้อมที่นั่ง เป็นต้น

    ไมเนอร์ฟู้ด ทำรายได้ 30,992 ล้านบาทในปี 2566 เติบโต 13% จากปีก่อน เติบโตจากสาขาเดิม 3.4 % และ 5% จากการเปิดสาขาใหม่ และที่เหลือมาจากอื่นๆ โดยมีกำไรสุทธิ 2,055 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปีก่อนหน้า

    “เป็นการทำกำไรสูงสุด และมากกว่าที่เคยทำได้ในปีก่อนโควิด” ธันยเชษฐ์บอก

    เขายังระบุอีกว่า ธุรกิจร้านอาหารในระยะ 3 ปีจากนี้จะมีการเติบโตเฉลี่ย 8-10% และกำไรโต 15-20%

    “ธุรกิจร้านอาหารเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ มูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาทต่อปี แต่มีความท้าทายและแข่งขันสูง ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราต้องหากลยุทธ์ใหม่ๆ มาผลักดันการเติบโตเน้นที่ customer experience และ brand building คัมภีร์การตลาดแบบเดิมๆ คงไม่ work ที่จะตอบโจทย์ผู้บริโภค และขับเคลื่อนองค์กรให้เป็นไปตามเป้าหมาย” ธันยเชษฐ์บอก

    เขากล่าวต่ออีกว่า บริษัทจะให้น้ำหนัก 70% พึ่งพาการขยายธุรกิจในรูปแบบเดิม และ 20% จะเป็นการคิดอะไรใหม่ๆ ทั้งด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการ การยกระดับประสบการณ์การรับประทานอาหารทั้งในร้านและแบบเดลิเวอรี่ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับการจัดส่ง การขยายช่องทางการจัดจำหน่ายแบบ Omnichannel เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการได้สะดวกยิ่งขึ้น

    รวมถึงการใช้เทคโนโลยีช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตรงใจมากที่สุด และอีก 10% เป็นการลองผิดลองถูก เพื่อเรียนรู้ หากประสบความสำเร็จก็ขยายต่ออย่างรวดเร็ว แต่หากตลาดไม่ตอบรับตามคาด ก็หยุดพัฒนาไป


    นงชนก สถานานนท์ ผู้จัดการทั่วไป เดอะ คอฟฟี่ คลับ ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธุรกิจไมเนอร์ฟู้ดเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยยุทธศาสตร์ responsible marketing-preneur ที่มุ่งเน้นผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง พร้อมสร้างคุณค่าที่แตกต่างและยั่งยืนในทุกมิติ

    ทั้งด้านการตลาดด้วยการทำความเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคอย่างแท้จริง เน้นสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับผู้บริโภค การใช้ช่องทางการตลาดที่หลากหลายเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับประสบการณ์ผู้บริโภคเพื่อรองรับความต้องการที่หลากหลาย พร้อมกับความรับผิดชอบต่อสังคม

    ด้วยยุทธศาสตร์ดังกล่าว ทำให้ไมเนอร์ ฟู้ด คว้ารางวัลสุดยอดการตลาดแห่งเอเชียประเภท Marketing 3.0 และประเภท Marketing Company of the Year จากเวทีแข่งขันด้านการตลาด Asia Marketing Excellence Award 2024 จัดโดยสหพันธ์การตลาดแห่งเอเชีย (The Asia Marketing Federation หรือ AMF) ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ณ ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา

    “รางวัลนี้มีความหมายมากกว่าการยกย่องความสำเร็จขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่เป็นการขับเคลื่อนมาตรฐานการตลาดของไทยให้ก้าวไกลในระดับสากล เราเชื่อมั่นว่าจะสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำในตลาดและเติบโต อย่างยั่งยืนท่ามกลางการแข่งขันที่สูงได้” นงชนกกล่าว



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ‘เบทาโกร’ ทุ่มงบ 650 ล้านบาท สร้างโรงงานอาหารสัตว์ใน ‘ลาว’ ดันรายได้ธุรกิจต่างประเทศปี 67 โตกว่า 22%

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine