จับตาเทรนด์ที่อยู่อาศัยวัยเก๋า สูงวัย 48% มีเงินพร้อมซื้อบ้านใหม่ ‘เชียงใหม่’ ครองใจเมืองที่คนอยากไปใช้ชีวิตหลังเกษียณ - Forbes Thailand

จับตาเทรนด์ที่อยู่อาศัยวัยเก๋า สูงวัย 48% มีเงินพร้อมซื้อบ้านใหม่ ‘เชียงใหม่’ ครองใจเมืองที่คนอยากไปใช้ชีวิตหลังเกษียณ

ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society) แล้ว ข้อมูลจากสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยเผยว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 ประเทศไทยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปคิดเป็น 20% จากจำนวนประชากรทั้งประเทศ และจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากอัตราการเกิดใหม่ที่ลดลงอย่างชัดเจน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ประเทศไทยจะก้าวสู่สังคมสูงอายุขั้นสุดยอด (Super-Aged Society) ในปี 2572 เร็วขึ้นกว่าที่เคยประเมินไว้ว่าจะเกิดขึ้นในปี 2574


    อย่างไรก็ดี การเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทยเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้องจับตามอง ข้อมูลจาก Krungthai COMPASS คาดว่ามูลค่าตลาดกลุ่มผู้สูงอายุหรือ Silver Gen ของไทยจะสูงขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 4.4% มาอยู่ที่ 2.6 ล้านล้านบาทในปี 2573 หรือเทียบเท่า 12% ของมูลค่าเศรษฐกิจไทย จึงทำให้เกิดเทรนด์ธุรกิจเพื่อรองรับผู้บริโภคกลุ่มนี้โดยเฉพาะ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายและมีความพร้อมทางการเงิน หลายธุรกิจรวมถึงตลาดที่อยู่อาศัยจึงปรับกลยุทธ์เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายใหม่นี้


อัปเดตดีมานด์ผู้สูงวัย “เชียงใหม่” ครองใจเมืองพักผ่อนวัยเกษียณ

    ข้อมูลจากแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อตลาดที่อยู่อาศัย DDproperty Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุดของดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) แพลตฟอร์มอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย เผยว่ากว่า 3 ใน 5 (62%) ของผู้บริโภคชาวไทยคิดเรื่องการวางแผนเกษียณบ่อยขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยใกล้เกษียณและผู้ที่มีรายได้ปานกลาง

    ในขณะที่เชียงใหม่เป็นเมืองที่ผู้บริโภคต้องการไปใช้ชีวิตหลังเกษียณมากที่สุด (27%) ด้วยจุดเด่นจากสภาพแวดล้อมที่ใกล้ชิดธรรมชาติและมีความเจริญในหลายด้าน ตามมาด้วยกรุงเทพฯ (15%), เชียงราย (12%), เพชรบูรณ์ (10%) และภูเก็ต (9%) ในขณะที่ 16% ยังไม่มีทำเลในใจ

    ทั้งนี้ เป้าหมายสำคัญของชีวิตหลังเกษียณส่วนใหญ่เน้นไปที่เรื่องการเงิน กว่า 2 ใน 3 (70%) หวังปลอดภาระหนี้ ตามมาด้วยมีอิสระทางการเงิน และมีเงินออมเพียงพอสำหรับค่ารักษาพยาบาล (ในสัดส่วนไล่เลี่ยกันที่ 63% และ 61% ตามลำดับ) สะท้อนให้เห็นว่าสภาพคล่องทางการเงินและการวางแผนค่าใช้จ่ายเพื่อดูแลสุขภาพเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตช่วงเกษียณมากที่สุด

    ข้อมูลจากแบบสอบถาม DDproperty Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุด เผยความต้องการที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคชาวไทยอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป พบว่าเกือบครึ่ง (48%) มีเงินออมเพียงพอที่จะซื้อที่อยู่อาศัยแล้ว ซึ่งมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าผู้บริโภคในช่วงวัยอื่นๆ

    ขณะที่อีก 42% เผยว่าเก็บเงินออมได้ครึ่งทางแล้ว ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อสูงและน่าจับตามองในเวลานี้ ในขณะที่กว่า 1 ใน 3 (37%) มีการวางแผนซื้อที่อยู่อาศัยในอีก 1 ปีข้างหน้า โดยเหตุผลสำคัญในการซื้อที่อยู่อาศัยมาจากต้องการพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น 45% ตามมาด้วยซื้อเพื่อการลงทุน และขายบ้านหลังเดิมได้ราคาดี (ในสัดส่วนเท่ากันที่ 32%)

    ปัจจัยภายในที่ผู้สูงอายุให้ความสำคัญในการตัดสินใจซื้อ/เช่าที่อยู่อาศัยมากที่สุด ได้แก่ ขนาดที่อยู่อาศัย 58% เน้นไปที่พื้นที่ใช้สอยที่เพียงพอในการรองรับกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการอยู่อาศัยมาเป็นอันดับแรก

