ทำไมยอดต่างชาติเที่ยวไทยปี 68 อาจต่ำเป้า 37 ล้านคน แต่ททท. ยังมั่นใจรายได้ฯ ยังโตได้ - Forbes Thailand

ทำไมยอดต่างชาติเที่ยวไทยปี 68 อาจต่ำเป้า 37 ล้านคน แต่ททท. ยังมั่นใจรายได้ฯ ยังโตได้

ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ซบเซายังคงมีเครื่องยนต์หลักอย่างภาคท่องเที่ยวที่พยุงให้ไปได้ ทว่าในปี 2568 หลายฝ่ายกลับมองว่า ภาคท่องเที่ยวไทยอาจไม่ได้ฟื้นตัวอย่างที่คิด ทั้งจากนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่จากจีนที่กังวลต่อความปลอดภัยในการมาเที่ยวไทย จนถึงสถานการณ์แผ่นดินไหวที่เพิ่งเกิดขึ้น


ต่างชาติเที่ยวไทยต่ำ 37 ล้านคน แต่อาจเท่าปีก่อน

    ธีระศิลป์ เทเพนทร์ รองผู้ว่าการด้านนโยบายและแผน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยในงานโครงการตลาดทุนพบภาครัฐ ครั้งที่ 3/2568 ว่า ปี 2568 นี้ทางททท. ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะมีจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 37.46 ล้านคน แต่อาจไปไม่ถึงเป้าหมาย (ยังไม่มีการประกาษปรับลดเป้าหมาย) เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่อย่าง ตลาดจีนลดลงกว่า 30% ซึ่งต่อให้มีการเติบโตในช่วงที่เหลืออาจยังมาแทนที่ไม่ได้

    ช่วง 4 เดือนแรกปี 2568 นักท่องเที่ยวต่างชาติติดลบ 0.2% โดยหดตัวจากตลาดเอเชีย ตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจีนลดลง 30% แต่นักท่องเที่ยวจากตลาดระยะกลาง-ไกล เช่นยุโรป ยังเติบโตได้ดี ซึ่งกลุ่มนี้มักใช้จ่ายในกลุ่ม Wellness โรงแรม อาจไม่ได้เน้นการซื้อสินค้ามากนัก

    ดังนั้นช่วงที่เหลือของปีมองว่า การท่องเที่ยวไทยความถี่หรือจำนวนครั้งอาจใกล้เคียงเดิม แต่พบว่าการใช้จ่ายในทริปอาจปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตามยังเชื่อว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยในปี 2568 ยังจะไม่ต่ำกว่า 35 ล้านคนใกล้เคียงกับปี 67 และเชื่อว่าในด้านรายได้ยังอาจเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ราว 2.97 ล้านล้านบาท เพราะททท. จะหันมาเน้นกลุ่มที่น่าจะมีการใช้จ่ายสูงขึ้น เช่น ตะวันออกกลาง คูเวท เยเมน ตลาดกลุ่มนี้ยังดูสดใส

    จากข้อมูล ททท. พบว่า เป้าหมายด้านรายได้การท่องเที่ยวในปี 2568 ยังอยู่ที่ 3.4 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นตลาดต่างชาติ 2.23 ล้านล้านบาท (39 ล้านคน) และตลาดในประเทศ 1.17 ล้านล้านบาท (205 ล้านคน-ครั้ง)

ที่มา ททท.


ต่างชาติ-คนจีนหายไปไหน

    ธีระศิลป์ กล่าวว่า ในช่วง 4 เดือนแรกปี 2568 นักท่องเที่ยวต่างชาติติดลบ 0.2% ต้องยอดรับว่าฐานนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงราว 30% ถือเป็นฐานที่ใหญ่ แต่อยากให้ดูรายละเอียด ว่ามีบางกลุ่มที่ยังโต เช่น ตลาดยุโรปที่เติบโต 16% ซึ่งสะท้อนว่ากลุ่มตลาดไกลยังไปได้ ซึ่งนักลงทุนต้องดูให้ดี ว่ากลุ่มโรงแรมหรือการลงทุนที่พึ่งพาตลาดระยะใกล้กับระยะไกล Profile ต่างกัน

    เมื่อเจาะลงไปถึงปัจจัยลบที่ทำให้นักท่องเที่ยวลดลงมองว่า เรื่องหลักคือ ความกังวลเรื่องความปลอดภัยของไทย อาทิ กรณีกระแสข่าวการลักพาตัว การประกอบธุรกิจที่ไม่โปร่งใสของจีนที่เข้ามาในไทย ที่ส่งผลกระทบถึง Sentiment ของนักท่องเที่ยวจีน ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ ที่อาจเลือกเปลี่ยนประเทศที่จะเดินทางไปเที่ยว และอาจมีแนวโน้มเลือกเดินทางมาไทยน้อยลง

    ในส่วนของนักท่องเที่ยวจีนพฤติกรรมเปลี่ยนไปมาก จากก่อนโควิดที่มาในลักษณะทัวร์ขณะใหญ่ แต่หลังโควิดที่ผ่านมาพบว่ากลุ่มท่องเที่ยวด้วยตนเอง หรือ Free Independent Travelers (FIT) มีมากขึ้นและสูงถึง 80% แม้จะเป็นทัวร์ก็เป็นกลุ่มที่ไม่ใหญ่มาก แต่อาจมีการใช้จ่ายที่สูงขึ้น และเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนจากเมืองใหญ่ยังมาไทยค่อนข้างสูง

    นอกจากนี้ ปี 2567 นักท่องเที่ยวจีนมาไทยสูงที่สุดในเอเชีย อยู่ที่ 6.73 ล้านคน รองลงมาญี่ปุ่น 5.83 ล้านคน เกาหลีใต้ที่ 4.6 ล้านคน และเวียดนาม 3.74 ล้านคน แต่จากต้นปีนี้นักท่องเที่ยวจีนไหลไปประเทศอื่นมากกว่า สะท้อนได้จาก ช่วง 3 เดือนแรก (ม.ค.-มี.ค.) ปี 2568 พบว่า อันดับ 1 เดินทางไป ญี่ปุ่น 1.7 ล้านคน (ม.ค.-ก.พ.) มาจากค่าเงินเยนที่อ่อนค่า โครงสร้างพื้นฐานที่ดีกว่า รองลงมาคือเวียดนามที่ 1.6 ล้านคน ซึ่งพบว่าเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวบางส่วนที่มักเดินทางมาไทยแต่เลือกไปเวียดนามแทน โดยไทยตกลงมาอยู่อันดับที่ 3 อยู่ที่ 1.3 ล้านคน

    นอกจากนี้ยังมีเรื่องภัยธรรมชาติและฝุ่น PM 2.5 ที่อาจกระทบต่อความรู้สึกในการตัดสินใจที่จะวางแผนท่องเที่ยวต่างๆ เพราะเมื่อเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้นในช่วงนั้นจะเห็นว่ามีการยกเลิกต่างๆ (ที่พัก-เที่ยวบิน) ขณะเดียวกันมองว่าเรายังต้องติดตามติดตามผลกระทบ สงครามการค้า สหรัฐฯ-จีน รวมถึงผลกระทบจากมาตรการทางภาษีที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ที่มา ททท.


ททท. เร่ง 4 มาตรการเร่งแก้ปัญหา มั่นใจคนละครึ่งเริ่ม มิ.ย. นี้

    เมื่อการท่องเที่ยวไทยจะมีความท้าทายสูง ททท. จึงเร่งออกมาตรการเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยให้น้ำหนักที่ 1) รักษาการเติบโตตลาด ผ่านการแก้ไขด้านภาพลักษณ์ของไทย 2) การหาตลาดทดแทน ในการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวจากเอเชียใต้ สิงคโปร์อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย ศรีลังกาใต้ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาเป็นกลุ่มที่เติบโตขึ้นอยู่

    และ 3) ขยายตลาดกลุ่ม High value มุ่งกลุ่ม Health, wellness, Yacht, Sport และ Digital Nomad รวมถึง 4) สื่อสารให้รอบด้านทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยขั้นตอนและแผนงานยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ

    นอกจากนี้ ยังมีโครงการคล้ายๆ กับคนละครึ่งที่รัฐจะเข้าไปซับซิไดซ์บางส่วน (จะมีการเปลี่ยนชื่อ) โดยนักท่องเที่ยวไทยหากเข้าพักวันธรรมดาจะได้ราคาที่ดีกว่าการเที่ยวในวันหยุด คาดว่าจะเริ่มเปิดโครงการในช่วงเดือน มิ.ย. ในช่วงหน้าฝนซึ่งครอบคลุมช่วงปิดเทอมของเด้กนักเรียน ยาวไปถึงช่วงก.ย. ต.ค. ซึ่งหลังจากนั้นเป็นช่วงเทศกาลคนเดินทางอยู่แล้วจะไม่มีมาตรการเติมเพิ่ม

    ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว ททท. เป็นหน่วยงานในการรับงบประมาณ เบื้องต้นน่าจะใช้งบราว 2,000 ล้านบาทขึ้นไป โดยจะเน้นให้รายได้กระจายลงไปในแต่ละกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น และจะออกกฎให้ครอบคุลมถึงปัญหาของโครงการในอดีต เช่น กรณีคนอัพราคาห้องพักขึ้น หรือ กรณีการฉ้อโกง เป็นต้น

    สุดท้ายนี้ ยังเชื่อว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2568 จะใกล้เคียงกับปีก่อน แต่รายได้ยังเพิ่มขึ้น โดยมองว่าสถานการณ์จะไม่แย่ไปกว่านี้ และมีการติดตามอย่างต่อเนื่องทำให้มีมาตรการออกมาได้เร็ว คิดว่าน่าจะพยุงสถานการณ์ได้ และขึ้นอยู่ที่การแก้ปัญหาภาพลักษณ์ที่หลายหน่วยงานต้องร่วมมือกัน ส่วนในระยะยาวยังต้องสร้างสมดุลของนักท่องเที่ยวในแต่ละกลุ่ม และเพิ่ม Man-made Attraction ที่เมกะโปรเจคต่างๆ ในไทยยังมีน้อย



ภาพ: ททท., Bacon3floors on Unsplash



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : SCB EIC ชี้แผ่นดินไหวฉุดนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง 2-7 แสนคน จากทั้งปี 68 คาดการณ์เดิม 38.2 ล้านคน

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine