Oyo เชนโรงแรมยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของโลกจากอินเดีย บุกตลาดไทยอย่างเป็นทางการ พร้อมให้บริการห้องพักกว่า 8,000 ห้องใน 13 จังหวัดทั่วประเทศ
Mandar Vaidya ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลาง Oyo Hotels and Homes เปิดเผยว่า บริษัทได้เริ่มให้บริการที่พักในประเทศไทยอย่างเป็นทางการแล้ว หลังประสบความสำเร็จในการเป็นผู้นำตลาดธุรกิจเครือโรงแรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
โดยในประเทศไทยเริ่มเข้ามาทำตลาดตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา และปัจจุบันให้บริการห้องพักกว่า 8,000 ห้อง ในโรงแรมกว่า 250 แห่ง 13 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพฯ, หัวหิน, เชียงใหม่, ภูเก็ต, พัทยา, ขอนแก่น, เชียงราย, ตราด, สุราษฎร์ธานี, กระบี่, กาญจนบุรี, นครราชสีมา และอุบลราชธานี
Vaidya กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะเป็นตลาดที่ค่อนข้างใหม่ แต่ด้วยศักยภาพของประเทศจึงมั่นใจว่าไทยจะเป็นตลาดที่สำคัญต่อการเติบโตทางธุรกิจของบริษัทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยโฟกัสไปที่ผู้เดินทางในประเทศเป็นหลัก ซึ่งเป็นเป้าหมายของบริษัท
“การขยายพอร์ตการให้บริการที่ไทยจะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายการมีห้องพักภายใต้การดูแลบริหารจัดการของเราในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวม 2 ล้านห้องภายในปี 2025 และเป็นเชนโรงแรมอันดับ 1 ของโลกได้ในอนาคต”
สำหรับเชนโรงแรมรายนี้เป็นสตาร์ทอัพที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2013 ในประเทศอินเดีย ในปี 2015 ได้กลายเป็นเชนโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดในอินเดียด้วยจำนวนห้องพักกว่า 1.2 หมื่นห้อง ปัจจุบันสามารถขยายธุรกิจไปได้กว่า 800 เมืองใน 80 ประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยจำนวนโรงแรมและบ้านพักตากอากาศรวมกว่า 2.3 หมื่นแห่ง 8 แสนห้องพัก ทำให้กลายเป็นเชนโรงแรมอันดับ 2 ของโลก
สตาร์ทอัพรายนี้ได้รับการระดมทุนสำคัญมากมาย อาทิ Softbank, Sequoia Capital และ Airbnb และมีการประเมินว่าน่าจะเป็นบริษัทที่มีมูลค่าแตะ 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ไปแล้ว หลังได้รับการระดมทุนรอบซีรีส์ F ไปเมื่อเดือนก่อน
Ashutosh Singh ผู้อำนวยการบริหาร ประจำประเทศไทย อธิบายว่า โมเดลธุรกิจของบริษัทคือการเข้าไปร่วมมือกับเจ้าของโรงแรมขนาดเล็กในทำเลที่มีศักยภาพ เพื่อปรับปรุงและพัฒนาห้องพัก ทักษะการบริหารจัดการ และประสิทธิภาพของการบริการให้ได้มาตรฐานแบบตามแบบของบริษัท ทำให้โรงแรมของเรามีมาตรฐานเหมือนกันทั่วโลก
“นอกจากนี้เรายังมีแพลตฟอร์มการจองของตัวเอง มีการทำการตลาดให้ที่พักเป็นที่รู้จักมากขึ้น ขณะเดียวกันที่พักของเรายังสามารถจองผ่านบริการจองที่พักออนไลน์อื่นๆ และเอเจนซี่ทัวร์ ที่สำคัญคือเรายังนำเทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูลมาใช้เพื่อปรับเปลี่ยนราคาให้เป็นไปตามตลาด เพื่อให้เจ้าของโรงแรมได้รายได้สูงสุด
“โมเดลนี้ทำให้โรงแรมที่เข้าร่วมกับเรามีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้น โรงแรมเป็นที่รู้จักมากขึ้น ขณะที่รายได้ของเราจะเป็นค่าคอมมิชชั่นจากเจ้าของโรงแรม อย่างไรก็ตาม หากเจ้าของโรงแรมให้เราลงทุนเพิ่มเติม สัดส่วนค่าคอมมิชชั่นก็จะแปรผันตามไปด้วย โดยทำสัญญากับเจ้าของโรงแรมอยู่ที่ 1-5 ปี นอกจากนี้ บริษัทยังมีการลงทุนทำที่พักของตัวเองด้วย โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 10-15% จากจำนวนห้องพักทั้งหมด”
Singh ระบุว่า สำหรับในประเทศไทย บริษัทมุ่งหาพาร์ทเนอร์คือโรงแรมขนาดเล็ก ประมาณ 80-100 ห้อง เมื่อปรับปรุงแล้วจะให้บริการในราคาไม่เกิน 1,000 บาทต่อคืน ทั้งนี้ ตัวอย่างที่พักที่เข้าร่วมกับเรา ได้แก่ OYO Diamond ในกรุงเทพฯ ที่เข้าร่วมกับเราได้เพียง 4 เดือนก็มีอัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้นจาก 25-30% เป็น 70% รายได้ต่อเดือนเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า
“ปัจจุบันห้องพักทั้งหมดในไทยให้บริการอย่างเป็นทางการแล้ว ส่วนอัตราการเข้าพักเฉลี่ยในไทยเราอาจยังไม่สามารถประเมินได้ เนื่องจากอัตราการเข้าพักของไทยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว, การเข้ามาใช้แพลตฟอร์มของเรา และพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวในแต่ละเมือง เช่น ภูเก็ตอัตราการเข้าพักจะสูงอยู่เสมอเนื่องจากเป็นการเข้าพักแบบระยะยาว ขณะที่เมืองที่นักท่องเที่ยวเข้าพักแบบวอล์คอินอัตราเข้าพักจะสูงในช่วงสุดสัปดาห์”
ทั้งนี้ Singh เผยว่าปัจจุบันการจองห้องพักบนแพลตฟอร์มของ Oyo ในประเทศไทยยังมีสัดส่วนไม่มากนัก ซึ่งต้องอาศัยการสร้างการรับรู้และต้องอาศัยเวลา อย่างเช่นในอินเดียซึ่งเป็นตลาดที่เราอยู่มานานแล้วนั้น การจองกว่า 80% เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มของเราเอง ซึ่งหวังว่าในอีก 10-12 เดือนข้างหน้าการจองที่พักในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มของเราได้
ส่วนแนวทางการขยายการเติบโตในประเทศไทย Singh กล่าวว่า จากช่วงแรกที่เข้ามาทำตลาดในไทย บริษัทได้ทดลองดูว่าโมเดลธุรกิจของเราจะใช้ได้ที่ไทยหรือไม่ จากหลายเดือนที่ผ่านมาพบว่าโรงแรมที่เข้าร่วมกับเรามีมูลค่าเพิ่มขึ้น และตอบโจทย์กับผู้บริโภคเป็นอย่างดี นอกจากนี้เรายังศึกษาจนเข้าใจแนวทางการขยายตัวในแต่ละเมือง ขณะที่โรงแรมขนาดเล็กที่อยู่ในระดับที่เราต้องการมีอยู่กว่า 30,000-50,000 แห่ง จึงมองว่ายังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก แต่อาจยังไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขเป้าหมายที่ชัดเจนได้
บรรยายภาพปก: Mandar Vaidya ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลางไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine