2020 SAM 20 ปี กับบทบาทในเวทีบริหารสินทรัพย์นานาชาติ
หลายคนอาจคุ้นหูกับชื่อของ SAM หรือ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) มาบ้าง ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่เป็นกลไกและเครื่องมือสำคัญของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ หรือหนี้เสีย (NPL) ในระบบสถาบันการเงินของประเทศและสังคมไทยมาต่อเนื่องยาวนาน
แต่สิ่งที่น้อยคนนักจะรู้ คือที่มาและบทบาทของ SAM ซึ่งจะก้าวสู่ปีที่ 20 ในปี 2563 ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการบริหารจัดการหนี้เสีย แต่ยังมีบทบาทในเวทีนานาชาติด้วยการเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง และการเป็นตัวแทนของประเทศไทยใน IPAF (International Public AMC Forum) ซึ่งเป็นองค์กร ความร่วมมือระดับนานาชาติ ที่เกิดจากการรวมตัวของบริษัทบริหารสินทรัพย์ของภาครัฐ (Public AMC) จาก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ไทย เวียดนาม คาซัคสถาน และมาเลเซีย ภายใต้พันธกิจสำคัญ คือส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์ด้านการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อให้สามารถรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค พร้อมทั้งสนับสนุนการเจริญเติบโต และสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างบริษัทบริหารสินทรัพย์ของรัฐและเอกชนจากนานาประเทศ และความพิเศษสุดในปีหน้าคือ ปี 2563 ประเทศไทยจะดำรงตำแหน่งประธานและเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมผู้บริหารสูงสุดของสมาชิก IPAF รวมทั้งงานสัมมนาทางวิชาการซึ่งจะมีขึ้นช่วงเดือนกันยายน ซึ่งการเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้เชื่อว่าจะเป็นการสร้างความรู้จักและชื่อเสียงให้กับ SAM ในฐานะบริษัทบริหารสินทรัพย์ของรัฐในวงกว้างยิ่งขึ้น
ก่อนที่จะก้าวมาถึงบทบาทที่ยิ่งใหญ่ในเวทีบริหารสินทรัพย์ หรือ AMC ระดับนานาชาติ นิยต มาศะวิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการของ SAM พาย้อนไปสู่จุดเริ่มต้นของ SAM ว่า หลังจากประเทศไทยเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ส่งผลให้เกิดปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระบบสถาบันการเงินเป็นจำนวนมาก คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้จัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด หรือที่รู้จักกันว่า SAM ในปี 2543 เพื่อบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของประเทศ และด้วยความเป็นมืออาชีพในการจัดการหนี้เสีย และสามารถบรรลุเป้าหมายที่ท้าทายอย่างต่อเนื่องตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในปี 2560 SAM จึงได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานกลางแก้ไขปัญหาหนี้ส่วนบุคคลผ่านโครงการคลินิกแก้หนี้
“หลักการทำงานของ SAM ไม่ต่างจากการรีไซเคิล คือการนำสินทรัพย์ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นของเสียหรือ มีตำหนิกลับเข้าสู่กระบวนการ ซึ่งการบริหารจัดการสินทรัพย์ของ SAM ไม่เพียงส่งผลดีต่อเจ้าหนี้เดิม ที่ได้รับชำระหนี้ แต่ยังเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของธนาคารพาณิชย์ ที่สำคัญที่สุดคือได้นำสินทรัพย์ เหล่านั้นกลับมาสร้างมูลค่าเพิ่ม และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในระบบเศรษฐกิจ SAM จึงถือเป็นหนึ่ง ในฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่ง”
นิยต เล่าเสริมว่า “ในยามที่เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะวิกฤตหรือขาลง SAM ก็พร้อมนำความรู้ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญที่มีเข้าไปซัพพอร์ตสถาบันการเงิน จนถึงกับมีผู้กล่าวว่า SAM เปรียบเหมือนถังดับเพลิง หากเกิดไฟไหม้ตรงไหน ก็เข้าไปช่วยดับไฟก่อนต่อเมื่อสถานการณ์คลี่คลายหรืออยู่ในสภาวะปกติเช่นในปัจจุบัน ณ จุดที่ประเทศไทยมีหนี้เสียในระดับใกล้เคียงกับประเทศพัฒนาแล้ว คือประมาณ 3% เท่านั้น หรือเรียกได้ว่าเรามีการบริหารจัดการหนี้เสียค่อนข้างดีมาก ถึงเวลานี้ SAM ก็พร้อมจะเปลี่ยนบทบาทมา เป็นหนึ่งในผู้เล่นในตลาดซื้อขายสินทรัพย์ตามกลไกตลาด”
จากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารบวกกับความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง จนถึงวันนี้ SAM ไม่เคยหยุดนิ่งที่จะพัฒนาและได้นำความรู้ใหม่ๆ ทั้งจากไทยและต่างประเทศมาปรับใช้ในการบริหารองค์กร ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของ IPAF ที่ต้องการให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างประเทศสมาชิกที่มีบริบทต่างกัน นิยต ยังได้เปิดเผยถึงอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญที่พร้อมจะนำ SAM ไปสู่มิติใหม่ ของวงการที่คาดว่าจะเปิดตัวได้ในปลายปีหน้าเช่นกัน นั่นคือการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพอย่างครบวงจร ตลอดจนเพิ่มประสิทธิผลของแพลตฟอร์มอย่างรอบด้านทั้งความรวดเร็ว โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ ที่สำคัญจะนำไปสู่การขยายตลาดที่ไม่จำกัดอยู่แค่นักลงทุนในประเทศอีกต่อไป แต่สามารถก้าวสู่การเป็น Cross Border ได้ในที่สุด ซึ่งขณะนี้ มีให้เห็นแล้วในยุโรป เกาหลีใต้ และจีน
“ยกตัวอย่าง บริษัทบริหารสินทรัพย์ของจีนที่มีการนำสินทรัพย์ด้อยคุณภาพไปขายบน “เถาเป่า” เว็บอีคอมเมิร์ซชื่อดังของจีนเพื่อเปิดตลาดใหม่ๆ ให้กลุ่มนักลงทุน หรือผู้ที่มองหาอสังหาริมทรัพย์สามารถเข้าไปซื้อหนี้เพื่อนำไปบริหารต่อได้ ซึ่งผมมองว่าเป็นโมเดลที่น่าสนใจ และน่าจะสามารถตอบโจทย์ดีมานด์ ที่เพิ่มขึ้นของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งให้ความสนใจในการเข้ามาบริหารสินทรัพย์ในไทยอย่างต่อเนื่อง หลังจากหลายปีที่ผ่านมากฎหมายไทยที่มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะหากมีผู้เล่นเข้ามาในตลาดมากขึ้นจะยิ่งส่งผลดีต่อกลไกตลาดโดยรวม” นิยต เผยถึงแผนอนาคตอันใกล้ ก่อนทิ้งท้ายถึงมุมมอง ที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจในปีหน้า และความท้าทายของ SAM อย่างน่าสนใจว่า
“ยังคงเป็นอีกปีที่มีความท้าทายสูง เนื่องจากความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจโลกและสงครามการค้า ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งในภาคการส่งออกและท่องเที่ยว อันจะส่งผลกระทบต่อความสามารถ ในการชำระหนี้ แต่ผมก็ยังคงเชื่อมั่นในศักยภาพและความแข็งแกร่งในการบริหารสินทรัพย์ของ SAM และคาดว่าปีหน้าจะยังสามารถเข้าซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพได้ไม่ต่ำกว่าปีนี้ ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 15,000- 20,000 ล้านบาท”
“การได้นำสินทรัพย์เหล่านั้นกลับมาสร้างมูลค่าเพิ่ม และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในระบบเศรษฐกิจ SAM จึงถือเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่ง”