    ตามมาด้วยราคาเฉลี่ยต่อตารางเมตร 49%, สิ่งอำนวยความสะดวกภายในที่อยู่อาศัย 39%, การออกแบบและการก่อสร้าง 27% ส่วนมาตรการ/โครงการที่จะช่วยให้มีบ้านเป็นของตัวเองง่ายขึ้น และชื่อเสียงของผู้พัฒนาโครงการอสังหาฯ มีสัดส่วนเท่ากันที่ 23%

    ขณะที่ปัจจัยภายนอกโครงการที่ผู้สูงอายุใช้พิจารณาเมื่อเลือกซื้อ/เช่าที่อยู่อาศัยนั้น มากกว่าครึ่ง (56%) ต้องการโครงการที่เดินทางสะดวกด้วยระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทาง และลดความเสี่ยงในการขับขี่ด้วยตนเองเนื่องจากสภาพร่างกายอาจไม่พร้อม

    รองลงมาคือความปลอดภัยของทำเล 52%, ทำเลที่ตั้งโครงการ 43%, โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในย่านนั้น 31% ส่วนความเจริญของทำเล และใกล้โรงพยาบาล/สถานพยาบาล มีสัดส่วนเท่ากันที่ 26% เพื่อช่วยเพิ่มความสะดวกในการพบแพทย์หรือรับบริการทางสุขภาพต่างๆ

    สำหรับพื้นที่ในบ้านที่ผู้สูงอายุต้องการปรับเปลี่ยนมากที่สุดเพื่อรองรับการใช้ชีวิตวัยเกษียณนั้น อันดับแรกคือห้องนั่งเล่น 23% ถือเป็นพื้นที่หลักที่ผู้สูงอายุใช้ในการทำกิจกรรมต่างๆ มากที่สุด จึงต้องการปรับเปลี่ยนให้ตอบโจทย์ตามไลฟ์สไตล์และกิจวัตรประจำวัน

    รองลงมากคือห้องนอนและห้องน้ำ (16% และ 12% ตามลำดับ) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผู้สูงอายุจำเป็นต้องปรับปรุงให้พร้อม มีความปลอดภัยและมั่นคงรองรับการเคลื่อนไหวที่ต้องใช้ความระมัดระวัง ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตประจำวัน


เพิ่มโอกาสในการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยของผู้สูงวัยด้วย “Reverse mortgage”

    อย่างไรก็ดี ผู้สูงอายุยังคงมีความท้าทายเมื่อยื่นขอสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยเช่นกัน โดยพบว่าอุปสรรคสำคัญในการขอสินเชื่อบ้านมาจากรายได้และอาชีพที่ไม่มั่นคง 75% เนื่องจากอาจจะไม่ได้ทำงานประจำที่มีรายได้แน่นอนแล้ว ตามมาด้วยมีเงินดาวน์ไม่พอ 63% และขาดเอกสารประกอบในการยื่นกู้ 38%

    ด้วยเหตุนี้ “Reverse Mortgage หรือสินเชื่อบ้านสำหรับผู้สูงอายุ” จึงเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจในการช่วยให้ผู้สูงวัยมีโอกาสเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น รูปแบบการจำนองจะเหมือนการทยอยขายบ้านให้กับธนาคาร โดยผู้สูงวัยยังคงมีที่อยู่อาศัยในบั้นปลายชีวิตและได้รับรายได้แบบรายเดือน

    โดยผู้สูงอายุสัญชาติไทยอายุ 60 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 80 ปี สามารถนำบ้าน/คอนโดฯ ที่ถือครองกรรมสิทธิ์อยู่มาจำนองไว้กับธนาคาร จากนั้นธนาคารจะตีมูลค่าบ้านพร้อมกับประเมินอายุเฉลี่ยของผู้กู้และทยอยจ่ายเงินค่าบ้านให้ผู้กู้เป็นรายเดือน ตัดปัญหาค่าใช้จ่ายในวัยเกษียณ โดยที่ผู้กู้ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านหลังนั้นและสามารถอาศัยอยู่ในบ้านได้จนกระทั่งเสียชีวิตหรือตัดสินใจขายบ้านไปก่อน

    เมื่อครบกำหนดตามสัญญาแล้ว บ้าน/คอนโดฯ นั้นจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคาร ซึ่งธนาคารสามารถนำไปขายทอดตลาดได้

    Reverse Mortgage นับว่าเป็นอีกทางเลือกน่าสนใจที่ช่วยลดความกังวลของผู้สูงอายุที่ต้องการมีบ้านเพื่ออยู่อาศัยในวัยเกษียณ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าครองชีพในอนาคต



เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ‘พฤกษา’ ลุยธุรกิจสุขภาพ พลิกโฉมเทพธารินทร์สู่ ‘รพ.วิมุต-เทพธารินทร์’ เตรียมเปิดร้านขายยา-รพ.เฉพาะทาง-รพ.ผู้สูงอายุ

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine